โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒
ราว 2 ปีที่ผ่านมา เราหลายคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันทำงานทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านไปยังศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยในช่วงเวลาของการริเริ่มนี้เราเชื่อว่าควรมีความรู้เป็นฐานรองรับ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านให้ความเมตตาแนะไว้ว่า หากจะกระทำการขับเคลื่อนเรื่องใด ควรได้ศึกษาวิจัยเรื่องนั้นให้รู้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร เพื่อจะได้ทำงานในส่วนที่เป็นคานงัด ทำน้อยแต่ได้ผลมาก หรือทำในส่วนที่ยังขาดพร่องอยู่
เราใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มและเข้าไปปรึกษาขอรับคำแนะนำจากปราชญ์หลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ จนกระทั่งเริ่มเห็นแนวทางว่าควรจะทำงานศึกษาทบทวนใน 5 เรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงจะครอบคลุมภาพรวมและเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อยอดในอนาคต ทั้ง 5 เรื่องนั้นประกอบด้วย 1. ประวัติแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2. เครื่องมือและวิธีปฏิบัติในแนวจิตตปัญญาศึกษา 3. วิธีวิทยาการวิจัยสำหรับจิตตปัญญาศึกษา 4. การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา และ 5. แนวทางการประยุกต์ใช้จิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ
งานวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลจำนวนมาก เราพบว่าแม้จิตตปัญญาศึกษามีความเคลื่อนไหวที่เริ่มในต่างประเทศมาไม่นาน ทว่าได้นำแนวคิดที่มีอยู่ร่วมกันในหลายศาสนาและความเชื่อมาใช้ในบริบทสังคมร่วมสมัย วิธีการปฏิบัติก็ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นฐานกาย กิจกรรมเชิงพิธีกรรม การทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้สมาธิและการสงบนิ่ง ล้วนแล้วเป็นการปฏิบัติที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้ ส่วนวิธีวิทยาการวิจัยก็มิได้จำเพาะต้องเป็นแนวทางหนึ่งใด แต่ควรได้บูรณาการผสมผสานให้เห็นความจริงจากหลากมุมมอง เช่นเดียวกับการประเมินที่มีจุดสำคัญคือการรู้เท่าทันและตระหนักในกระบวนทัศน์ของตนเอง ตลอดจนการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ นั้นจึงมิใช่การปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากันได้กับบริบทเท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ที่มุ่งสู่การเรียนรู้จิตใจและเข้าใจตน
ในระหว่างกระบวนการวิจัยเราพบอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อยเฉกเช่นเดียวกับการร่วมกันทำงานในหลายๆ อย่าง บางเรื่องเราอาจจะสามารถจัดการได้ด้วยวิธีสั่งการ หรือยึดเอาแผนการดำเนินงานเป็นหลัก ทว่าข้อมูลความรู้มากมายที่เราพบบ่งชัดว่าการพัฒนาจิตวิญญาณและปัญญาทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการมีประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ การทำงานวิจัยร่วมกันของเราจึงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการฝึกฝนทางจิตตปัญญาของผู้วิจัยทุกคน เรานำเอาแนวคิดความเป็นผู้นำร่วมและความเป็นผู้นำผู้รับใช้ให้มาอยู่ในการทำงานจริง แม้เรื่องดังว่านี้จะไม่ง่ายดายและคงไม่เห็นผลทันทีก็ตาม แต่อย่างน้อยเราต่างได้เรียนรู้อะไรผ่านประสบการณ์ตรงทีเดียว
ช่วงของการสรุปประมวลและสังเคราะห์ความรู้เป็นขณะเวลาที่น่าประทับใจ ทุกคนในคณะทำงานโครงการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นความรู้จากงานที่ต่างคนได้ทบทวนศึกษามา แต่แรกดูเหมือนว่าจะหาข้อสรุปลงตัวที่ตรงใจให้แก่กันไม่ได้ เมื่อความเครียดครอบงำการทำงานเราจึงได้พลิกเปลี่ยนเข้าหาความผ่อนคลาย บทสนทนาสู่บทสรุปจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อหาเดิมเดียวกัน จากความคิดเล็กๆ หนึ่งก่อเกิด ความคิดใหม่ได้ต่อยอดและประกอบกันเข้าเป็นข้อสรุปในใจที่เราสามารถเห็นร่วมตรงกัน เสนอประมวลความรู้จิตตปัญญาศึกษาให้เป็นโมเดลชื่อว่า “จิตตปัญญาพฤกษา” (Contemplative Education Tree)
องค์ประกอบของโมเดลนี้มีส่วนสำคัญ 8 ประการซึ่งสื่อถึงองคาพยพของต้นไม้ ได้แก่ 1. ราก คือที่มาและพัฒนาการของจิตตปัญญาศึกษานั้นอยู่ฐานแนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยมและเชิงบูรณาการองค์รวม 2. ผล คือเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงถึงความจริงของสรรพสิ่ง 3. แก่น เป็นกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ประกอบด้วย การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง 4. กระพี้ เป็นบริบทของการเรียนรู้ ประกอบด้วย ชุมชมหรือสังฆะสนับสนุน และการกลมกลืนกับวัฒนธรรม 5. เปลือก เป็นเครื่องมือและการปฏิบัติรูปแบบต่างๆ 6. เมล็ด เป็นศักยภาพการเรียนรู้ภายในมนุษย์ 7. ผืนดิน เป็นวงการต่างๆ ที่จะนำจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ 8. การปลูกและดูแล เป็นกระบวนการพัฒนาและทบทวนความรู้ ประกอบด้วยวิธีวิทยาการวิจัย และการประเมิน
ผู้ทรงคุณวุฒิและกัลยาณมิตรบางท่านได้เคยทักท้วงว่าโมเดลนี้อาจยังไม่ชัดเจนและเข้าใจได้ยาก ขณะที่เราคณะทำงานน้อมรับความเห็นต่างนั้น แต่เรายืนยันการนำเสนอโมเดลลักษณะนี้เพื่อชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้มีแบบแผนทิศทางคงที่ ตายตัว ไม่ได้เป็นกลไกลดทอนย่อส่วนหรือเชิงเส้น การเปรียบเปรยภาพของการเรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่แยกส่วนและสัมพันธ์ประสานกันจึงเป็นการอุปมาที่มีความมุ่งหมาย
อีกทั้งการเลือกใช้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษานำเสนอภาพแนวคิดจิตตปัญญาศึกษามิได้ตั้งอยู่บนความต้องการปกป้องผลงานวิชาการ แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการทำงานอย่างเป็นผู้นำร่วมและการทดลองใช้วิธีปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาศึกษาของคณะทำงาน เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงและเชื่อมร้อยสัมพันธ์กับใจของเราผู้ศึกษา ดังนี้แล้ว ความเห็นพ้องหรือความเห็นต่างต่อจิตตปัญญาพฤกษาอันสามารถนำไปสู่ความเข้าใจและสนับสนุนการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิ้น
เมื่อสิ้นโครงการนี้ เราเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยนำจิตตปัญญาพฤกษาเป็นโมเดลต้นแบบนำไปใช้จัดการเรียนการสอนให้นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดรายทางของชั้นเรียนและผลตอนท้ายของการศึกษาล้วนบ่งชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณหาใช่การวางแผนการสอนและจัดการเรียนไปตามแผนอย่างเคร่งครัด แต่ควรสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งการจัดกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา ศิลปะ และการเจริญสติ พร้อมทั้งมีการเรียนรู้อย่างสังฆะกัลยาณมิตรหรือชุมชนการเรียนรู้เป็นกระพี้โอบอุ้ม เมื่อผู้เรียนพร้อมเมื่อนั้นเขาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองและด้วยตนเอง
สำหรับเราผู้ซึ่งทำงานวิจัยทบทวนความรู้และได้นำไปทดลองปฏิบัติการ เราปรารถนาให้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษาเป็นเครื่องเตือนให้ได้ระลึกอยู่เสมอว่า แม้การเรียนรู้ในแนวทางจิตตปัญญาศึกษานั้นจะไม่อาจคาดหวังและกะเกณฑ์ผลลัพธ์อันแม่นยำจากผู้เรียนได้ แต่เราเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าภายใต้การหมั่นสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแล้ว การเติบโตทางจิตวิญญาณในกระบวนการเรียนรู้ย่อมจะเกิดขึ้นและดำเนินไปเฉกเช่นเดียวกับการเติบโตของชีวิตจากเมล็ดน้อยๆ สู่ไม้ใหญ่อันให้ความร่มเย็นแก่ผืนดินและสรรพชีวิตทั้งหลายในที่สุด
Labels: ธีระพล เต็มอุดม
โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒
“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ทึ่งในตัวอาจารย์มาก ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตนเองต้องการเป็นแบบไหน” (อรรถพล อ.)
“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” ผมนึกถึงสำนวนนิยายจีนของโกวเล้ง
ภาคการศึกษานี้ อาจจะเป็นภาคการศึกษาสุดท้ายของผมในการเลกเชอร์ให้กับนักศึกษาปีหนึ่งของมหิดล การสอนบรรยายให้นักศึกษาห้องละสองร้อยกว่าคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เบื่อกันทั้งคนสอนและคนเรียน ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะ กับระบบการศึกษาที่ท่องไปเพื่อคะแนน เรียนไปเพื่อสอบ
แต่สำหรับผมแล้ว การไปสอนเลกเชอร์เป็นการเติมเต็มความหมายของชีวิต การได้เปลี่ยนบทบาทจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เคยนั่งหันหน้าหากระดานดำ เรียนบ้าง จดบ้าง คุยบ้าง หลับบ้าง แอบกินขนมบ้าง กลับมายืนหน้าห้องบรรยายห้องเดิม แต่ครั้งนี้หันหน้าไปทางหลังห้อง เหมือนมองย้อนกลับไปจนเห็นตนเองในอดีต มันเปรียบดั่งการจาริกไปสู่ต้นกำเนิดแห่งตัวตนของผมเอง
ไม่มีวันไหนแม้แต่วันเดียวที่ไม่อยากไปสอน ฝนตก แดดออก รถติด ถนนว่าง วันเดินทางไปศาลายาเป็นวันที่ตื่นเต้น อุดมไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ ไม่มีสองวันไหนที่เหมือนกันเลย
ยิ่งปีสุดท้ายปีนี้ด้วยแล้ว เลกเชอร์แต่ละครั้งยิ่งมีความหมายกับผมอย่างมาก
ผมรู้ว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าผลจะออกมาอย่างไร และการที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนี่ด้วยกระมังที่ทำให้มันน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่
คืนก่อนหน้า ผมมักจะนั่งทำ PowerPoint อย่างบรรจง เตรียมเล่าข่าวสดๆ ทันเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา เลือกรูป เลือกสไลด์ เลือกคลิปด้วยความพิถีพิถัน จนบางทีสงสัยว่าย้ำคิดย้ำทำเกินไปหรือเปล่า แต่เมื่อคิดว่ากับช่วงเวลาสั้นๆ ๖ สัปดาห์ สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง แต่ละนาทีนับว่ามีความหมายไม่น้อย
อันที่จริง ๑๒ ชั่วโมง กับเนื้อหา ๑๑ บท ๑๙๘ หน้าแล้ว มันง่ายมากเลย ที่คนสอนอย่างเราๆ จะเดินทางเข้าสู่ร่องของการเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเราเป็นนิสิตนักศึกษาเอง เพราะลำพังแค่สรุปเนื้อหาในหนังสือมาสอนก็แทบจะไม่ทันแล้ว “ไม่ใช่แต่ พูดๆ ไปตามหนังสือ พอเสร็จ เด็กก็ไปคายๆๆ ในห้องสอบ ใครจำได้มากได้คะแนนมาก หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่” (รหัส 520517X)
หรือว่าเราต้องเชื่อว่านักศึกษาเขาเรียนรู้เองได้ รับผิดชอบตนเองได้ หากว่าเขาต้องการ ถ้าเช่นนั้น ความท้าทายของเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพยายามอัดหรือยัดเนื้อหาให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การทำให้เขาเห็นคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ ความน่าทึ่ง ในโอกาสและวิชาที่อยู่เบื้องหน้าเขา
หากเราเชื่อในเจตจำนงอิสระของมนุษย์แต่ละคน และสามารถโยงสิ่งที่เขาเรียนเข้ากับชีวิตของเขาได้ ก็คงไม่ต้องขู่เข็ญใครให้มาเข้าเรียน รวมไปถึงบังคับข่มขู่ด้วยระบบคะแนน
ผมสนุกกับการสร้างความหมายใหม่ให้กับวิชาชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ และการมีชีวิต ร่วมกันไปกับรุ่นน้องคณะ เชื้อเชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวา ความเป็นมนุษย์กลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง (โดยไม่ได้พูดถึงคำว่า จิตตปัญญาศึกษา, Contemplative Education หรือ Humanized Educare เลย) เชิญชวนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียน วิธีการที่เขาเรียน และเป้าหมายของการเรียนของเขา (สไลด์แรกสุดคือคำถามว่า “จะเรียนไป ... ทำไม?”)
แน่นอน นักศึกษาจะรู้สึกงงๆ ในตอนต้น
“แรกๆ ผมก็โดด คิดว่าไปอ่านเองแล้วจะได้อะไรมากกว่า แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้า [เรียน] ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าโดดเลย อาจารย์สอนอะไรมากกว่าในหนังสืออีก ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)
ทุกครั้ง ก่อนหมดคาบ ๑๐ นาที ผมให้ทุกคนเขียนสะท้อนว่า ๑) สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ หรือสิ่งที่เขารู้สึก “โดน” ที่สุดในวันนั้นคืออะไร และ ๒) เขามีอะไรที่อยากจะถาม/รู้/บอก/แนะนำ แต่ละสัปดาห์ผมจึงมีกระดาษสองร้อยกว่าแผ่นกลับบ้าน ผมอ่านทุกใบด้วยความสนใจใคร่รู้ อยากรู้จักแต่ละคน อยากเข้าใจในที่มาของแต่ละคน ผมคัดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อมาอ่านตอนต้นชั่วโมงถัดไป ทั้งข้อคิดเห็น คำบ่น คำแซว คำชม โดยเฉพาะคำถาม ซึ่งผมมักตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ของเขา ด้วยคำตอบห่วยๆ ของเรา” ผมเตือนตนเอง
วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ผมชวนนักศึกษาทำ Intuitive Writing ให้เขาได้แบ่งปัน “อะไรก็ได้” เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจากชั้นเรียนที่ผ่านมา การเขียนนี้ไม่มีผลต่อคะแนน และไม่จำเป็นต้องลงชื่อ
คำแนะนำสั้นๆ ของผม คือ เขียนโดยไม่หยุด ไม่ยกปากกาขึ้น เขียนไปเรื่อยๆ หากนึกไม่ออก ก็เขียน “นึกไม่ออก นึกไม่ออก” สบายๆ ผ่อนคลาย ไปเรื่อยๆ เป็นเวลา ๑๐ นาที
สิบนาทีสั้นๆ ที่ยิ่งใหญ่ และมีความหมายสำหรับผม สัมผัสรับรู้ได้ว่าทำไมมีนักศึกษาหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
“At first, I thought that there was nothing interesting in sitting and studying in the room. Though it was freaking hard waking up in the morning, walking to the [Lecture Hall], but I did it with cheering ’cause it was Monday, the day I get to study Biology with you. ... There are lots of things out there waiting to be explored, but I just ... waste my time fooling around on the internet. Your words are like wake up calls to me. ... Thank you for everything. You’re such a heaven-sent. I’m honored.” (ภัทราวรรณ พ.)
“อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)
“การได้เรียนรู้แนวการเรียนที่มันแตกต่างออกไป มันทำให้เราได้คิดย้อนกลับมามองตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเรียนเราเรียนไปเพื่ออะไร เพื่อเอาไปทำอะไร แล้วมันมีความสัมพันธ์กับชีวิตรอบตัวของเราอย่างไร ทั้งคน-สัตว์และพืช (สิ่งแวดล้อม) มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น แต่เรากลับมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไป ทำให้เราไม่รู้จักพอ” (โฆษิต ฐ.)
“เป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นมาทดแทนได้ การเรียนชีววิทยาที่น่าตื่นเต้นในมุมมองของคนที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างผมนี้” (พิษณุ บ.)
“แท้จริงแล้วมนุษย์ก็เป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ แม้ว่าจะได้เจออาจารย์เพียงช่วงสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจและภูมิใจมากๆ ค่ะ ที่ได้เป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ หนูจะใช้เวลาอีก 3 ปี+1 เทอมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีคุณค่ามากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้องเรียน ก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอย่างเต็มภาคภูมิ หนูสัญญาว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเหมือนอย่างที่อาจารย์เป็น จะไม่เอาความรู้ที่เรามีไปเอาเปรียบใคร ... ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับการเรียนใน 6 ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจ และขอบคุณจากใจค่ะ” (520517X)
“ก็ไม่รู้สิ มีอะไรอยากบอกมากกว่านี้ตั้งมากมาย แต่ก็นะ บอกไม่หมดหรอก ขอบคุณล่ะกันครับ ความรู้สึกที่มากที่สุดตอนนี้คงเป็นคำว่า ขอบคุณ” (อรรถพล อ.)
