โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เมื่อ ๒ เดือนก่อน ผู้เขียนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แสวงหาการเรียนรู้ใหม่ให้กับตัวเอง บางคนให้คำนิยามถึงการเดินทางในช่วงวัยนี้ว่าเป็น “การเดินทางเพื่อแสวงหาครู” จำได้ว่าในช่วงนั้นรู้สึกถึงเสียงภายในที่คอยบอกให้รีบเร่งตัดสินใจ คำท้วงติงหรือความห่วงใยจากใครก็ไม่เป็นผล ชีวิตในช่วงนั้นเหมือนทุกอย่างเคลื่อนที่ไปอย่างร้อนแรงและรวดเร็ว

ความรวดเร็วนัยหนึ่งก็มาจากการพุ่งหรือมุ่งไปข้างหน้า ให้ตรงเป้าที่เราหมายเอาไว้ ซึ่งก็มักจะทำให้มองอะไรไม่ชัด เหมือนคนมีตา แต่มองไม่เห็น มีหู แต่ก็ฟังไม่ได้ยินอะไรที่อยู่ตรงหน้า แต่ติดกับความคิดของตัวเอง เป็นภาวะ “I in me” ที่ได้ยินแต่เสียงของตัวเองเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาของผู้เขียน การเคลื่อนย้ายตัวเองเพียงเฉพาะทางกายภาพออกจากองค์กรหรือออกจากสถานที่เดิม ก็อาจเป็นเพราะตัวผู้เขียนเองสร้างภาพความนึกคิดเอาเองว่า ทำงานมานาน อยู่ในองค์กรมานาน รู้ทุกอย่างหมดแล้ว ดำรงอยู่ในความรู้แล้วที่ทำให้ตัวเองไม่เรียนรู้อีกต่อไป จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ย้ายที่อยู่ เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ อันที่จริงในช่วงแรก ทุกอย่างก็ดูตื่นเต้น แต่สักพักความตื่นเต้นนั้นก็หายไป กลับมาวกวน วนเวียนกับรู้สึกแบบเดิมอีก ต่อให้เดินทางไกลไปอีกแค่ไหนการเรียนรู้ก็ไม่เกิด แสวงหาครูก็ไม่เจอ เพราะยังใช้ชีวิตอยู่ในแบบแผนเดิม อยู่ใน “ความรู้แล้ว”

การเปลี่ยนแปลงทางภายนอกที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านภายใน และอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังอยู่บนจิตที่หลับใหล เพราะการเปลี่ยนผ่านจากความหลับใหลไปสู่การตื่นรู้นั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ยากที่สุดของมนุษย์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกความหมายหนึ่งคือการวิวัฒนาไปสู่สิ่งที่ดียิ่งขึ้น ที่ต้องอาศัยศรัทธาที่มั่นคง มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองให้ก้าวล่วงออกจากมายาคติที่สร้างภาพความคิดให้ตัวเองติดข้องกับความเคยชินเดิมของตัวเองอย่างแท้จริง เป็นการออกจากกรอบวิธีคิดเดิมๆ ที่สร้างมุมมองหรือสายตาที่มองโลกแบบเดิมให้กับเราอย่างสิ้นเชิง โดยการออกจากอคติของตัวเองนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกัลยาณมิตรเป็นผู้นำทาง

ในการเรียนรู้ หัวใจสำคัญประการหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ฉันท์ครูศิษย์ หรือความเป็นกัลยาณมิตร ที่ต้องอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเหนี่ยวนำ ความสัมพันธ์เช่นนี้ลึกซึ้งกว่าเพียงการสอน หรือให้ความรู้ที่เป็นก้อนๆ ส่งผ่านจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการเปิดออกซึ่งการเติบโตของบุคคลหนึ่งให้สามารถพึ่งพาสติปัญญาของตนเอง สามารถสร้างการเรียนรู้ใหม่ที่เป็นการเดินทางของตัวเองได้ การเรียนรู้เช่นนี้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ใกล้ชิด ความศรัทธาที่ศิษย์มีต่อครู และที่สำคัญที่สุดและคนมักจะมองข้าม คือ “ความเชื่อมั่นศรัทธาของครูต่อศิษย์” ที่จะหล่อเลี้ยงให้ศิษย์เข้าถึงคุณค่าแท้ที่มีอยู่ในตัวเอง

การค้นพบหรือการแสวงหาครูที่เป็นกัลยาณมิตรของตนให้พบนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้

