โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒
ผมเป็นคนศูนย์ใจที่ห่วงใยความรู้สึกของคนอื่น และใส่ใจว่าคนอื่นจะรักและยอมรับผมอย่างไร จุดแข็งของการเป็นคนศูนย์ใจ อยู่ที่สามารถรับรู้ความรู้สึกอย่างละเอียดอ่อนได้ดี แต่จุดอ่อนคือ ผมจะจมและหลงไปกับอารมณ์และความรู้สึกได้ง่าย ด้วยความเป็นคนศูนย์ใจ ทำให้การค้นหาความหมายของชีวิต หรือตั้งคำถามชีวิต หลายๆ ครั้งมักเกี่ยวข้องกับ “ความรัก”
นอกจากนี้ ผมมักจะมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นับตั้งแต่วัยรุ่นแรกเริ่มก็เข้าร้านหนังสือ วนเวียนอยู่กับชั้นหนังสือจำพวกปรับปรุงตนเอง (How-To/Self Improvement) วัยรุ่นตอนปลายก็เข้าร่วมกลุ่มชมรมที่มุ่งพัฒนาตนเองหลายกลุ่ม ไปจนถึงบวชเป็นพระอยู่หนึ่งพรรษา แล้วมาเรียนปริญญาเอกทำวิจัยเรื่องการพัฒนาจิต และทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง
จนถึงขณะนี้ ผมและภรรยา กับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันก่อตั้ง “สถาบันปลูกรักเพื่อพัฒนาศักยภาพชีวิตและการทำงาน” (www.plukrakinstitute.com) เพื่อจัดอบรม ให้คำปรึกษา และสร้างการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ความรัก” และ “การพัฒนาจิต” ให้เกิดขึ้นในปัจเจกบุคคล องค์กร และสังคม
สิ่งนี้นับเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่จะทำให้ผมได้สานต่อการค้นหาทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน โดยเรียนรู้ “ความรัก” ให้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร และฝึกฝน “พัฒนาจิต” อย่างรอบด้านจนเกิดปัญญาสมบูรณ์ และผมก็มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า องค์ความรู้ที่เราได้รวบรวมกันจะได้รับการแบ่งปัน และร่วมสร้างสังคมแห่งความรักและปัญญาไปด้วยกันกับทุกท่าน
ในช่วงที่เรากำลังก่อตั้งสถาบัน คุณจารุประภา วะสี และคุณสมสิทธิ์ อัสดรนิธิ พิธีกรรายการวิทยุ “สร้างจิตรู้ สู่จิตรัก” ทางคลื่นวิทยุไทย ความถี่ 105 MHz ก็ได้ติดต่อเชิญผมเข้ามาเป็นแขกประจำของรายการ ผมจึงเกิดความคิดว่า น่าจะได้พูดออกอากาศในซีรีส์ “ความรักกับการเติบโตทางจิต” เสียเลย เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเราในสถาบันปลูกรักฯ กำลังร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน
ตอนที่หนึ่งผมได้เล่าถึงความรัก ๕ ระดับของมนุษย์ มนุษย์ค้นพบความรักครั้งแรกในชีวิตในความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับแม่ เมื่อมนุษย์ตัวน้อยคนนั้นมีจิตรับรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่แม่เท่านั้น แต่มีคนอื่นในครอบครัวอีก และความรักก็สามารถขยายเติบใหญ่ ไปสู่คนอื่นๆในครอบครัว เมื่อมนุษย์คนเดียวกันเติบโตต่อไป รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่คนในครอบครัวเท่านั้น แต่มีเพื่อนต่างครอบครัวด้วย ความรักจึงขยายใหญ่ขึ้นไปสู่เพื่อนต่างครอบครัวได้ เช่นเดียวกันเมื่อมนุษย์มีจิตที่เติบโตขยายใหญ่ขึ้นไปอีก จึงได้รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่เพื่อนร่วมก๊วนของเขาเท่านั้น แต่ยังมีคนอื่นๆ ในสังคม ชุมชน หรือองค์กรที่เขาเป็นสมาชิกด้วย ความรักของเขาและเธอจึงขยายใหญ่กว้างขวาง
ตราบจนมนุษย์ผู้นั้นได้เรียนรู้อีกว่า โลกนี้ไม่ได้มีแต่คนในสังคมที่เขาอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังมีคนนอกสังคม เป็นเพื่อนร่วมมนุษยชาติ ที่แม้จะมีความคิด ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อและวัฒนธรรมของเขา แต่แก่นแท้แล้วเขาก็เป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจเหมือนกัน ความรักที่ให้เพียงแก่คนกลุ่มก้อนความเชื่อเดียวกัน จึงมีโอกาสขยายข้ามพรมแดนวัฒนธรรมความเชื่อ จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง เป็นความรักเพื่อนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่
