โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๑
เจ้าตัวน้อย ... ลองอยู่นิ่งๆ เงียบๆ แล้วฟังเสียงเจ้าตัวน้อยดูสิ
มีเจ้าตัวน้อยคนหนึ่งอยู่ในร่างกายและจิตใจของเรา เจ้าตัวน้อยนั้นอาจเป็นเราที่เคยทำผิดพลาด เคยเกเร ซุกซน เอาแต่ใจตัวเองในวัยเด็ก เป็นเราที่นั่งเหงาถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว เป็นเราที่เกียจคร้าน เป็นเราที่บ้าทำงานหามรุ่งหามค่ำจนละเลยการดูแลร่างกายตัวเอง อาจเป็นเราที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจดูแลพ่อแม่อย่างเพียงพอสมกับที่ท่านเฝ้ารักและเป็นห่วงเป็นใยในตัวเรา เป็นตัวเราที่ทำให้ใครบางคนต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เสียน้ำตาจากคำพูด การกระทำของเรา อาจเป็นตัวเราที่ต้องทำงานอย่างหนัก ดิ้นรนที่จะเอาตัวรอด เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้ หรือว่าเป็นตัวเราที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่ถูกคนรอบข้างทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ อาจเป็นเราที่เคยโกรธ เกลียด แค้น อาฆาตพยาบาทผู้อื่น เป็นเราที่ดูแลเอาใจใส่คนอื่น ทำเพื่อคนอื่นจนหลงลืมความฝันและความต้องการของตัวเอง หรืออาจเป็นเราที่ละเลยไม่ดูแล ไม่ให้เวลากับคนที่เรารักและรักเรา อย่างสามี ภรรยา และลูก เจ้าตัวน้อยคนนี้อาจอยู่กับเรามานานตราบเท่าอายุของเรา
เจ้าตัวน้อยคงเคยทำบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด พลั้งเผลอไปบ้าง จะเกิดขึ้นทั้งจากความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามแต่ คงจะทำให้พ่อแม่ ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน และคนรอบข้างต่างต้องเจ็บปวด ทุกข์ทนจากพฤติกรรมนั้นไม่มากก็น้อย ที่สำคัญความผิดพลาดนั้นได้ทิ้งรอยบาดแผลที่ฝังลึก สร้างความเจ็บปวดในหัวใจของเจ้าตัวน้อยเช่นกัน จนอาจเฝ้าโทษตัวเองหรือไม่สามารถให้อภัยตัวเองที่ทำให้คนรอบข้างต้องทุกข์ทรมานเพราะเรา เจ้าตัวน้อยคงจะเสียใจ ผิดหวัง ร้องไห้ เฝ้ารอการปลอบโยนและโอบกอดจากเรา เจ้าตัวน้อยคงมีเรื่องราวมากมายที่อยากจะเล่า ระบาย สารภาพให้เราฟัง แต่มีสักกี่ครั้งที่เราจะเงี่ยหูฟังเสียงของเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในใจของเราอย่างแท้จริง
วิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ผู้คนต่างเร่งรีบ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องดีและเร็ว มุ่งที่จะทะยานไปข้างหน้าโดยไม่สนใจผู้คนรอบข้าง สนใจแต่วัตถุสิ่งของที่อยู่รายล้อม ความสะดวกสบาย เทคโนโลยี ความก้าวล้ำนำสมัย ที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อโยงใยกันและกันได้ทั่วทุกมุมโลก แต่กลับทำให้มนุษย์ยิ่งห่างไกลกับตัวเองมากขึ้น ผู้คนพูดคุยกับเพื่อน คนรัก พูดคุยเรื่องการงาน ธุรกิจ ความเป็นไปของสังคม โลกมากกว่าที่จะพูดคุยกับตัวเอง ฟังเสียงข้างในใจเราเอง นั่นอาจจะเป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่ดึงดูดให้ผู้คนสนใจสิ่งภายนอกมากกว่าข้างในจิตใจของเราเอง แต่หากลองค้นเข้าไปลึกๆ อาจจะพบว่าผู้คนในสมัยนี้ต่างกลัวที่จะต้องพูดคุยกับตัวเอง กลัวที่จะค้นพบว่าตัวเองทำงานหนักจนลืมดูแลร่างกาย กลัวที่จะพบว่าตัวเองละทิ้ง ไม่ได้ดูแลพ่อแม่ กลัวที่จะบอกว่าเราเองที่เป็นคนทำบางอย่างผิดพลาดไป กลัวที่จะเห็นว่าเราลืมทำตามความฝันของตัวเอง กลัวที่จะพบเจอความทุกข์ กลัวที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงเราเหงาและต้องการใครสักคนมาดูแลชิดใกล้ กลัวที่จะรู้ว่าเราหลงลืมคนที่เรารักและรักเรา เพราะเรากลัว ... กลัวความจริงเหล่านี้
จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้เราไม่มีโอกาสได้หันมาฟังเสียงข้างในใจของเรา ไม่ได้พูดคุยกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ข้างในตัวเรา นั่นยิ่งส่งผลให้เจ้าตัวน้อยยิ่งหวาดกลัว และหดตัวอยู่แต่ภายในซอกหลืบมุมมืดของหัวใจของเรา เสียงที่แผ่วเบาอยู่แล้ว กลับเงียบเชียบไร้เรี่ยวแรงที่จะส่งเสียงใดๆ เจ้าน้อยตัวกลับยิ่งซุกซ่อนบาดแผลจนทำให้กลายเป็นแผลที่กลัดหนองรอเวลาที่จะแผลงฤทธิ์ความเจ็บปวดขึ้นมา เมื่อโดนสัมผัส สะกิด ทิ่มแทงรอยบาดแผลที่ฝังลึกนั้น ที่สำคัญเจ้าตัวน้อยที่ทุกข์ทน และเจ็บปวดนั้นไม่ได้หายไปไหน แม้เราจะเฝ้าเก็บฝังมันไว้ในที่ๆ ลึกสุดของหัวใจ เพื่อรอให้มันเลือนหายไปกับกาลเวลา แต่เราจะพบว่ามันยังคงอยู่เสมอ เหมือนกับว่ามันกำลังรอให้เราเข้าไปเยียวยา รักษาบาดแผลนั้น คงไม่มีใครจะรักษาบาดแผลให้กับเจ้าตัวน้อยของเราได้ นอกจากตัวเราเอง