ใช่เลย ความรู้สึกเด่นชัดที่สุดของผมขณะนี้ คือ ขอบคุณ ขอบคุณเหล่านักเดินทางรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเดินทางท่องไปในโลกใบกว้าง พร้อมๆ กับเดินทางเข้าไปในใจในกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน ดังเช่นที่ สาทิศ กุมารเคยกล่าวไว้ “มีเธอ จึงมีฉัน”
ชวนให้ผมนึกถึงการเดินทางด้วยเท้าอันยิ่งใหญ่ในโลก โดยเฉพาะการเดินทางของคานธี ไปทำเกลือทะเลที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพของอินเดีย การเดินทางโดยปราศจากเงินแม้เพียงรูปีเดียว ของสาทิศ กุมารจากอินเดียไปยุโรปและอเมริกา เพื่อส่งมอบ “ชาสันติภาพ” แก่ผู้นำประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ รวมถึงการเดินทางของประมวล เพ็งจันทร์ อันเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”
การเดินทางเล็กๆ ในชั้นเรียน แม้จะไม่โด่งดังและยิ่งใหญ่เท่ากับการเดินทางเหล่านั้น แต่ก็ “จริง” อย่างยิ่งสำหรับบรรดาเหล่านักเดินทางรุ่นใหม่ เป็นดั่งคำเชื้อเชิญให้เปิดใจ เรียนรู้ และออกเดินทางสู่การตื่นรู้ ในวิถีที่ไม่แยกเป้าหมายทางวิชาชีพ (professional quest) ออกจาก เป้าหมายทางจิตวิญญาณ (spiritual quest)
ชั้นเรียนของเราอาจจะจบแล้ว แต่การเดินทางของเราอาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็ได้
ยินดีต้อนรับสู่การเดินทางบทใหม่ครับ :-)
Labels: สรยุทธ รัตนพจนารถ
โดย สุวัฒนา ชุมพลกูลวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒
“เราจำเป็นต้องเป็นตัวเราตลอดเวลาไหม?”
พี่สาวพยาบาลทหารคนหนึ่งถามขึ้นในวงสุนทรียสนทนา เพราะช่วงที่ผ่านมา เธอกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง และต้องจัดกระบวนการกลุ่มโดยผลัดกับเพื่อนเป็นผู้นำกลุ่มและดำเนินการประชุมให้สำเร็จลุล่วง แน่นอนว่าทุกอย่างอยู่ในสายตาของผู้ประเมินซึ่งเธอเรียกว่า Commentator ตลอดเวลา
เธอถามคำถามนี้กับตัวเองในค่ำคืนหลังจากตัวเองเป็นผู้นำประชุม และถูก Commentator กระหน่ำความเห็นประหนึ่งหวดไม้ลงมาที่เธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า “กะว่าจะเอาให้ลงไปกองตรงนั้นให้ได้เลยกระมัง” เธอกล่าว เพื่อนๆ ถึงกับเข้ามาจับมือ ตบไหล่ และให้กำลังใจเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งๆ ที่เธอเพียงแสดงเป็นตัวของเธอเองน่ะหรือ ผู้ประเมินถึงกระหน่ำคำพูดที่ทำร้ายกับเธอเช่นนี้?
ถ้าเช่นนั้นเธอควรจะทำเช่นไรดี?
วันถัดมา เธอจึงแสร้งทำเป็นซึมแต่เช้า ทั้งที่ปรกติเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองมาก พูดจาฉะฉานและมีแววตาที่มุ่งมั่น และเพื่อให้สมบทบาทนี้ เธอถึงกับกรอกยาแก้ปวดหัวต่อหน้าเพื่อนฝูง ไม่ให้เพื่อนๆ ประหลาดใจว่าเธอแปลกไป เพราะวันนี้เธอจะเป็นคนปวดหัว ซึม เซื่อง และนำประชุมไม่ได้เรื่องไงล่ะ!
ผลที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความคาดหมาย เพื่อนๆ และวงประชุมเซื่องซึมไปตามๆ กัน ยังไม่นับ Commentator ผู้เดิมที่ไม่อาจหวดไม้ตะบองที่เตรียมมาได้เลย
นี่อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่เธอต้องเผชิญให้ก้าวผ่านมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่กระนั้น ฉันกลับฟันธงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้อยู่ในใจเงียบๆ
---------------------------------------
ตอนบ่ายหลังจากวงสนทนาจบลง ฉันเดินไปทานข้าวกับพี่สาวอีกสองคน เรายังคงพูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละคนกันต่อ พี่คนหนึ่งพูดในตอนท้ายเป็นเชิงสรุปความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทที่ต้องกระตุ้นและฟูมฟักการเติบโตให้แก่พนักงานในความดูแลว่า “ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง คนที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเองเหล่านี้มีเป็นส่วนน้อย เราจึงยังต้องกระตุ้น ชักจูง ให้รางวัลคนส่วนใหญ่ให้กระตือรือร้นขึ้นมา”
ความไม่พอใจระคนกับความรู้สึกไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นในใจของฉันอีกครั้ง
จากนั้น ภาพสมัยชั้นเรียนวิชา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิชา สิ่งแวดล้อมศึกษา : ทฤษฎีและปฏิบัติ ในมหาวิทยาลัยของฉันก็ผุดตามขึ้นมาทันที (คุณพระช่วย! ใจเรามันเร็วจริงๆ)
“เป็นตัวของตัวเอง ตัวเองถูกเสมอ ทุกคนต้องหมุนรอบตัวฉัน” ฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่ภาพตัวฉันและเพื่อนในสองชั้นเรียนนี้ ทำให้ฉันฉุกคิดถึงความเป็นตัวของตัวเอง ในอีกแง่มุมที่เรียกว่า “ศักยภาพดั้งเดิม” หรือ “ศักยภาพเดิมแท้” ที่มนุษย์แต่ละคนมีอยู่แล้ว และมีมาตั้งแต่ถือกำเนิด
หากเปรียบเทียบเพื่อนนักศึกษากว่า 10 ชีวิตช่วงก่อนและหลังจากเรียนทั้งสองวิชามาตลอดเวลา 1 ปี เราพบว่าการเติบโตของ “ตัวตน” แต่ละคนช่างสวยงามเหลือเกิน
“เหมือนแต่ละคนเป็นต้นไม้ ที่วันนี้ออกดอกออกมาอย่างสวยงาม” คือคำพูดเปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการเล่าเรียนในวิชาเหล่านั้น
ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของวิชาการจัดการทรัพยากรฯ ที่หนุนเสริมให้แต่ละคนเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่มีการทำโทษหรือตำหนิอย่างฉับพลันทันที เช่น หากเข้าเรียนไม่ทันเวลา ไม่ส่งงานตามกำหนด หรือไม่ได้ศึกษาเอกสารมาล่วงหน้า อาจารย์ก็เพียงแต่ยิ้ม (จริงๆ!) ไม่ดุด่า แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลย และในวันที่มีกรณีเหล่านี้ พวกเราก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองในสิ่งที่ไม่มีใครเคยสอน จากเรื่องราวเกิดขึ้นในชีวิตจริง
ส่วนวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาฯ ทุกคนจะต้องเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาส่งในวันสุดท้ายของชั้นเรียนคนละชิ้น แต่ระหว่างนั้นฉันกลับได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่การเลือกหัวข้อโครงการ ซึ่งมันอาจใช้เวลาไปมากมายก็จริง แต่กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในความคิดของฉัน พวกเราได้ค่อยๆ สำรวจว่าในโลกใบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราสนใจ? อะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่า? เราจะเลือกหัวข้อที่ยากลำบากแต่ท้าทายความสามารถและจริงแท้กับความรู้สึกของตัว หรือจะเลือกหัวข้อพื้นๆ ทำให้เสร็จได้ง่ายๆ เพียงแค่พอแถกับคนอื่นได้ว่าตัวเองก็มีความสนใจนะ เพียงแค่ขั้นตอนนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากกว่าเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ
ระหว่างการพัฒนาโครงการ ฉันเริ่มเห็นความกลัว ขี้กังวลและลังเลขนาดบิ๊กเบิ้มอาศัยอยู่ในใจของตัวเอง แม้จะทำการบ้านค้นคว้าแหล่งข้อมูลมามากมาย ศึกษากรณีที่คล้ายคลึงกับหัวข้อที่ฉันเลือกไว้มาเยอะแยะ แต่ฉันกลับไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เลย มีแต่ความลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่สำเร็จ (แต่ปากก็แก้ตัวว่า ไม่รู้ขั้นตอนที่ชัดเจน)
ในเวลานั้น เพียงแค่คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ของอาจารย์ที่พูดขึ้นมาหลังจากที่ฉันเล่าให้ทุกคนฟังว่าฉันไปทำความรู้จักโครงการไหนมาและชอบแต่ละโครงการอย่างไร อาจารย์เพียงแต่พูดว่า “สำหรับที่นี่ ผมแนะนำว่าน่าไปดู” เท่านั้นเองฉันก็ใจชื้นขึ้น ความกังวลถูกวางพักเอาไว้ก่อน ฉันรีบขอจดหมายอนุญาต วางแผนการเดินทาง และไปเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างด้านจัดการของเสียเหลือศูนย์ภายในไม่กี่สัปดาห์
แน่นอนว่า ฉันเขียนข้อเสนอโครงการสำเร็จลงด้วยดี พร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ได้โกหกตัวเองว่าฉันเข้าใจเรื่องที่ฉันสนใจนี้มากขึ้นจริงๆ และสิ่งที่ฉันประทับใจไม่มีวันลืมคือคำพูดว่า “น่าไปดู” ที่ไม่บีบคั้น ไม่ชักจูง เป็นเพียงความเห็นเปิดกว้างจากอาจารย์ ฉันได้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะไปหรือไม่ และฉันก็ได้ไป … ด้วยตัวเอง
---------------------------------------
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ สิ่งที่ฉันอยากบอกก็คือ ครูไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอดไป เช่นเดียวกัน พ่อแม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนด้วยกัน การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้น หลอกล่อ ชักจูง ในภาวะเริ่มต้นคงจำเป็นต้องกระทำกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่วิธีเดียวและวิธีสุดท้ายแน่นอน ฉันคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา คือ การให้คนแต่ละคนสามารถเหนี่ยวนำตนเองให้กระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งใด ได้ด้วยตนเองต่างหาก เพราะเมื่อนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะล่อหลอกเขาด้วยสิ่งใด ดูน่าเชื่อถือหรือถูกต้องแค่ไหน เขาก็จะเลือก ด้วยความคิดความเชื่อที่ใคร่ครวญแล้วของตนเอง เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเขาเอง และเขาจะกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มความสามารถที่ตนมี มิใช่เพียงทำให้ได้เท่าที่ผู้อื่นเรียกร้องเขาให้กระทำ
จึงน่าตั้งคำถามยิ่งนักว่า เพราะสาเหตุใดลูกจ้างในบริษัทชั้นนำที่มีค่าตอบแทนสูงๆ หรือนักเรียนในโรงเรียนที่มีเนื้อหาการสอนเข้มข้น ถึงได้เซื่องซึมและไร้เรี่ยวแรงในการเติบโตและเรียนรู้ได้? ผิดวิสัยสิ่งมีชีวิตยิ่งนัก และบทบาทของพ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง โค้ช เพื่อช่วยให้คนเราเป็นตัวของตัวเอง สามารถโลดแล่นไปในโลกแห่งการกระทำอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งได้นั้น จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาจารย์เคยกล่าวกับนักศึกษาในชั้นเรียนว่า “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ด้วยคำตอบห่วยๆ” เพราะฉะนั้นฉันจะไม่รีบร้อนด่วนสรุป และหยิบยื่นคำตอบให้ในที่นี้ แต่จะขอยกหน้าที่ให้เราต่างไปพินิจใคร่ครวญคำถามเหล่านี้ต่อด้วยตัวเราเอง หากคุณคิดว่าคำถามเหล่านี้ดีพอนะ
ราตรีสวัสดิ์
Labels: สุวัฒนา ชุมพลกูลวงศ์
โดย ภาณุมาศ จีรภัทร์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒
“โจทย์ยากๆ ในชีวิตตอนนี้น่ะเหรอ ก็เรื่องตรงหน้านี่แหละ ยากที่สุดเลย” ฉันตอบคำถามที่ถูกโยนเข้ามาเป็นประเด็นสนทนาในงานเลี้ยงครบรอบวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งฉันและพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ร่วมกันจัดขึ้นมาเมื่อหลายวันก่อน เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่พวกเราไม่ได้มาเจอและพูดคุยกันพร้อมหน้าพร้อมตาแบบนี้หลังจากชั้นเรียนวันสุดท้ายสิ้นสุดลง วันนี้จึงเป็นเสมือนอีกวันหนึ่งที่พวกเราจะได้มาทบทวนการเดินทางที่ผ่านมาของแต่ละคน (ผู้คนในชั้นเรียนของฉันมักจะเรียกการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ตลอดจนชีวิตของพวกเราว่าเป็นการเดินทาง) ได้บอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้แก่คนอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง
นึกย้อนไปถึงการเดินทางที่ผ่านมาในชีวิต มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันอยากจะได้ทำ อยากจะได้เรียนรู้ แต่เมื่อถึงเวลาให้ต้องลงมือทำ ฉันกลับมักจะลังเล และหลายๆ ครั้งก็ลงเอยด้วยการเลือกที่จะไม่ทำ หรือหากฉันเลือกที่จะทำ มันก็ช่างเป็นสิ่งที่ยากเสียเหลือเกิน ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนภายนอก แม้แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวของฉันเอง กับผู้คนในครอบครัวที่ฉันรัก กับผู้คนต่างๆ ที่ใกล้ชิดและคุ้นเคย กับงานที่ฉันรักและเลือกแล้วที่จะมาทำ หรือแม้แต่กับสิ่งที่ฉันฝันและปรารถนาที่จะทำ จนในหลายครั้งฉันก็รู้สึกถอดใจ ... “เรื่องมันก็ง่ายๆ แค่นี้ ทำไมฉันถึงทำไม่ได้เสียที”
ฉันแอบเซ็งตัวเองเล็กๆ ที่ครั้งนี้ฉันก็ร้องไห้อีกแล้ว แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับคนกลุ่มนี้ไปแล้วที่ฉันมักจะร้องไห้ เมื่อบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ภายในใจ ฉันเองก็รู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจมากพอที่จะเปิดเผยความคิดความรู้สึกของฉัน นั่นสิ ไม่เห็นว่าจะต้องร้องไห้เลยนี่นา ... และนี่ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ฉันก็ทำไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง
“สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายากและกังวลใจ ไม่ใช่เพราะว่าไม่ได้ทำ หรือว่าทำสิ่งนั้นไม่ได้ หากแต่เป็นเพราะความคาดหวังของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าอยากจะไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่อยากจะเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่ เราก็เลยดิ้นรนและรู้สึกอึดอัด ถ้ากังวลใจเพราะว่ายังไม่ได้ทำจริง เราก็คงจะทำสิ่งนั้นไปแล้ว สิ่งที่เป็นจะเรียกว่าไม่มีวินัยก็ว่าได้ หนทางที่เราจะสามารถเป็นคนที่มีวินัยได้นั้น ต้องเกิดจากการทำบ่อยๆ อย่างจดจ่อต่อเนื่อง และทำด้วยความไม่คาดหวัง ทำไปให้ดีที่สุด และก็ควร ‘ทำทิ้ง’ ไม่ทำด้วยความอยาก ถ้าทำเพราะว่าอยากจะเป็นคนที่มีวินัยมันก็จะหนัก มันก็จะยาก แต่ให้ทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ” อาจารย์พูดขึ้นหลังจากที่ฉันพูดจบ
“แล้วการทำด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ กับการทำเพราะว่าความอยากนี่มันมีหนทางแตกต่างกันยังไงนะ” คำถามหนึ่งเกิดขึ้นมาในหัวของฉัน
แม้ว่าฉันจะรู้สึกคลี่คลายมากขึ้นเมื่อได้ยินอาจารย์บอกพวกเราเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อแสวงหาคำตอบสำหรับโจทย์ยากๆ ของพวกเราแต่ละคน ก่อนที่งานเลี้ยงในวันนั้นจะจบลง อาจารย์บอกว่า “หนทางในการเดินทางน่ะอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้จากการถาม ว่าทางเดินอยู่ตรงไหนเสมอไปหรอกนะ เราสามารถสร้างทางเดินขึ้นมาได้จากการเดินของเราเอง เดินไปเรื่อยๆ เส้นทางมันจะเกิดขึ้นมาเอง”
แต่คำถามที่ว่า “แล้วหนทางในการทำด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ นี่มันเป็นยังไงกันนะ” ก็ยังคงเกิดขึ้นในใจของฉันอยู่เนืองๆ ตลอดทางที่กลับบ้าน
คืนวันนั้น ฉันกลับมาเขียนบันทึกเหมือนเช่นที่เคยทำ จะต่างออกไปก็ตรงที่ครั้งนี้ฉันนึกครึ้มอกครึ้มใจลองเปิดอ่านบันทึกที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อน จากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ก่อนจะเริ่มต้นเขียนบันทึกสำหรับวันนั้น แล้วฉันก็อดแปลกใจกับตัวเองไม่ได้หลังจากอ่านจบ เพราะความหนักอึ้ง งุนงงสงสัย ความไม่แน่ใจ คำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมันได้จางหายไป พร้อมๆ กับความรู้สึกอิ่มเอมใจ คำขอบคุณและชื่นชมยินดีที่ฉันมีให้แก่บุคคลคนหนึ่ง คนที่อยู่กับฉันมาตลอดบนเส้นทางที่ผ่านมาของการเดินทางในชีวิตฉัน