ผมเชื่อว่า สังคมไทยกำลังต้องการความรักขนาดใหญ่ในระดับนี้อย่างมาก เพราะความรักเช่นนี้เอง จึงจะพาคนไทยข้ามพรมแดนสีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว และสีอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมาตามๆ กันในสังคมไทย
ยัง ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้! มนุษย์ยังขยายความรักออกไปได้อีก
แต่ก่อนจะเล่าต่อ ผมอยากกลับไปพูดถึงความรักครั้งแรกของมนุษย์ ที่ไม่ใช่รักปิ๊งปั๊งปุบปับของหญิงสาวชายหนุ่ม แต่เป็นรักของลูกกับแม่ แม้ว่าโลกที่มีแต่แม่เท่านั้นจะมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับโลกที่มีทั้งมนุษยชาติ แต่ความรักที่มนุษย์คนหนึ่งได้มอบให้กับแม่ผู้ให้กำเนิดจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้มนุษย์ขยายความรักของเขาออกไปสู่คนอื่นๆ
เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ความรักแม่ก็เป็นฐานให้กับความรักอีกสี่ระดับที่สูงใหญ่ขึ้นไป ความรักครอบครัวเป็นฐานให้กับความรักอีกสามระดับที่สูงใหญ่ขึ้นไป ความรักเพื่อนเป็นฐานให้กับความรักอีกสองระดับ และความรักสังคมเป็นก็ฐานให้กับความรักมนุษยชาติ หากวัดกันที่มุมมอง “ความเป็นฐาน” ความรักแม่มาเป็นอันดับหนึ่งนะครับ แต่หากวัดกันที่ “ความใหญ่” (ในที่นี้หมายถึงจำนวนคน) ความรักมนุษยชาติก็มาเป็นอันดับหนึ่ง
ความรักมนุษยชาติเป็นฐานให้กับความรักที่ใหญ่ขึ้นไปอีกระดับ (ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเติบโตทางจิตของมนุษย์) ความรักใหญ่ที่สุดที่มนุษย์หนึ่งคนสามารถมีได้ คือความรักระดับจักรวาล ความรักนี้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้ว่า โลกนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ยังมีสัตว์ พืช ป่าเขา โมเลกุล อะตอม ดวงดาว ฯลฯ ความรักระดับจักรวาลจึงใหญ่กว้างขวาง ครอบคลุมสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั่วทั้งจักรวาล
เนื่องด้วยจักรวาลนี้เป็นจักรวาลแห่งการผุดเกิดสิ่งใหม่อยู่เสมอ กล่าวคือธาตุขันธ์ต่างๆ ของจักรวาลที่กำลังวิวัฒน์ คลี่ขยายและม้วนซ่อน สร้างสัตว์ผุดเกิดใหม่ มนุษย์ใหม่ โลกใหม่ จักรวาลใหม่ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความรักระดับจักรวาลจึงเป็นความรักที่ให้พื้นที่สำหรับการเกิดสิ่งใหม่ โอบอุ้มและต้อนรับสิ่งใหม่
ท่านมีโอกาสจะได้เรียนรู้และมีความรักให้กับสิ่งผุดเกิดใหม่ได้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน หากท่านเป็นพ่อแม่ ลูกจะเป็นตัวแทนที่ดีของการเกิดสิ่งใหม่ เพราะแม้ว่าท่านจะสอนลูกมาเองกับมือ เขาก็จะเติบโตออกไปเป็นสิ่งใหม่ที่ท่านไม่เคยสอนมาก่อน หากท่านเป็นผู้ใหญ่ ขอให้เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์งานใหม่ๆที่ท่านไม่เคยคุ้นมาก่อน ไม่ว่าท่านจะเป็นใครอยู่ในตำแหน่งใด ลดการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เพิ่มการช่วยเหลือบริการคนอื่น อนุรักษ์โลกและธรรมชาติ รักสรรพสัตว์เหมือนลูกเหมือนหลาน เหมือนพ่อเหมือนแม่ ท่านก็จะพบว่าท่านกำลังกลายเป็นคนใหม่ และสามารถรักตัวเองที่เป็นคนใหม่ได้อย่างเต็มหัวใจ
ตลอดเส้นทางของการเติบโตทางจิต มนุษย์นั้นสามารถตระหนักและรับรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ แต่เราจะเรียกว่ามนุษย์ผู้นั้นเติบโตอย่างแท้จริงได้หรือไม่ คำตอบอยู่ที่ความรักเท่านั้น เพราะแม้ว่าจะเขาจะรับรู้ได้ถึงอะไรต่างๆมากมาย แต่ถ้าเขารักเพียงแค่ตัวเอง...โลกนี้จะเป็นอย่างไร จักรวาลนี้จะเป็นอย่างไร
ผมเสียดายที่ไม่ได้พูดถึงประเด็นความรักระดับจักรวาลมากนัก ในรายการวิทยุตอนนั้น จึงถือโอกาสมาเขียนไว้เพิ่มเติมที่ตรงนี้ และขอทิ้งท้ายด้วยคำถามใคร่ครวญไว้ ดังที่พูดในรายการวันนั้นเช่นกันว่า “ในฐานะมนุษย์หนึ่งคน ท่านมีความรักยิ่งใหญ่เพียงไร”
