โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐

ช่วงชีวิตประมาณ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำหน้าที่ ซึ่งในชีวิตไม่เคยคิดฝันว่าจะทำ คือการเป็น “ครู” ของเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะจัดการได้ยากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพราะเขามีช่องทางการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ความแตกต่างนี้บางคนก็ระบุคำเรียกให้เขาว่าเป็น “เด็กพิเศษ”

เมื่อผู้เขียนแนะนำตัวเองว่าเป็นครูครั้งใด มักมีคนถามตามมาทันทีว่า “สอนอะไร” “สอนคนค่ะ” เป็นประโยคที่ผู้เขียนตอบไปโดยไม่มีเจตนาที่จะยียวนใดใด หากถ้าย้อนนึกไปถึงการสอนวิชา ภาพนั้นจะไม่ชัดเท่ากับกระบวนการปลดล็อค ๒ ประการ ประการแรกคือ ปลดล็อคเด็ก ด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งการจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ การจัดกิจกรรมแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อปลุกกระตุ้นเตือนให้เด็กกลุ่มนี้ “รู้สึกตัว” ในข้อที่เขาอาจลืมไปนานแล้วว่า เขาเองก็มีศักดิ์ศรีเทียบเทียมมนุษย์คนหนึ่ง มีศักยภาพ มีแง่งามที่สามารถฝึกฝนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ประการที่สองคือ ปลดล็อคตัวเอง โดยย้อนกลับมาตั้งต้นที่ “การยอมรับและเชื่อมั่นด้วยหัวใจ” ว่าเด็กก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ตัวเราจึงต้องหัดที่จะรับฟังและเรียนรู้จากเด็กแต่ละคน เพราะการเรียนรู้จะเกิดได้นั้นก็ต่อเมื่อ บุคคลนำเอาความคิด ความสามารถที่แท้ในตนเองออกมา การศึกษาจึงควรทำหน้าที่ เปิดเผยศักยภาพเด็ก แล้วนำทางให้เขารู้จักดึงศักยภาพของตนเองขึ้นมาใช้ ไม่ใช่ป้อนเอาความรู้ใส่ปากเขาแล้วคาดหวังว่าความรู้นั้นอาจจะทำให้เขาพึ่งพิงตนเองได้

สองเหตุผลข้างต้นจึงประกอบกันเป็นความเชื่อ เป็นทัศนคติเบื้องต้น ที่ตัวครูต้องย้อนกลับมาตั้งหลักที่ใจ ก่อนที่จะเริ่มลงไปปรับที่แผนและกระบวนการสอน การสร้างพื้นที่ความไว้วางใจระหว่างครูและศิษย์ การลดช่องว่างและปลดระวางเงื่อนไขที่สังคมสร้างขึ้นเป็นพันธนาการทางความคิดยึดติดว่า “เด็กเป็นผู้ไม่รู้ และครูเป็นผู้รู้มากกว่า” วิธีการในช่วงเริ่มต้นนี้ คือครูต้องใช้สติคอยกำกับ หมั่นตรวจสอบตัวเองว่า เรา “ยอมรับ” “วางใจ” “เปิดโอกาส” “เปิดพื้นที่” “รอคอย” “มองให้เห็น และฟังให้ได้ยิน” แง่งามในตัวลูกศิษย์ที่มีความแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของแต่ละคนแล้วหรือยัง

โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มที่ถูกสังคมให้คำจำกัดความไว้ดังข้างต้น เด็กกลุ่มนี้ถูกระบุปัญหาและ “ถูกแก้ไข” ด้วยวิธีการมากมายจนแทบหมดสิ้นความไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง กล่าวโทษตัวเองว่าเป็น “ตัวปัญหา” “เป็นภาระ” ของครู ของพ่อแม่ “เป็นตัวป่วน” ของเพื่อนๆ พฤติกรรมของเขาจึงขึ้นอยู่กับอาการและท่าทีจากคนรอบข้างซึ่งเป็นเหมือนคำสั่งที่คอยตัดสินและชี้ระบุความเป็นตัวเขาเอาไว้เสร็จสรรพ ก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะขีดกรอบจำกัดความสามารถของตน ปลีกตัวเองออกจากคนอื่นตามวิธีการของเขาบางคนก็เพียงนอนรอคนอื่นมาช่วยแก้ปัญหา ด้วยเหตุเพราะเขาถูกกดทับด้วย “ความทุกข์” อันเกิดจากการถูกสังคมตัดสินตีตราประทับเขาเอาไว้ ดังนั้นหน้าที่สำคัญที่เพิ่มเติมขึ้นมาของครูสำหรับเด็กกลุ่มนี้ อาจไม่ใช่แค่การปรับวิธีการสอนเนื้อหา แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นเรื่องหลักคือการช่วยให้เขาระบายและปลดทุกข์ที่กดทับเขาไว้ออกจากใจเสียก่อน จากนั้นกระบวนการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของมนุษย์ก็จะดำเนินไปได้เอง

