โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐
-----------------------
ยามเช้าท่ามกลางแสงที่ยังอ่อนโยนของดวงตะวัน ฉันชะโงกหน้าไปดูบรรยายกาศรอบๆ บ้านจากหัวเตียงนอน ความสดชื่นของอากาศหลังฝนในค่ำคืนที่ผ่านมาโชยกลิ่นดินที่ชื้นแฉะจากสวนกลางหมู่บ้านเข้ามาปะทะใบหน้า ช่วยผ่อนปรนความหนักอึ้งในจิตใจที่ฉันแบกมาขบคิดอย่างหนักตลอดคืนที่ผ่านมา
บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราปล่อยให้ความคิดเล่นงานจิตใจเรา ไม่ว่าจากเรื่องราวใด จนพลังชีวิตถดถอย บางทีอาจจะเลยเถิดไปไกลเกินกว่าความเป็นจริงของเรื่องราว
แม้เจ้าสติจะคอยเตือนย้ำอยู่ภายในว่า “มันมากไปแล้วนะ” หรือ “หยุดได้แล้วนะ” แต่ในไม่ช้ามันก็จะวนกลับมาอีก ราวกับมันรอท่าเราอยู่ในทุกๆ มุมของบ้าน
ความสดชื่นของบรรยากาศที่รายล้อม เอื้อให้เกิดความผ่อนคลายขึ้น ยามที่หยุดมองสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ด้วยดวงตาที่ตื่น แล้วเรื่องราวดีๆ จากที่เคยได้รับรู้มาเกี่ยวกับ “ฮิปโปโน โปโน” ก็ผุดพรายขึ้นในความคำนึง
ฮิปโปโน โปโน เป็นศาสตร์การรักษาเยียวยาของชาวพื้นเมืองในฮาวาย ซึ่งถูกขยายเผยแพร่มากขึ้นโดยจิตแพทย์ท่านหนึ่ง ผู้เข้าไปทำงานในโรงพยาบาลสำหรับนักโทษที่ป่วยทางจิตในฮาวาย ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าโรงพยาบาลแห่งนี้มีผู้ป่วยที่เป็นนักโทษจำนวนมาก และยังสร้างความหวาดผวาแก่เจ้าหน้าที่ที่คอยดูแล จนหลายคนเริ่มป่วยและขอลาออกไป
สิ่งที่คุณหมอทำได้สร้างความอัศจรรย์แก่ทั้งเจ้าหน้าที่เพื่อนร่วมงาน และบุคคลภายนอกมาก เพราะคุณหมอจะตรวจผู้ป่วยผ่านแฟ้มรายงานอาการของพวกเขา แต่ละแฟ้มคุณหมอจะดูถึงสาเหตุที่ทำให้นักโทษเหล่านี้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงขึ้น จากนั้นก็จะกลับเข้ามาดูภายในของตนเอง และเริ่มเยียวยาภายในของตนเอง ด้วยการเข้าไปรับรู้ด้วยความรักในจุดที่ตนมีคล้ายกับผู้ป่วยคนนั้น ซึ่งอาจซ้อนอยู่โดยเราไม่รู้ตัว
ผลปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วม มีสุขภาพจิตดีขึ้น มีอัตราการลาออกน้อยลงมาก และที่สำคัญ นักโทษเหล่านั้นอาการดีขึ้น จนมีนักโทษที่สามารถออกจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตตามปกติได้ และโรงพยาบาลก็มีผู้ป่วยน้อยลง
เวลาเราเผชิญหน้ากับความผิดปกติของผู้คน เรามักจะมองเขาหรือเธอด้วยความเป็นอื่น ไม่ว่าจะสายตาของความรักหรือความเกลียดชังก็ตามที แต่เขาไม่ใช่เรา
ยิ่งหากเขาหรือเธอทำให้เราทุกข์ ด้วยความโกรธเคือง เสียใจ และบางครั้งรุนแรงจนกลายเป็นอคติของความชิงชัง ที่แทบไร้เหตุผลต่อการประทุทางอารมณ์ของเรา