Labels: พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒
วันนี้ผู้เขียนได้เดินทางย้อนเข็มนาฬิกาไปพบปะกับอดีตของตัวเอง และได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวสิ่งที่หายไปในชีวิตกลับคืนมาบ้าง
ชีวิตในสังคมยุคเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเร็วมาก จนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาราคาหลายหมื่นบาทเมื่อปีที่แล้ว กลายเป็นเหมือนวัตถุโบราณในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา เรามัวแต่กระหืดกระหอบวิ่งตามปัจจุบันที่วิ่งล้ำหน้าอนาคตไปเสียอีก จนทำให้ไม่มีเวลาได้ชื่นชมหลายสิ่งที่เคยมีคุณค่ายิ่งในชีวิต
งานฌาปนกิจศพของคุณลุงเขย มันฟังดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ ... ก็แค่คุณลุงเขยเสียชีวิต ยิ่งในสังคมทุกวันนี้ที่ญาติพี่น้องก็ไม่ต่างอะไรจากคนแปลกหน้าเท่าไร แค่พอจะมีดีเอ็นเอร่วมกันเท่านั้น แล้วเขยสะใภ้จะสำคัญอะไร
แต่ว่าสำหรับที่บ้านแล้ว เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนอะไรที่ช่วยหยุดเข็มนาฬิกาซึ่งหมุนเร็วเหลือเกินไว้ชั่วขณะ ช่างเป็นเวลาหยุดพักและทบทวนตนเองที่งดงามเหลือเกิน
คุณแม่วัย ๗๗ ปี ผู้อยู่ที่บ้านไร่ในภูเรือ และไม่ยอมลงมากรุงเทพฯ นานแล้ว กลับตัดสินใจทิ้งสุนัขชราตัวโปรดให้อยู่ในการดูแลของเพื่อน เพื่อเดินทางมาร่วมงานศพ เพราะว่า “คุณลุงเป็นคนดีเหลือเกิน ไม่เคยมีอคติกับใคร”
ครอบครัวของผู้เขียนเป็นครอบครัวที่แปลกๆ คุณแม่ผู้สูงอายุแล้ว เลือกไปอยู่คนเดียวที่บ้านไร่บนภูเขากับสุนัขฝูงหนึ่ง เพราะว่า “ทั้งชีวิต ไม่เคยได้อยู่คนเดียว” มันก็เป็นการเลือกที่น่าสนใจและได้รับการเคารพจากลูกๆ หลานๆ คุณแม่ขับรถไปตลาดเอง มีความสุขอยู่กับต้นไม้ ดอกไม้ และธรรมชาติในไร่
การเดินทางมายังกรุงเทพฯ ของคุณแม่ครั้งนี้ ทำให้เราพี่น้องสามคนได้มารวมตัวกันด้วย นานทีปีหน เราจึงจะได้มาพบกันพร้อมหน้า คงเป็นเพราะว่าพี่สาวคนโตมีลูก ๔ คน และวุ่นอยู่กับภารกิจการเป็นคุณแม่ น้องชายคนเล็กก็วุ่นกับการทำงาน ทั้งสามคนพี่น้องต่างอยู่กันคนละจังหวัด แม้ว่าเราจะโทรศัพท์คุยกับคุณแม่ทุกคืน และผลัดกันไปเยี่ยมคุณแม่ แต่ก็ไม่ค่อยจะได้มาพบกันเอง ชีวิตประจำวันแต่ละวันช่างเรียกร้องจากเรามากเหลือเกิน และเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งเวลาที่ควรให้กับพี่น้องแท้ๆ ซึ่งเติบโตมาด้วยกัน กลับกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น หรือว่ามากเกินไป
ตอนใกล้เที่ยง เราร่วมเลี้ยงภัตตาหารเพลในพิธีบวชหน้าไฟของหลาน ได้พบกับลูกพี่ลูกน้องที่ไม่ได้พบกันมาสิบกว่าปี คุณป้าหรือพี่สาวของคุณพ่อของผู้เขียน ผู้เป็นแม่ของลูกพี่ลูกน้องกลุ่มนี้ มีอาการหลงลืม จำใครไม่ค่อยได้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามวัย คุณพ่อของผู้เขียนเองก็เสียชีวิตไปเพราะอุบัติเหตุเมื่อสิบกว่าปีก่อน ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับญาติฝ่ายคุณพ่อ จึงมีเหลืออยู่น้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การได้มาพบเจอกับลูกพี่ลูกน้องที่เป็นลูกของคุณป้าในวันนี้จึงมีความหมายมากจริงๆ
มันเป็นพิธีที่เรียบง่ายมาก มีแต่ญาติพี่น้องกลุ่มเล็กๆ นี้ ได้เห็นหลานที่ไม่ได้เจอมานาน เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราเป็นญาติสนิทกันโดยสายเลือด แต่อะไรในยุคสมัยที่เร่งเร็วนี้ ทำให้เราไม่ได้พบเจอกันเอาเสียเลย นอกจากในวันนี้ วันที่คุณลุงเขยจากเราไป ท่านมีน้ำใจดูแลพวกเราที่เป็นหลานของภรรยาอยู่บ่อยๆ เราก็ได้แต่มาขอบคุณท่านในงานศพ
ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้คนหลายคนในชีวิตก็อาจเป็นเช่นนี้ ได้พบเจอกัน แล้วก็หาเวลาไปเยี่ยมเยือนแทบจะไม่ได้ จนวันสุดท้าย