เด็กเป็นกระจกสะท้อนผู้ใหญ่ ตัวเราเองไม่ได้ต่างจากเขาเท่าใดนัก ทุกวันนี้เราพยายามระบุว่า เราคือใคร มีลักษณะนิสัยอย่างไร ทำอาชีพอะไร เป็นพวกไหน กลุ่มไหน สมาคมไหน และมักจะล้อมกรอบตัวเองด้วยคำจำกัดความว่าเป็น “ตัวฉัน” ดังนั้น ตัวฉันจึงพอใจที่จะรับรู้และเรียนรู้ในบางเรื่อง และตัวฉันก็จะปฏิเสธในการทำความเข้าใจ และพยายามทำบางเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในข่ายที่ใกล้เคียงความเป็นตัวฉัน ดูแล้วตัวฉันจึงไม่น่าจะทำได้ เพราะเหตุนี้เอง ทุกวันนี้จึงไม่ค่อยเห็นผู้พิพากษาที่เผยรอยยิ้มในศาลและแม้กระทั่งนอกศาล ไม่ค่อยเห็นหมอลุกขึ้นมาวาดสีน้ำหรือปั้นดินทำงานศิลปะ ไม่ค่อยเห็นศิลปินเข้ามาแตะต้องงานด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด เราไม่ค่อยเห็นใครคนใด บทบาทหน้าที่ อาชีพใดในสังคมที่จะ “มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน” แง่มุมที่ดีของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มักไปเพ่งข้อผิดพลาด และใช้ความพยายามมากเหลือเกินในการถกเถียงกันเพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น เช่นเดียวกับ การศึกษา ที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องคน ด้วยการแก้ที่การสอนและการให้เด็กฝึกฝนทักษะ แต่ไม่ค่อยมีวิธีไหนบอกให้ครูทำหน้าที่สังเกตอย่างละเอียด เงี่ยหูฟัง ความดี ความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็กแต่ละคน เพื่อให้เขานำจุดนั้นออกมาเป็นที่พึ่งของตนเองได้

หลายครั้ง ผู้เขียนมองลึกเข้าไปในดวงตาของเด็กนักเรียน บางทีในเวลาที่เขาเผลอไผล ไม่ตั้งท่า เขาจะหลุดออกจากกรอบคำบอกกล่าวของสังคมที่ชี้ระบุเขาอย่างไม่ตั้งใจ แล้วมักจะแอบเผยอะไรบางอย่างออกมาให้เห็น หลายครั้งหากเราได้จังหวะบอกกล่าวข้อดีที่สังเกตเห็น แม้เขาอาจทำท่าเหมือนปฏิเสธ แต่ความรู้สึกภาคภูมิใจต่อตนเองจะเปล่งประกายสดใสในแววอย่างตาเห็นได้ชัด ครูคนใดได้สัมผัสกับห้วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะรู้สึกเหมือนมีปฏิกิริยาเคมีบางอย่างที่เข้ามาเชื่อมหัวใจครูกับลูกศิษย์เอาไว้ด้วยกัน ครูเองก็พลอยหัวใจพองโตแทบทุกครั้งเมื่อสังเกตเห็นการเติบโตของศิษย์แม้เพียงเล็กน้อย และพลอยอดอมยิ้มไม่ได้เมื่อย้อนนึกถึงช่วงเวลาแรกผลิของเด็กแต่ละคน

ผู้เขียนจำคำพูดหนึ่งประทับอยู่ในใจอย่างแม่นยำ ของเด็กคนหนึ่งที่ใครๆ ก็ส่ายหน้าหนีเพราะว่าเขาเป็นเด็กเกเรและก้าวร้าวที่สุดในโรงเรียน เขาถามผู้เขียนว่า “ครูรำคาญผมไหม?” ผู้เขียนตอบไปอย่างไม่ได้คิดว่าไม่รู้สึกรำคาญอะไร เขาเดินเข้ามานั่งใกล้ๆ เอามือเกาะแขน ท่าทางเขาตอนนั้น จากใครที่ว่าเป็นลูกเสือก็ดูเหมือนลูกแมว แววตาของเขาอ่อนโยน มองตาครูแล้วบอกว่า “ผมดีใจที่ครูคุยกับผมรู้เรื่อง ไม่หาว่าผมบ้า พูดจาไร้สาระ ขอบคุณที่ครูไม่ทิ้งผม ยังเห็นว่าผมเป็นคนอยู่ ผมกลัวมาก กลัวว่าครูจะทิ้งผม ไม่เอาผมแล้ว ผมไม่ได้อยากเป็นภาระใคร ผมรู้สึกไม่ดีที่ต้องให้ใครมาทำอะไรเพื่อผม แต่จริงๆ แล้ว การที่ได้รู้ว่าครูทำงานหนักเพื่อพวกผม ผมดีใจมาก”

อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยเล่าถึงการทดลองหนึ่งของฟรานซิสโก เวเรลา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ที่ได้ทดลองผูกหลังแมวแรกเกิดสองตัวไว้ด้วยกันเพียงสามวัน จะมีแมวตัวหนึ่งแบกอีกตัวหนึ่งไว้บนหลัง เมื่อแมวเริ่มลืมตา ตัวที่อยู่กับผืนดินก็จะพาแมวตัวบนหลังไปทำกิจกรรมตามปกติ แมวตัวที่อยู่บนหลังก็ได้รับการดูแลเรื่องอาหารเหมือนตัวอื่นๆ แต่เมื่อสามวันให้หลัง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แมวตัวที่อยู่ข้างบนตาบอดตาใส หรือพิการทางสายตาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก็เป็นวิธีการตามธรรมชาติที่หากอวัยวะใดไม่ถูกใช้งาน อวัยวะนั้นก็จะถูกลดบทบาทลง จนในที่สุดก็ใช้การไม่ได้

การที่เราจะฝึกฝนตนเองหรือจะสอนลูกศิษย์ให้งอกงามและเติบโตขึ้น อาจเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง ออกจากความเคยชินกับการเพ่งเล็งข้อบกพร่อง แล้วพยายามหาทางแก้ ซึ่งบ่อยครั้งวิธีการแก้นั้นก็ย้อนกลับกลายมาสร้างปัญหาเพิ่มอีกไม่รู้จบ เราอาจเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งก็แค่เพียง เปิดตา เปิดใจ รับรู้และหมั่นดึงเอาธรรมชาติด้านดีออกมาใช้ให้เป็น แล้วด้านดีนั้นจะค่อยๆ มาแทนข้อเสียไปเอง ดีกว่าปล่อยทิ้งความดีที่นอนรออยู่ในตัวให้บอดใบ้ไปตามวิธีการแห่งธรรมชาติ เหมือนกับตาของลูกแมวที่ถูกผูกติดอยู่บนหลังตัวนั้น



โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐

ผมได้มีโอกาสดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง Fireflies: River of Light เป็นหนังทำออกมาสื่อง่ายๆ ถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนสำนึกภายในของเด็กนักเรียน จะว่าเป็น Dead Poets Society ฉบับญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพียงแต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องและวิธีการนำเสนอต่างกัน มีอยู่ตอนหนึ่งที่เด็กนักเรียนถามครูของพวกเขาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ครูอ้ำอึ้งสักครู่แล้วก็ตอบว่า ครูไม่รู้เหมือนกันแต่สัญญาว่าจะค้นคำตอบมาคุยให้ฟัง เด็กคนหนึ่งสวนขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ครูไม่รู้ได้ไง ครูเจออย่างนี้ก็ชักจะมีอารมณ์ เด็กคนนั้นจึงพูดดักคอต่ออีกว่า ครูโกรธเหรอ ถึงตอนนี้ครูเลยนิ่งแบบอึ้งๆ ไป ภายหลังจากนี้เรื่องระหว่างครูกับเด็กก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ครูเองก็ยอมรับได้อย่างจริงใจว่า ตนเองได้เรียนรู้จากเด็กนักเรียนมากมาย ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็กลับรักนับถือครูคนนี้ด้วยใจจริง

ผมดูถึงตอนนี้ของเรื่องก็รู้สึกสะกิดใจมาก เพราะเดิมผมก็คาดหวังสูงมากกับครูหรือกระบวนกรว่าจะต้องรู้จริงรู้ลึกในสิ่งที่เขาสอน และเมื่อถามหรือแลกเปลี่ยนกันเขาต้องให้คำตอบที่แจ่มแจ้งเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนเชื่อมั่นได้ แต่ตอนนี้ผมชักจะไม่มองอย่างนั้น และมีข้อสังเกตชวนให้ใคร่ครวญร่วมกันก็คือ อันแรก ผมยังคงเห็นว่า ครูหรือกระบวนกรที่จัดการเรียนรู้เรื่องใดควรรู้เรื่องนั้นดีพอ เพื่อจะทำให้การเรียนรู้เกิดบทเรียนที่ลึกซึ้งถึงแก่นของเนื้อหาได้ แต่หากไปไม่ถึงแก่นของเรื่องหรือบทเรียนไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เขาเองก็ควรยอมรับได้ และช่วยทำให้กลุ่มเกิดบรรยากาศอยากตั้งประเด็นหรือคำถามเพื่อร่วมแสวงหาความรู้ความจริงที่กว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่สำคัญก็คือขณะที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ หากครูหรือกระบวนกรรู้สึกว่า สิ่งใดที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ก็ต้องกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ และกล้าขอบคุณผู้เรียนที่ทำให้รู้ตัวว่ามีบางเรื่อง (และคงอีกหลายเรื่อง) ที่สอนแต่ยังไม่รู้ แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากความคาดหวังของผู้เรียนว่าจะต้องรู้ดีรู้จริงในเรื่องที่สอนก็ตาม ในแง่นี้จะดีกว่าไหมหากผู้เรียนเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ครูหรือกระบวนกรถึงจะเก่งจะศึกษามามากเพียงใดก็ย่อมมีอีกหลายแง่มุมที่เขาเองก็ยังไม่รู้ และกำลังอยู่ในเส้นทางของการเสาะแสวงหาความรู้ความจริงอย่างไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ก็เพราะโลกของการแสวงหาความรู้ความจริงแทบทุกศาสตร์ทุกแขนงยังไม่มีบทสรุปที่เด็ดขาดตายตัวเลย แต่กลับเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อใช้อธิบายความจริงของชีวิตและโครงสร้างสังคมรวมถึงสรรพสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน

ดังนั้นผู้เรียนก็ควรมองครูหรือกระบวนกรอย่างไม่กดดันคาดหวังจนเกินจริงเกินงามไป และจะดียิ่งขึ้นหากทั้งสองฝ่ายต่างมองและปฏิบัติต่อกันว่า เราเป็นกลุ่มเพื่อนที่เสมอบ่าเสมอไหล่ในการร่วมแสวงหาความรู้ความจริงไปด้วยกัน คอยสนับสนุนหรือเรียนรู้จากกันและกันเป็นหลัก แทนที่จะเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดจากฝ่ายหนึ่งไปสู่ฝ่ายหนึ่งอย่างผูกขาด

กลับมาที่ครูหรือกระบวนกรเอง หากผู้เรียนทำให้เรารู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากในเรื่องที่เดิมคิดว่า เรารู้และชำนาญแล้ว ก็ควรกล้ายอมรับเพราะว่าเขาได้ชี้ขุมทรัพย์อันสุดยอดให้เราได้ฝึกฝนลดละตัวกูของกูลง โดยเฉพาะความรู้สึกว่าตัวเองแน่ เพราะผู้ที่ได้รับความยอมรับนับถือหรือประสบความสำเร็จในความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็มักจะรู้สึกได้ง่ายว่าตัวเองแน่ วิเศษกว่าคนอื่น พอคนอื่นเห็นต่างหรือแย้งขึ้นมา หรือถูกตั้งคำถามกับสิ่งที่สอนเข้าก็ออกอาการง่าย ปกป้องความคิดความเชื่อตัวเองด้วยวิธีการสารพัด

นอกจากนี้ ความรู้สึกว่าตนเองยังไม่รู้อะไรอีกมากย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่ประมาทไม่ชะล่าใจต่อความรู้ความจริง เพราะหากรู้สึกว่าเรารู้จริงรู้ลึกแล้วก็มักจะหยุดการทบทวนใคร่ครวญ หยุดเรียนรู้รวมถึงหยุดการทดลองปฏิบัติเพื่อตรวจสอบความรู้ความจริงที่เราเชื่อมั่น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ความรู้สึกว่ามีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกมากมายมันทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเราเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ ขณะที่เราเป็นครูหรือกระบวนกรแต่ในอีกด้านหนึ่งเราต้องพร้อมเสมอที่จะเป็นนักเรียนได้ทุกขณะ โดยเฉพาะสามารถเรียนรู้จากผู้เรียนหรือลูกศิษย์ตัวเองได้ด้วย

ความพร้อมจะเรียนรู้จากผู้เรียนหรือลูกศิษย์นั้น ไม่ควรเป็นเพียงคำพูดสวยหรูหรือได้แต่คิดเท่านั้น แต่จะทำได้จริงก็ต่อเมื่อเราเชื่อมั่นไว้วางใจว่าผู้เรียนต่างมีความสามารถภายในที่จะเรียนรู้และเข้าถึงความลึกซึ้งของเรื่องที่เรียน เพียงแต่แตกต่างกันในวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน หรือเร็วช้าต่างกันเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผมจึงยอมรับนับถือครูหรือกระบวนกรคนที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองไม่รู้ ได้มากกว่าคนที่ตอบคำถามหรืออธิบายอะไรๆ ได้หมดอย่างขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อตรงต่อความรู้ความจริงและต่อผู้เรียน

การเรียนรู้ที่จะไปได้กว้างไกลและลึกซึ้งนั้น ครูหรือกระบวนกรจำเป็นต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นความเชื่อเดิม กล้าที่จะฉีกวิธีคิดหรือทฤษฎีเดิมบางแง่มุมหรือทั้งหมด หากพิสูจน์ตรวจสอบชัดเจนแล้วว่า มันไม่ใช่หรือมีจุดอ่อน ความกล้าหาญในแง่นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดใจกว้างเชื้อเชิญหรือเปิดโอกาสให้คนที่เห็นต่างรวมถึงคนที่ท้าทายความเชื่อเราได้แสดงจุดยืนหรือความเชื่อของเขาอย่างเต็มที่ พร้อมกับรับฟังใคร่ครวญอย่างลงลึกได้ หากขณะที่รับฟังความเห็นต่างหรือถูกท้าทายความเชื่อจากผู้อื่นกำลังทำให้เราหวั่นไหวภายในก็สามารถรู้ทันปฏิกิริยาภายในก่อนจะด่วนปิดกั้นหรือโต้ตอบออกไปอย่างฉับพลันทันที

ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย หรือแม้แต่การตั้งคำถามท้าทายต่อความคิดเห็นความเชื่อ มักจะทำให้เราต้องตรวจสอบใคร่ครวญถึงสิ่งที่เราเชื่ออยู่เสมอ ทำให้เราไม่ติดกรอบอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่กลับจะช่วยทำให้เราปรับตัวยืดหยุ่นได้สูง และฝึกให้เราใจกว้างต่อความเห็นที่แตกต่างออกไป ใจกว้างกับคนที่เชื่อหรือมีวิถีทางของการเรียนรู้บางอย่างที่ต่างไปจากเรา ที่สำคัญมันอาจทำให้เราเรียนรู้อะไรได้ใหม่และลึกซึ้งจากสิ่งที่แตกต่าง และบางคราวก็อาจเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนรู้ร่วมกับคนที่คิดเห็นหรือเชื่อคล้ายๆ กับเราเสียด้วยซ้ำ เพราะหากเราข้องแวะเฉพาะอยู่ในแวดวงของผู้ที่เชื่อหรือคิดเห็นคล้ายๆ กันตลอดเวลา มักจะทำให้ประมาทชะล่าใจต่อความรู้ความจริงที่เราเชื่อ ซึ่งมักจะทำให้ยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย ดังนั้น การมีพื้นที่มากเพียงพอที่จะปะทะสังสรรค์ร่วมกับคนที่เห็นแตกต่างด้วยท่าทีที่มุ่งเรียนรู้จากกันและกัน ย่อมทำให้การเรียนรู้ของเราเจริญงอกงามมากขึ้นเรื่อยๆ



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๐

ระยะหลังมานี้ ฉันได้ร่วมทำงานกับพ่อใหญ่อยู่บ่อยครั้ง พ่อใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) เป็นพ่อทางจิตวิญญาณของฉัน การน้อมตนเป็นลูก เป็นศิษย์นั้น ช่วยเคาะเจ้าอัตตาตัวตนให้ฉันได้มากโขทีเดียว เพราะมันเป็นการช่วยให้ตระหนักกับตนเองว่า เรายังมีครูผู้กำกับดูแล การทำงานร่วมกับครูยังช่วยเปิดมุมมองของฉันให้ลึกซึ้งขึ้นด้วย ผ่านแว่นตาของครูที่มองออกไปเบื้องหน้า นี่ไม่นับประสบการณ์ตรงที่ไหลหลั่งมาจนเรียนไม่หวาดไหวนะ ครูเองก็สอนแบบวิถีโบราณ คือไม่ใช่แค่มาขอเรียน เมื่อจะเรียนก็ต้องยอมตัวด้วย

แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะแค่ยอมตนนี่ก็แสนยากแล้ว โดยมากเรามักพูดว่า “ยอม” แต่ความจริงแท้ภายในของเรากลับไม่เคยยอมลงเลย เรายังกลัวว่าเราจะโง่ หรือด้อยกว่าเขา จนทำให้ฉันเกิดคำถามกับตนเองอยู่บ่อยครั้ง ว่าอะไรนะทำให้คนที่ดื้อรั้น อัตตาแรงอย่างฉัน เกิดสภาวะเชื่องลงได้ขนาดนี้

ทั้งที่ตอนเริ่มเดิมทีนั้น ฉันนี่แหละตัวป่วนของแท้ อยากเรียนก็อยากอยู่ แต่จะให้ก้มหัวให้น่ะไม่มีทาง ยังเชื่อเหลือคณาว่าตน “เจ๋ง” จนกระทั่งฉันค้นพบบางอย่างในตนเอง ผ่านการสอนแบบเรียนผ่านการปฏิบัติ เรียนไปพร้อมกับงานและที่สำคัญครูเองก็เรียนรู้ ฝึกตนและเปลี่ยนแปลงให้เห็นด้วยเช่นกัน และเมื่อเราค้นพบความยิ่งใหญ่ในความธรรมดาสามัญของครู จิตของเราก็น้อมได้ โดยมิจำต้องพยายาม

การน้อมตนและขอเป็นบุตรทางจิตวิญญาณนั้น มีความหมายต่อชีวิตฉันมาก ไม่ใช่ว่าพ่อฉันไม่ดี ไม่น่าเคารพนะ คนเรามักแยกไม่ออกเรื่องความสัมพันธ์ ประการสำคัญคือ ฉันแลเห็นถึงการเกิดใหม่อีกครั้งที่ภายในตนเอง จริงๆ แล้วหากเราไม่ติดยึดกับสภาวะการเกิดเพียงการถือกำเนิดเป็นทารก โดยเฉพาะในวิถีการพัฒนาด้านใน การเกิดใหม่ในแบบที่ดวงตาเปิดรับการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกครั้งนั้น เราอาจพบการเกิด-ดับของตนมากกว่าครั้งหนึ่งที่ชีวิตพึงมี