หากแต่การแสวงหาครูนั้นมิใช่ครูทางกายภาพเท่านั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกวันนี้ ความรู้มีอยู่มากมาย แต่การเรียนรู้มีอยู่น้อย” นัยหนึ่งก็คือ มีความรู้มากมายและใกล้แค่เอื้อมขนาดไหน หากเราไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ไม่ตื่นจากมุมมองเดิมๆ ที่เคยชิน ก็มองเห็นความรู้นั้นไม่ได้ เช่นเดียวกับการแสวงหาครู ถ้าตัวเราคิดมุ่งแสวงหาครูที่เป็นรูปวัตถุ ติดอยู่กับการคิดที่พยายามเลือกตามใจเราต้องการ แม้มีปราชญ์ผู้รู้ มีครูผู้สอน มีเรื่องราว มีองค์ความรู้มากมาย ให้เราได้เรียนอยู่ทุกวี่วัน แต่ใจของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลง ติดข้องอยู่กับมุมมองเดิมๆ สิ่งที่เรารับรู้ก็จะมีแต่ความหมายซ้ำเดิม และจะสัมผัสถึงครูที่แท้ไม่ได้

แต่เมื่อเรานิ่งลง ช้าลง สัมผัสสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดขึ้น เราก็จะพบกับการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวเอง พบเห็นครูที่มีอยู่มากมาย พบกับครูที่เป็นบุคคล หรือครูที่ยิ่งใหญ่ คือธรรมชาติ ก็อาจกลายเป็นครูที่ทำให้ตาของเราเปิดสว่างสุกใสขึ้น หากใจของเราเปิดออกจากอคติ เมื่อตัวของเราพร้อมอย่างแท้จริง ตาของเราก็จะเปิดมองเห็นครู

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนย้อนทบทวนเส้นทางการเรียนรู้ที่ผ่านมา เส้นทางการเสาะแสวงหาครูผู้ชี้ทาง แต่จะมีครูท่านหนึ่งที่ให้เวลา ให้ความเมตตาดูแลอย่างใกล้ชิด คือ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ครูที่ผู้เขียนเคารพนับถือเป็น “ครูต้น” เป็นต้นธารผู้เบิกเส้นทางกระบวนการเรียนรู้

เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะระลึกถึง คือตอนที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และเกือบเอาชีวิตไม่รอด ผู้เขียนได้ยินเสียงคำสอนที่อาจารย์มักจะบอกกล่าว ซึ่งเป็นสตินำพาให้ผู้เขียนรอดพ้นจากวิกฤติ และหลังจากนั้นก็ได้นำมาเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์เพียงบอกว่า “เสียงที่ได้ยินเป็นสติของตัวเอง แต่มาในรูปของอาจารย์เท่านั้น” แล้วอาจารย์ก็ยิ้มเล็กน้อยเป็นนัยให้คิด อาจารย์มักบอกกล่าวเช่นนี้เสมอ เพื่อชี้ให้เราได้เห็นและรู้จักพึ่งพากระบวนการเรียนรู้ที่เป็นเครื่องมือที่วิเศษที่สุดของตัวเอง อาจารย์มักจะให้คุณค่ากับการเรียนรู้ สิ่งที่อาจารย์สอนนั้นชักนำให้ผู้เขียนเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใน ผันชีวิตตนเองมาทำประโยชน์ให้ผู้อื่น หยั่งถึงคุณค่า รู้จักที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงปัญญาที่พึงมีของตนเอง หวนกลับมาเชื่อมั่นศรัทธาให้กระบวนการเรียนรู้ของตัวเองอีกครั้ง

แม้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนจะยังยึดถือแต่ความคิดตัวเอง พยายามเสาะแสวงหาครู แสวงหาการเรียนรู้นอกตัว และปฏิเสธที่จะมองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ใกล้ เมื่อมาถึงในยามนี้ ที่ตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดอาจารย์ แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะซาบซึ้งถึงสิ่งที่อาจารย์ได้มอบให้ อาจารย์ไม่ได้ให้องค์ความรู้ที่เป็นกลุ่มก้อนเท่านั้น แต่ได้มอบสิ่งสำคัญที่สุด คือเปิดดวงตาของผู้เขียนออกจากความหลับใหล และเปิดดวงใจที่จะเรียนรู้และนำเรื่องราวต่างๆ น้อมเข้ามาสู่ใจ มาเป็นครูของตัวเองได้ แม้ว่าการเดินทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคเช่นไร แต่ผู้เขียนได้ระลึกรู้คุณที่ครูได้เปิดทางให้ ได้มองเห็นแล้วซึ่งครูที่แท้ทั้งภายนอกและภายใน

สิ่งดีๆ อยู่ใกล้เพียงเรือนใจของเราเอง ...

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home