คำถามที่ผุดขึ้นในใจคือ นี่เราจะรีบไปไหนกันนะ
ในตอนบ่าย ลูกพี่ลูกน้องพาคุณป้ามางานศพคุณลุงเขยด้วย ท่านนั่งยิ้มแย้มอารมณ์ดี แต่จำใครไม่ได้ และไม่ได้ร้องไห้เสียใจกับการจากไปของคู่ชีวิต เพราะไม่รู้เรื่องอะไรกับใครเท่าไรแล้ว คุณแม่ของผู้เขียนเข้าไปกราบท่าน ท่านก็โอบกอด เราพากันสงสัยว่าท่านจำน้องสะใภ้ได้หรือเปล่า ทั้งคู่พูดคุยยิ้มแย้มกัน โดยคนหนึ่งจำอะไรไม่ได้ ทั้งอดีตที่เป็นความสุขและความทุกข์ที่เคยผ่านมาด้วยกัน แต่อีกคนหนึ่ง คือคุณแม่ของผู้เขียน ร้องไห้
ชีวิตของเรามีอะไรบ้างที่สำคัญ มันอาจจะไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ที่เรากำลังตามหาและไขว่คว้า แต่เป็นสิ่งเล็กๆ ที่งดงามที่เรามีอยู่แล้ว เช่น ครอบครัวเล็กๆ ของเรา
เราปรารถนาความเป็นชุมชน ความเป็นองค์รวมในโลก ในจักรวาล เราวิ่งตามหาคำใหญ่ๆ ที่เป็นอุดมคตินี้ในโลก แต่สิ่งที่จักรวาลได้ให้เรามาแล้วที่เป็นชุมชนโดยธรรมชาติ คือครอบครัวของเราแท้ๆ ชุมชนที่รักและดูแลเรามา แต่เรากลับมีเวลาที่จะทะนุถนอมและโอบอุ้มให้ผู้คนเหล่านี้ได้เติบโตทุกย่างก้าวไปด้วยกันกับเราน้อยเหลือเกิน
วันนี้ เหมือนได้ดูภาพยนตร์ย้อนเวลา คิดถึงวันที่คุณป้ามาเปิดประตูรับเวลาเราไปค้างที่บ้าน และทำอาหารให้ทาน คิดถึงคุณลุงเขยที่รับไหว้เราและให้พรอย่างอบอุ่น คิดถึงลูกผู้พี่ที่โตกว่าเรา และเคยพาเราไปเที่ยวสวนสนุก คิดถึงเจ้าหลานตัวน้อยที่เราเห็นนอนแบเบาะ ในวันนี้ เขาได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับที่เราสอนอยู่แท้ๆ แต่เราไม่ได้มีโอกาสรู้เลย เขากลายเป็นศิลปินหนุ่มที่น่ารักและสดใส เดินถือภาพคุณลุงเขย หรือคุณปู่ของเขา นำหน้าขบวนแห่ศพเวียนรอบเมรุ
วันนี้ ได้มองเห็นว่าแต่ละคนที่เกิดมาในโลกต่างก็ได้รับสมบัติอันล้ำค่า คือการมีญาติพี่น้อง มีชุมชนที่อุดมยิ่งของชีวิตมาตั้งแต่เกิด แน่ล่ะว่าอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่มีสิ่งนี้ แต่ว่าใครที่ได้รับพรอันนี้แล้วละเลยไปไม่ได้มองเห็น ในวันหนึ่งเช่นวันนี้ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ที่จักรวาลจัดสรรให้เราได้สัมผัสโดยธรรมชาตินี้ ก็อาจจะยื่นอ้อมกอดมาโอบอุ้มดูแลและสัมผัสเรา ในเวลาที่เรารู้สึกว่า เกือบจะสายเกินไปเสียแล้ว
ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งเล็กๆ ที่เรามี เราอาจจะหยุดเวลาที่ดูเหมือนจะเร่งเร็วไม่รู้จบ เพื่อลองมองสำรวจสิ่งเล็กๆ ที่ล้ำค่ายิ่งในชีวิตดูบ้าง วันนี้ เราได้อยู่กับสิ่งเล็กๆ ที่งดงามนั้น อย่างเต็มเปี่ยมบ้างหรือยัง
หรือเราจะรอให้ถึงวันพรุ่งนี้ ที่อาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่กับเราอีกต่อไปแล้ว
เพราะว่ากาลเวลาไม่มีค่าในตัวเอง แต่สิ่งที่เราได้เติมเต็มเข้าไปในกาลเวลาเหล่านั้นต่างหากที่ทำให้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน :-)
Labels: ชลลดา ทองทวี
โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ โรงพยาบาลบ้าแห่งหนึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ทำให้มีเนื้อที่ไม่เพียงพอต่อการรับรักษา จึงจัดการทดสอบผู้ป่วย โดยสูบน้ำออกจากสระว่ายน้ำจนแห้ง แล้วปล่อยผู้ป่วยให้ลงไปเล่นน้ำในสระ มีเกณฑ์ว่าหากผู้ป่วยคนใดไม่ลงไปเล่น แสดงว่าหายดี ก็จะให้กลับบ้าน หลังจากปล่อยให้ลงไปเล่นน้ำ คนบ้าทุกคนต่างก็ลงไปเล่นอย่างสนุกสนาน แต่ทว่ามีรายหนึ่งนั่งอยู่ริมสระและไม่ลงไปเล่นน้ำกับเพื่อนๆ
คุณหมอ : อ้าวไข่นุ้ยไม่ลงไปเล่นน้ำกะเพื่อนล่ะ
ไข่นุ้ย : หมอจะบ้ารึป่าว
คุณหมอ : ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าเธอหายแล้ว เดี๋ยวหมอจะส่งเธอกลับบ้าน
ไข่นุ้ย : ก็ได้ครับ แต่ก่อนจะส่งผมกลับบ้าน หมอช่วยสอนผมว่ายน้ำก่อนซิครับ ผมจะได้ลงไปเล่นน้ำกะเพื่อนก่อนกลับบ้าน
-----------------------------------------------