ฉันใคร่ครวญอยู่เพียงครู่ ก็พลิกตัวนอนหงายในท่าศพอาสนะ ผ่อนคลายส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วนำพาตนเองเข้าไปค้นหาพฤติกรรมของเขาที่ฉันไม่ชอบใจที่ภายในตนเอง ครั้นเมื่อพบ ฉันกลับรู้สึกว่ายากเหลือเกินที่จะรักความน่าชังนั้นได้อย่างลึกซึ้ง และจริงแท้ แม้จะเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวฉันเองนี้ มิใช่ที่เขาหรือใครอื่น อาจเพราะหมักหมมมันมานาน จากการย้ำคิดในช่วงที่ผ่านมา จนมันแข็งตัว ทำให้พลังชีวิตที่มีถูกลดทอน นี่ยิ่งแสดงให้แลเห็นว่า อารมณ์ลบนั้นบั่นทอนพลังชีวิจของเราไปมากเพียงใด
ฉันมีมนตราที่คิดขึ้นเองอยู่บทหนึ่ง ที่ใช้ได้ผลดีเสมอยามพลังชีวิตตก เป็นสัญญาต่อเซลล์ และหน่วยต่าง ๆ ของร่างกายที่ฉันเคยฝึกทำมันขึ้น มนตราในมิติที่เราใช้ศรัทธาจากจิตของเราเข้ามาดูแลตัวเรา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสิ่งนำพายึดเหนี่ยวพลังของตนแตกต่างกันไป บ้างอาจเป็นบทสวดของศาสนาที่ตนนับถือ หรือเครื่องรางที่ตนเคารพ แต่สำหรับฉันมันเป็นคาถาสั้นๆ ที่สร้างจากสิ่งที่มีอิทธิพลต่อตัวฉันเองทางด้านจิตใจ
... กังสดาลเสียงใส
เปลือกไม้ต่างกัน
ดอกหญ้าบ้านฉัน
ผืนดินอันอุดม ...
เพราะเสียงของกังสดาลนั้นช่วยให้ฉันสงบ และยังเป็นเสียงที่ฉันระลึกถึงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าอยู่ในที่ใด แม้ขณะกำลังเขียนอยู่นี้ ฉันก็ยังสามารถรับรู้เสียงของกังสดาลได้อย่างชัดเจน ในจิตไร้สำนึกที่ถูกเรียกดึงขึ้นมา เปลือกไม้ที่แตกต่างกันนั้นก็เป็นความหลงใหลของตัวฉันเองตั่งแต่ยังอ่อนวัย เปลือกผิวของไม้แต่ละต้นสวยงามในความรู้สึกเสมอ และเมื่อเติบโต เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น ฉันก็พบว่าคนเรานั้นก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน มันช่วยย้ำให้ตระหนักและน้อมรับในความแตกต่างของผู้คนได้เป็นอย่างดี ส่วนดอกหญ้าหน้าบ้านฉันเองนั้น มันก็เป็นตัวแทนของความสดชื่นร่าเริง ดอกหญ้าที่มีกลีบสีขาวบอบบางน่ารักเหล่านี้ มีดอกใหญ่กว่าดอกหญ้าที่เราอาจคุ้นชิน แต่ในเชียงรายดอกหญ้าแบบนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปหลายที่ ฉันไม่รู้หรอกว่า จริงๆ แล้วมันเป็นสายพันธุ์อะไร แต่ฉันก็เรียนมันอย่างเก๋ไก๋ว่า “Wind flowers of love”
และสิ่งสุดท้ายที่ฉันเลือกมาสร้างพลังชีวิตของตนคือ ผืนแผ่นดินอันอุดม ก็จะมีดวงจิตใดเปี่ยมไปด้วยเมตตาเทียบเท่าผืนแผ่นดิน และฉันปรารถนาให้ความเป็นผืนดินดำรงอยู่ในจิตตน เพื่อจะสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตอื่นๆ ได้ เพราะคราใดที่เราหล่อเลี้ยงชีวิตอื่นด้วยพลังมากมายเท่าใด ฉันก็พบว่า เราได้รับไม่น้อยไปกว่านั้นเลย