ลองให้โอกาสพูดคุยกับเจ้าตัวน้อยสักครั้งบ้างจะดีไหม ลองเชื้อเชิญเปิดพื้นที่ให้เจ้าตัวน้อยได้ออกมาพร่ำบ่น บอกเล่า สารภาพ ลองเงี่ยฟังเสียงข้างในใจของเราบ้าง เผื่อว่าเราอาจจะเข้าใจและยอมรับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในตัวเราได้ง่ายขึ้น เพราะเรากับเจ้าตัวน้อยเป็นหนึ่งเดียวกัน
สิ่งที่เจ้าตัวน้อยต้องการอย่างมากมายคือ การที่เรากลับมาอยู่กับตัวเอง ทบทวน พูดคุยกับตัวเอง ฟังเสียงเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในตัวเราบ่อยๆ พูดคุยถึงเรื่องราวที่เรากับเจ้าตัวน้อยได้ทำร่วมกันมา เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าตัวน้อยบ้าง เจ้าตัวน้อยรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของตัวเอง รับฟังเจ้าตัวน้อย เสียงทุกเสียงจากเจ้าตัวน้อยคือเสียงจากภายในใจของเรา เราอาจจะได้ยินเสียงขอโทษจากเจ้าตัวน้อยที่เคยทำอะไรแย่ๆ อย่างที่เราไม่คิดว่าทำไปได้อย่างไรกัน แม้ว่าผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายนั้น อาจเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถยอมรับได้ว่ามันเกิดขึ้นกับเราจริงหรือ เรามักจะปฏิเสธเสียงที่ดังขึ้นนั้น แต่ถ้าเราลองยอมรับฟังเสียงอันแสนแผ่วเบาจากหัวใจ เราจะยอมรับสิ่งที่เจ้าตัวน้อยเป็นได้ง่ายขึ้น ก็เท่ากับว่าเรายอมรับสิ่งที่เราเป็นด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น การยอมรับดูคล้ายกับว่าเรากำลังพ่ายแพ้ เป็นคนอ่อนแอ เป็นคนทำผิดพลาด
ขอแค่เพียงเรากล้า กล้าที่จะฟัง ฟังคำสารภาพของเจ้าตัวน้อย กล้าพอที่จะเผชิญหน้ายอมรับ กล้าที่จะพ่ายแพ้และอ่อนแอไปพร้อมๆ กับเจ้าตัวน้อย ยอมรับเพื่อที่จะแก้ไข เริ่มต้นใหม่ นั่นเป็นความกล้า กล้าที่จะซื่อสัตย์กับเสียงภายในใจของตนเอง กล้าที่จะโอบกอดเจ้าตัวน้อยที่อยู่ภายในใจของเรา
โอบกอดเจ้าตัวน้อยของเรา ด้วยการดำรงอยู่ ตระหนักรับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกใดๆ ในจิตใจของเรา โกรธ เกลียด รู้สึกผิด รัก เหงา ชิงชัง เหนื่อยล้า น้อยใจ เสียใจ ผิดหวัง ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นในทางดีหรือร้าย ขอให้เราอยู่กับความรู้สึกนั้น ฟังเสียงแห่งความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจของเรา ฟังเสียงเจ้าตัวน้อยที่พร่ำร้องบอกเรา การตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รู้ถึงเกิด มี และการไปของอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ในตัวเรา แค่เรารู้ว่ามี ก็เท่ากับว่าความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้นได้รับการเอาใจใส่ การดูแล แล้วอารมณ์ ความรู้สึกนั้นก็จะค่อยๆ จางคลายลง ถ้าเราไม่เคยสัมผัสรับรู้มัน หรือปฏิเสธความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ยอมรับว่าเรามี จะทำให้อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ไม่ได้รับการเยียวยา และมันมักจะกลับมาออกฤทธิ์เดชทำร้ายจิตใจ สร้างความขุ่นหมองในใจของเราอยู่ร่ำไป การโอบกอดเจ้าตัวน้อย จึงเป็นเสมือนการดูแล เยียวยาตัวเอง รักและให้อภัยตัวเอง พร้อมที่จะให้โอกาสตัวเองในการที่จะเริ่มต้นใหม่
เจ้าตัวน้อยอยู่กับเรามานานตั้งแต่เล็กเป็นเด็กน้อยจวบจนเติบโตมาถึงทุกวันนี้ หาเวลาว่าง นั่งนิ่งๆ แล้วทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ใคร่ครวญถึงการกระทำของเราในทุกๆ วัน ให้เวลาเจ้าตัวน้อยในตัวเราวันละนิด ให้เราได้กลับมาดูแลจิตใจวันละหน่อย สัมผัสและรู้จักภายในตัวเองมากขึ้น หากภาระหน้าที่การงานบีบรัดจนเราไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร โอบกอดเจ้าตัวน้อยของเราในทุกๆ วันได้ อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง เดือนละครั้ง ก็คงจะยังดีกว่าการที่เราหลงลืมว่ายังมีเจ้าตัวน้อยอีกคนในตัวเรา
บางทีเราอาจจะโอบกอด สัมผัสคนอื่นมากกว่าที่จะโอบกอด และสัมผัสเจ้าตัวน้อยในตัวเราเสียอีก มีทางอื่นๆ มากมายที่พาเราหลงวนให้เราหลงลืมตัวเอง แต่ก็เช่นกันที่มีทางที่ทำให้เราเดินกลับมาสัมผัสตัวเองตามที่มันเป็น ลองเดินทางนั้นเพื่อโอบกอบตัวตนและรับฟังด้วยเราเสียบ้าง เพราะเส้นทางนั้นอาจเป็นทางที่ทำให้เราได้ยอมรับตัวตนของตัวเอง ยอมรับเพื่ออยู่และเรียนรู้เติบโตต่อไป