จากเรื่องเล่านี้เราก็ไม่รู้ว่าหมอหรือไข่นุ้ยบ้ากันแน่ แต่อ่านแล้วก็นึกขำตัวเองและทำให้ได้คิดไปอีกมุมหนึ่งว่าบางขณะเราก็บ้าเช่นกัน ท่านผู้อ่านเคยคิดหรือเคยรู้สึกว่าตัวเองกำลังบ้าอยู่บ้างไหม? บ่อยครั้งที่ผู้เขียนตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราบ้าอยู่หรือเปล่า? กำลังทำอะไรอยู่? ต้องการอะไรกันแน่? มีความสุขจริงหรือกับสิ่งที่กำลังทำ? และมักจะบอกตัวเองว่ากำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม แต่เพราะอะไรจึงหงุดหงิดอารมณ์เสียได้ง่ายๆ เหมือนคนบ้าที่พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่องโดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว เหนื่อยหน่ายกับการดำรงชีวิต เครียด ท้อแท้ บางครั้งถึงกับเกือบหมดหวัง ความมีชีวิตชีวาความสดชื่นสดใสที่เคยมีหายไปไหนหมด เรากำลังเดินถูกทางจริงหรือ? ภาระที่ต้องรับผิดชอบมันหนักเกินไปไหม? คำถามเหล่านี้วนเวียนเข้ามาทักทายในใจผู้เขียนอยู่เสมอ
สภาพสังคมปัจจุบันมีเหตุมากมายที่ก่อให้เกิดความเครียดกดดัน ความไม่พึงพอใจ ความโกรธ จนทำให้หลายคนมีสภาวะบ้าทางอารมณ์ได้ง่ายๆ บางคนบอกว่ากำลังเป็นโรคมะเร็งอารมณ์ระยะลุกลาม
ยิ่งสภาพของคนที่อยู่ในมหานครใหญ่โตหรูหรานั้นน่าเศร้ากว่าคนต่างจังหวัด นับตั้งแต่เช้าลืมตาตื่นขึ้นมาก็ต้องเร่งรีบจัดการภารกิจส่วนตัวเพื่อจะไปให้ทันเวลา ก้าวขาออกจากบ้านก็พบกับรถยนต์ต่อแถวยาวเหยียด แถมรถมอเตอร์ไซค์นับร้อยๆ คันที่ทะลักออกมาบนท้องถนนในเวลาไล่เลี่ยกัน การดำเนินชีวิตลำบากมากขึ้น ทั้งค่าครองชีพสูง สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
บรรยากาศการแข่งขันในเกือบทุกเรื่องของชีวิตก็เป็นอีกวังวนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงเครียดกดดัน เริ่มแต่เป็นเด็กเล็กก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองแข่งกันให้ได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โตขึ้นมาหน่อยก็พากันเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาให้เล่นหรือได้ใช้ความเป็นเด็กให้คุ้มค่า พอเข้ามหาวิทยาลัยก็แข่งให้ได้เรียนในคณะและมหาวิทยาลัยมีชื่อที่ตลาดแรงงานต้องการ จบออกมาจะได้หางานที่รายได้สูงๆ พอได้งานแล้วคิดว่าชีวิตจะสงบสุขแต่ก็มิวายยังต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้ผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ เพราะหวังว่าจะมาพร้อมกับผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สินเงินทอง
นอกจากนี้เรายังถูกแรงกดดันจากสภาพการเมืองแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายจนก่อให้เกิดความขัดแย้งความรุนแรงรายวัน รวมถึงภาวะวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น บางแห่งน้ำท่วมรุนแรง บางแห่งขาดแคลนน้ำ
ถึงแม้ว่าในสังคมปัจจุบันมีความเจริญทางเทคโนโลยีที่ช่วยทุ่นแรงกายไปได้มาก แต่ก็น่าแปลกใจว่าความสุขใจของคนเรากลับลดน้อยถอยลงเข้าถึงได้ยากเข้าไปทุกที
ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เวียนว่ายใช้ชีวิตอยู่ในวิถีของคนเมืองหลวงและต้องประสบกับสภาวะดังกล่าว ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็รับรู้ได้ถึงความเครียด ความกดดัน ความเหนื่อยหนักจนทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลง โรคภูมิแพ้เริ่มย่างกรายเข้ามาหา เมื่อต้องเดินทางไปทำงานในที่ต่างๆ ผิดที่ผิดทางนิดหน่อยก็มีผื่นขึ้นตามเนื้อตัวได้ง่ายๆ ปวดหัวข้างเดียวโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่บ่อยๆ มือเท้าเริ่มมีอาการชา นอนเท่าไรก็ยังไม่รู้สึกพอ