เพื่อนรักคนหนึ่ง เธอมีมนตราฟื้นพลังชีวิตของเธอเช่นกัน คือ “แสดสดใส ปลาแหวกว่ายที่ใจกลางโลก” ฉันไม่รู้หรอกว่ามันหมายถึงอะไร แต่มีครั้งหนึ่งที่เธอป่วยหนักมาก และเธอเป็นลมหมดสติไป ฉันไม่ได้ทำอะไรนอกจากท่องบทพลังชีวิตของเธอซ้ำๆ ข้างๆ เธอ และเธอก็หัวเราะทันทีที่ฟื้นขึ้นมา บอกขอบคุณฉัน และบอกว่าเธอได้ยินเสียงท่องมนต์ของฉันอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถพูดหรือตอบโต้ได้
แล้วในยามนี้ ฉันก็กำลังท่องบทพลังชีวิตของฉันเองในใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างสงบ จนรู้สึกเหมือนกับว่าทั้งร่างกายมันท่องไปด้วยกันทั้งหมด ฉันระลึกถึงความน่าชังในตนเองนั้นอีกครั้ง เสียงนุ่มๆ ที่แสนอบอุ่นเคลื่อนออกมาอย่างแผ่วเบา ซ้ำๆ
“ขอโทษ ขอโทษนะ ฉันรักเธอเหลือเกิน ฉันขอโทษจริงๆ”
ในขณะนั้น ฉันเองไม่แน่ใจนักว่า เขา ผู้ที่ฉันเคยขุ่นเคืองนั้นจะรู้สึกอย่างไร เขาจะออกจากความทุกข์เช่นเดียวกับฉันหรือไม่ เพราะในยามที่ความโกรธ หรือความขุ่นเคืองใจเข้าครอบงำ เจ้าตัวทุกข์ก็ออกมาโลดเต้นอย่างไร้ท่วงทำนอง จะอย่างไรก็ตาม ในขณะที่ท่องมนตราอยู่นั้น ฉันเริ่มรู้สึกดีกับตนเอง และสัมผัสได้ ถึงพลังดีๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในของตนเอง ฉันยังคงเข้าไปดูแลภายในตนเอง ไปบอกรักความน่าชังของตน ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา
มันช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน ที่ดูเหมือนสิ่งต่างๆ ก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ฉันและผู้ที่ฉันขุ่นเคืองนั้นเริ่มพูดคุยกันได้มากขึ้น แม้จะยังไม่สนิทสนมนัก แต่ราวกับระหว่างเราไม่เหลือความชิงชังอยู่เลย เป็นแต่เพียงว่า เราจะเริ่มอย่างไรดี ในการสานความสัมพันธ์
Labels: ธนัญธร เปรมใจชื่น
โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ชีวิตของพวกเราหลายคนอยู่กับการประชุม ทั้งการประชุมแบบเป็นทางการวงใหญ่ จนถึงการประชุมแบบไม่เป็นทางการสองสามคน หลายท่านคงเคยอยู่ในวงประชุมที่เครียด เหนื่อย อยากรีบเลิกเร็วๆหรือการประชุมที่มีความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนก็เป็นคนดีๆ กันทั้งนั้น แต่พอประชุมร่วมกัน ทำไมหนอจึงไม่ยอมกัน ขัดแย้งกัน โกรธกัน ทะเลาะกันได้ ทั้งนี้ไม่ได้ยกเว้นแม้กลุ่มคนที่ทำงานเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องความสุข
เหมือนเดิมที่เราคงจะไม่ไปหาแพะหรือใครที่เราจะโยนความผิดให้ แต่เรามาเรียนรู้ร่วมกันผ่านประสบการณ์ตรงของพวกเรากันเอง เคยบ้างไหมที่เวลาเราเสนออะไรขึ้นมาแล้วมีคนไม่เห็นด้วย รู้สึกอย่างไรกันบ้างคะ บางคนอาจรู้สึกโกรธ หงุดหงิดรำคาญใจ หรือรับฟังเนื้อหาที่แตกต่างได้แต่โดยดี ไม่ว่าผู้นำเสนอความเห็นแตกต่างนั้น จะเสนอด้วยอารมณ์หรือกิริยาสุภาพหรือก้าวร้าวอย่างไรก็รับฟังได้อย่างสบาย ได้รับเนื้อหาที่อาจเป็นประโยชน์เสริมเนื้อหาเดิม หรือใช้ปรับปรุงคุณภาพข้อเสนอเดิมได้ เพียงแต่ว่า...ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ
ต้นรากความรำคาญใจของเราเมื่อมีคนเห็นขัดแย้งอยู่ที่ไหนบ้าง เราโกรธเพราะเขาบอกว่าความคิดของเราไม่ดีพอ ความคิด “ของเรา” นั่นเอง “ของเรา” ที่ถูกกระทบเพราะมีตัวตน มีอาณาเขตที่เรียกว่า “ของเรา” ถ้าไม่มีความเข้าใจผิดว่าเป็น “ของเรา” ความขุ่นเคืองบีบคั้นจิตใจเพราะถูกกระทบก็ไม่น่าจะมีได้ เพราะไม่มีตัวตนหรือกำแพงอะไรให้ถูกกระทบได้
เปรียบเหมือนคนตีลูกเทนนิสเข้ากระทบฝาผนัง ถ้าไม่มีฝาผนังเสีย ลูกเทนนิสที่ถูกตีมาก็ทะลุผ่านไปได้ ไม่กระทบกับฝาผนังหรือ “ตัวเรา ของเรา” จนอาจเกิดการสะท้อนย้อนกลับไปที่ผู้ที่ตีลูกเทนนิส เหมือนที่เราพบได้ในหลายการประชุม เมื่อมีคนค้านความคิดอีกคนหนึ่ง คนที่ถูกค้านก็มักจะแสดงความอึดอัด หรือหาทางโต้กลับในรูปแบบต่างๆ เกิดเป็นความขัดแย้งกันไปมา
อย่างไรก็ตามการลดตัวตนหรือความเป็น “ตัวเรา ของเรา” นี้เป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นหนทางอันยาวนานสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งวิธีหนึ่งที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้วเช่น การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา แต่เราก็ยังต้องประชุมกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่อาจยังไม่เข้าถึงสัจธรรมข้อนี้อย่างถ่องแท้ เราจะทำกันอย่างไรดี จึงจะไม่ทรมานกับความทุกข์ซ้ำซากแบบนี้อีก
มีเทคนิคจากที่ต่างๆ ที่เคยเห็นเขาใช้กันมาเล่าให้ท่านผู้อ่าน เริ่มจากตัวอย่างการตกลงร่วมกันในที่ประชุม เช่น
การประชุมของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ดร. ปีเตอร์ เฮิร์ซท อดีตรองอธิการบดี เคยเล่าให้ชาวจิตตปัญญาฟัง และทดลองทำกันด้วย คือการที่ผู้เข้าร่วมประชุมโค้ง หรือ Bow ให้แก่กันก่อนการประชุมพร้อมๆ กัน ทุกคนนั่งอยู่ที่เก้าอี้หลังตรง เปิดตา เปิดใจใช้มือวางเท้าบนตักทั้งสองข้าง แล้วโค้งหรือน้อมตัวลงมาจากส่วนเอวช้าๆ อย่างมีสติพร้อมๆ กัน เราลองทำกันทั้งก่อนและหลังการประชุม รู้สึกเป็นการเรียกสติให้อยู่กับเนื้อกับตัวดีก่อนการประชุม ซึ่งโดยทั่วไปเราจะวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ ก่อนจะเข้าห้องประชุม ซึ่งทำให้หลายคนที่ใจอาจจะยังไม่อยู่ในห้องประชุมได้กลับเข้ามาตั้งใจเริ่มประชุมกัน ซึ่งการโค้งของชาวนาโรปะนั้นอันที่จริงมีเรื่องลึกซึ้งแฝงอยู่มากมายในนั้นเป็นต้นว่า เป็นการแสดงความเคารพในความกล้าหาญของนักรบ หรือผู้ที่กล้าพอจะเป็นคนอ่อนโยนโดยแท้จริง อ่านเสริมได้ที่ http://www.naropa.edu/about/bow.cfm
Labels: มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐
--------------------
"มีข้อสอบตรวจสุขภาพจิตคนไหม?"