Labels: เจนจิรา โลชา
โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑
หนึ่งเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็น “คุณแม่ลูกอ่อน” ใช้เวลา 24 ชั่วโมงอยู่กับลูก หายใจเข้าออกเป็นลูก หนึ่งเดือนที่แล้วผู้เขียนมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเท่าหางอึ่ง เพราะหนึ่งไม่เคยเลี้ยงลูกมาก่อน และสองไม่เคยเติบโตมาในครอบครัวที่มีเด็กอ่อน ด้วยความไม่มั่นใจ และความกังวลตามประสาคนเป็นแม่มือใหม่ เมื่อมีปัญหาผู้เขียนจึงได้เที่ยวค้นคว้าหา “ข้อมูลมือสอง” จากหนังสือ คู่มือ เว็บไซต์เลี้ยงลูกทั้งไทยและเทศ โทรศัพท์ถามพยาบาลอาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 5 รอบ โทรปรึกษาหมอที่เป็นเพื่อนของสามีอีก 3 คน อีเมลคุยกับผู้เชี่ยวชาญการให้นมแม่ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง แถมยังไปลากพี่เลี้ยงของตัวเองเมื่อตอนเป็นเด็กให้ช่วยมา “วิเคราะห์” ปัญหาของลูกให้หน่อย
หนึ่งเดือนผ่านไปผู้เขียนมีทฤษฎีการเลี้ยงลูกเต็มหัว อธิบายให้ใครต่อใครฟังได้เป็นวรรคเป็นเวร เถียงได้ทั้งแบบสนับสนุนและแบบค้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การเรอ การอุ้ม การขับถ่าย และเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองน่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญการให้นมแม่ได้แล้ว แต่อย่างว่า เด็กอ่อนไม่ใช่สมการคณิตศาสตร์ ที่จะมานั่งถอดรูท เทียบบัญญัติไตรยางศ์ หรือทำการวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันได้ ทฤษฎีอาจช่วยให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ทฤษฎีไม่ใช่หัวใจของการดำเนินชีวิต
ในยุคสมัยที่แผงหนังสือเต็มไปด้วยคู่มือจำพวก How To เคล็ดลับการเอาชนะใจคน สูตรสำเร็จชีวิตคู่ หรือรหัสลับสู่การตายอย่างสงบ เรากลับรู้สึกสับสนกันมากขึ้นว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรดี คำถามมันเริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่าง กินอะไรจึงจะสุขภาพดี ขี้สีอะไรจึงจะเรียกว่าผิดปกติ ไปจนถึงเรื่องซับซ้อนอย่าง ทำอย่างไรจึงจะเอาชนะใจเพื่อนร่วมงาน หรือวิธีสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจเรา
หนังสือเหล่านี้ตัดทอนชีวิตให้แลดูง่าย แยกชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ มีขั้นตอนที่เห็นได้ชัดเจน มีคำอธิบายที่มีเหตุมีผลอย่างเถียงไม่ได้ และที่สำคัญ บทสุดท้ายของหนังสือจำพวกนี้มีแต่คำว่าความสำเร็จเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่า ที่หนังสือเหล่านี้ขายดีเทน้ำเทท่า ไม่ใช่เพราะมันทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์แบบขึ้นอย่างที่เขาโฆษณา แต่เพราะหนังสือเหล่านี้ “ขาย” ภาพฝันแสนหวานของชีวิตที่ใครต่อใครหลายคนอยากมี ชีวิตที่มีขั้นตอนชัดเจน มีสูตรสำเร็จตายตัว และเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม
เมื่อผู้เขียนค่อยๆ กลับมาคลี่ดูใจที่ร้อนรุ่มด้วยความกังวล จึงได้พบว่า ผู้เขียนได้วาดภาพฝันของการเลี้ยงลูกด้วยความคาดหวังก้อนมหึมา ภาพฝันที่จะเห็นลูกนอนหลับทำตาพริ้มวันละ 18 ชั่วโมง (เหมือนที่ในหนังสือเขาบอก) ภาพลูกซบลงบนอกแม่อย่างสงบนิ่งเหมือนในโปสเตอร์รณรงค์การให้นมแม่ ภาพลูกตื่นมากินนมทุกๆ 2 ชั่วโมงตามที่พยาบาลและใครต่อใครบอก และภาพฝันอีกต่างๆ นานา ที่ท่วมทะลักออกมาจากความคาดหวังของคนเป็นแม่ ข้อมูลและทฤษฎีต่างๆ ที่ไปเที่ยวควานหามาถูกหยิบยกมาอธิบายและทดลองใช้ เพื่อให้ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่ายตามที่แม่ได้คาดหวังไว้โดยไม่รู้ตัว
แต่ความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า คือ ลูกตื่นตาแป๋วตั้งแต่เช้ายันเย็น ลูกโยเยอาละวาดเวลากินนมแล้วไม่ได้ดั่งใจ ลูกตื่นมาทุกๆ ครึ่งชั่วโมงเพราะกินไปอาละวาดไปมันก็กินไม่อิ่ม ในสายตาของเรา ลูกได้กลายเป็นเด็กเลี้ยงยากไปในทันที เพียงเพราะเราพยายามยัดเขาเข้าไปในกรอบที่ตีล้อมด้วยความคาดหวังที่จะให้ลูกเป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น
ความคาดหวังที่จะเห็นภาพฝันสมบูรณ์แบบเป็นเหมือนกำแพงบดบังไม่ให้เรามองเห็นความจริงที่แสดงอยู่ตรงหน้า ร้ายกว่านั้นมันยังได้บดบัง “ศรัทธาในความเป็นแม่” ที่จะพาเราเผชิญปัญหาอย่างสุขุมและเท่าทัน ดังนั้นเมื่อเจอปัญหา แทนที่เราจะย้อนมาถามใจเราเองว่าต้องทำอย่างไร เรากลับเลือกที่จะเปิดหนังสือ หาข้อมูล ทิ้งใจของเราเอาไว้ในมุมมืดและอาศัยสมองคนอื่นมาแก้ปัญหาให้แทน
ในหลายๆ ครั้งที่ความเป็นจริงเข้ามาทำลายภาพฝันที่วาดไว้ เช่น ลูกร้องโยเยทั้งๆ ที่กินนมอิ่มแล้ว ผู้เขียนมักได้ยินตัวเองเผลอพูดออกมาเสมอว่า “ปกติเขาจะไม่เป็นอย่างนี้…” ทั้งๆ ที่มันไม่มีคำว่า “ปกติ” สำหรับเด็กแรกเกิดเลย ทุกวันคือวันใหม่ของเขา ทุกนาทีคือเวลาของการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผู้เขียนพบว่าสามารถทำได้ดีที่สุด คือ อยู่กับเขาในปัจจุบัน และให้ความรักกับเขาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และในเสี้ยววินาทีนั้น ผู้เขียนก็ได้พบว่า เราก็สามารถเป็นแม่ที่ดีได้ด้วยตัวของเราเอง
กว่าจะคิดได้อย่างนี้ก็เหนื่อยกันไปหลายยก
มีคนเคยเปรียบเทียบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่าเหมือนกับการเต้นรำ เพราะคนทั้งคู่ต้องเรียนรู้จังหวะ นิสัย และลีลาของกันและกัน จึงจะสามารถสร้างการเต้นที่สวยสง่าในแบบฉบับของตนเองได้ หากเต้นกันตามทฤษฎีเพียงอย่างเดียว อาจจะถูกต้องตามหลักการร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการเต้นรำที่ขาดจิตวิญญาณ ไร้เสน่ห์ที่ชวนให้หลงใหล
เช่นเดียวกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต้องอาศัยการสานสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ในขณะที่ลูกต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เพื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกท้องแม่ ต้องเรียนรู้ที่จะหายใจ กิน และขับถ่ายด้วยตัวเอง แม่ก็ต้องปรับร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงให้ชีวิตน้อยๆ ในอ้อมอกของแม่เติบโตอย่างอบอุ่น และที่สำคัญที่สุด คือ แม่ต้องเรียนรู้ที่จะ “ปรับมุมมอง” แบบ 360 องศา ไม่เพียงเพื่อให้มองเห็นลูกอย่างที่เขาเป็นจริงๆ แต่เพื่อให้มองเห็น “ความเป็นแม่” ในใจของตัวเองด้วย
หนึ่งเดือนผ่านไปแล้ว ความรู้ “มือหนึ่ง” เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของผู้เขียนมีแค่เพียงหางอึ่ง ลูกยังไม่ใช่เด็กสมบูรณ์แบบอย่างในหนังโฆษณา หรือมีพัฒนาการตรงตามคู่มือเลี้ยงลูก และหลายครั้งที่คู่เต้นรำคู่นี้ต้องกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้จังหวะกันใหม่ ท่าเต้นของเราอาจไม่สวยงามนัก และยังมีอีกหลายท่วงทำนองที่เรายังต้องเผชิญ แต่คุณแม่คนนี้กลับมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่ใช่เพราะรู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แต่หากเพราะ มี “ศรัทธา” ในความเป็นแม่ที่อยู่ในใจของตัวเอง
เด็กเลี้ยงง่ายจึงไม่มีขายเหมือนภาพฝันสมบูรณ์แบบในหนังสือหรือโฆษณา แต่สามารถสร้างได้ด้วยใจของพ่อแม่เอง
Labels: กิติยา โสภณพนิช
โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑
ผมมองดูเข็มนาฬิกาที่ค่อยๆ เคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มันแลดูไม่รีบร้อน ไม่วิตกกังวล ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกของผมในขณะนี้
ใช่แล้ว ผมพบว่า ตัวเองกำลังวิตกกังวลจนอาจถึงขั้นหวาดผวา
อาการที่ว่าเกิดขึ้นจากการที่ผมต้องเขียนบทความลงในคอลัมน์ฉบับที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านอยู่นี้
อันที่จริง ผมเขียนบทความเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ แต่เมื่อได้อ่านทวนสิ่งที่ตัวเองเขียนอีกรอบหนึ่ง ผมก็พบว่าตัวเอง “อาย” เกินกว่าที่จะปล่อยให้บทความดังกล่าวปรากฏสู่สายตาผู้อ่านได้
เปล่าหรอกครับ เนื้อหาของบทความไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าอายแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกอายก็คือ “น้ำเสียง” ของตัวเองที่พยายามจะอรรถาธิบายมุมมองความคิดให้ผู้อ่านเข้าใจและคล้อยตามตั้งแต่ย่อหน้าแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย มันเป็นน้ำเสียงที่แฝงความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจกับความคิดที่มีเหตุผลของตัวเองเสียจนน่าหมั่นไส้!
หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มสงสัยว่าแล้วมันเสียหายตรงไหนที่เราจะมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเขียน ก็ในเมื่อนี่มันคือหน้าที่ประการแรกของการเขียนบทความให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ใครที่ไหนจะอยากอ่านงานเขียนที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าผู้เขียนไม่ได้มั่นใจในความคิดของตัวเองเอาเสียเลย
นั่นน่ะสิครับ ผมเองก็ยังไม่เข้าใจความคิดของตัวเองเท่าใดนัก รู้แต่ว่า ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ตัวเองตกอยู่ในอาการเหมือนคนเพิ่งฟื้นจากไข้ โลกรอบๆ ตัวดูผิดแปลก แตกแยกจากความคุ้นชินเดิม ในทางภาษาวิชาการ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “โรคภูมิแพ้แนวคิดหลังสมัยใหม่” (Postmodernity Allergy) อาการที่ว่ามักจะเกิดขึ้นเวลาได้อ่านบทความและงานเขียนต่างๆ ที่ผู้เขียนแสดงความมั่นอกมั่นใจในความคิดของตัวเองออกมา จนไม่เหลือที่ว่างทางความคิดให้ผู้อ่านสามารถโต้แย้ง หรือใคร่ครวญก่อนที่จะปักใจเชื่อ หรือที่เรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า “จงใจยัดเยียดความคิด” นั่นเอง
อาการเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะกับคนเรียนสูง (ไม่ได้หมายความว่าเรียนบนตึกสูงนะครับ!) นั่นอาจเป็นเพราะว่า เราถูกสังคมและสถาบันการศึกษาหล่อหลอมให้เชื่อว่า การนำเสนอความคิดในที่สาธารณะ จำเป็นจะต้องใช้หลักเหตุผลที่สอดคล้องต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผู้อ่าน (หรือผู้ฟัง) สามารถเข้าใจสาระที่เราต้องการนำเสนออย่างคล้อยตามได้โดยปราศจากข้อกังขา เราพยายามทุกวิถีทางที่จะอุดช่องว่างหรือรอยรั่วในการนำเสนอความคิดของเรา ถึงขนาดมีสาขาวิชาที่เปิดสอนเกี่ยวกับศาสตร์ในด้านนี้โดยเฉพาะจนถึงระดับปริญญาเอกเลยด้วยซ้ำ
ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ผมก็พบว่าตัวเองพยายามทำให้ “ความไร้สาระ” ของตัวเองดูเป็นเรื่องที่มีเหตุผลขึ้นมา จากตรรกะที่พยายามนำเสนอตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดนี้ นั่นหมายความว่า ถึงผมจะพยายามปฏิเสธความสมเหตุสมผลในทางความคิดของตัวเอง แต่สุดท้ายผมก็ตกอยู่ในร่องทางความคิดในเชิงตรรกะของตนเองเข้าจนได้ คล้ายๆ กับนายพรานที่ตกลงไปในกับดักที่ตัวเองขุดไว้เองกับมือ
ผมพบว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับตัวเองที่จะพยายามวิ่งหนีออกจากรากความคิดความเชื่อที่ถูกปลูกฝังเอาไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงของการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะคะแนนจากการเขียนรายงานและการสอบล้วนขึ้นอยู่กับความสอดคล้องของหลักการและเหตุผลโดยไม่เคยมีใครตั้งข้อสงสัยเป็นอย่างอื่น ผมเองก็สร้างข้อแม้ให้ตัวเองเชื่อว่า ความคิดต้องคู่กับเหตุผลเสมอ มีหลายครั้งที่ผมมีโอกาสอ่านงานเขียนที่ต้องการนำเสนอความคิดในลักษณะขั้วตรงข้ามกับเหตุผล ผมพบว่าสุดท้ายไม่ว่าผู้เขียนจะพยายามมากเท่าใดก็ตามในการชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าโลกของเหตุผลนั้นมันช่างไร้เหตุผลเสียเหลือเกิน แต่สุดท้ายความพยายามของผู้เขียนก็ต้องยอมแพ้ต่อความดื้อรั้นของผู้อ่านที่ยังใช้หลักเหตุผลมาเป็นเครื่องมือในการตีความงานเขียนนั้นอยู่ดี
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีผู้อ่านหลายคนเริ่มตั้งคำถามกับความวกวนในความคิดของผมแล้วว่า ตกลงผมมีเหตุผลอะไรในการนำเสนอความไม่มีเหตุผลของบทความที่ตัวเองกำลังเขียนอยู่นี้หรือเปล่า?
ลึกๆ แล้วผมแอบคาดหวังให้ตัวเองไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลในการตอบคำถามนี้ เพราะถ้าผมมีเหตุผล นั่นก็หมายความว่า ผมกำลังลบล้างสิ่งที่ตัวเองนำเสนอมาตั้งแต่ต้นว่า เหตุผลเป็นเรื่องไร้สาระในการนำเสนอความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่โชคร้ายที่ผมบังเอิญนึกขึ้นมาได้ ความไม่มีเหตุผลนั้นย่อมมีเหตุผลในตัวของมันเอง ดังนั้น เมื่อผมยอมแพ้กับความพยายามในการไม่มีเหตุผลของตัวเอง ผมก็พบว่า เหตุผลในการเขียนบทความนี้ก็เพื่อที่จะบอกกับผู้อ่านว่า ความไม่มีเหตุผลนั้น บางทีอาจจะทำให้เราได้มองความมีเหตุผลในอีกแง่มุมหนึ่งได้
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เหตุผลกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจ (และ/หรือ ไม่มีอำนาจ) นำมาใช้ในการสร้างความสมเหตุสมผลต่อการกระทำของตัวเอง และเพราะเราเรียกมันว่า ความมีเหตุผล นั่นเอง ที่ทำให้เราละเลยที่จะใคร่ครวญตรวจสอบถึงต้นสายของเหตุผลนั้น ว่าบางครั้งมันเป็นเพียงแค่ความมีเหตุผลของคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากพอในการระบุความชอบธรรม) แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะเป็นที่ยอมรับของคนอีกกลุ่มหนึ่งหรืออีกหลายกลุ่มเสมอไป สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการวิวาทในครอบครัว ก็ล้วนเกิดขึ้นจากการคิดว่าตัวเองมีเหตุผลมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ
ผมไม่ได้กำลังจะแนะนำว่า เราไม่ควรจะใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทุกระดับ แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมให้ความไม่มีเหตุผล (ในความคิดของเรา) ได้ส่งเสียงออกมาจากซอกหลืบต่างๆ บ้าง เราอาจจะต้องไม่ลืมว่า ความไร้เหตุผลนั่นเองที่ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และความไร้เหตุผลอีกเช่นกันที่ทำให้มนุษย์มีความรักให้แก่กันและกันโดยปราศจากข้อแม้ได้
และแล้วในที่สุด ความพยายามของตัวผมเองในการนำเสนอความไม่มีเหตุผล ก็ไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ ผมตกเป็นทาสของความมีเหตุผลอย่างดิ้นไม่หลุด ผมคงจะต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมของความมีเหตุผลของตัวเองต่อไป และเมื่อจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ผมจึงเลือกหักหลังตัวเองด้วยการจบบทความลงเพียงแค่นี้ ซึ่งเป็นการจบอย่างไม่มีเหตุผลที่สุด!
Labels: อดิศร จันทรสุข
โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๑
คำถามพื้นฐานที่คนมักจะถามกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยทั่วไป การสัมภาษณ์งาน หรือการสมัครเรียนสถาบันไหนซักแห่ง ก็คือ “คุณมีเป้าหมาย หรือความฝันอะไรในชีวิต?”
เป็นที่ยอมรับกันว่าคนมีฝันน่าชื่นชม คนมีเป้าหมายน่านับถือกว่าคนที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ
เราควรทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง พลังกาย พลังใจเพื่อไปให้ถึงฝัน และสุดท้ายคนที่ยังหาไม่เจอ ก็ต้องพยายามหาให้เจอ
เป้าหมายชีวิตเป็นสมบัติล้ำค่าที่ทุกคนควรมี ยึดถือ พิทักษ์รักษา และอุทิศตนเพื่อพิชิตมันมาให้ได้
เราตั้งคำถามว่าเป้าหมายของชีวิตเราคืออะไร
แล้วเคยมั้ยนะ ที่เราจะตั้งคำถามว่าทำไมต้องถาม?
แล้วถ้าตอบไม่ได้ หรือไปไม่ถึงล่ะ จะทำให้ชีวิตเราหมดค่าไปเลย ... หรือ?
ผู้เขียนโชคดีที่ได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตาที่มีความฝันอยากสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม พวกเขามีพลังล้นเหลือ กับความทุ่มเทที่ไร้ขีดจำกัดที่จะ “ทำให้ได้” และฝันของพวกเขาก็ไม่ได้เพียงเติมแรงให้กับตัวเขาในการสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม มันยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ มีกำลังใจ และอุ่นใจมากขึ้นว่ายังมีคนที่ฝันอยากทำให้สังคมเราดีขึ้น จะเรียกว่าเป็นคนทำงานขายฝันก็ได้ และก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังเดินทางตามความฝันของตัวเองไปด้วย
ในภารกิจพิชิตฝันนี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่าเชื้อเพลิงที่ผลักให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเหลือเชื่อนี้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเผาไหม้ตัวเราไปด้วยได้แรงพอๆ กัน เมื่อเราไปยึดว่าฝันนี้คือ “ของเรา” เป็นตัวแทนของ “ตัวเรา” เราก็จะปกป้องมันเต็มที่ ใครจะมากล่าวหาว่ามันไม่ดี หรือไม่มีค่า ก็เท่ากับว่าเราไม่ดี ไม่มีค่า คำวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะด้วยความหวังดี ก็กลายเป็นสิ่งคุกคามที่ทำให้ฝันนั้น และตัวเราด้อยค่าลง ความกลัวทำให้เราไม่กล้าเปิดใจฟัง ไม่ได้ยินและอดเรียนรู้จากเสียงสะท้อนที่มีค่า อีกทั้งเมื่อการเดินทางไม่เป็นไปดังหวังก็รู้สึกเสียใจจนหมดแรง
ผู้เขียนเคยได้รับฟังการปรับทุกข์ของน้องชาย ที่เขาคงเหมือนคนวัยหนุ่มสาวหลายๆ คนซึ่งสับสนว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนดี รู้สึกหดหู่แกมไร้ค่าเพราะยังหาเป้าหมายชีวิตไม่เจอ ทั้งที่เพื่อนๆ และใครต่อใครรอบตัวก็มีกันหมดแล้ว ผู้เขียนและรุ่นพี่อีกคนที่เผชิญชีวิตมาอย่างโชกโชน ก็พยายามช่วยเขาตั้งคำถามเพื่อให้ได้ค้นหาว่าจริงๆ แล้วตัวเขาต้องการอะไร อยากจะเป็นอะไร คุยกันอยู่นานแสนนานก็ยังไม่ได้คำตอบ จนลูกสาววัยมัธยมของรุ่นพี่ที่แอบนั่งฟังอยู่เงียบๆ ถามขึ้นมาว่าอย่างซื่อๆ ว่า “ต้องตอบตอนนี้เลยเหรอ? ถ้ารู้แล้วจะอยู่ไปทำไม?”
ตัวผู้เขียนเองก็เคยสับสน วกวน งงงวยกับตัวเองมากมาย ว่าเรากำลังทำอะไร มีเป้าหมายอะไรกันแน่ คิดจนมึนก็คิดไม่ออก และช่วงนั้นก็มืดมนสุดทน จนเมื่อหยุดคิดพาตัวเองออกเดินเล่นกับชีวิตไปเรื่อยๆ จึงเห็นว่าการเดินเรื่อยๆ นี้ก็ทำให้เราค่อยๆ เห็นทางไปได้ ไม่ต้องรู้ทั้งหมดวันนี้ก็ได้ ใช้ชีวิตเหมือนอ่านนิยายเล่มโต ค่อยๆ ละเลียดลิ้มรสไปเรื่อยๆ ถ้ารู้ตอนจบแล้วก็หมดสนุกพอดี
เป้าหมายหรือฝันที่ชัดทำให้เรารู้ว่าจะเดินไปทางไหน แต่ถ้าไม่เท่าทัน การมุ่งมองฟ้าหาเป้าหมายก็ทำให้เราหันหน้าไปมองมุมอื่นน้อยลง ไม่เห็นว่ามีที่ไหนน่าไปอีกบ้าง ละเลยการก้มหน้ามองหนทางที่ก้าวเดินอยู่ อดชื่นชมดอกหญ้า แม่น้ำ พื้นดินระหว่างทาง
การอยู่กับเป้าหมายบางทีก็เป็นกับดักที่เราให้เราอยู่กับสิ่งที่คิดไว้ในอดีต และสิ่งที่เราคาดว่าจะเป็นไปในอนาคต จนลืมลิ้มรสสัมผัสของปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง ภาพฝันเป็นแรงบันดาลใจที่มีค่าแต่การยึดติดกับฝันนั้น ก็อาจทำให้เราใช้ชีวิตตามหาประสบการณ์ที่คิดว่าควรจะเป็น มากกว่าการได้ “ประสบ” กับชีวิตแบบที่มันเป็นจริงๆ
น้องชายคนเดียวกันนี้เคยตัดสินใจที่จะไม่เรียนดนตรี ทั้งที่เขาสนใจมันมาก เพราะอยากจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง มากกว่าเรียนจากคำบอกเล่าของคนอื่นว่าประสบการณ์ของดนตรีควรจะเป็นยังไง วันนี้เขาเป็นนักร้องที่โดดเด่น และเล่นดนตรีได้ดีกว่าผู้เขียนที่เรียนมาตั้งนาน เพราะเขาได้ประสบมันและเข้าไปรู้จักมันด้วยตัวเอง
แม้กับการเรียนรู้ก็ถูกคาดหวังให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดตั้งแต่ต้นว่าจะเรียนอะไร อย่างไร เพื่ออะไร ภาพที่ชัดมากเกินไปนั้นจะมีส่วนในการปิดกั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงหรือเปล่า การเฝ้ามองหาบางอย่างมากเกินไป ก็อาจทำให้เรามองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดไว้ก็ได้ การเรียนรู้ที่แท้น่าจะเป็นการผจญภัย ยอมให้ทุกๆ ประสบการณ์เข้ามาหาเราอย่างที่มันเป็น รับรู้มันด้วยใจที่เปิดกว้าง ให้ทุกๆ ความเป็นไปได้เปิดออกให้เราได้สบตา สิ่งที่เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้อาจจะเป็นแง่เงามุมมืดของเราที่มองข้ามไปหรือไม่อยากมอง แต่ควรค่าแก่การเรียนรู้ที่สุดก็ได้
ลองวาง “ความรู้แล้ว” ลงบ้าง ปล่อยให้ใจพาชีวิตเดินไปเรื่อยๆ ตามจังหวะของเขา เดินทีละก้าว หายใจทีละครั้ง มองทีละมุม และตั้งคำถามตามที่เข้ามาในใจในแต่ละห้วงคำนึง
คนเรามีศักยภาพในการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด และเราก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับตัวเอง เพียงเราให้โอกาสตัวเอง ในการเฝ้ามองอย่างลึกซึ้ง อย่างกล้าหาญ เปิดกว้าง และไว้วางใจ เราก็จะได้เรียนรู้ชีวิตและค้นพบตัวเองอย่างที่เราเป็นจริงๆ
เมื่อเราไว้วางใจตัวเองและศักยภาพของตัวเองได้ เราก็จะไว้วางใจในคนอื่นได้เช่นกัน
ลองให้โอกาสตัวเองได้หลงทางบ้างนะคะ
Labels: กฤตยา ศรีสรรพกิจ
โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑
จะทำอย่างไรดี หากคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า คุณเป็นเพียงคนเดียวที่หลงเหลืออยู่ในครอบครัวของคุณ เป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่คุณรัก เป็นคนเดียวในประเทศที่คุณคือประชากรร่วม เป็นคนเดียวของโลกอันกว้างใหญ่ที่อาจไกลเกินจะพบใครอีกสักคนที่หลงเหลืออยู่เฉกเช่นเดียวกันกับคุณ ไม่มีใครให้ตกหลุมรัก ไม่เหลือใครให้ทะเลาะ เกลียดชัง ไม่ต้องแคร์ หรือวิตกว่าใครจะคิดกับคุณอย่างไร มองคุณแบบไหน ไม่ต้องเอาใจใคร และจะไม่เหลือใครเลยคอยเอาใจคุณ คุณยังไม่ต้องแข่งขันกับใครอีกด้วยเพราะคุณจะได้เป็นทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ตลอดกาล จะทำอย่างไรดีล่ะ...
คุณว่า...คุณจะดำรงอยู่กับสภาวการณ์ที่มิอาจคาดฝันเช่นนี้ได้อย่างไร?
เหมือนเรากำลังยืนอยู่ตรงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง เบื้องหลังเราเป็นวิถีอันคุ้นชิน เป็นประสบการณ์ที่ถูกบ่มเพาะสั่งสมตลอดชีวิตที่ผ่านมา เป็นชุดความคิดและบทสรุปที่เรามีให้กับตัวของเราเอง เป็นคำอธิบายโลกรอบตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และประสบการณ์ที่บ่มเพาะเรามา ส่วนเบื้องหน้านั้นเป็นความพร่ามัวด้วยม่านหมอกของความไม่รู้ อาจแลเห็นบางสิ่งปรากฏอยู่ลางเลือนตามความคิดฝันในชีวิตและการกำหนดรู้บางเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลกับประสบการณ์ที่เราเพิ่งจะย่ำผ่านมา
มันเหมือนกับการที่เราสนทนากันและบอกเล่าเรื่องราวของชีวิต แต่ละบทตอนที่ผ่านมา บ่อยครั้งมันยังแจ่มชัดกับตัวเรา แม้ในปัจจุบันขณะที่เล่า ทั้งที่เรื่องราวก็ล่วงเลยมาแล้ว และบางครั้งเราเองก็ช่วยสร้างภาพของเรื่องราวจนคมชัดในความคิดคำนึงของผู้ฟังด้วยเช่นกัน
แต่การบอกเล่าถึงอนาคตของเราแต่ละคน มักเต็มไปด้วยความกังวลกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น หรือบางครั้งก็กลายเป็นความเพ้อฝันไปสำหรับผู้ฟัง เพราะพื้นฐานประสบการณ์และชุดความคิดที่แตกต่างกันไป
เหนืออื่นใด ชีวิตเมื่อเริ่มต้นแล้ว มันไม่มีการหยุดดำเนินต่อ แม้บางครั้งเราจะรู้สึกว่าเราหยุดแล้ว แต่โลกรอบตัวเราก็ยังคงเคลื่อนดำเนินต่อไป หรือเราเองนี่แหละที่เคลื่อน แต่คิดว่าเราหยุด เป็นความซับซ้อนระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในของเรานี้เอง ความคิดความเชื่อทำงานของมันจนทำให้เรายากแก่การเข้าถึงการรับรู้ที่แท้
เราต่างคงเคยได้ยินคำทำนายทายทักมามากมาย ที่บอกกล่าวถึงสภาวะของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัตินานาที่จะคร่าชีวิตผู้คน ที่จะนำความสูญเสียใหญ่หลวงมาสู่ ทั้งผู้รู้จากอดีตและผู้รู้ที่ร่วมชะตาในปัจจุบัน
ลำดับแรกของการรับฟังของเรานั้น เรารับรู้อย่างไร ความสั่นคลอนภายในของเราเองนี้อาจกำลังร้องขอหาข้อพิสูจน์เพื่อยืนยันความจริงแท้แก่ใจของเรา ความจริงแท้ที่เราเองมิอาจเข้าถึง เพราะเรามีเพียงภาพอันสลัวลางของความไม่รู้ห่มทับ และความกลัวที่แฝงตัวอยู่ในจิตของเราก็ผลักดันให้ผู้พิทักษ์ ตัวตนอันหาญกล้าของเราเข้ามาช่วยให้เราก้าวผ่านเรื่องราวที่กำลังรับรู้นี้ ด้วยการปกป้องความสั่นไหวของเรา เราจึงอาจหัวเราะเยาะ หรือประณามการรับรู้ที่ได้มาให้เป็นแต่เพียงความงมงาย และเมื่อมันงมงาย เพ้อเจ้อ เราก็ไม่จำเป็นต้องรับเอาคำบอกเล่านั้นเก็บไว้ในกล่องความเชื่อของเรา
แม้กระทั่งวันที่เราได้รับรู้ว่ามีการพยายามหาเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นวิวัฒนาการที่สามารถบ่งชี้ หาข้อพิสูจน์ ในนามวิทยาศาสตร์ ตามฐานกรอบประสบการณ์ที่เรายอมรับจากการเรียนที่ปลูกฝังมาในระบบการเรียนรู้ของเราเอง เราส่วนใหญ่ก็ยังหาบทสรุปจำเพาะของตนเอาว่า มันยังมาไม่ถึงเรา หรืออื่นๆ ต่างๆ นานากันไป
การรับรู้ของเราถูกบีบให้เล็กและแคบลง จนไม่น่าแปลกใจเลยที่ยังมีคนจำนวนมากเฉยเมยต่อข่าวภาวะโลกร้อน เพราะความเป็นจริงที่ดำรงอยู่กับเราตอนนี้คือ กายของเราเย็นสบายทุกวันในห้องแอร์ น้ำมันจะหมดโลกก็มีเสียงคนมากมายบอกว่า เดี๋ยวก็มีพลังงานใหม่มาให้ใช้ เราวางใจว่าจะต้องมีคนดิ้นรนมากกว่าเรา อย่างน้อยก็ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย แล้วเราก็ก้มหน้าทำงานหาเงินต่อไปไว้ซื้อพลังงานรูปแบบใหม่ที่จะมีมา
เมื่อวานฉันไปทานข้าวเย็นกับเพื่อนๆ แต่ไม่มีใครรู้ข่าวหายนะภัยที่เกิดขึ้นในพม่าประเทศเพื่อนบ้านเราเลย ทั้งที่ภัยพิบัติครั้งนี้คร่าชีวิตไปหลายหมื่นคน
ถึงที่สุดแล้ว ฉันไม่คิดว่าจะมีใครสามารถตอบใครอย่างชี้ชัดได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณหรือฉันในวันพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไป ฉันเคยคิดเคยออกแบบบ้านเป็นเรือตอนที่เกิดชุดความเชื่อใหม่เข้ามาในหัวว่าน้ำจะท่วมโลก แต่แล้วไม่นานการเตรียมพร้อมนั้นก็ค่อยๆ จางซาไป เพราะฉันคงไม่มีปัญญาสร้างเรือที่บรรทุกคนได้มากมายนัก และถ้าหากฉันถูกเลือกให้รอด ฉันก็จะรอดเอง แต่สิ่งที่ฉันเริ่มคิดที่จะเตรียมในตอนนี้ ก็คือการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในทุกขณะจิต เปิดพื้นที่การรับรู้ให้กว้างขึ้น ผ่านการรับรู้ความจริงแท้ภายในตนเอง
มันแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ในแต่ละวันในชีวิตของเรานี้ เราดำรงอยู่กับภาพลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกที่เราสร้างขึ้นเสียมากมาย จนเราแทบไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงแท้ภายในตนเอง เราหลอกคนมากมาย แต่น้อยกว่าที่เราหลอกตัวเราเองหลายเท่านัก ยิ่งฝึกตนเรากลับยิ่งติดอยู่กับความรู้และความดีเพียงน้อยนิด เราประณามความน้ำเน่า ไม่สร้างสรรค์ของละครโทรทัศน์ แต่เรากลับยืนอยู่ในจุดที่ไม่ต่างกันนัก
ลองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของบทความนี้อีกครั้ง มันอาจฟังดูคล้ายฉากหนังบางเรื่อง แล้วเราเชื่อได้อย่างไรกันว่าเราจะไม่มีโอกาสเช่นนั้น มันอาจเป็นเพียงฝันร้าย ที่เราตื่นขึ้นมาน้ำตานองหน้า หวั่นหวาดกลัว โหยหาคำปลอบประโลม ที่ย้ำกับเราว่ามันเป็นเพียงแค่ฝันร้าย แต่ถ้าหากมันเป็นจริงล่ะ เราจะดำรงอยู่อย่างไร เราจะเผชิญหน้ากับสภาวะเช่นนั้นอย่างไรกัน
Labels: ธนัญธร เปรมใจชื่น