อาการทางร่างกายแย่ก็ยังพอทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในบางครั้งได้ แต่อาการทางจิตใจยิ่งแย่กว่า หงุดหงิด อารมณ์เสีย เก็บความรู้สึกไม่พอใจไว้กับตัวไม่ได้ กดดัน เรียกร้องทั้งกับตัวเองและคนที่อยู่รอบข้างทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว โดยลืมรับฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ลืมถามความต้องการของผู้อื่นด้วยความใส่ใจ คิดแทน ตัดสินใจแทน บนความหวังดีแต่ไม่ถูกจังหวะ และมักจะมีข้ออ้างเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอว่าเร่งรีบ เร่งด่วน หรือเพื่อให้ทันกับสิ่งที่กำลังไล่ล่ามา (ในความรู้สึกนึกคิดของเราเอง) ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างนับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อยู่เสมอ จนเป็นความชาชิน เบื่อ เซ็งในอารมณ์ ไม่อยากพูด ไม่อยากคุย ไม่ต้องการสื่อสาร ราวกับเป็นคนบ้า
ชีวิตเริ่มไม่มีความสุขอย่างเห็นได้ชัด หลายคนทักว่าทำไมดูโทรมจัง หน้าตาไม่ผ่องใส เหมือนคนป่วย ไม่สบายอกสบายใจอะไรอยู่หรือเปล่า คำทักทายนี้ทำให้หันกลับมาใคร่ครวญตัวเองอย่างจริงจังว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราหรือ? แม้การดำเนินชีวิตนั้นมีปัจจัยภายนอกที่บีบคั้นกดดันทำให้ทุกข์ แต่ก็เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง แต่ยังมีอีกสาเหตุจากปัจจัยภายในตัวเราที่เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย
สาเหตุภายในที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ความโลภ คือความต้องการทำสิ่งต่างๆ ที่มากเกินพอดี มีหน้างานที่เรียกร้องให้เข้าไปช่วยเหลือดูแลมากขึ้นทุกวัน ทั้งงานที่เต็มใจจะช่วย หรือที่ขัดไม่ได้เพราะความเกรงใจหรือเหตุอื่นๆ การได้ทำงานเหล่านี้ก็ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เหมือนเป็นนางฟ้าเป็นแม่พระ ลืมมองถึงความเป็นจริงในชีวิตว่าหากเราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไปชีวิตก็จะขาดสมดุล จากเดิมเป็นนางฟ้าหรือแม่พระก็กลับกลายเป็นนางมารร้ายแทน และการเป็นนางฟ้ากับนางมารนั้นอยู่ใกล้กันนิดเดียว เป็นสภาวะคู่ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา
ความคาดหวังสูงและยึดมั่นในผลสำเร็จจนเกินไปก็พบว่าเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินชีวิตขาดสมดุล ด้วยแรงเหวี่ยงของความคาดหวังและความยึดมั่นว่าสิ่งที่ทำจะต้องออกมาดูดี ต้องเนี้ยบ ต้องสมบูรณ์ไม่ผิดพลาด ทำให้กดดันทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ให้ทำอย่างสุดกำลังความสามารถ ทุ่มเททั้งเวลา แรงกาย แรงใจไปเต็มเหนี่ยวจนเกินกำลังที่มี พอผิดพลาดพลั้งเผลอก็ไม่เท่าทัน อารมณ์เสียหงุดหงิดโวยวาย สีหน้าท่าทางบ่งบอกถึงความไม่พอใจ เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆ แล้วกลับพบว่าเราต้องการหลบหนีความกลัว กลัวจะไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวไม่ได้รับความชื่นชม และกลัวว่าชีวิตจะไม่มีคุณค่าเพียงพอ
คงต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าเราจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรให้มีความสุข มีความสมดุลบนความต้องการที่แท้จริง หากการดำเนินชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันแต่ละปีเปรียบได้กับการเขียนบันทึก บันทึกชีวิตของแต่ละคนก็คงเป็นสมุดเล่มใหญ่ที่มีเนื้อหายาว แต่เราส่วนใหญ่ลืมกลับไปอ่านบันทึกนี้เพื่อทบทวนตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ได้กระทำลงไป
หากเราดำเนินชีวิตช้าลงสักนิดใคร่ครวญมากขึ้นสักหน่อย เราคงตั้งสติได้ทัน และพบว่าสิ่งดีที่ควรทำให้โลกนั้นมีมากมาย เราสามารถช่วยได้เท่าที่ช่วยได้ เราสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดพลั้งเผลอ เพียงแค่พร้อมเผชิญความจริงไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจ หากเราได้ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ดีที่สุดแล้ว