บนเส้นทางที่ผ่านมามีผู้คนมากมายที่ฉันได้ร่วมเดินทาง ได้ร่วมเรียนรู้ มีคำขอบคุณ ความชื่นชมและกำลังใจมากมายที่ฉันเคยได้เอื้อนเอ่ยออกไปแก่เขาเหล่านั้น ทั้งที่เป็นความรู้สึกและคำพูด แต่มีน้อยครั้งเหลือเกินที่ฉันจะได้เอ่ยคำขอบคุณแก่บุคคลคนหนึ่งที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ ได้บอกกล่าวความชื่นชม และให้กำลังใจในการเดินทางที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ของเขา ... บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับฉันยิ่งนัก
“เมื่อกี้นี้ได้ลองเปิดอ่านบันทึกหน้าต่างๆ ที่ผ่านมา จนมาถึงหน้าที่กำลังเขียนอยู่นี้ บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าดีใจมากๆ เลย แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเดินทางที่ดีอะไรมากมาย แต่ก็เป็นการเดินทางที่งดงามมาก รู้สึกดีใจและชื่นชมการเดินทางที่ผ่านมา และก็อยากจะเป็นกำลังใจให้กับการเดินทางข้างหน้าของตัวเองจริงๆ”
หากจะบอกว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ที่ฉันได้กล่าวคำขอบคุณและชื่นชมยินดีกับการเดินทางของตัวเองก็คงจะไม่ผิดนัก
ฉันมักจะรู้สึกว่าตัวของฉันนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังขาด ยังพร่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็มและหวังว่าการเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นจะสามารถทำให้ฉันเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ในสักวันหนึ่ง เพื่อว่าฉันจะสามารถเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ได้ สามารถเป็นพี่ที่ดีของน้องๆ ได้ สามารถทำสิ่งต่างๆ เพื่อคนอื่นได้ และสามารถเป็นในสิ่งที่ฉันฝันได้
แต่ทว่า ยิ่งฉันพยายามทำเพื่อเติมช่องว่างเหล่านี้ให้เต็ม การเดินทางก็ดูจะยิ่งยากลำบากขึ้น
ความรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม และกำลังใจที่ได้รับมาจากตัวเอง หลังจากได้มาทบทวนการเดินทางที่ผ่านมานั้น ทำให้ฉันรู้สึกว่าช่องว่างที่เคยขาดหายไปนั้นกลับเต็มขึ้นมา การเดินทางที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ดีอะไรมากมาย และยังมีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้นนั้น กลายเป็นสิ่งที่สำคัญ มีคุณค่า มีความหมายและงดงาม โดยไม่จำเป็นจะต้องกลับไปปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข เช่นเดียวกับการเดินทางที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเติมช่องว่างเหล่านั้นให้เต็ม หากแต่เกิดขึ้นเพื่อให้ฉันได้ทำในสิ่งที่ควรทำในปัจจุบันให้ดีที่สุด และความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ฉันสามารถจะเป็นได้ ก็เป็นสิ่งที่เกิดจะขึ้นเองจากทุกๆ ก้าวที่ฉันเดินทาง
“ฉันเองก็ยังไม่รู้หรอกนะว่าการเดินทางก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร และหนทางของการเดินทางเพื่อตอบโจทย์ยากๆ ของฉันนี้จะเป็นเช่นไร หากแต่คำตอบคงจะอยู่ที่การเดินทางกระมัง และนี่ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการเดินทาง”
บันทึกในวันนั้นจบลงที่ตรงนี้ หากแต่การเดินทางของฉันก็ยังคงดำเนินต่อไป ในทุกๆ ขณะที่ฉันกำลังก้าวเดิน
Labels: ภาณุมาศ จีรภัทร์
โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๒
ขับรถกลับจากการพบปะกลุ่มคนทำงานเรื่องจิตตปัญญา ตั้งใจจะฟังซีดีธรรมะที่เปิดคลอไปในรถ แต่จิตใจกลับวิ่งออกนอก คิดถึงประเด็นที่พวกเราค้นพบกันระหว่างวงคุยแลกเปลี่ยน
งานจิตตปัญญาได้รับการตอบสนองและแพร่ขยายไปในหลายวงการทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวงการศึกษา อาจด้วยความมีประสิทธิภาพของทีมงานและผู้ที่สนับสนุนเกี่ยวข้อง ประกอบกับความต้องการ “น้ำทิพย์ชโลมใจ” ของสังคมที่นับวันจะวุ่นวายมากขึ้น เกิดมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ศึกษาเรื่องจิตใจหรือจิตตปัญญากันอย่างจริงจัง ผลักดันให้นำไปใช้ในองค์กร ใช้ในชั้นเรียน หรือใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นกระแสการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีอีกรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น
กระบวนกรจิตตปัญญา (Facilitator in Contemplative Education) และ/หรือผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ “ทำได้อย่างที่ชักชวนผู้อื่น” หรือ Practice what you preach ได้แค่ไหน เป็นคำถามที่เราตรวจสอบถามตัวเองกันมาเป็นระยะๆ
จากการสอนบริหารคนบริหารองค์กร ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่ง่ายที่เราจะปรับพฤติกรรมการบริหารคนของเราเองให้ได้ดีในแนวทางที่เราบอกเล่า แม้ยิ่งทำได้ยิ่งเห็นประสิทธิภาพทั้งกับส่วนรวมและตนเอง ยิ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่ชักชวนผู้คน แต่ก็ยอมรับว่าต้องตั้งใจพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังทีเดียว ถึงวันนี้ก็ยังเห็นหนทางที่จะสามารถพัฒนาเพิ่มต่อเหลืออีกมาก
การมี “สติ” ทันกับแต่ละขณะของตนเอง ทันต่อพฤติกรรมของตนเอง เข้าใจสถานการณ์จริงของตนเอง เป็นส่วนช่วยอย่างมากให้เราสามารถใช้ “พฤติกรรมอันควร” ต่างๆ ที่ทั้งเรียนทั้งสอนนี้ได้เป็นธรรมชาติ และแน่นอน “หลุด” ก็ยังมีอยู่ให้เห็นเป็นธรรมชาติอยู่ด้วยเช่นกัน
น่าเห็นใจเหล่าผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนกร ผู้ทำงานเบื้องหลัง เบื้องหน้า ช่วยกันผลักดัน สร้างกระบวนการเรื่องดีนี้ให้เกิดขึ้น ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ร้อนแรงของสิ่งแวดล้อมสังคม และข้อจำกัดมากมาย ในขณะเดียวกันก็ถูกผู้คนรอบข้าง “คาดหวัง” ว่า “ต้องเป็นคนดี เป็นตัวอย่างที่ดี แบบจิตตปัญญา” อีกด้วย ดูเหมือนเป็นนางแบบเชิญชวนให้ใส่ชุดผ้าไหม ที่กำลังเย็บเสื้อไปแต่งหน้าไป ในขณะที่เดินไปบนแคทวอล์ค และมีผู้ชมยืนดูวิจารณ์อยู่รอบข้าง… น่าเห็นใจ
ถึงกระนั้นการสำรวจตัวพวกเราเองตามจริงก็น่าจะช่วยให้ไม่หลงทางไปไกล ช่วยให้เราเรียนรู้พัฒนาตนเองและเทคนิควิธีต่างๆ ไปในขณะที่ชักชวนผู้คนรอบข้าง ได้ยินเรื่องราวของบางกลุ่มบางคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้แนวจิตตปัญญาว่า บางคนชอบอยู่กับความคิดของตนเอง บางคนเชื่อมั่นมากกับความเชื่อบางชุด เครื่องมือบางตัว หรือพยายามชักชวนให้คนทำตาม “แนวทาง” ที่ตนรู้สึกว่าใช่ โดยอาจลืมไปว่าเราแต่ละคนต่างมีความชอบมีจริตทิศทางที่อาจแตกต่างกัน แม้ว่าเราอาจจะมีจุดร่วมหรือแกนหลักบางประการร่วมกันอยู่บ้าง หากใช่ว่าวิธีการอื่น แนวความคิดอื่นจะใช้ไม่ได้ ไม่ดี คนที่ทำแบบอื่นแตกต่างจากที่ “ฉันคิดว่าใช่” นั้นไม่เหมาะสม “ต้องแบบนี้ซิ ... ถึงจะเรียกว่าจิตตปัญญา” ... เป็นจริงอย่างนั้นหรือ
จริงเสมอหรือที่ต้องนั่งล้อมวงคุยกัน
จริงเสมอหรือที่ต้องทำอะไรช้าๆ
จริงเสมอหรือที่ต้องไม่มีใครชี้นำความคิด
จริงเสมอหรือที่ต้องไม่มีเนื้อหาให้มากมาย ใช้กระบวนการให้เรียนรู้
จริงเสมอหรือที่ ...
ผู้เขียนมิได้หมายความว่าสิ่งที่เอ่ยมาไม่ควรทำ และแน่นอนว่าใช้ได้ผลกับคนหลายกลุ่ม หากแต่อาจมีวิธีอื่นอีกมากมายแม้แต่วิธีที่ตรงกันข้ามที่ช่วยให้ผู้คนเรียนรู้ด้านในของตัวเราได้ ... หรือไม่ ลองนึกถึงประวัติศาสตร์หลายพันปีที่คนพัฒนากันมาดู เขามีวิธีอะไรกันบ้าง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญมิใช่เพิ่งเกิด ... หรือไม่
เป็นต้นว่าการเทศนาของพระพุทธเจ้าในหลายๆ ครั้ง ภาพสะท้อนจากคัมภีร์คือภาพของครูที่นั่งพูดให้กับผู้เรียนเป็นร้อยเป็นพันคน แทบจะเป็นการสื่อสารทางเดียวหากไม่มีการปุจฉา ผู้เรียนนั่งฟังด้วยใจอยู่กับที่ ไม่มีการขยับเขยื้อนย้ายร่างกายหรือไปนั่งล้อมวงใดๆ จนกว่าจะจบการเทศนา
หรือการเรียนรู้แบบอาจารย์เซ็น ที่ให้ศิษย์เดินตามครูไปไหนต่อไหน พอประสบกับเหตุการณ์สด จึงปล่อยคำถามหรือประโยคสั้นๆ ที่แทงตรงประเด็นเพียงประโยคเดียว ช่วยพลิกให้คนเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างถาวร
หรือวิถีปฏิบัติของหลายนิกาย ที่ผู้ฝึกต้อง “เข้าเงียบ” อยู่คนเดียว ตัดการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกเป็นเวลานาน พร้อมกับฝึกปฏิบัติตามวิถีของตนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอน
หรือการพัฒนาจิตใจด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นแบบฉือจี้ ที่อาสาสมัครผู้มีจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจกันไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทำความสะอาดผู้ป่วย เก็บแยกขยะ ให้บริการผู้คนในโรงพยาบาล ...
ฯลฯ ... หลากหลายวิธีและวิถีแห่งการฝึกตนสู่ผลทางจิตวิญญาณ
อย่างที่ชาวจิตตปัญญาทราบกันดีอยู่แล้วว่ามุมมองต่อโลก (worldview) หรือกรอบความคิด (paradigm) มีผลต่อความคิดความเชื่อของเราแต่ละคน จนอาจทำให้เราเผลอไปตัดสินว่าผู้อื่นที่มิได้อยู่ในกรอบเดียวกับเราว่า “ไม่ใช่” ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจริงกับแม้แต่ในเรื่อง “จิตตปัญญา” เอง ทันทีที่เรารู้ทันและสำรวจมุมมองต่อโลกของเราชัดเจน การใช้กรอบความคิดเหล่านั้นน่าจะเป็นไปอย่าง “เท่าทัน” มิได้ใช้ไปอย่างหลงลืมหรือเผลอตัว
จากเรื่องมุมมองสู่พฤติกรรมของเราแต่ละคน การฝึกปรือตนไปพร้อมกับการเดินทางชักชวนจัดกระบวนการให้ผู้คนเป็นเรื่องท้าทาย ... พวกเราทำอย่างที่ชักชวนคนอื่นกันได้ ... หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
เราชวนให้ผู้คนรักและเมตตาต่อกัน ... เรารักและเมตตากันเองหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนอภัยต่อกัน ... เราให้อภัยกันเองแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนใช้ชีวิตสมดุล หัว-กาย-ใจ ... เราสมดุลตัวเองได้เพียงใด
เราชวนให้ผู้คนย้อนดูตัวเอง เข้าใจตระหนักรู้ตัวเอง ... เราดูหรือไม่ บ่อยแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนคุยกันด้วยความสุนทรียะ ฟังกันมากขึ้น ... เราทำระหว่างกันด้วยหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนฟังคนโดยไม่ตัดสิน ... เราตัดสินคนเร็วไปบ้างหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนเข้าใจเบื้องหลังกรอบความคิดหรือมุมมองต่อโลกที่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ได้รับ ... เรารู้ทันหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนลดอัตตาตัวตน ... เรายังมีอยู่เพียงใด
เราชวนให้ผู้คน ...
...
ยังมีคำถามอีกมากมายรอชาวจิตตปัญญาค้นหา ...
วิถีแห่งจิตตปัญญานี้คงมีทั้งความงดงามและขวากหนาม หากแต่การเรียนรู้และพัฒนาตนไปพร้อมกับการส่งผ่านชักชวนเพื่อนร่วมทาง เป็นเป้าหมายอยู่ในกระบวนการ หาใช่เป็นเพียงหนทางไปสู่เป้าหมายใดเท่านั้น ... หรือไม่
ระหว่างการเดินทางของพวกเราผู้สนใจเรื่องภายใน หาใช่ว่าผู้อื่นที่มิได้เรียกตนว่าจิตตปัญญา มิได้เดินอยู่ในหนทางเดียวกับเรา ... ใช่หรือไม่ หาใช่ว่าผู้อื่นที่มิได้เรียกตนว่าจิตตปัญญา มิได้มีความรู้เรื่องการพัฒนาจิตใจ ... ใช่หรือไม่ ใครต่อใครก็เป็นครูแก่เราได้ ... ใช่หรือไม่
ความคิดสร้างสรรค์ของชาวจิตตปัญญา ที่ทำให้เรื่องพัฒนาจิตใจจิตวิญญาณเป็นขนมหวานสำหรับคนทั่วไปเป็นเรื่องน่าชื่นชม หากเส้นเขตแดนของความแหวกแนวยังมีอยู่ที่ศีลหรือการประพฤติที่ไม่ผิดปกติสุข คือไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน...ใช่หรือไม่
เรื่องราว คำถามมากมาย ซึ่งรอการค้นหา ค้นพบ ด้วยตัวเราเอง เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน
เราทำได้อย่างที่ชักชวนเพียงใด ... จิตตปัญญา
Labels: มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒
ในรอบปีสองปีที่ผ่านมา คุณเคยได้ปลูกต้นไม้ (เพื่อลดโลกร้อน) ไปบ้างหรือยัง
ถ้าเคย คุณจำได้หรือไม่ว่า ปลูกต้นอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ตอนนี้ต้นไม้เหล่านั้นยังมีชีวิตรอดปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ และมันกำลังช่วยลดโลกร้อนอยู่จริงหรือ
ผู้เขียนเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูมาทำงานในองค์กรที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้โดยตรง หน้าที่ของผู้เขียนคือ หาวิธีการสร้างสรรค์ที่จะพา “คน” กับ “เงิน” มาเจอกันเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย
ผู้เขียนเข้ามาทำงานกับองค์กรนี้ได้ประมาณสองปี ซึ่งถือเป็นช่วงเดียวกันกับที่กระแสโลกร้อนถูกโหมกระหน่ำไปทั่วทุกมุมเมือง มีผู้คนจำนวนไม่น้อยติดต่อเข้ามาขอร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับเรา ใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล หรือ นักเรียน ต่างพากันมาช่วยลดโลกร้อนด้วยการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้กลายเป็นประสบการณ์เพื่อสังคมยอดฮิต ติดอันดับท็อปเท็น แต่เชื่อหรือไม่ว่า โดยส่วนตัวแล้วเท่าที่จำได้ ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนปลูกต้นไม้ด้วยมือของตัวเองจริงๆ ไปเพียงประมาณ 2 ต้น ซึ่งผู้เขียนก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นต้นอะไร อยู่ที่ไหน และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
เวลาเราเล่าให้ใครต่อใครฟังถึงงานที่ทำ เราจะบอกเสมอว่า เราปลูกป่าอยู่ที่นู่น ... ต่างจังหวัดไกลๆ ที่ไหนสักแห่ง เราทำให้ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่หวนกลับมารักและดูแลบ้านเกิดของเขาได้ ทำให้เขามีกินมีใช้จากการปลูกป่า และที่สำคัญที่สุด เราทำให้เขาเห็นถึงคุณค่าของป่าไม้ เราได้ปลูกต้นไม้ลงบนผืนดินไปพร้อมๆ กับการปลูกต้นไม้ลงในใจของชาวบ้านเหล่านั้น
แต่ผู้เขียนเองไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ได้ปลูกต้นไม้ลงในใจของตัวเองสำเร็จแล้ว
เพราะดูจากการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง ทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ผู้เขียนใช้กระดาษไม่ต่ำกว่า 5 รีมต่อเดือน เสียบปลั๊กคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ตลอดคืน ยังขับรถไปทำงาน ใช้น้ำมันเบนซิน 95 นอนเปิดแอร์ทั้งคืน เดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ใช้ถุงพลาสติก กินข้าวจากกล่องโฟมบ้างเป็นบางครั้ง บริโภคไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากรต่างๆ นานา อย่างไม่ค่อยต้องคิดหน้าคิดหลัง และส่วนใหญ่ก็ยังคงนำขยะ ทั้งที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้อีกเป็นจำนวนหลายตันต่อเดือน ยัดใส่ลงถุงดำรวมกันแล้วนำส่ง กทม.