เพื่อนของผมซึ่งเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาในคณะขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นผู้โยนคำถามนี้เข้ากลุ่ม email ของเพื่อนแวดวงใกล้ชิด คาดหวังจะได้คำตอบและความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากอีกหลายคนที่ทำงานในสายอาชีพต่างๆ พร้อมแจงเหตุผลที่ต้องการเครื่องมือตัวช่วยดังกล่าวไว้ว่า
"ที่ภาคกำลังจะรับอาจารย์ใหม่หลายคน อยากหาคนสุขภาพจิตดีๆ คุยรู้เรื่อง รู้จักให้ และยอมคนบ้าง"
ต้นตอของเรื่องราวที่ทำให้อยากได้คนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นเป็นเพราะว่า
"ทุกวันนี้แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น ไม่ยอมกัน ทำงานเป็นทีมก็ไม่ได้"
ทราบความตามนี้แล้วเพื่อนในกลุ่มต่างก็ช่วยกันแนะนำแบบทดสอบหรือวิธีเท่าที่เราเคยใช้เคยได้ยินมา ทั้งแบบทดสอบทางจิตวิทยาอย่างง่าย ไปจนถึงกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น ต้องอาศัยการตีความภาพวาดโดยผู้เชี่ยวชาญ และแม้กระทั่งมีผู้เสนอให้ลองแบบทดสอบ นพลักษณ์ (Enneagram) ค้นหาว่าผู้สมัครแต่ละคนมีอุปนิสัยและโลกทัศน์อย่างไรบ้าง
เพราะผมเคยผ่านการอบรมเรื่องนพลักษณ์ในโครงการวิจัยการอบรมกระบวนกรแบบจิตตปัญญาศึกษามาบ้าง ทำให้อดอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ รีบตอบ email ให้ความเห็นไปว่า เราไม่ควรใช้นพลักษณ์ในวัตถุประสงค์จำแนกคนทำนองนี้ เพราะหัวใจของการเรียนรู้คนตามแนวคิดนพลักษณ์นั้น คือการได้เข้าใจถึงเบื้องลึกของพฤติกรรมความคิดที่ปรากฏ ทั้งของตัวเราเองและของผู้อื่น สำคัญยิ่งคือการเรียนรู้ให้ยอมรับและชื่นชมความแตกต่างหลากหลายของคน อีกทั้งการจัดว่าใครอยู่ลักษณ์ไหนนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น
ผมเสนอในมุมกลับกัน ถ้ามองเรื่องที่ว่ามานี้ด้วยแนวทางแบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว เราน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับคนที่มีอยู่ อย่าเพิ่งหมดหวังทิ้งกำลังใจที่จะทำงานกับคนเก่า รับคนใหม่เข้าไปก็ต้องอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งไม่รู้เขาจะเปลี่ยนไปหรือจะทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้นได้หรือเปล่า
วิธีการหนึ่งที่น่าจะลองกับบุคลากรปัจจุบันคือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นกระบวนการที่เครือข่ายเองได้นำมาใช้บ่อยครั้ง โดยการจัดสรรเวลาให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างมีคุณภาพและฟังอย่างลึกซึ้ง สร้างโอกาสให้เขาได้เผยความรู้สึกที่อยู่ภายใน บอกเล่าความคิดที่ไม่ใช่ของนักวิชาการ เพื่อทุกคนจะได้เรียนรู้กันและเข้าใจกันมากขึ้น หวังว่าเมื่อนั้นการยอมรับกันและทำงานเป็นทีมคงไม่ใช่เรื่องยาก
หลังจากได้แนะนำไปดังนี้แล้ว ผมนึกย้อนว่าหากผมเป็นเพื่อนคนนั้นบ้าง อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา ต้องรับผิดชอบการหาบุคลากรใหม่ พร้อมกับเผชิญหน้ากับคนทำงานแบบตัวใครตัวมัน หลังจากได้อ่านคำแนะนำทำนองนี้แล้ว ผมจะมีคำถามอะไรขึ้นบ้างไหม
สิ่งที่ปรากฏขึ้นแทบจะทันทีคือคำถามสองข้อ ประการแรก แน่ใจได้อย่างไรว่าวิธีการนี้ได้ผล? และประการที่สอง แสดงว่าเหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาล้วนแล้วแต่ฟังกัน ยอมรับและทำงานกันเป็นทีมจริงหรือ?
คำถามแรกนั้น แน่นอนว่าไม่สามารถรับประกันให้ได้หรอกว่าการใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาจะเป็นวิธีที่เหมาะสมถูกต้องที่สุดและทำให้ปัญหาการทำงานแบบตัวใครตัวมันหมดไป
แต่อย่างน้อยผมเชื่อมั่นว่าวิธีการสนทนาที่เปิดกว้างให้ทุกคนพูดหรือเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ไม่มีวาระ เน้นการให้แต่ละคนได้มีสติทั้งการฟังและการพูด ละเว้นการประเมินคุณค่าและตัดสินคนอื่นลงระหว่างอยู่ในวงสนทนา น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกทางสำหรับเชื่อมร้อยทุกคนเข้าหากันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนสามัญธรรมดา
ต่อคำถามว่าได้ผลแน่หรือ จะมีผลลัพธ์ที่แน่นอนไหม คำตอบคือ เราเริ่มลงมือปฏิบัติจัดกระบวนการกันเสียเลย การหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหานั้นมีความจำเป็นแน่ แต่เราไม่ควรจะให้เวลากับการเลือกมากจนระแวงสงสัยไม่ได้ริเริ่มหนทางหนึ่งใดอย่างจริงจัง
เพราะวิธีจัดการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาเน้นที่การวางใจ มีประสบการณ์ตรงและลงมือปฏิบัติ
หากเราใคร่รู้เรื่องสุนทรียสนทนาก็ดี สนใจนพลักษณ์ก็ตาม ตัวเราเองต้องได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจริง ได้ประสบการณ์ด้วยตนเอง และเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเป็นไปได้ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา
ส่วนคำถามถึงความมั่นใจว่า เหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษามีคุณสมบัติยอมรับกันและกัน และทำงานกันเป็นทีมนั้น ผมตอบได้เลยว่า ผมไม่กล้ารับรองคุณภาพของคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาว่ามีสมรรถภาพดังว่า
การเป็นอาจารย์ที่จัดการเรียนการสอนแบบจิตตปัญญาศึกษา หรือการเป็นนักฝึกอบรมกระบวนการจิตตปัญญา การทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติความสามารถในการทำงานดี และทำงานเป็นทีมได้อย่างยอดเยี่ยม และเครือข่ายก็มิเคยได้คัดกรองหรือพยายามตั้งเกณฑ์เพื่อเลือกเอาคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไว้เลย
สิ่งที่ยึดโยงแต่ละคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาไว้ ไม่ใช่ภารกิจการงานหรือบทบาทหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ทว่าเป็นความสนใจในการพัฒนาตัวเองจากข้างใน ได้เรียนรู้จิตใจของตนเองและเชื่อมสัมพันธ์การเรียนรู้นี้กับความรู้ทางวิชาการในสาขาชำนาญการของตนช่วยเหลือสังคม ไปจนถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน
การใฝ่เรียนรู้และหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาที่ทุกๆ คนในเครือข่ายตระหนักและพยายามปฏิบัติอยู่เสมอ
เมื่อย้อนกลับไปยังคำถามถึงแบบทดสอบหรือเครื่องมือคัดเลือกผู้สมัครมาเป็นอาจารย์ใหม่อีกครั้ง ผมก็ยังคงเชื่อว่าเราน่าจะเริ่มที่บุคลากรปัจจุบัน สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับคนตรงหน้า
แต่ผมกลับเริ่มรู้สึกว่าเราอาจไม่ต้องใช้วิธีการหรือกระบวนการแบบจิตตปัญญาศึกษาที่ผมเสนอไปแล้วก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องนพลักษณ์และเราไม่ต้องจัดกระบวนการสุนทรียสนทนาเลยก็ยังได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งและเป็นชื่อเรียกขานอีกแบบหนึ่งเท่านั้น
ขอเพียงเราเริ่มจากตัวเราเองก่อน เรียนรู้ใจตนและพยายามเท่าทันใจตัวเอง วางใจและลงมือทำลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังไม่ย่อท้อ เพียงเท่านี้ปัญหาไหนๆ ย่อมพากันฝ่าข้ามไปได้แน่นอน
Labels: ธีระพล เต็มอุดม
บทความที่ ๔๕: จิตตปัญญาศึกษาโดยผ่านกระบวนการ Dialogue
0 comments Posted by contemplative-soul at 7:57 AM
โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐
--------------------------------------------------------------
Labels: ปาริชาด สุวรรณบุบผา