หากมีสติเพียงพอเราก็คงจะเต้นรำไปตามจังหวะของชีวิตที่เร็วบ้างช้าบ้างอย่างสมดุล คงไม่ต้องเต้นเร็วหรือเร่งจังหวะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็น่าจะมีเวลามากพอที่จะเต้นรำร่วมกับคนที่เรารักและรักเราอย่างสมดุลมากขึ้น ในขณะนั้นชีวิตคงจะมีความสุขและสมดุลมากกว่าที่เป็นอยู่
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังจะเริ่มต้นเต้นรำไปตามจังหวะชีวิตอย่างรู้ตัว
คงไม่มีคำว่าสายเกินไปหากเรายังมีลมหายใจและพร้อมเริ่มต้นนับจังหวะใหม่ทุกครั้งที่รู้ตัว
Labels: พูลฉวี เรืองวิชาธร
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๒
การทานอาหารหากไม่ได้เป็นไปเพื่อเพิ่มความอยากในอาหารก็เป็นกุศล การเขียนหนังสือหากมิได้เป็นไปเพื่อเสริมสร้างอัตตาของตนก็ควรลงมือกระทำอย่าได้รอช้า ผู้ที่ไม่ได้ฝึกตนและฝึกใจนั้น ยากที่จะเห็นเส้นสายลายแทงที่ละเอียดในเรื่องของจิตของใจ “เห็นเสือแต่ไม่เห็นลายเสือ” อาจารย์ไพบูลย์ของผมเคยว่าเอาไว้
ผมครุ่นคำนึงถึงสองสามประโยคข้างบนนี้กับงานที่ตนทำผ่านพ้นไป งานอบรมละครสำหรับเยาวชนที่ตั้งชื่อเอาไว้อย่างท้าทายว่า “5 วันฉันเปลี่ยน” เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเขียนถึงงานนั้นให้ดูดีสวยหรู แต่จะมีประโยชน์อย่างใดเล่าเพราะมันไม่ “สนุก” อาจจะก่อประโยชน์บ้าง แต่ก็กระผีกกระเผาะเต็มที สู้เขียนวิพากษ์ตนเองไม่ได้น่าสนใจกว่าเป็นไหนๆ
งานอบรมละคร “5 วันฉันเปลี่ยน” คัดสรรผู้เข้าร่วมให้มีอายุระหว่าง 14-18 ขวบปี แต่สุดท้ายเรามีสมาชิกตั้งแต่อายุ 13 ขวบไล่เรื่อยไปจนถึง 50 กว่าขวบ ตามวาระและโอกาสของแต่ละคนที่เชื้อเชิญตัวเองเข้ามาร่วมในงาน อายุเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญเพราะเห็นว่าช่วงนี้เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยรุ่นกำลังจะสร้างทัศนะบางอย่าง บ่มเพาะความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง ประกอบสร้างตัวเองจากประสบการณ์ซึ่งก็มีอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มทนในระบบการศึกษาและสังคมที่ไม่ได้ช่วยอะไรสักเท่าใด เลยจากนี้ไปหากเราไม่ให้ความสนใจกับเขา เราก็จะได้ผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ มาเพิ่มจำนวนสมทบไปกับที่มีอยู่แล้ว นั่นคงไม่ใช่อนาคตที่เราอยากเห็น
หลายคนถามว่าเหตุใดผมจึงไม่ใช้แนวทางจิตตปัญญาในการอบรมเยาวชน ทำไมไม่หันเหพวกเขาเข้าสู่แนวทางของพุทธศาสนา เพราะเหตุใดจึงไปอบรมเยาวชนของเราด้วยแนวทางการละครของผู้ที่ถูกกดขี่ (Theatre of the Oppressed) ซึ่งบางคนโจมตีว่าเป็นละครของพวกหัวเอียงซ้าย!! ผมไม่ได้ปฏิเสธแนวทางของจิตตปัญญาและพุทธศาสนาแต่ผมเชื่อในลำดับขั้นของการพัฒนาทางจิตสำนึกว่าต้องดำเนินไปเป็นลำดับ สำหรับเยาวชนการเรียนรู้ให้ทำลายอัตตาเสียตั้งแต่ยังไม่รู้ฤทธิ์เดชของอัตตาก็เท่ากับเราชิงสุกก่อนห่าม อัตตาไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย อาจารย์ใหญ่ (วิศิษฐ์ วังวิญญู) เคยว่าเอาไว้ ก็ตรงกับที่ ติช นัท ฮันห์ บอกว่าเราจะเลือกชื่นชมแต่ดอกไม้ที่สวยงามแล้วทำเป็นไม่รู้จักกองขยะที่เน่าเหม็นไม่ได้ เพราะสองสิ่งก็คือสิ่งเดียวกัน ในกองขยะก็มีดอกไม้ ในอวิชชาก็มีโอกาสของการรู้แจ้ง ส่วนเอคฮาร์ท โทลลี บัณฑิตผู้อยู่กับปัจจุบันขณะก็พูดเสมอว่าก้อนกองสังขารนั้นอย่าไปทิ้งขว้างทีเดียวนา เพราะเวลาคนเราพลิกเปลี่ยนก็อาศัยกองทุกข์นี่แหละช่วยดัน ช่วยผลักให้ผันข้าม (transmute) ไปสู่สภาวะใหม่ได้