นับวัน จากที่เคยตามเรียน แบบห่างๆ ฉันก็เริ่มสนิทสนม และหลอมจิตกับพ่อใหญ่ พ่อครูของฉันได้มากขึ้น เมื่อหลอมรวมแล้ว ความเป็นหนึ่งแบบไม่แยกส่วนก็ผุดบังเกิด ทำให้เราแลเห็นความเป็นอื่นต่อกันน้อยลงไปด้วย ก็ความขัดแย้งทั้งหลาย ทั้งที่เกิดจากภายนอกและภายในตัวตนของเรานี้ ต่างล้วนเกิดจากภายในของเราเองที่แลเห็นเขาเป็นอื่นจากตัวเรา แม้บางทีที่เราบอกว่ารักกัน แต่เราก็ยังมีความเป็นอื่นแก่เขา เราจึงไม่อาจเห็นในมิติของเขา ที่อาจเหมือนหรือต่างไปจากที่เรามอง เพราะเมื่อโลกภายในของเราเป็นเช่นไร ภาพที่สะท้อนต่อเราจากโลกภายนอกก็จะเป็นเช่นนั้น เช่น โลกภายในของเรากำลังกลัวและหวาดระแวง เราก็อาจแลเห็นแต่ความไม่น่าวางใจ แลเห็นแต่คนที่กำลังเอารัดเอาเปรียบเรา แม้คนนั้นเขาจะไม่ได้คิดอะไรกับเราเลยก็ตามที แล้วเราก็เริ่มหวาดกลัว หวาดระแวงต่อโลก เราเริ่มไม่วางใจกันและกัน เราเริ่มมีแต่คนที่เรารู้จักแต่ไม่สนิทสนม เรากลายเป็นมนุษย์ที่กลัวการสนิทสนม เพราะเราหลงคิดไปว่า เขาจะมาเอาเปรียบเรา ซึ่งก็ไม่แปลกนัก ที่ทุกวันนี้เราจะไม่รู้จักคนข้างบ้าน มีญาติที่ไม่สนิทนัก มีเพื่อนแต่ก็แค่เรียนมาด้วยกัน อะไรทำนองนั้น

ครั้งหนึ่งในการทำงานร่วมกับพ่อใหญ่ งานโรงเรียนพ่อแม่ ที่ จ.นครสวรรค์ เราพูดคุยเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ การทำชุมชนปฏิบัติการขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้และหล่อเลี้ยงร่วมกัน การฝึกตนของแต่ละคนก็อาจเป็นจริงได้มากขึ้น มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งถามไถ่กับพ่อใหญ่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะเกิดกลุ่มอย่างที่พ่อใหญ่ทำได้ เพราะเขายังมองไม่เห็นช่องทางที่จะเป็นไปได้ในชีวิตเขาเลย เพราะเพื่อนที่เขามีก็คงไม่สนใจเหมือนกับเขา แล้วจะหาใครมาร่วมได้

ฉันประทับใจคำตอบของพ่อมาก แทนที่จะตอบตรงๆ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ถามได้คำตอบเลย แต่พ่อใหญ่กลับเล่าเรื่องการเดินทางของชีวิตแกเอง เรื่องราวที่แต่ละคนมาร่วมกันเป็นชุมชนของเราในวันนี้แม้แต่ตัวฉันเอง แล้วพ่อใหญ่ก็ยิ้มแก่ผู้ถามท่านนั้น และกล่าวว่า “ผมไม่เคยกลัวการสนิทสนม ผมพร้อมจะดูแลคนทุกคนที่เข้ามาในชีวิตอย่างสนิทชิดเชื้อ ผมมันพวกใจกล้าบ้าบิ่น กล้าที่จะบอกรักก่อน โดยไม่กลัวการปฏิเสธ” แล้วแกก็หัวเราะ

สิ่งหนึ่งที่มักพบเจอบ่อยครั้งทั้งกับตนเองและคนรอบข้างคือ เรามองเห็นข้อจำกัดของผู้อื่นง่ายกว่าข้อจำกัดที่เรามี เราแลเห็นแต่อุปสรรคและภาระที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ เราจึงพยายามจัดวางความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในชีวิต โดยให้ตัวตนของเรานี้ปลอดภัยที่สุดจากความสัมพันธ์นั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังคงมีความเป็นอื่นอยู่ในความสัมพันธ์ของเราเสมอ แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน และเมื่อเป็นอื่นจากกัน เราและเขาก็มิอาจหลอมรวมกันได้ การร่วมกันของผู้คนส่วนมากจึงเป็นดั่งภาระ เป็นงานที่ต้องจัดการดูแล ไม่ช้าเราก็เหนื่อย หรือมีอาการอยากหนีห่างในบางครั้ง แล้วเราก็มักพบแต่ความผิดหวังในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในความสัมพันธ์มันคงต่างไปจากการจัดหมวดหมู่ของสิ่งของในบ้าน หรือโต๊ะทำงานของเรา ให้เข้าที่เข้าทาง เป็นระบบ เพราะเราต่างเติบโตและเปลี่ยนแปลงกันตลอดเวลา เรียนรู้ และเจ็บปวดเป็นด้วยกันทั้งนั้น จะว่าไปเจ้าความเจ็บปวดนี่ก็ไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะเท่ากับเรามีพื้นที่การเรียนรู้เพิ่ม ถ้าเราคาดหวังน้อยลง กลัวความเจ็บปวดน้อยกว่านี้ เราอาจค้นพบความอัศจรรย์ในมิตรภาพระหว่างกัน และมันคงง่ายมากขึ้นที่เราจะเชื้อเชิญผู้คนเข้ามาร่วมกับเรา กล้าบอกคำรัก คำแห่งมิตรไมตรีจากตัวเราออกไปก่อน โดยไม่ต้องกังวลต่อผลการตอบรับ เพื่อสร้างพื้นที่อันปลอดภัยและน่าวางใจให้เกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์

ฉันตระหนักเสมอว่า ฉันมีญาติ มีพี่และน้อง มีกัลยาณมิตรที่หล่อเลี้ยงดูแลชีวิตฉัน มากขึ้นทุกขณะ พ่อใหญ่จะบอกอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อเราดูแลเขา พวกเขาก็จะดูแลเรา ลูกหลานเราก็มีพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ดูดายลูกหลานของพวกเขา การไม่ทิ้งใครคนหนึ่งให้โดดเดี่ยวกับทุกข์ของเขา ก็เท่ากับเราได้ร่วมดูแลโลกทั้งใบแล้ว ชีวิตหนึ่งยังมีอะไรวิเศษมากไปกว่านี้อีก หากเพียงเรามีความสัมพันธ์อันงดงามอยู่รอบตัว



โดย วิจักขณ์ พานิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐

ผมกลับเมืองไทยมาได้หนึ่งเดือนแล้วครับ หนนี้ถือเป็นการกลับอย่างถาวร คือ ตั้งใจจะกลับมาทำประโยชน์ที่เมืองไทย หยั่งรากและเติบโตบนผืนดินผืนนี้จริงๆ ตั้งแต่กลับมาวันแรกจนถึงวันนี้ ก็ได้ผ่านอุปสรรคทั้งภายนอกและภายในไปนับไม่ถ้วน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางและหมิ่นเหม่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้

ในช่วงเวลาที่การเดินทางด้านในโอนเอนแทบจะเอาตัวไม่รอดในหลายต่อหลายครั้ง การเดินทางด้านนอกก็ยังคงดำเนินกันต่อไปตามครรลอง ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยพบปะกับผู้คนในแวดวงการศึกษามากมาย ทั้งกับคนที่เคยได้อ่านงานเขียนของผม หรือกับกัลยาณมิตรที่รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว ผมก็ยังเป็นผม เป็นคนธรรมดาๆ ที่มีช่วงขึ้นลงของชีวิต มีเลือดมีเนื้อ หยิกก็เจ็บ เหน็บก็เคือง เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องแปลกตรงไหน แต่มีเสียงหนึ่งที่ผมชักจะได้ยินบ่อยเกินเหตุจนอดไม่ได้ที่จะต้องเอามาบ่นดังๆ ในบทความชิ้นนี้ ก็คือ “ภาวนามาตั้งเยอะ แล้วทำไมยังทุกข์”

สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องการภาวนาเพื่ออยากจะมีชีวิตอย่างก้อนหินนิ่งๆ แข็งๆ ไม่ขยับเขยื้อนหรือรู้ร้อนรู้หนาวกับชีวิตและสิ่งรอบตัว ผมก็ขอเชื้อเชิญให้เมินเฉยกับมารศาสนาอย่างผมไปเสีย เพราะไม่รู้จะเสียเวลาอ่านงานบ่นชิ้นนี้ไปทำไมให้จบ เพราะทิฐิที่อาจจะดูเป็นมัจฉา เอ๊ย มิจฉา ของผมในเรื่องนี้ก็คือ ผมฝึกฝนตัวเองมาก็เพื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้ครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือ ภาวนาเป็นยาชา ...

คนสมัยนี้หนีมาเข้าวัด หันหน้าเข้าหาศาสนา หลงใหลการภาวนา เพราะความกลัวทุกข์ หรือ ความกลัวเจ็บ กันมากเกินไปหรือเปล่า ... ก่อนที่จะวิ่งวุ่นหาทางหลุด ทางพ้น เราได้อยู่กับความทุกข์ มองทุกข์ สัมผัสทุกข์ จนรู้จักมันกันดีพอแล้วหรือยัง ... เราได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตของเรามากพอแล้วล่ะหรือ

ในมุมมองแบบโลกๆ ของผม ชีวิตมันไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าขยะแขยงอะไรขนาดนั้น ไหนๆ ก็เกิดมาแล้ว เราก็น่าจะลองดูกันสักตั้ง จะเอาแต่แหยๆ กัน ชาตินี้ก็คงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันพอดี แต่ก็นั่นล่ะครับ ที่ผมพูดก็ไม่ได้หมายความว่า การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องง่าย ยิ่งเราเลือกที่จะฝึกใจให้เปล่าเปลือยด้วยแล้ว ชีวิตที่ไม่ง่ายก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เปราะบางมากขึ้นไปอีก แต่ผมว่าก็เพราะไอ้ความเปราะบางนี่แหละ ชีวิตถึงจะเป็นชีวิต ในความเปราะบางเราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองและผู้อื่น แบบจั๊กจี้หัวใจ ยอมให้ความทุกข์เข้ามาสะกิดได้อย่างไม่มีอะไรขวางกั้น

ฟังดูดีนะครับ แต่มีสิ่งหนึ่งที่คงต้องบอกให้ทราบกันล่วงหน้า นั่นก็คือ หากเราเลือกที่จะฝึกฝนอยู่กับชีวิตที่เปราะบาง และหัวใจที่เปล่าเปลือยนั้น เราจะต้อง “กล้าที่จะเจ็บ” ให้ได้เสียก่อน นอกจากจะไม่กลัวเจ็บแล้ว เรากลับอยากสัมผัสว่าความเจ็บที่แท้มันเป็นเช่นไร ... การภาวนาจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นยาระงับปวด แต่เป็นหนทางการฝึกฝนเพื่อที่เราจะสามารถตื่นอยู่กับความเจ็บ มองและเรียนรู้กับมันได้อย่างไม่กลัวเจ็บ

ลองดูใหม่นะครับ ... เราลองมาสร้างความสัมพันธ์ เรียนรู้กับความทุกข์ แบบไม่กลัวเจ็บกัน

ข้อแรก ความทุกข์ จะถูกสัมผัสได้ก็ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างเปล่าเปลือย ด้วยหัวใจที่เปราะบาง เปิดรับให้โลกเข้ามาสะกิดใจเราอย่างไม่เขินอาย

ข้อสอง ต้นตอแห่งทุกข์ ขมวดเป็นปม เกิดขึ้นมาจากการสร้างเกราะคุ้มกันทางความคิด และเกิดจากแรงต้านต่อความขยาดกลัวในการไม่กล้าเข้าไปเผชิญความเจ็บนั้นอย่างตรงไปตรงมา

ข้อสาม ความดับทุกข์ เข้าถึงได้ด้วยการดำเนินชีวิตตามอย่างนักรบผู้กล้า ผู้ที่เชื่อในความเป็นจริงแห่งจักรวาล ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนอย่างหาญกล้า เป็นชีวิตธรรมดาๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดแห่งชีวิต ตรงไปตรงมาอย่างไม่ตัดสิน

ข้อสี่ หนทางแห่งการดับทุกข์ ก็คือ กล้าที่จะเจ็บ ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการสร้างความสัมพันธ์และทำความเข้าใจความทุกข์ในทุกแง่มุม เรียนรู้ที่จะสัมผัสโลกที่กว้างใหญ่จากหัวใจที่แตกสลาย ร่วมกับผู้คนรอบข้าง

...

การภาวนาบนพื้นฐานแห่งความจริงสี่ประการข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่มีพลังมากครับ ดูเหมือนการนั่งนิ่งๆไม่ทำอะไร จะไม่ได้มีเป้าหมายของการเป็นก้อนหินไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งรอบตัวอีกต่อไป หัวใจที่บอบบางของเราดูจะเต้นเป็นจังหวะ เลือดสูบฉีดหล่อเลี้ยงพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย ลมหายใจเข้าออกซึมซับเข้าไปปลุกสัญชาตญาณทุกอณูรูขุมขน พื้นที่ว่างภายในขยายกว้าง คลี่คลายปมกรรมภายใน สู่ศักยภาพและความมั่นใจที่เต็มเปี่ยมแห่งการรู้จักตนเอง

บ่นมาได้ที่ ท้ายที่สุดนี้ผมก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ และป้าๆ หลายๆ ท่าน กับความปรารถนาดีที่มีต่อผม อยากให้ผมคลายจากความเจ็บปวดรวดร้าว ใจหายอักเสบ ก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการ สู่ชีวิตนิพพานอันสงบ เยือกเย็น ไร้คลื่นลม ... แต่เอวังด้วยประการฉะนี้ ที่อาจเป็นเพราะด้วยความอหังการ ความดื้อด้าน อวิชชา หรือมิจฉาทิฐิที่แน่นหนาในตัวผม ที่ยังไงเสียก็จะขอยืนหยัดอยู่บนเส้นทางแห่งการฝึกตน บนความเชื่อมั่นในหัวใจที่เปลือยเปล่า ที่จะค่อยๆ เลื่อน เคลื่อนไหลไปบนคมมีด สัมผัสความเจ็บปวดแห่งชีวิตร่วมกับเพื่อนมนุษย์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตัดสิน

...

อย่าเพิ่งปล่อยวางเร็วนัก ขอเจ็บอีกสักพักละกันนะครับ ..

Newer Posts Older Posts Home