แม้เรารู้ว่ากระดาษมาจากต้นไม้ ครูเคยสอนว่าป่าไม้ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล กทม. บอกให้เราแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะอันตรายก่อนเอามาวางไว้หน้าบ้าน แต่เราไม่เข้า-ใจ เข้าไม่ถึง เราจึงยังคงใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไม่รู้คุณค่า เหมือนที่เด็กยุคใหม่เข้าใจว่า น้ำมาจากก๊อก เงาะมาจากตู้เย็น ชีวิตคนในปัจจุบันดำเนินไปอย่างแยกส่วน ทำให้เรามองไม่เห็นโยงใยความเชื่อมโยงของชีวิตแต่ละชีวิต กิจกรรมการปลูกต้นไม้จึงกลายเป็นกิจกรรมตัดตอนที่เหลือแต่การปลูก ไอ้ที่มาก่อนหรือหลังการปลูกไม่อยู่ในขอบข่ายที่เราจำเป็นต้องรับรู้ หรือสนใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้เราจะรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนมากแค่ไหน แม้จะมีคนเมืองเดินทางไปปลูกป่ามากแค่ไหน จำนวนต้นไม้มันก็ยังไม่เพิ่มขึ้นให้เราชื่นใจสักที ไม่ต้องพูดถึงจิตสำนึกที่เราหวังว่าคนเหล่านี้จะได้ติดตัวกลับไปที่บ้านด้วย
หรือเราต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างในอดีตรุ่นคุณตาคุณยายยังเด็ก ถึงจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสรรพสิ่งรอบตัว
หรือเราต้องรอให้มีอีกสัก 10 สึนามิ เราถึงจะรู้ซึ้งถึงคำว่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จะเปลี่ยนมุมมอง ฝืนความเคยชินเดิมๆ และฝึกพฤติกรรมใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้อย่างไร กลายเป็นคำถามใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับคนในยุคนี้อย่างผู้เขียน ที่ยังคงติดหนึบอยู่กับความสะดวกสบายอย่างไม่รู้ตัว และโดนกระตุ้นเร้าจากสื่อต่างๆ ที่ล้วนแต่โหมบอกให้เราบริโภคมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ท่าน ว. วชิรเมธีได้พูดไว้ชัดเจนในหนังโฆษณาทางโทรทัศน์ชุดหนึ่งว่า หากเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราได้บ้าง
ผู้เขียนขอถามต่อว่า แล้วอะไรจะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ถามคนเป็นแม่อาจตอบว่าลูก ถามนักธุรกิจอาจตอบว่าผลกำไร ถามคนเป็นมะเร็งอาจตอบว่าความตาย ถามคนที่ปฏิบัติภาวนาอาจตอบว่าศรัทธา
ศรัทธาในพุทธศาสนาหมายถึง ความเชื่อที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เป็นความเชื่อที่มาจากการวิเคราะห์ด้วยปัญญา
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า ศรัทธาที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง (ในทางที่ดี) ก็คือ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ มนุษย์สามารถฝึกและฝืนใจตนเองได้ เมื่อมีศรัทธาตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว นั่นหมายถึงว่า เราย่อมศรัทธาในตนเองว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง) ศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ว่าเขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และมีความเชื่อมั่นว่าการกระทำทุกอย่างของเรา ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหนย่อมมีผลอันยิ่งใหญ่เสมอ
ล่าสุดผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นครั้งแรกในชีวิต บางท่านที่เคยไปห้วยขาแข้งมาแล้วอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ห้วยขาแข้งมีพลังดีๆ ซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งคงเป็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่โอบล้อมเรา ห้วยขาแข้งถือได้ว่าเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งในโลก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกในปีพุทธศักราช 2534 วันนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสเดินอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ได้พักสายตาไปกับสายน้ำที่ค่อยๆ ไหลรินไปตามลำห้วย ได้เห็นลูกสุนัขจิ้งจอกเหลียวหลังแลมองกลุ่มคนแปลกหน้าอย่างเราก่อนจะวิ่งตามแม่มันไป ได้ฟังเสียงชะนีร้องตอนเที่ยง ได้ชมโฉมนกหัวขวานเขียวตะโพกแดง
ได้หยุดตั้งคำถามและอยู่นิ่งๆ กับความงามของธรรมชาติ
แต่อีกส่วนหนึ่งผู้เขียนก็ขอสรุปเอาเองว่ามันน่าจะเป็นพลังจากแรงศรัทธาในความดีงามที่คุณสืบ นาคะเสถียรได้จุดประกายเอาไว้ และถูกสานต่อเรื่อยมาโดยคนรุ่นหลังที่ก้าวเดินตามแนวทางของคุณสืบ
วันนั้นผู้เขียนค้นพบความจริงว่า ธรรมชาติไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ใกล้เสียจนบางครั้งเรามองไม่เห็น
วันนี้ผู้เขียนนั่งอยู่ในวงประชุมสรุปกิจกรรมค่ายเยาวชนที่จะจัดขึ้นช่วงสิ้นเดือน เสียงก่อสร้างคอนโดขนาดใหญ่ดังอยู่ด้านหลัง ห้วยขาแข้งกลายเป็นสถานที่ห่างไกลจนเหมือนไม่มีอยู่ มีคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนรู้สึกผูกพันกับต้นไม้ที่พวกเขาจะได้ปลูก รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมัน และรู้สึกอยากที่จะกลับไปดูแลเยี่ยมเยียนมัน ผู้เขียนแอบคิดกลับไปถึงห้วยขาแข้ง และพลังดีๆ ที่ธรรมชาติได้ส่งให้เรา คำถามมันน่าจะอยู่ที่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เยาวชนเหล่านี้เกิดศรัทธาในตัวเองว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเราอาจจะถามลึกไปอีกว่า แล้วเราเองได้ปลูกต้นศรัทธาให้หยั่งรากลึกลงในใจของเราหรือยัง
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ไปจัดค่ายคราวนี้จะไม่พลาดกิจกรรมปลูกต้นไม้ คราวนี้จะไม่สักแต่ว่าปลูกให้เสร็จ แต่จะปล่อยให้มือได้สัมผัสดินชื้นๆ ให้ใจได้ปล่อยวางจากคำถามมากมาย ... สักครั้ง
มาปลูกต้นไม้กันไหมคะ
Labels: กิติยา โสภณพนิช
โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒
ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันรู้สึกเหงาจับใจ ความเหงาคงค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในหัวใจอย่างเชื่องช้ามานานแล้ว กว่าจะรู้สึกตัวอีกที น้ำตาก็ไหลรินออกมาขณะที่นั่งรถตู้กลับบ้าน โลกที่เต็มไปด้วยผู้คน แต่ทำไมเรารู้สึกเหงาเศร้าและเดียวดายเหลือเกิน
มองไปทางใดก็มีผู้คนมากมาย แต่คนเหล่านั้นมีตัวตนก็เหมือนไร้ตัวตน มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับคนอื่น ทุกคนต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน ไม่สามารถเข้าถึงกันได้ ไม่มีใครสนใจใคร ทุกคนต่างมุ่งหน้าก้าวไปยังจุดหมายของตนเอง โดยไม่มีใครเหลือบแลผู้อื่นเลย หรือเป็นเพียงเพราะว่ามนุษย์ใช้ความสัมพันธ์ในการเข้าถึงและเกี่ยวโยงกัน ในขณะที่เราอยู่ท่ามกลางหมู่ชน บนถนน ตรงป้ายรถประจำทาง ในรถตู้ หัวใจก็เริ่มว่างหวิวที่รับรู้ได้ว่า ตัวตนของเราได้สูญหายไป เราไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านั้นได้ เราจึงรู้สึกเหงาเท่านั้นเอง
ขณะที่ความเหงาส่งกลิ่นตลบอบอวลในหัวใจ เสียงต่างๆ ก็ดังขึ้นในหัว “โทรหาเพื่อนสิ” “ไปดูหนังดีกว่า” “แวะไปทานข้าวที่บ้านพี่สาวท่าจะดี” เสียงเหล่านี้ต่างเชื้อเชิญให้เราออกจากความเหงา โดยการหันไปทำบางสิ่งบางอย่างแทน ล้วนเป็นสิ่งสนุกสนานเพลิดเพลินที่จะทำให้เราหลงลืมความเหงาที่ผ่านเข้ามาอย่างแน่แท้ แต่ก็มีอีกเสียงหนึ่งดังขึ้นภายในใจ “ลองอยู่กับความเหงาเถอะ อย่าได้หลบหลีกมันอีกเลย มันมีอยู่ในตัวเรา” ใจก็เริ่มลังเล สุดท้ายจึงตัดสินใจว่าจะลองจับเข่านั่งพูดคุยกับความเหงาดูสักครั้ง จะได้รู้ว่าความเหงานั้นน่ากลัวอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า
ความเหงาที่เกิดขึ้นอาจจะดูคล้ายกับว่า เรากำลังอ่อนแอ หรือเปราะบางภายในใจ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะเราก็สามารถเหงาเศร้า อ่อนแอและเปราะบางได้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราหลบเลี่ยงที่จะสัมผัส รับรู้ว่ามันมีอยู่เท่านั้นเอง แต่หากว่าเราลองเข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับความเหงา ความเหงานั้นกลับถูกเติมเต็มด้วยความใส่ใจ ไม่ว่างโหวง แต่เต็มอิ่มอยู่ในใจ ความเหงาเศร้าก็จะจางคลายลงด้วยตัวของมันเอง
ก็คงต้องยอมรับตามตรงว่า กลัวความเหงา ความเศร้า ไม่อยากอยู่คนเดียว เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าตัวเองว่าง ก็มักจะหาอะไรบางอย่างทำอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่ต้องพบเจอหรือสัมผัสถึงความรู้สึกเหงา และอยู่อย่างโดดเดี่ยว กิจกรรมต่างๆ ที่สรรหาขึ้นมาทำ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง จัดเก็บห้อง ไปพบเจอเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ สิ่งเหล่านี้มักเป็นตัวที่ช่วยลบเลือนความเหงาในใจให้จางคลายลง แต่ก็คงต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ที่จริงแล้วเราหนีไม่พ้นความเหงาเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายนี้เลย อาจเป็นเพราะมนุษย์มีเมล็ดพันธุ์แห่งความเหงาเศร้านี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว และมันก็พร้อมจะโผล่ปรากฏออกมาทุกเมื่อ เพียงแต่ว่าเมื่อใดที่มันแค่แง้มบานประตู เราก็พร้อมจะปิดประตูลงแรงๆ อย่างรวดเร็ว อีกทั้งล็อกประตูอย่างแน่นหนา แล้ววันหนึ่งเสียงแห่งความเหงาเศร้า ก็จะมาเคาะประตูเรียก เคาะดังขึ้นๆ ถี่ขึ้นๆ คงขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกจะรับฟังเสียงเคาะเรียกนั้นและเปิดประตูต้อนรับมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง
หากจะอ้างว่าการดำเนินชีวิตกลางกรุง ทำให้เราเกิดความเหงาโดดเดี่ยวภายในเช่นนี้ ก็ฟังดูคล้ายจะโทษความขุ่นมัวสิ่งที่ไม่ดีไปให้กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองหลวงไปเสียหมด จริงอยู่ที่การเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีใครใส่ใจใคร การอยู่กับตัวเองมากเกินไปจนกลายเป็นเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับผู้อื่นและสรรพสิ่ง แต่นี่อาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหงาขึ้นภายในใจของผู้ในกลางเมืองใหญ่เท่านั้น และมีเหตุของความเหงาอีกมากมายที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน อกหัก พลัดพรากจากคนที่เรารัก การสูญเสียบางอย่างไป การเปลี่ยนจากสถานที่เดิมไปยังอีกแห่ง หรือสถานการณ์เดิมไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่ง การไม่ได้อยู่ในสถานที่หรืออยู่กับคนที่เราคุ้นเคย บรรยากาศ สิ่งรายล้อมล้วนส่งผล กระตุ้นต่อมความเหงา ปลุกเมล็ดพันธุ์แห่งความเศร้าที่มีอยู่ในตัวเราให้ลุกขึ้นมาทำงานอยู่เสมอ
แม้กระทั่งความรู้สึกเหงาเศร้าจากการที่เราต้องการการดูแลเอาใจใส่ การรับฟังจากคนบางคน แต่เราเองก็ไม่กล้าร้องขอการดูแลและการรับฟังนั้น ไม่ว่าจะด้วยการที่เราปิดกั้น ไม่ไว้วางใจ หรือขาดพื้นที่ในการพูดคุย สุดท้ายลึกๆ เราต่างโหยหาความสัมพันธ์ แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างหรืออยู่กับความสัมพันธ์นั้นอย่างไร และยิ่งรู้สึกเหงาเพิ่มขึ้นอีกทบทวีเมื่อพบว่าไม่มีใครสนใจรับรู้ว่าเรากำลังเหงาอยู่ อยากให้คนอื่นรับรู้ว่าเรากำลังเหงา แต่เราก็ไม่บอกเล่าถึงความเหงาของเราออกไป เป็นการเรียกร้องที่ไม่เปล่งเสียง โหยหาแต่ก็ไม่เอื้อมมือออกมาไขว่คว้า คาดหวังเพียงใครสักคนจะผ่านเข้ามารับรู้ถึงความเหงาของเราได้เอง สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ความเหงาที่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์กลายเป็นความเจ็บปวดของความเหงา
ทุกคนเกิดมาล้วนมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง มีประสบการณ์อันลึกซึ้งในการดำรงชีวิตของเรา มีความรู้สึก มีทุกข์สุข ความเจ็บปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่อาจจะมารับรู้ร่วมกับเราได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำให้คนอื่นได้เข้ามาร่วมรับรู้ถึงประสบการณ์ความรู้สึกภายในใจของเรา ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน ถึงแม้เราจะบอกเล่าแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นออกไปให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้ แต่มันเป็นเพียงการบอกให้ผู้อื่นได้รับทราบเท่านั้น หลายๆครั้งที่เราพบเจอกับคนที่มีประสบการณ์ร่วมหรือคล้ายกันกับเรา แล้วเราก็พบว่ามีบางส่วนเท่านั้นที่คล้ายคลึงกับเรา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันจึงเป็นเรื่องเหงาๆ ที่น่าเศร้าเหลือเกิน ที่เราไม่อาจเรียกร้องใครให้เข้าใจเราได้แม้กระทั่งคนเดียว
ในความโดดเดี่ยว ชีวิตของเราก็ต้องดำเนินอยู่บนเส้นทางที่ต้องเป็นไปของเราแต่ละคน เบื้องหลังชีวิตไร้ซึ่งสิ่งที่เราจะเกาะเกี่ยวหรือพึ่งพิงได้ เราไม่สามารถยึดใครหรือสิ่งใดได้เลยในโลกนี้ แม้แต่พ่อแม่ คนรัก ลูก ถึงจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันระหว่างเรากับผู้คนเหล่านี้ แต่ท้ายที่สุดทุกคนต่างต้องมีวิถีที่ดำเนินไปของตัวเอง ทางพุทธศาสนาจึงสอนให้เรายึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ช่างเป็นนามธรรม ไม่อาจจับต้องและยากที่จะเข้าถึงได้เสียยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เราจึงยิ่งรู้สึกเหงาเศร้าและอ้างว้าง หรือแท้ที่จริง... ความเหงาเศร้านี่ อาจเป็นสิ่งธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราหวาดกลัวที่จะรับรู้ว่า ชีวิตเดียวดายและไร้ที่ยึดเกี่ยวเช่นนี้ก็เป็นไปได้
หากลองปล่อยให้ความเหงาเศร้าได้ออกจากห้องที่เราปิดซุกซ่อนมันไว้บ้าง ให้ชีวิตได้เต้นรำคู่กับความโดดเดี่ยวดายเดียวในบางครา เราอาจพบว่าเมื่อความเหงาได้ผ่านมาในหัวใจ มันไม่ได้เจ็บปวด น่ากลัวแต่อย่างใด มันมาเพียงเพื่อผ่านไป และอาจจะย้อนกลับมาเยือนใหม่ได้เสมอเฉกเช่นทุกความรู้สึก ทุกประสบการณ์ ทุกคนและทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็เป็นได้
แต่นั่นไม่ได้ความหมายว่า เมื่อเกิดความเหงาแล้วเราจะจัดการลบมันไปอย่างง่ายดายด้วยการไปทำอย่างอื่นแทน อย่าให้ความเหงาเป็นเพียงแค่ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น หากลองดื่มด่ำรับรู้ถึงรสชาติของความเหงาและเรียนรู้กับวาระแห่งความเศร้าที่เข้ามาและผ่านไปนั้น ปล่อยให้เสียงแห่งความเหงาได้เอื้อนเอ่ยบอกความนัยแห่งชีวิตเมื่อยามชีวิตผ่านในความเหงา ดีใจนะที่ได้พบเจอกัน ... ความเหงา
Labels: เจนจิรา โลชา
โดย เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒
“รับปริญญาฯ เหรอ ไม่เอาหรอก ไม่เห็นจะอิน แถมร้อนก็ร้อน คนก็เยอะ ขอไม่ไปรับได้ไหม” ความคิดแรกของฉันผุดขึ้นมาทันทีที่รู้ว่าอีกสองเดือนจะต้องเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ผิดกับคนรอบข้างต่างพากันตื่นเต้นและเตรียมพร้อมกับช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง ฉันไม่ยอมลงทะเบียนเข้าพิธีฯ และยังบ่นกับคนรอบข้างไปหลายต่อหลายครั้งว่า ไม่อยากไป ไม่อยากไป
จนกระทั่งฉันไปบ่นกับพี่ผู้น่ารักคนหนึ่งซึ่งมาจากเชียงราย แต่สิ่งที่พี่คนนั้นบอกฉันกลับมาคือ “รับเถอะ ถือว่ารับปริญญาเป็นของขวัญให้พ่อกับแม่ไง” เมื่อได้ยินคำพูดนี้ ฉันจึงเปลี่ยนใจและกลับมาลงทะเบียน ช่วงเวลานั้น ฉันพยายามไม่หันไปมองความคิดเดิมที่ยังแทรกเข้ามาบ้างในบางเวลา และพยายามเอาความคิดที่ว่า “แค่สามวันเอง จะทำเพื่อพ่อแม่ไม่ได้เลยหรือไง” เข้ามาแทน
ฉันไปซ้อมรับพระราชทานปริญญาฯ วันแรกด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เหมือนตัวเองกำลังพยายามทำในสิ่งที่ถูกที่ควร แต่เมื่อฉันเข้าไปนั่งในห้องบรรยายที่แสนคุ้นเคยและดูวีดิทัศน์พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของรุ่นพี่ปีก่อนๆ ความรู้สึกที่ไม่คาดฝันก็ค่อยๆ ปรากฏออกมา “ว้าว เท่ห์” วีดิทัศน์ฉายภาพของบัณฑิตใหม่ที่กำลังเดินเรียงแถวออกมาอย่างสง่างาม เปิดคลอกับเสียงเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่เราทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
วันที่สองของการซ้อมรับปริญญา วันนั้นเป็นวันที่ฉันได้ลองสวมเสื้อครุยเป็นวันแรก และเพราะเหตุนี้เอง ฉันจึงใส่บางส่วนของเสื้อครุยไม่เป็น จนต้องให้แม่ น้อง และเพื่อนๆ ในภาควิชาช่วยกันยกใหญ่ ฉันรู้สึกขอบคุณทุกๆ คนที่ไม่รำคาญความประมาทของฉัน ช่วงเวลาแรกที่ฉันอยู่ในเสื้อครุยและกำลังเดินไปที่หน้าห้องอรุณอัมรินทร์ซึ่งเป็นห้องที่ทุกคนจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ฉันรู้สึกได้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่ไม่คาดฝันอีกครั้งหนึ่งคือ รู้สึกดูดีและเท่ห์มาก ฉันรู้สึกว่าขณะที่ฉันกำลังเดินผ่านกลุ่มผู้ปกครองและญาติที่มานั่งรอบุตรหลาน ฉันเดินด้วยบุคลิกที่ดีกว่าเวลาเดินทั่วๆ ไป จนถึงตอนเย็น ก็มีน้องและเพื่อนมาร่วมแสดงความยินดีด้วย ฉันรู้สึกได้ถึงความดีใจที่เปล่งประกายในช่วงเวลานั้น วันนั้นฉันยิ้มทั้งวัน และความรู้สึกเหล่านี้ ก็ไม่ต่างไปจากวันที่เข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรวันจริง
ในช่วงเวลาที่ฉันกำลังสนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนและอยู่ในบรรยากาศของการแสดงความยินดี ฉันยังคงมีคำถามขึ้นมาในห้วงความคิดความรู้สึก ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นประโยคคำถามที่ชัดเจน แต่เป็นความรู้สึกแปลกๆ และเหมือนมีอะไรบางอย่างผิดปกติ ตรงที่ฉันรู้สึกว่าความดีใจที่เปล่งประกายยามที่อยู่ในเสื้อครุยนั้น มันช่างรวดเร็วและฉับพลันมากเหลือเกิน เพราะเมื่อฉันกลับมาที่บ้าน และเปลี่ยนจากเสื้อครุยเป็นเสื้ออยู่บ้านที่ฉันใส่ทุกวัน ความรู้สึกของความดูดีและเท่ห์นั้น ได้จางหายไปอย่างรวดเร็ว จนฉันเองยังตกใจ
ความรู้สึกนั้นจึงทำให้ฉันเห็นมิติอีกด้านหนึ่งของเสื้อครุย ว่ามันทำให้ฉันหลงไปได้มากขนาดไหน หลงไปกับคำว่า บัณฑิตใหม่ หลงไปกับความดูดีและเท่ห์ หลงไปกับความรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งนักที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นปัญญาชน ฉันลืมเนื้อลืมตัวไปอยู่กับเสื้อครุยทั้งวัน ฉันคิดว่าการหลงไปกับความรู้สึกยินดีปรีดาเช่นนี้อาจไม่เป็นไรถ้าเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และจบลงเมื่อถอดเสื้อครุย แต่หากยังหลงต่อไปและยังไม่ยอมถอดเสื้อครุย ก็อาจจะทำให้ยังร้อนและหนักต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวได้เพราะหลงไปยึดติดกับการเป็นปัญญาชนที่คิดว่าตนเองนั้นมีความรู้และหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งความไม่แน่นอนก็อาจจะทำให้ปัญญาชนผู้นั้นกลับมาติดกับดักของตัวเองได้เหมือนกัน
ในระหว่างพิธี ขณะที่ฉันนั่งอยู่ในห้องและกำลังรอคิวก่อนที่จะขึ้นไปรับพระราชทานปริญญาบัตร ฉันมองบัณฑิตเป็นพันๆ คนเดินรับปริญญาบัตรและก้าวลงจากเวที ขณะนั้นก็มีการประกาศชื่อบัณฑิตใหม่และชื่อคณะมากมายหลากหลายคณะ มีทั้งชื่อคณะที่ฉันคุ้นหูและไม่คุ้นหู บัณฑิตแต่ละคนเดินตามจังหวะที่ซักซ้อมไว้อย่างรวดเร็วลงจากเวทีไป คนแล้วคนเล่า ฉันเริ่มสงสัยอีกแล้วว่า คนเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อบ้าง จะไปอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยบ้าง ดูชื่อสาขาวิชาหรือชื่อคณะที่จบการศึกษา ก็ดูเหมือนว่าน่าจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศได้มากมายยิ่งนัก ถ้าคนร้อยๆ พันๆ คนนำความรู้ที่ศึกษามาเป็นปี ไปใช้จัดการหรือทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อันดับสองด้วย โอ้โห ประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไรบ้าง คงจะเจริญรุ่งเรืองน่าดูเลยทีเดียว
แต่แล้วความสงสัยระลอกที่สองก็ซัดมาอีกครั้ง อ้าว ทุกปีก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ที่คนเป็นร้อยๆ พันๆ คนจบการศึกษาจากคณะต่างๆ เข้ามาทำงานในประเทศ กระจายเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ แล้วทำไมหนอ ทั้งๆ ที่สมัยนี้การศึกษาก็เข้าถึงผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมเราถึงยังคงถามหาความสุขในชีวิตหรือแม้กระทั่งถามว่า “ความสุขคืออะไร” แล้วอย่างนี้ คนเราจะเรียนจบไปเพื่ออะไรกันแน่ ... ฉันตกอยู่ในทะเลแห่งคำถามและความคิดอยู่สักพักใหญ่ ก็ตอบตัวเองไปเบื้องต้นก่อนว่า ฉันอาจจะยังไม่มีความรู้รอบตัวมากพอหรือไม่ได้อ่านหนังสือหรืองานวิจัยมากพอว่ามีคนคิดหรือทำอะไรดีๆ เอาไว้มากมายแล้ว เพียงแต่ฉันไม่รู้เท่านั้นเอง
ฉันไม่รู้ว่าความคิดเห็นของฉันจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนที่กำลังทำประโยชน์ให้กับสังคมหรือคนที่มองในมุมมองที่ต่างออกไปหรือไม่ ส่วนคำตอบเบื้องต้นที่ฉันตอบตัวเองไปนั้น ฉันก็ไม่รู้ว่า ถ้าเป็นคนอื่นๆ จะตอบอย่างไรบ้าง และอาจจะมีใครหลายๆ คนที่กำลังถามคำถามแบบนี้อยู่เหมือนกัน หรืออาจจะมีใครหลายๆ คนที่เลิกถามคำถามแบบนี้ไปนานแล้ว
มาจนถึงวันนี้ ฉันรู้สึกดีใจที่ได้ตัดสินใจมาเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเหมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาทุกปี ที่ทำให้เห็นว่าเพียงแค่เวลาสั้นๆ ไม่กี่วันนี้เอง ก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้และประจักษ์ชัดว่าการหลงไปกับความรู้สึกต่างๆ หรือบรรยากาศรอบข้างนั้น มันช่างง่ายดายเพียงใด ได้ตั้งคำถามที่แม้จะไม่ใช่คำถามที่ใหม่นักสำหรับบางคน แต่ก็อาจจะยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์สำหรับการเดินทางในชีวิตของบางคนเช่นกัน
ฤดูกาลนี้ นอกจากฉันจะได้ให้ของขวัญกับครอบครัวแล้ว ยังได้รู้จักโลกผ่านมุมมองของคนๆ หนึ่งมากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้และรู้จักเหล่านี้เปรียบเสมือนบทเรียนบทส่งท้ายที่น่าสนใจไม่แพ้บทเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีที่ฉันจบออกมาเลยทีเดียว
Labels: เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร
โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒
ในระยะ ๔-๕ เดือนที่ผ่านมานี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัด “โครงการสานเสวนาเพื่อลดความรุนแรงในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดภาคใต้ทั้งตอนบนและตอนล่าง” ทุกครั้งที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังปัญหาของเด็กเหล่านี้ พวกเราต่างแอบอมยิ้มและมีความสุขในความใสของเด็ก ซึ่งหลายครั้ง หลายคนเชื่อว่ามี “พลังดำ” ของความผิดพลาด “พลังลบ” ของการผ่านการกระทำผิด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอายุ ๑๔ ปีที่ข่มขืนหลานของตนเอง ไปจนถึงคดีน้ำกระท่อม ซึ่งเป็นคดียอดฮิตของวัยรุ่นในภาคใต้ คดีกัญชา ยาบ้า คดีลักทรัพย์ พยายามฆ่าและฆาตกรรม รวมถึงคดีความมั่นคงที่เด็กถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ร่วมก่อความไม่สงบ
ความใสของเด็กเหล่านี้เริ่มตั้งแต่การแบ่งปันเรื่องราวความผิดของตนเองก่อนเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่มีไว้ ‘แก้ไข’ นิสัยและความประพฤติ ดังเช่น ศูนย์ฝึกและสถานพินิจเหล่านั้น อาทิ “ผมถูกหมาไล่กัด ต้องวิ่งหนี เมื่อผมกำลังจะถือดอกไม้ไปให้แฟน ทำให้แฟนบอกเลิก” “ผมพาแฟนนั่งรถเครื่องซ้อนท้ายไปเที่ยวด้วยกัน รถเกิดน้ำมันหมด แฟนผมต้องช่วยเข็นรถ ผมหัวเสียแทนที่จะได้ขี่รถพาแฟนเที่ยว” ปัญหาที่เล่ามานี้เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ของเด็กที่สะท้อนความรู้สึกอยากเป็นที่ยอมรับในสายตาของผู้หญิง อยาก ‘เท่ห์’ ในสายตาของเพื่อนด้วยกัน หากในศูนย์ฝึกและสถานพินิจสามารถใช้ความรู้สึกเหล่านี้มาเป็นประเด็นแนะให้เด็กได้แสดงออกถึงการเป็นชายหนุ่มผู้มัดใจหญิงสาวด้วย ‘ความดี’ หรือ ‘ความสามารถในทางสร้างสรรค์’ แบบอื่นๆ เช่น การเป็นนักกีฬาที่สามารถ การเป็นนักดนตรีที่ดึงดูดใจ เป็นคนประดิษฐ์กรงนกที่สวยงามและสร้างสรรค์ และอื่นๆ เด็กอาจจะเกิดความคิดมัดใจสาวที่ปลอดภัยมากกว่าการแข่งรถ ซึ่งมี ‘สก๊อย’ นั่งซ้อนท้าย เป็นที่น่าหวาดเสียว และอันตรายต่อผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ
นอกจากนั้นยังเกิดความซึ้งใจจาก ‘การฟัง’ เด็กหลายคนร่วมวางแผนในชีวิตจากการตอบคำถามว่าหากเหลือเวลาอีก ๒ วัน เขาคิดจะทำอะไร ๒ อย่างที่สำคัญที่สุดในชีวิต คำตอบที่ได้อาจทำให้พ่อแม่และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กคนหนึ่งบอกว่า “ผมจะจูบตีนของแม่ผมก่อนตาย” ถามว่าทำไมจึงต้องทำเด็กบอกว่า “เพราะแม่เคยจูบตีนผมมาก่อนเมื่อตอนผมยังเล็กๆ” เด็กหลายคนบอกว่า “อยากขอโทษพ่อแม่ที่ทำให้เสียใจ” ถามว่าจะทำอย่างไร บางคนบอกว่า “ผมจะจับมือแม่และหอมแก้มแม่” บางคนบอกว่า “จะจูบหน้าผาก” เราคิดตามคำตอบเหล่านี้แล้วคงจินตนาการเห็นภาพได้ว่า เด็กเคยได้รับความรักเช่นนี้ การกระทำเช่นนี้มาก่อน แต่แล้วเมื่อโตขึ้น การกระทำเหล่านี้ได้หายไปไหน
เด็กจำนวนมากได้กล่าวถึงสาเหตุที่พวกเขากระทำความผิด เช่น “ทะเลาะกับแม่ พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อไปมีเมียใหม่ ผมเครียดเลยไปหาเพื่อน ผมอยากลอง ผมเกรงใจเพื่อน ผมลองยาเส้น ผมลองกระท่อม เพื่อนพาไปสูบกัญชา ผมติดยา ผมขายยา เมื่อผมเมายาเพื่อนชวนไปถล่มกับคู่อริ เมื่อผมเมาเหล้า ผมลักของ ผมขึ้นบ้าน ผมร่วมปล้น ผมโทรมหญิง ผมร่วมฆ่าคู่อริ” ทั้งหลายเหล่านี้ ประมวลได้ว่าความรักความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากครอบครัวได้ขาดหายไป
ยังมีความประทับใจจากเรื่องที่เด็กได้แบ่งปันเมื่อเขาคิดถึงสิ่งที่สำคัญที่จะทำก่อนตาย เด็กบางคนอยากนำผ้าที่แม่ใช้ละหมาดมาห่อศพตนเอง บางคนบอกว่าจะขอนอนหนุนตักแม่จนกระทั่งหมดลมหายใจ อีกคนบอกว่า จะขอเกิดเป็นลูกแม่อีกเมื่อเกิดใหม่ เด็กขี้เล่นคนหนึ่งบอกว่าอยากให้พ่อต่อโลงให้ผมเป็นรูปโดเรมอน มีครั้งหนึ่งที่สถานพินิจจัดงานครอบครัวสัมพันธ์ พร้อมกับกระบวนการสานเสวนาได้ดำเนินไปพร้อมๆ กัน เด็กได้บอกกล่าวสิ่งที่จะทำก่อนตาย จากคำพูดเหล่านี้ของเด็ก เราได้เห็นน้ำตาลูกผู้ชายไหลริน สะอึกสะอื้น เมื่อเด็กได้สำนึกผิด ขอโทษในสิ่งที่ทำกับพ่อแม่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม่ของเด็กเหล่านี้จะปลื้มใจ สะเทือนใจ และสะอึกสะอื้นมากยิ่งกว่าเป็นหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม เราได้ยินความคิดของเด็กอย่างน้อยสามคนว่าจะทำสิ่งที่คาดไม่ถึงก่อนตาย นั่นคือมีคนหนึ่งบอกว่า จะไปปล้นธนาคาร เพื่อหา ‘เบี้ย’ เก็บไว้ในครอบครัว อีกคนหนึ่งกล่าวว่าจะปล้นร้านทอง ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน คนสุดท้ายบอกว่าจะออกไปฆ่า ‘นาย’ (ตำรวจ) ที่จับเขาเข้ามาอยู่ในนี้
การพูดถึงเรื่องเช่นนี้ได้เปิดจังหวะให้เยาวชนได้ช่วยเหลือกัน
วิธีการที่สร้างความไว้วางใจ และ “ฟัง” เด็กเล่าเรื่องความตั้งใจของตนนี้เป็นโอกาสให้เด็กได้ช่วยกันวิเคราะห์ และผู้ใหญ่ได้โอกาสร่วมแนะนำ ช่วยพิจารณาผลดีผลเสียของการกระทำ ชี้ให้ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา ในที่สุดเด็กคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมจะไปเดินผัก รับจ้าง (ขนผัก) ในตลาด ได้เบี้ยน้อยแต่ก็จะให้แม่ดีใจแทนที่จะไปปล้นธนาคาร” แต่เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถโน้มน้าวความคิดของเด็กคนสุดท้ายที่จะออกไปจัดการกับ ‘นาย’ ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะเด็กบอก ‘ตายเป็นตาย’
การสอนในลักษณะนี้จะนำ ‘ปัญหาและชีวิตจริง’ ของเด็กเป็นตัวตั้ง การตั้งหน้าตั้งตาเทศน์สอนจะไม่ได้รับการต้อนรับเลย เพราะเด็กอาจเคยรับฟังการเทศน์เช่นนี้มาจากบ้านแล้วหลายวาระ
เรื่องราวของเด็กเหล่านี้เป็นสิ่งมีค่า และอาจเป็น ‘เรื่องเล่าเร้าพลัง’ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้เด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ประสบชะตากรรมเช่นนี้ได้เรียนรู้ ผู้ใหญ่อาจเข้าใจความคิดของเด็กมากขึ้น เพื่อจะได้ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และร่วมหาแนวทางป้องกันเหตุและแนวทางแก้ไข
เหนือสิ่งอื่นใด เราค้นพบว่าเด็กเหล่านี้ ‘กระหาย’ ที่พึ่ง และความสงบ การให้นั่งนิ่งๆ อยู่กับตนเอง หรือคล้ายกับการนั่งสมาธิเบื้องต้น โดยการทำใจเป็น “หนึ่งเดียว” กับเสียงระฆัง แม้แต่เยาวชนมุสลิมก็ชอบการนั่ง โดยเปลี่ยนจากการฟังเสียงระฆังแห่งสติ ไปเป็นการระลึกถึงอัลเลาะห์ เด็กหลายคนสะท้อนความพอใจ ความชอบ ใคร่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องทำผิดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนกับอยากรู้วิธีแก้กรรมของตนว่าทำอย่างไรนั่นเอง
เราจึงสรุปได้ว่า หนึ่งในสาเหตุของการกระทำความผิดเหล่านั้นคือ ‘ความไม่รู้’ ‘การไม่มีคนสอน’ ‘การขาดการชี้แนะแนวทาง’ ในการปฏิบัติตน ในการพัฒนาตนเอง
“สีขาวในสีดำ” เหล่านี้ เรียกร้องและท้าทายให้ผู้ใหญ่ได้หันกลับมาพิจารณาดูวิธีการให้การศึกษาอบรม การมีคุณค่าภายในที่จะให้พวกเขาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ถึงเวลาแล้วมิใช่หรือที่พวกเราจะได้มีส่วนช่วยให้เด็กทั้งหลายเหล่านี้ได้เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ และมีความสุขได้ต่อไป
Labels: ปาริชาด สุวรรณบุบผา
โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๒
ฉันพูดซ้ำๆ กับตัวเอง “ไม่เป็นไร ... ไม่เป็นไรจริงๆ เขาควรจะได้เรียนรู้และเติบโต” มันเป็นเหตุผลที่ดูจะช่วยให้ตัวฉันเองรู้สึกดีขึ้น ว่าฉันไม่ผิดอะไร ฉันเพียงมีเจตนาดีจะช่วยให้คนๆ หนึ่งพัฒนาตน ความเป็นครูของฉันทำให้ฉันยอม แม้จะไม่เป็นที่รัก
เรื่องคือว่า ฉันเพิ่งจะตักเตือนน้องสาวคนหนึ่งถึงการเปิดกว้างในการมองโลกของเขา การไม่ติดยึดกับคำตอบเดิมๆ ของชีวิต การเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้อื่นๆ ให้ผุดพรายขึ้น มันไม่ใช่แค่ที่เราเรียนรู้มา แล้วปฏิเสธอะไรที่นอกเหนือจากนั้นไปเสียหมด เพียงเพราะเรามีคำตอบสุดท้ายไว้แล้ว มันทำให้เราไม่สามารถรับรู้สิ่งอื่น คนอื่น จนเรามิอาจได้ยินเสียงที่แท้จริงของเพื่อนที่กำลังสื่อสารกับเรา และเมื่อไม่อาจได้ยินและรับรู้ผู้อื่นได้ดีแล้ว เสียงของเขาซึ่งจะช่วยเป็นเสียงสะท้อนจากตัวเราก็ลดลง ทำให้เรารับรู้ความเป็นจริงของตนน้อยลงไปด้วย
โชคดีที่น้องสาวคนนี้ค่อนข้างเคารพและให้เกียรติฉันมาตลอด เขาเลยออกตัวอย่างสุภาพมาก ว่าเขาขอโทษ แต่เขาโตมาแบบนี้ และเชื่อแต่ที่วิทยาศาสตร์บอกเท่านั้น แล้วเขายังรู้สึกสบาย และมีความสุขดีกับชีวิต
ฉันเลยถามเขากลับไปว่ารู้จักกี่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์บอกล่ะ ชื่นชมวิทยาศาสตร์แต่ตัวเองไม่กล้าแม้แต่จะทดลองอะไรเล็กๆ ในชีวิตเนี่ยนะ แล้วคิดว่านักวิทยาศาสตร์มีคำตอบให้ทุกสิ่งหรือ ทำไมไม่เชื่อตัวเธอเองบ้าง ทำไมไม่อนุญาตให้ตัวเองได้ร่วมพิสูจน์และรับรู้เอง อย่างไม่ยอมลดละ ฉันคงจี้ๆๆๆ จนน้องเขาจำนน
แต่แทนที่จะรู้สึกชนะ หรือลิ้มชิมความสำเร็จ ฉันกลับเดินง่วนในบ้านอย่างฉุนเฉียว ในหัวยังคงคิดวิเคราะห์ถึงน้องคนนั้น และอะไรที่ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ สารพัดจะคิดไปต่างๆ นานา ในหัววนเวียนไปด้วยภาพใบหน้าน้องเขากับถ้อยคำบางคำที่พูดตอบโต้กัน โดยเฉพาะคำว่า “แต่หนูก็มีความสุขดีนะพี่ หนูไม่ทุกข์อะไรนี่” ในใจฉันยิ่งประณามน้องเขาหนักขึ้น ถึงความเห็นแก่ตัว ไม่รับรู้คนอื่นของเขา และเมื่อคำว่า “มีความสุข” วนมาในความคำนึงมากเท่าไร ฉันยิ่งรับรู้ถึงทุกข์ในใจตนมากขึ้น เหมือนทนไม่ได้ที่คนที่มีวิถีและกรอบคิดไร้ค่า และไม่ชาญฉลาดอย่างฉัน จะมีความสุขได้มากกว่าที่ฉันเป็น
คืนนั้นขณะที่พยายามทำตนให้ปกติที่สุด แต่คนในบ้านกลับแสดงออกกับฉันอย่างห่วงใย เหมือนเขารู้ว่ามันไม่ปกติ ฉันนั่งเช็คอีเมลและได้รับเมลจากเพื่อนคนหนึ่งในเครือข่ายของจิตตปัญญาศึกษานี่เอง เขาส่งบทความของเพื่อนอีกคนมาให้อ่าน โอ้ ... สวรรค์ประทานพร สาระส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ความเชื่อของคนอีกกลุ่มที่ดูงมงายในความคิดเขา เขานำเสนอมุมมองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างแข็งแกร่ง คมชัด เป็นเหตุเป็นผล แต่ฉันอ่านแล้วรู้สึกร้อนผ่าวทั่วใบหน้า เออแน่ะ โกรธจริงๆ ด้วย อยากจะเขียนวิจารณ์ตอบโต้กลับ แต่ฉันมันแหยเกินไป กลัวเพื่อนเจ้าของเรื่องจะโต้กลับมาจนฉันจนมุม กลัวเพื่อนคนอื่นจะรู้สึกแย่กับฉัน แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่า และรับรู้ถึงความทุกข์ที่ทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในใจ จนต้องลุกจากโต๊ะ ไปนั่งสวดมนต์ สวดไปน้ำตาก็ไหล ฉันไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเป็นประจำเหมือนเพื่อนคนอื่น การเข้ามาสวดมนต์ครั้งนี้ อาจเพียงหนีออกมาก็เป็นได้ แต่มันก็ช่วยให้เห็นความเป็นจริงเบื้องหน้าชัดเจนขึ้น จากคำถามที่วิ่งวนในหัวว่า ฉันผิดหรือถูกกันแน่ที่คิดและเชื่อแบบนี้ ยิ่งพยายามหาคำตอบนี้ก็ยิ่งทุกข์ แล้วฉันก็รอ รอจนคลื่นในใจของตนสงบลง การใคร่ครวญที่แท้จึงได้ทำงานของมัน
เหมือนโดนตบหน้า สองเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันโดยแท้ ความเชื่อ ศรัทธา มันเป็นเหมือนตัวตนภายในที่คนแต่ละคนยึดถือ ยึดเหนี่ยว การน้อมนำให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิมที่เป็น เหมือนต้องค่อยๆ ประคับประคอง อ่อนโยนกับเขาด้วย เพราะเรากำลังโยกคลอนผู้อื่นอยู่ บางทีที่เรากำลังเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น แท้จริงแล้ว อาจเพียงเพราะตัวตนของเราก็กำลังถูกโยกคลอน ไม่มั่นคงเช่นกัน ตามมารยาททางสังคมที่เคยได้เรียนมาถึงบอกว่า เรื่องที่ไม่ควรนำมาเป็นหัวข้อสนทนา คือเรื่องศาสนาและการเมือง เพราะมันมักจะก่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ที่ควรชวนกันพูดชวนกันคุยก็น่าจะเป็นเรื่องที่รื่นรมย์ ไม่ก่อหวอด
โดยทั่วไปเราเลยพูดเฉพาะเรื่องที่เราอยากฟัง และฟังเฉพาะเรื่องที่เราอยากพูด เราเลยไม่เคยได้ยินเสียงใครจริงๆ เลย เพราะการเปิดรับมันถูกตั้งค่าไว้ต่ำ
แต่เรื่องนี้น่าพูดถึง และควรพูดถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราสนใจการพัฒนาตน ฝึกตน ไม่ว่าในศาสนาใด เพียงแต่ว่าทำอย่างไรเรื่องราวความเชื่อและการเมืองจะสามารถนำมาพูดคุยได้ โดยไม่ทำร้ายกัน ไม่ตัดสินกันเร็วไป คำนี้เหมือนง่ายนะ เราพูดกันบ่อย แต่การยอมรับไม่ง่ายเท่าไร ยิ่งถ้าอาวุโสมาก บทบาท ตำแหน่งสูง การยอมรับอาจถูกทุบทิ้งอย่างไม่ใยดี เพราะเขารู้สึกชอบธรรมที่จะตัดสินคนที่เด็กกว่า คนที่อยู่ในปกครองดูแลของตน
ยิ่งเราแสร้งหลบไม่พูดถึง มันยิ่งผุดออกมาในพฤติกรรมและมุมมองในเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ความคิด ความเชื่อแต่ละชุด แต่ละมุมมองของเรา มันเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน
เวลาเราเถียงกันต่างบอกว่า ไม่มีอะไร แค่อยากอธิบาย แต่มันรุนแรงขึ้น อาจเพราะการถกเถียงของเรานั้นมันไปกระทบชุดความเชื่อที่เรายึดถือ กระทบอัตตาตัวตนของเรามากกว่าการอธิบาย เราจึงพยายามเอาชนะ โดยต้องการเห็นการจำนนยอมรับของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว เราย่ำยีเพื่อนและพกพาความชิงชังติดตัวมาด้วย เราไม่ได้ทำให้เขาทุกข์มากไปกว่าที่ทำให้ตัวเองทุกข์เลย พอทุกข์และขาดสติยั้งคิด อาจยิ่งทำให้เพื่อนอีกฝ่ายทุกข์อย่างเราบ้าง แต่ยิ่งทำอย่างนั้นความทุกข์ก็ยิ่งทวีในตัวเราเอง
ตกลงเราเถียงกันทำไม เราอยากให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสเรียนรู้และใคร่ครวญตน กับความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปของเราไม่ใช่หรือ หรือเราจะถากถางฝั่งฟากของเพื่อนจนไม่เหลือที่ยืนให้เขาได้เลือกจะเป็นตัวเขา อะไรที่ทำให้เราคิดว่าไม้บรรทัดของเราถูกต้องที่สุด น้ำทุกสายก็ประกอบด้วยฝั่งสองฟากที่ดำรงอยู่ร่วมกัน มหาสมุทรสุดท้ายก็ไปจรดอีกฟากอันไกลโพ้น เราคงไม่คิดขนาดไม่ให้เหลืออีกฝั่งของท้องน้ำแห่งมิตรหรอกนะ
นึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่พูดเรื่องภูมิคุ้มกันประเทศ ที่เอาคนไปยืนเป็นรูปรอยของแผนที่ประเทศไทย มีช่วงหนึ่งขณะที่ผู้คนเข้าทำร้ายฟาดฟันกัน เสียงพากย์กล่าวว่า ... เราคงลืมไปแล้วว่า เราเคยรักกัน ... ตอนนั้นเองที่น้ำตาฉันไหล และตัดสินใจไปขอโทษน้องสาวที่ฉันวิพากษ์วิจารณ์เขาวันนั้น ทั้งที่ฉันก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ตกลงใครถูกที่สุด
Labels: ธนัญธร เปรมใจชื่น
โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒
“แน่ใจเหรอว่าเราจะพูดกันเรื่อง Leadership ... ในเมื่อ 30 กว่าคนที่นี่ มีคนที่เป็น ผอ. อยู่แค่ 2 คน เท่านั้นนะ” เสียงของผู้เข้าร่วมแทรกขึ้นมาระหว่างที่เราจะเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Contemplative Leadership หรือ ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา ของแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข
คนนอกวงสนทนานี้อาจมองว่านี่เป็นประโยคขัดจังหวะการเรียน ทำให้ไม่ลื่นไหล ไม่แน่ว่าคงมีคนอึดอัดแทนกระบวนกรผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ว่าเขาจะรับมือกับคำถามท้าทายของผู้เข้าร่วมได้อย่างไร
แต่ตรงกันข้าม หลังจากคำถามนี้เปิดขึ้นมา การเรียนรู้ว่าด้วยความเป็นผู้นำก็เคลื่อนไปอย่างแจ่มชัดและมั่นคง เพราะได้รับความสนใจและความตั้งใจจากสมาชิกทุกคนในวง อีกทั้งยังจุดประกายให้ได้เข้าสู่แก่นสำคัญของเนื้อหาเสียด้วย ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่จับต้องสัมผัสได้ ไม่เป็นแนวคิดเลื่อนลอย และทุกคนรู้สึกว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตนเอง
ภายหลังการอบรมนี้ พวกเราทีมกระบวนกรได้สะท้อนการเรียนรู้หลังการทำงานร่วมกัน เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า AAR (After Action Review) ประเด็นที่เราประทับใจและแลกเปลี่ยนกันอย่างมากก็คือเรื่องความเป็นผู้นำนี้เอง นั่นเป็นเพราะเราเคยผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยกันมาแล้วในทีมเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นต้นมา นับแต่เรายังทำงานวิจัยจิตตปัญญาศึกษากัน
ในแรกเริ่มเรามาพบและตกลงว่าจะทำงานวิจัยกัน เพราะต่างคนก็สนใจการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจและเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจ และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ท่านได้ตั้งชื่อการเรียนรู้นี้ว่าจิตตปัญญาศึกษา สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับมัน ณ ขณะนั้นจัดว่ามีน้อยมาก เหตุที่เราต้องทำวิจัยเชิงสำรวจความรู้เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจมากขึ้น เราก็จะทำงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจิตตปัญญาศึกษาโดยแท้ได้ ไม่หลงทางหรือผิดเพี้ยนไป
ทว่าด้วยความที่ยังใหม่กันมากนี่เอง เราเกือบทุกคนก็ลังเล ไม่กล้าออกรับเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย ด้วยว่าเป็นงานรับทุนดำเนินการจาก สสส. และเงินทุนจำนวนมิใช่น้อย ขณะเดียวกันรูปแบบความสัมพันธ์ของเราก็มีความเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องมากกว่าจะเป็นคณะทำงานที่มีตัวหัวหน้าผู้นำอย่างชัดเจน
ในช่วงก่อนเริ่มงานวิจัยอย่างเป็นทางการ เราจึงหาแนวคิดวิธีการการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้เราได้พัฒนาจิตและพัฒนาตัวเราเอง ที่สำคัญไม่เผลอทำงานตามสายการบังคับบัญชา หรือติดในรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการเดิมๆ เราพบว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจมากและเรานำมาใช้ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งต่างหนุนเสริมกันและกัน ได้แก่ ความเป็นผู้นำผู้รับใช้ และความเป็นผู้นำร่วม
แนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leadership) นั้น มีผู้ที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปพอสมควร อาจด้วยคำว่า “ผู้รับใช้” ถูกตีความว่า ผู้นำต้องสามารถรับใช้ทำงานให้ทุกคนได้ ช่วยทำแทนทุกคนได้ ฟังดูเหมือน ส.ส. ขอรับใช้ประชาชนเลยเชียว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะการรับใช้คือการดูแลเพื่อนร่วมงานให้เพื่อนเขาได้เติบโตและพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ สนับสนุนให้เขาได้พบศักยภาพและความสามารถที่แท้จริงของตนเองจากประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาจิตใจ แตกต่างกันอย่างมากกับการช่วยทำงานแทนเขาด้วยทักษะของเราที่ดีกว่า เพราะเขาจะพลาดโอกาสเรียนรู้และเติบโตจากการทำเอง สูญเสียการโค้ชสอนงาน และขาดการเสริมศักยภาพจากเราไป ใน 3 ปีของการทำงานวิจัย ทีมเราเห็นชัดเจนว่าการเป็นผู้นำผู้รับใช้ต้องอาศัยความตั้งใจ ความสนใจ และความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของแต่ละคนเป็นอย่างมากทีเดียว
เรายังใช้อีกแนวคิดที่เสริมกันมากคือเรื่องความเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) ซึ่งเชื่อว่าพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เรามีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิเช่นเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงวิวัฒน์จิตหรือชีวิตด้านในก็ไม่เพียงเป็นเส้นทางระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งแผง เป็นการเรียนรู้ที่ดำเนินไปพร้อมกันทั้งกลุ่มทั้งชุมชน ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจจะละเลยกัลยาณมิตรหรือขาดเพื่อนผู้สนับสนุนไปไม่ได้เลย ความเป็นผู้นำร่วมจึงเป็นสภาวะผู้นำที่ทุกคนให้ความเป็นผู้นำแก่กลุ่ม ด้วยคุณภาพและคุณลักษณะของเราที่หลากหลายต่างกัน มิใช่ผู้นำร่วมด้วยการรอตัดสินใจพร้อมๆ กัน ทำอะไรเหมือนๆ กัน หรือรอเห็นชอบตรงกัน เราเห็นชัดเจนว่าคุณภาพของการทำงานที่เกิดขึ้นจากการร่วมใจกันแตกต่างชัดเจนจากการแบ่งงานกันทำตามความถนัด เป็นผลร่วมที่มากกว่าผลรวมของจำนวนคน
ตลอดเวลาที่เราทำงานด้วยกันมาในฐานะทีมวิจัยต่อเนื่องมาจนเป็นทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ เราพบว่าการนำแนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมมาใช้ในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เรายอมรับได้อย่างเต็มปากว่าทีมไม่สามารถคงสภาวะมีความเป็นผู้นำร่วมอยู่ได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเราแต่ละคนไม่อาจรักษาสภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้ไว้ได้ทุกขณะ ในคราวแรกบางคนอาจจะรู้สึกท้อใจบ้างที่ไม่สามารถทำงานหรือบริหารจัดการด้วยแนวทางวิธีที่เราเชื่อให้ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อได้สติรู้สึกตัวขึ้นมาว่าเรากำลังหลุดออกจากการดำเนินไปในแนวทางจิตตปัญญาศึกษา เราพลันได้พบว่าทั้งทีมสามารถฟื้นคืนคุณภาพสู่สภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมได้ทุกครั้ง
จากประสบการณ์ของทีมเราในการทำงานวิจัยและจัดอบรมจิตตปัญญาศึกษาด้วยวิธีการและแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่นเรื่องความเป็นผู้นำ ได้ทำให้เราตระหนักชัดว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายที่จะต้องเดินไปให้ถึง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เมื่อทำได้แล้วจะสำเร็จเสร็จ เพราะเมื่อใดที่รู้สึกว่าเรามีความเป็นผู้นำผู้รับใช้ หรือทีมมีความเป็นผู้นำร่วม เราจะพบว่าในอีกชั่วขณะเวลาถัดไปไม่ช้าก็เร็ว เราอาจจะเสียคุณภาพและเสียสภาวะนี้ไปได้ โจทย์จึงไม่ใช่การปฏิบัติให้เกิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้แล้วจบ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราต้องร่วมกันหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะ อาจจะต่อเนื่องกันไปได้แต่ไม่สามารถคงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง
ความเป็นผู้นำจึงไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราพยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เสมือนหนึ่งเราอยู่บนหนทางของการปฏิบัติฝึกฝน และมีสติไม่หลุดออกนอกเส้นทาง เป้าหมายนั้นเรามีอยู่ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือวิธีและเส้นทางที่เราเดินไป เราจึงได้ใช้ชื่อในการทำงานร่วมกันว่า “กลุ่มจิตตปัญญาวิถี”
ย้อนกลับมายัง workshop ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา คำถามของอาจารย์พยาบาลผู้อัดอั้นสงสัยได้เผยออกมาว่าเราจะเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในกาละและเทศะที่เหมาะสมแล้วหรือ จึงเป็นคำถามที่ป้อนเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้อย่างพอเหมาะพอเจาะ สะท้อนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่า ผู้นำคือผู้บริหาร คือผู้มีอำนาจ คือผู้สั่งการ ดังนั้นเราจึงละเลยการให้ความสำคัญต่อตัวเอง หลงลืมจะมอบอำนาจให้แก่ตัวเอง ไม่เชื่อว่าเราก็มีความเป็นผู้นำที่สามารถรับใช้ดูแลองค์กรของเราด้วยคุณภาพและคุณลักษณะใดๆ ก็ตามที่เรามีได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมองข้ามความสามารถและความเป็นไปได้ของกลุ่มที่จะข้ามพ้นอุปสรรคไปด้วยกัน ความเชื่อเดิมๆ นี้ไม่ต่างกับกบเลือกนาย ผู้มอบความหวังและตั้งตารอคนอื่นให้เป็นผู้นำพาหาทางออก
เพราะผู้นำมิใช่เพียงผู้บริหาร และเราทุกคนล้วนมีความเป็นผู้นำในตัว
ความเป็นผู้นำไม่ใช่สถานภาพ ไม่ใช่สิทธิอำนาจ แต่เป็นสภาวะอันเกิดขึ้นจากการหมั่นดำเนินชีวิตอยู่ในสติบนวิถีทางของการพัฒนาขัดเกลาตนเอง และเราทุกคนต่างทำได้ และเราสามารถทำได้ร่วมกัน
Labels: ธีระพล เต็มอุดม
บทความที่ ๑๖๑: ไสยศาสตร์ควอนตัม - ใจเปิดกว้างไม่ใช่ประนีประนอม
0 comments Posted by knoom at 7:00 AM
โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ผลจากแบบสอบถามครั้งหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้คนโดยมากเชื่อว่านักฟิสิกส์ฉลาดกว่านักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น – แต่ความเห็นของคนโดยมากก็ไม่อาจกลายเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์หรอกนะ
ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งยืนยันว่าการดื่มไวน์แดงช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่งานวิจัยอื่น-อื่นก็ชี้ให้เห็นว่าการดื่มไวน์แดงเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอื่น-อื่นได้อีกมหาศาล - การเลือกเชื่อผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพียงบางเรื่องก็ไม่ใช่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน
งานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าหลายชิ้นปรากฏผลว่า คุณภาพของดินที่ปลูกป่าเลวลง หากไม่มองว่า ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเป็นเพียงระยะเริ่มต้นของการปลูกป่า ซึ่งต้นไม้จะต้องดึงแร่ธาตุสารอาหารในดินไปใช้ในการเจริญเติบโต ก่อนที่จะเน่าเปื่อยสูญสลายกลายเป็นหน้าดินในเวลาอีกหลายสิบปีถัดมา การปลูกป่าก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นเรื่องไร้ประโยชน์และเป็นโทษต่อพื้นดินไปอย่างง่ายดาย - การพิเคราะห์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังต้องตั้งคำถามต่อกระบวนการและปัจจัยในการทดสอบอีกด้วย
ทฤษฎีทางฟิสิกส์มีวิวัฒนาการมาจากนิวตัน ผ่านเข้าสู่ทฤษฎีสัมพันธภาพ และปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคควอนตัม - แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ควอนตัมนั้นดีที่สุด และเอะอะอะไรก็ควอนตัม-ควอนตัม ถ้าจะให้ดี ต้องตรวจสอบผู้พูดอย่างถี่ถ้วนเหมือนกันว่าสิ่งที่พูดนั้นผู้พูดเข้าใจแค่ไหนและอย่างไร เพราะนักฟิสิกส์เองก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจทฤษฎีทางฟิสิกส์อย่างถ่องแท้ อย่างที่ริชาร์ด ฟายน์แมน นักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีค.ศ. ๑๙๖๕ ผู้เชื่อมสมานทฤษฎีสัมพันธภาพและควอนตัมเข้าด้วยกัน เคยตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกนี้น่าจะมีนักฟิสิกส์สักสิบสองคนที่เข้าใจทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ และไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เข้าใจทฤษฎีควอนตัม ซึ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย
ด้วยความที่ควอนตัมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา และเลอะเทอะกลายเป็นไสยศาสตร์ได้ง่าย ดังที่มีผู้พยายามขายสินค้าโดยอ้างว่าเป็นไปตามทฤษฎีควอนตัม และพะถ้อยคำควอนตัมลงไปในเหรียญประดับ นาฬิกา เตียง น้ำ เป็นต้น และอ้างสรรพคุณว่ามีฤทธิ์รักษาโรคได้สารพัด - การอ้างจากประสบการณ์ของผู้คนไม่กี่คนนั้นไม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันการพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่ตรวจสอบใคร่ครวญก็ไม่ถือว่าเป็นพุทธเช่นเดียวกัน
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะควอนตัมกลายเป็นหนทางใหม่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ มีการอ้างถึงนักวิทยาศาสตร์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ประกอบคำโฆษณามากมาย แต่เมื่อตรวจสอบผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับไม่พบเลยแม้แต่ชิ้นเดียว สินค้าที่อ้างควอนตัมนี้ใช้การแถลงสรรพคุณจากผู้คนมากหน้าหลายตา การซื้อขายนี้จึงอันตรายเสียยิ่งกว่าการซื้อขายวัตถุบูชาทั้งหลาย ซึ่งยังเสนอข้อเท็จจริงในแง่ของความเชื่อและศรัทธาแบบตรงไปตรงมา แต่สินค้าควอนตัมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท็จและความฉ้อฉลล้วน-ล้วน โดยมีลัทธิบริโภคนิยมและวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณเป็นเครื่องหนุนเสริม
บางคนเห็นว่าก็ถ้าจ่ายเงินไม่เท่าไหร่ และหายจากความเจ็บป่วยด้วยอุปาทาน ต่อให้ไม่ใช่คุณวิเศษจากควอนตัมก็ไม่น่าจะเป็นไร - ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เงินไม่เท่าไหร่ นั้นเท่าไหร่แน่? คำว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไรจริงล่ะหรือ?
ทรัพย์ที่จ่ายให้กับของที่ไม่ได้จำเป็นนั้น หากรวมกันมากเข้า อาจจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้มาก เป็นต้นว่า ทุนการศึกษาทางด้านจิตตปัญญาให้กับเสมสิกขาลัย สาวิกาสิกขาลัย หรือมหาวิทยาลัย - ทรัพย์นั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่การใช้จ่ายออกไปไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวได้เลย หากมีผลต่อทัศนคติของสังคมว่าให้คุณค่ากับอะไรเป็นสำคัญ ก็ถ้าผู้บริโภคจ่ายเงินให้กับสินค้าประเภทไหน สินค้าประเภทนั้นก็ย่อมถูกผลิตออกมาอีก เนื่องจากถือว่าได้รับการโหวตจากผู้บริโภคโดยปริยาย ไม่น่าแปลกใจที่สินค้าที่อาศัยไสยศาสตร์หรือศรัทธาเป็นเครื่องเชิญชวนจะยังคงขายกันเกร่ออยู่ทั่วไป
หากครูบาอาจารย์หรือองค์กรที่ทำงานเรื่องพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเหรียญประดับควอนตัม อาหารบำรุงสมอง หรือแม้แต่นมผงสำหรับเด็ก จะถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนในการทำลายซึ่งมิจฉาทิฏฐิแล้วล่ะหรือ? ต้นทุนที่แท้จริงของการเพิ่มเติมมิจฉาทิฏฐิว่าด้วยบริโภคนิยมและวัตถุนิยมลงไปในสังคมนั้นมีราคาเท่าไหร่กันแน่?
จิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาด้วยใจอย่างใคร่ครวญนั้นเป็นการศึกษาที่เปิดใจกว้าง สามารถยอมรับวิถีทางที่แตกต่างได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องประนีประนอมกับสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานอย่างโยนิโสมนสิการหรือการบริโภคที่ขาดสติ - อย่าลืมว่า แม้ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะพยายามสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนามากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การเหมารวมหรือสรุปรวมหมู่ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นเหมือนกัน และยังยอมรับว่ามีทัศนะที่แตกต่างในหลายเรื่อง
จิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาศึกษาแม้จะให้พื้นที่กับองค์ความรู้ที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า องค์ความรู้จากภูมิปัญญาของชนเผ่า องค์ความรู้เรื่องผลึกน้ำของศาสตราจารย์อิโมโตะ องค์ความรู้เรื่องความฝัน องค์ความรู้เรื่องการตาย ฯลฯ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะยอมรับองค์ความรู้เหล่านี้ หรือศิโรราบศรัทธาในอาจารย์ที่ปรึกษาฯ โดยปราศจากการตรวจสอบใคร่ครวญ
จิตตปัญญาศึกษามีหน้าที่ตรวจสอบองค์ความรู้ต่าง-ต่างอย่างเข้มข้น เรียนรู้ความเหมือนความต่าง และเข้าใจความเป็นไปอย่างแยบคาย จิตตปัญญาไม่ได้แปลว่าการโอนอ่อนผ่อนตาม เปิดรับทุกเรื่องโดยไม่ตั้งคำถาม หรือเห็นแก่ความสัมพันธ์เสียจนละทิ้งความเป็นกัลยาณมิตรในฐานะผู้ร่วมเดินทางในการแสวงหาสัจจะร่วมกัน
หนทางในการภาวนาหรือเข้าถึงสัจจะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของความสุขสนุกสนานเลยแม้แต่น้อย หนทางนี้มีการเผชิญหน้ากับคุณค่าเดิมในกระแสหลัก หวั่นไหวไปกับความรักความปรารถนาจากผู้คนรอบข้าง สับสนกับทางเลือกนับไม่ถ้วน เจ็บปวดกับการถูกตรวจสอบท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่บนหนทางนี้จะนำพารากแห่งปัญญาและกรุณาให้หยั่งลึกลงไปในหัวใจของเราลึกซึ้งขึ้น-ลึกซึ้งขึ้น
Labels: ชลนภา อนุกูล
บทความที่ ๑๖๐: สนทนากับเสียงด้านใน (Voice Dialogue) :
ผู้แพ้ผู้ชนะใน (เกมและสงคราม) ธุรกิจ
0
comments
Posted by
knoom
at
7:30 AM
โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ น่าจะกล่าวขอบคุณ ทุกความเร่งรัด รวมทั้งอาการกดดันจากองค์กรในยามที่การแข่งขันทางธุรกิจกำลังเดือดพล่าน เป็นเวลาที่เราต้องระดมสรรพกำลังโดยเฉพาะกำลังใจของผู้คนให้เดินก้าวหน้าไปด้วยกัน และจับมือกันให้มั่นคง สบสายตาอันเป็นมิตร ยังพูดจาติดตลกได้แม้นหลายเรื่องราวจะคอขาดบาดตายเอาก็ตาม
จะเป็นจะตายเพียงใดหรือ? แท้จริงการทำธุรกิจคือการงานที่มีตัวชี้วัด และเป็นเพียงเกมกีฬา มีได้แต้ม เสียแต้ม ทีมไหนแข็งแรงกว่าก็เก็บแต้ม ทีมไหนอ่อนแอ แพ้เชิงกันทางกลยุทธก็เสียแต้ม ต่างฝ่ายรุกรับขับสู้กันในเกม ต่างต้องฝึกฝนบำรุงกำลังคน กำลังใจให้พร้อมและเข้มแข็ง หากเพียงแต่แข่งกันอย่างตื่นรู้มิใช่หลับใหล ตื่นให้รู้ว่า นี่เป็นเพียงเกม ในเกมกีฬาไม่มีใครเอาเป็นเอาตายกันก็เท่านั้น
สำนวนโบราณที่ว่า “กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน” ก็ไม่ล้าสมัยเลย ผลของการฝึกตนจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับเราให้ ตัวตนด้านใน ตัวใดของเราเข้าเล่นเกมนี้
เมื่อการงานเป็นเกมกีฬา ตัวตนของ “คุณชนะ” ก็ต้องเข้ามาเป็นกำลังหลัก “คุณดัน” “คุณวินัย” “คุณ (กล) ยุทธ” “คุณประสาน” ก็คงต้องเข้าร่วมทีมกัน เมื่อเล่นกันเป็นทีมก็ต้องมีกติกา “คุณระเบียบ” ต้องดูแล “คุณวินัย” คอยกำกับ
ในยามลงสนามแข่ง “คุณตามใจ ณ อิสรภาพ” แค่คอยเป็นกำลังใจข้างสนามบ้าง เมื่อ “คุณตามใจ” ให้ความเคารพ “คุณระเบียบ” เปิดทางให้ “คุณศิโรราบ” ได้อาสาสละอิสระส่วนตนเพื่อชัยชนะของส่วนรวม
หากคนดูรอบสนามตะโกนถามว่า จะแข่งกันไปหาสวรรค์วิมานอะไรเล่า คำตอบแรกนึกถึงนายห้างเทียม โชควัฒนาเคยบอกไว้ว่า “คู่แข่งไม่ใช่คู่แค้น” แข่งแล้วไม่แค้นนี่ก็ต้องฝึก เหมือนคำโบราณที่ว่าการกีฬาฝึกให้ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” แม้รู้อภัยอย่างเดียวคงไม่ได้พาใครไปสวรรค์ แต่ใครจะตั้งใจไปสวรรค์โดยไม่รู้จักให้อภัยคงไม่ได้กระมัง
และเมื่อเกมจบก็พัก คุณๆ ทั้งหลายที่ได้เอ่ยนามมาในเบื้องต้นก็ไปพักผ่อน คราวนี้ “คุณตามใจ” พา “คุณสบาย” เข้ามาเป็นทิวแถว หมดเวลาแข่งขัน เจ้าเด็กเล็กๆ ที่เมื่อสักครู่วิ่งเล่นหัวกับคุณๆ ทั้งหลายในสนามแข่ง ก็ได้เวลาพักผ่อนซุกซนด้วยกล้ามเนื้อกล้ามใจที่แข็งแรง
แล้วพลิกเหรียญอีกด้านกลับไปดูว่า หากธุรกิจไม่ใช่เกมกีฬา แต่เป็นสงครามซึ่งพื้นที่สมรภูมิเป็นการรบที่ผู้แพ้อาจตายได้ จะเกิดอะไรขึ้น
ธุรกิจที่กลายเป็นสงครามจึงเป็นการสู้รบแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นศัตรู ทีมของเราต้องรบชิงชัยให้ได้ มิฉะนั้น ไม่เราก็เขาถึงตาย
ในกีฬาแพ้ชนะกันแค่แต้ม แต่สงครามแพ้ชนะชิงบ้านชิงเมือง ชิงอธิปไตยเหนือแผ่นดินนั้นๆ และก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างเสมอๆ เมื่อธุรกิจล้มเหลว อีกนัยหนึ่งคือพ่ายแพ้ เจ้าของกิจการถึงล้มละลาย บริษัทถูกยึด บ้านช่องทรัพย์สิน อาจจะถูกขายทอดตลาด ดีแต่ว่า ไม่โดนยึดลูกยึดเมียเหมือนสงครามในสมัยโบราณ
เมื่อเกมเป็นการรบการสงคราม การจัดสรรพกำลังก็มิใช่ทีมที่มีเพียงหัวหน้าทีมหรือโค้ช แต่องค์กรการรบ ต้องมี “คุณวินัย” เป็นกำลังหลัก มี “คุณบัญชา” เป็นผู้นำ มี “คุณทะแกล้วกล้า” “คุณทะลวงฟัน” อีกทั้ง “คุณยุทธศาสตร์” “คุณยุทธวิธี” “คุณประสิทธิภาพ” “คุณประสาน” “คุณสื่อสาร” และ “คุณพลาธิการ” และอีกสารพัด
แต่การตัดสินใจอยู่ในมือ “คุณบัญชา” ทีมงานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา “คุณวินัย” ของหน่วยรบกำหนดให้ทุกคนต้องถวายหัวต่อคำสั่ง ศิโรราบและเชื่อฟัง ใครขัดขืนถึง “ตาย” หากใครพลาด หน่วยรบพลาด การรบพ่ายแพ้นั้นหมายถึงความตายของหน่วยงาน ความตายของคุณบัญชา ผู้เป็นแม่ทัพ (แต่ส่วนใหญ่แล้วพลราบคนเล็กคนน้อยนั้นพลีกายไปก่อน มากกว่า แม่ทัพผู้พ่ายแพ้ก็มักจะมีโอกาสสละเรือ หรือเร้นกายจากสนามรบได้อย่างไร้ร่องรอย)
หากคนทำงานธุรกิจอยู่ในอารมณ์ที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกน้อง หรือลูกพี่ เป็นแม่ทัพ หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และพวกเขารู้สึกตัวว่าอยู่ในสนามรบ หรือบริหารบังคับบัญชาอยู่ใน war room ความกดดันย่อมแตกต่างจากข้างสนามกีฬา ความผิดพลาดหรือแม่นยำมีผลต่อการรบ ต่อความเป็นความตายของหน่วยงาน
ในสนามรบไม่มีที่ให้ “เด็กเล็กๆ” วิ่งเล่น มีแต่ “คุณชนะ” หรือ “คุณแพ้” “คุณเข้มแข็ง” หรือ “คุณอ่อนแอ” “คุณจะอยู่รอด” หรือ “คุณจะตาย”
บ่อยครั้งที่การแข่งขันเข้ามาในธุรกิจ หรือในชีวิตของเราโดยเรามิได้เชื้อเชิญ หากตัวตนด้านในของเราไม่มีใครสักคนที่เป็นนักกีฬาหรือแม้แต่นักรบซะเลย เมื่อแขกที่ไม่ได้เชื้อเชิญโคจรเข้ามาในชีวิตเราก็จะรู้สึกอึดอัดเพราะจัดการไม่ได้
แต่แน่ล่ะในทางกลับกัน หากตัวเรามีแต่นักแข่งขัน จะเป็นนักรบหรือนักกีฬาก็ตาม เท่านั้น มี “คุณชนะ” เป็นเจ้าตัวหลักตัวเอก คอยถือธง พาเราเข้าสู่สนามแข่ง หรือสนามรบอยู่เสมอ ๆ ตัวเราก็คงจะเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา เมื่อ “คุณชนะ” เธอมองเห็นใครต่อใครในชีวิตของเราเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูไปหมด
หากเรามีแต่ตัวตนที่แสวงหาความร่วมมือร่วมใจ ประสานสัมพันธ์กับผู้คน แล้วเราตกอยู่ในภาวะการแข่งขัน เราก็จะอึดอัดใจที่ฝ่ายตรงกันข้ามเขาไม่ได้ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์นัก นอกจากต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เหนือกว่า ในเวลาเช่นนั้นสำหรับเราผู้มี “คุณประสาน เชื่อมสัมพันธ์” เป็นตัวเอก ก็อาจจะต้องเชื้อเชิญ “คุณชนะ” เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ อาการอึดอัดอาจจะทุเลา ด้วยว่า บ่อยครั้งความอึดอัดในใจ ในสถานการณ์บางสถานการณ์ในที่ทำงานใดใดก็ตาม เกิดขึ้น เพราะเราขาดศักยภาพบางอย่างที่จำเป็นต่อสถานการณ์นั้น
อันที่จริงจะว่า เราขาดก็ไม่เชิง เราเพียงแค่ลืมเลือนไปว่า เราก็สามารถแข่งขัน เอาชนะผู้คนได้เหมือนกัน หรือเป็นได้ว่า ผลลัพธ์ของการแข่งขัน ครั้งล่าสุดในชีวิตของเรานานมาแล้วก่อนหน้าที่เราจะอึดอัดในครั้งนี้ ยังฝังลึกเป็นแผลคาใจเกินไป จนเราไม่กล้าหันไปมองเห็นผู้ชนะของเรานอนบาดเจ็บอยู่ในการแข่งขันครั้งนั้น และเป็นภาพที่ยากจะลบทิ้ง
ทำนองเดียวกันแต่คนละทาง หากเราเต็มเปี่ยมไปด้วยตัวตนที่แสวงหาชัยชนะ ซึ่งก็สัมพันธ์กับผู้คนได้ดีเท่าที่เขาเหล่านั้นนำชัยมาให้ อยู่มาวันหนึ่งมีใครสักคนหยิบยื่นความสัมพันธ์ที่ไร้เงื่อนไขให้ หรือเรียกร้องจากเราให้เอาหัวใจให้เขาอย่างไร้เงื่อนไข ในวันนั้นซึ่ง “คุณชนะ” นักรบ นักแข่งในใจเราไม่รู้จะจัดการอย่างไร เราก็อึดอัด
ที่เป็นเช่นนั้นด้วยเราลืมเลือนไปแล้วว่า จะสัมพันธ์กับผู้คนโดยไม่มีเป้าหมาย ไม่มีเส้นชัย นั้นเป็นอย่างไร เราอาจจะลืมไปแล้วว่า การดำรงอยู่เพียงเพื่อใครสักคนโดยไม่ต้องหวังผลใดใดเลยนั้นคืออะไร เราอาจจะเบือนหน้าหนีเขาหรือเธอผู้นั้น เพราะเขาสะท้อนภาพอดีตฝังใจที่เราเคยพบเคยได้ยินว่า “ถ้าทำไม่ได้ดี ทำไม่ได้เก่งกว่าชาวบ้านก็ไปเอาปี๊บคลุมหัวซะ ฉันไม่รักหรอก”
เราอาจจะนึกไม่ออกเอาเลยว่า รักโดยไม่หวังผล รักโดยไม่มีเงื่อนไข รักแบบให้เราเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นใครที่แสนดี แสนเก่งนั้นเป็นเช่นไร เราอาจจะคิดไม่ออกเอาเลยว่า จะรักใครหรือเป็นที่รักของใคร โดยเราห่วยๆ ไม่เอาไหน หรือเป็นผู้แพ้ นั่นเป็นไปได้ในโลกใบนี้หรือ
Labels: สมพล ชัยสิริโรจน์
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒
เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ ๖-๗ มิ.ย.๕๒ ที่ผ่านมา เสมสิกขาลัยที่ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกของบ้านเราได้จัดคอร์สเรียนรู้เรื่อง “ดุลยภาพในสัมพันธภาพ” ขึ้น ผู้เขียนเลยได้กลับไปเยี่ยมสถานที่จัด คือ เรือนร้อยฉนำ (สวนเงินมีมา) อีกครั้ง หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน ทุกครั้งที่ไปที่นั่นจะรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน เพราะได้พบปะกับผู้คนคุ้นเคยกัน ที่นั่นเป็นสถานที่สำหรับผู้ประกอบการทางสังคมที่คิดฝันและลงมือสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย และคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังใช้ชีวิตในการให้มากกว่าการกอบโกย เพื่อเติมเต็มความหมายและคุณค่าให้กับโลกใบนี้ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างน้อยก็ช่วยให้สังคมยังมีข่ายใยชีวิตที่แบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้อย่างนี้
แม้ว่าสถานที่จะอยู่ในตรอกเล็กๆ แถวคลองสาน ซึ่งอาจหายากสักนิดสำหรับผู้ที่ไม่เคยไป แต่หากได้ไปสักครั้งอาจทำให้รู้สึกว่าได้ค้นพบโอเอซิส หรือแอ่งธารแห่งน้ำใจอีกแห่ง มีร้านหนังสือและร้านกาแฟเล็กๆ เปิดทำการแทบทุกวัน ห้องสมุดบนชั้นสองก็มีหนังสือดีๆ ที่คัดสรรมาไว้ให้หยิบยืมอ่าน วันไหนที่มีรายการอบรมหรือเสวนาก็อาจมีหนังทางเลือกมาขายโดยผู้ขายเจ้าประจำของที่นั่น และที่สำคัญการได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่ทำงานในโครงการต่างๆ ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปช่วยให้สัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงามตามกำลังของตน โดยทั้งหมดนี้ริเริ่มมาได้ด้วยแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ช่วยหล่อเลี้ยงให้ข่ายใยชีวิตนี้ได้ขยายตัวไปพร้อมกับกิจกรรมทางสังคมที่กระตุ้นเตือนและสร้างความเป็นธรรม รวมทั้งปลุกให้เราต่างดำรงชีวิตอย่างมีสติและไม่เบียดเบียนกันและกัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่จัด
ในชีวิตเราต่างสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ความสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือความสัมพันธ์ที่เราได้มาจากการเกิด นั่นคือกับพ่อแม่พี่น้องของเรา ความสัมพันธ์เหล่านี้สร้างความเป็นตัวเป็นตนให้กับเราตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เพราะทัศนคติและสุ้มเสียงผู้คนรอบข้างไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเด็กตัวเล็กๆ ที่เป็นเราในวันนั้นเท่านั้น แต่ส่งผลต่อสิ่งที่เป็นเราในวันนี้มากกว่าที่คิด เราเลือกที่จะเป็นบางอย่างและไม่เป็นหลายๆ อย่างด้วยเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและการได้รับความรักหรือการยอมรับจากโลก เช่น เรารู้สึกดีหรือไม่ดีกับตัวเองในเรื่องอะไร เราเชื่อว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร
บางคนรู้สึกว่า “ฉันเป็นคนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ เด็ดเดี่ยว รับผิดชอบชีวิตตัวเอง แถมยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ด้วย นี่เป็นสิ่งที่ฉันภูมิใจ” หรือบางคนอาจมองตัวเองว่า “ฉันเป็นคนมีเหตุมีผล ควบคุมและจัดการตัวเองได้ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ฉันไม่โวยวาย ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ฉันให้เกียรติและเคารพคนอื่นเสมอ” หรือไม่ก็ “ฉันพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้ทุกคนรู้สึกพึงพอใจ ฉันไม่ต้องเป็นตัวของตัวเองมากนักหรอก ตราบใดที่ช่วยให้ผู้คนมีความสุขฉันก็พอใจแล้ว” เสียงภายในเหล่านี้ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเองและกับผู้คนรอบข้าง เป็นเสียงที่ปลุกกระตุ้นศักยภาพหรือพลังงานในชีวิตพร้อมๆ กับการกดทับศักยภาพบางอย่างที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของเรา ที่สำคัญเราตัดสินผู้อื่นไปตามมาตรฐานหรือนิสัยส่วนตัวของเราไม่น้อย แม้จะอ้างอิงแนวคิดหรือหลักการที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม สุขทุกข์ในชีวิตของเราก็แปรสภาพตามมุมมองที่เรามีต่อตัวเองและผู้อื่นนี่แหละ
ผู้ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ในการสร้างสมดุลชีวิตคราวนี้มีประมาณ ๒๐ คน แต่ละคนมาจากหลากหลายหนทางชีวิต ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้ของเราเข้มข้น บ้างก็เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ หรือนักศึกษา อายุตั้งแต่ ๒๐ ต้นๆ ไปจน ๔๐ ปลายๆ ข้อสังเกตอันหนึ่งคือทุกคนตั้งใจมาเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น ซึ่งต่างจากหลายๆ คอร์สที่ใช้วิธีกะเกณฑ์กันมาเรียน ซึ่งเมื่อไม่ได้ “เลือก” เอง พลังของการเปิดใจและค้นหาตัวตนภายในของติดขัดและแข็งกระด้าง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือการได้รับรู้วงจรของการปกป้องตัวเองเมื่อชีวิตเข้าสู่ความหมิ่นเหม่ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ที่ทำให้การปิดกั้น ปกปิดหรือก้าวร้าวเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะสังคมหล่อหลอมให้เราต่างมีหน้ามีตา มีฟอร์มหรือภาพลักษณ์ แม้กับคนใกล้ชิดเรายังรักษาฟอร์มเหล่านี้ไว้อย่างแข็งขันไม่เบื่อหน่าย ฟอร์มเหล่านี้อาจช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความห่างเหินในความสัมพันธ์ไปด้วย กระบวนการของการยึดติดที่เรียกว่าตัวตนนั้นมักเกิดขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือเกิดขึ้นได้เนียนมากๆ แม้ว่าจะมีสติกับตัวเองมากเพียงใด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้ตัวได้มากขึ้นคือการรับรู้หรือรับฟังจากเสียงรอบข้าง ที่มักคอยบอกหรือสะท้อนให้เราได้มองเห็นตัวเอง เสียงเหล่านี้ช่วยสะท้อนถึงโอกาสที่เราจะยอมรับและปรับเปลี่ยนตัวเองให้เกิดความสมดุลยิ่งขึ้น
ดังเช่น ผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า “ผมไม่เคยรู้สึกหรือรับรู้ความรู้สึกของคนที่บ้านเลย ไม่เคยเห็นตัวเองเลยว่าผมเป็นฝ่ายถูกเสมอ ทำดีและหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนที่บ้านแล้ว” เรามักไม่ค่อยได้คิดทบทวนอยู่บ่อยๆ ว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” นั้น จริงๆ แล้วดีสำหรับเราหรือเขากันแน่ บางครั้งการที่เราเหนื่อยหน่ายกับชีวิตก็เพราะเรา “ทำดีที่สุด” แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยตามยถากรรมอย่างนั้นหรือ หรือเราอาจต้องกลับมานั่งทบทวนง่ายๆ ดูว่า “ดีที่สุด” นั้นยังไม่ดีเท่ากับการถามว่า “ดีสำหรับใคร” หรือ “ใคร” คือผู้ที่กำลังทำดีที่สุด จากมาตรฐานอะไร หรือแนวคิดของใคร
ความสัมพันธ์ในครอบครัวมักอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ แต่ละคน “ทำดีที่สุด” ตามมาตรฐานหรือคุณค่าในโลกของตัวเอง และตีความหรือตัดสินการกระทำของคนอื่นในโลกของคนอื่น เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงความหมายของการกระทำหรือการพูดจาของเขาเหล่านั้นที่อาจรบกวนใจเราได้ และยิ่งแต่ละคนต่างสาละวนหรือวุ่นวายไปกับโลกของการคิด-พูด-ทำของตัวเอง เราก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงที่จะกลับมาทบทวนชีวิต ความตั้งใจของเรา จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ชีวิตที่ขาดสมดุลระหว่างการกระทำกับการได้หยุดนิ่งก็อาจยิ่งมองการหยุดนิ่งว่าไร้ความหมายหรือไร้ค่า เพราะไม่ได้สร้างผลลัพธ์อันใด ดังที่วงจรชีวิตแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในโลกปัจจุบัน
ในมุมมองของจิตวิทยาแบบ “สัมผัสเสียงภายใน” นี้ มองการเข้าใจตัวเองว่าคือการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เสียงภายในตัวเรา ที่แตกต่างหลากหลาย ราวกับระบบนิเวศภายในที่มีชีวิตและส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราตลอดเวลา โดยแสดงออกผ่านอาการทางกาย สีหน้าท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความตื่นรู้และการรับรู้ที่ละเอียดประณีตในการซึมซับสัมผัสถึงชีวิตภายในที่มีความหมายเหล่านี้ ตัวอย่างของแรงหรือเสียงเหล่านี้ เช่น แรงผลักดัน แรงฉุดรั้ง แรงตำหนิติเตียนตนเอง แรงควบคุมสั่งการ กำกับทิศทาง แรงหล่อเลี้ยงสนับสนุน ปลอบประโลม เป็นต้น การได้ยินเสียงเหล่านี้ช่วยให้เรารู้ว่าใครกำลังตัดสิน หรือเกิดความไม่พอใจอยู่ในตัวเรา รับรู้แล้วก็ยอมรับ แล้วจึงเปิดโอกาสหรือเปิดใจให้กับเสียงอื่นๆ ที่ถูกกดข่มไว้ภายในให้ได้แสดงศักยภาพในชีวิตเรา สมดุลจึงจะเกิดขึ้นจากภายใน แล้วดุลยภาพภายนอกก็ค่อยๆ ตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีความแน่นอนหรือตายตัว ไม่ต่างจากการปั่นจักรยานที่ต้องคอยประคับประคองชีวิตและความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างไปทีละช่วงทีละวัน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Labels: ณัฐฬส วังวิญญู