ผมเชื่อในอาจารย์เหล่านี้จึงได้รับเอาละครนี้มาเป็นเชื้อปะทุ ปลุกอัตตาของเยาวชนเหล่านี้ให้ลุกขึ้นมาอย่างปราศจากการหลบซ่อนปกปิดในนามของศีลธรรม จริยธรรม หรือความกริ่งเกรงอื่นใด ปลุกให้เขาเหล่านั้นมาเผชิญหน้ากับมารในตัวของพวกเขา แน่นอนว่าต้องอยู่ในพื้นที่อันปลอดภัยและโอบรับได้ทุกอย่าง งานเช่นนี้ต้องการการตื่นรู้ของคณะผู้จัดทำ ต้องเป็นการตื่นรู้ในระดับที่ไม่ธรรมดา ผู้เข้าร่วมจึงต้องฝึกไปพร้อมๆ กับคณะผู้จัดซึ่งต้องตื่นรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ เราค่อยๆ ผลักเขาออกจากพื้นที่ของความคุ้นชินมาเป็นพื้นที่ของความเป็นไปได้ของละคร บรรยากาศของค่ายมิได้เป็นไปด้วยความสงบ แต่มีความโกลาหลมีคลื่นใต้น้ำที่ผุดพรายขึ้นมาให้ได้ศึกษากันเป็นระยะ ความรู้สึกลึกๆ จะถูกกระตุ้นแต่มิใช่ด้วยต้องการให้ฟูมฟาย แต่เป็นการฟูมฟักความเข้าใจใหม่ด้วยสายตาใหม่ แหวกจอกแหนที่เป็นม่านบังตาให้เห็นพื้นน้ำเบื้องล่าง
ชลลดา ทองทวี อ้างอิงงานของ อมิต โฆษวามี ว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์มีขั้นตอนอยู่ 4 ขั้นดังนี้
1. การรับรู้ (perception) --> 2. การสร้างมโนทัศน์ (conception) --> 3. การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) --> 4. การคิดเชิงสรรค์สร้าง (creative thinking) ค่ายละครที่ทำลงไปผมเชื่อว่ามีปฏิบัติการทั้ง 4 อย่างนี้ ในสังคมไทยเรามิได้ขาดขั้นที่ 1, 2 มากนัก แต่ผมเห็นว่าเราอ่อนขั้นตอนที่ 3, 4 เพื่อนผู้รู้ของผมคนหนึ่งที่อาศรมศิลป์ก็เคยกล่าวเอาไว้ว่าในกระบวนการจิตตปัญญาของเรายังขาดการคิดเชิงวิพากษ์เช่นเดียวกัน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากเยาวชนของเราหรือแม้กระทั่งตัวเราเองขาดการคิดเชิงวิพากษ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะมีแนวโน้มการรับเอา เชื่อตามอย่างเซื่องๆ ซึ่งผู้มีอำนาจแต่เขลาปัญญาอยากให้ประชาชนของตนเป็นอย่างนั้น ลองนึกดูเล่นๆ ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้าเมื่อผู้อ่านข้อเขียนนี้ก็คงเสียชีวิตไปแล้วกว่าครึ่ง เราทิ้งมรดกแห่งความเซื่องเซื่อเอาไว้ให้กับลูกหลานของเรา สังคมของเราจะอุดมไปด้วยคนเบาปัญญาแต่เมาอำนาจ การปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ต่างหากที่เป็นการทำร้ายประเทศไทย มิใช่การลุกขึ้นมาตะโกนขอให้สมานฉันท์ หากผู้ลุกขึ้นประกาศมายังแยกแยะไม่ออกระหว่าง “ความสมานฉันท์” กับ “ความเซื่องเซื่อ”
ผมไม่ใคร่จะพบการบ่มเพาะความคิดเชิงวิพากษ์ในกระบวนการจิตตปัญญา หรือในการเรียนเรื่องพุทธศาสนา ผมจึงมองหาแนวทางอื่นเข้ามาหลอมรวม โดยจะเรียกว่าเป็นขั้นตอน “เหยียบผ่าน” หรืออย่างไรก็ตามที แต่เช่นเดียวกับจิตสำนึกเรื่องการเมือง หากจิตสำนึกในการศึกษาพุทธศาสนาเป็นไปแบบเซื่องๆ ผมก็ไม่เชื่อว่าใครจะบรรลุธรรม หากใครไม่กล้าคิดวิพากษ์ความเชื่อทางศาสนาของตนเองเสียก่อนอย่างถึงพริกถึงขิง โอกาสที่จะแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมาเป็นความเข้าใจได้ในภายหลังก็แทบไม่มี การคิดเชิงวิพากษ์จึงไม่ใช่การวิจารณ์ผู้อื่นอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิด ที่ถูกคือผู้นั้นต้องรู้จักวิพากษ์ตัวเองเสียก่อนอย่างลึกซึ้งและหลากหลายแง่มุม และควรจะต้องทำให้มากกว่าการวิพากษ์ผู้อื่นหรือเรื่องอื่น เมื่อนั้นก็อาจจะมีหนทางตกผลึกเกิดเป็นความคิดเชิงสรรค์สร้างได้ในที่สุด
แต่ถ้าหากไปสุดโต่งคือคิดวิพากษ์หรือคิดแบบแยกแยะมากจนเกินไป โอกาสที่จะเห็นธรรมก็เป็นเรื่องยาก อย่างชาวตะวันตกผู้หันมาสนใจพุทธศาสนาต้องประสบ พวกเขาไม่ใคร่จะเข้าใจการสอนในแบบพุทธศาสนาเพราะเห็นว่าเข้าใจยาก แท้จริงแล้วกระบวนการทำความเข้าใจของเขาต่างหากที่เป็นปัญหา เยาวชนไทยของเรานั้นเล่าก็ไปสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง เพราะกระบวนการทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของเราเป็นไปแบบเซื่องๆ ก็คือว่าตามกันไป ถามว่าทำไมต้องทำ คำตอบก็คือไม่รู้เหมือนกัน เราอยากจะให้เยาวชนคิดเป็นแต่ห้ามเถียง ห้ามสร้างความวุ่นวาย แล้วอย่างนี้เด็กจะเรียนรู้เรื่องการขบถต่อขนบจากไหน?
Labels: ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย