โดย ชลลดา ทองทวี
ContemplativeEducation@yahoo.com
โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ที่พรมแดนแห่งความรู้ ฉบับวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๙
----------------------------------------------------
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือ เพื่อร่วมเรียนรู้เรื่อง “พระพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ” ในโครงการ Earth Expedition ร่วมกับเหล่าครูชาวสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่ง โครงการนี้ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มครูเพื่อศึกษาแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่มีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนแบบจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น สุนทรียสนทนา (Dialogue) และภูมินิเวศภาวนา (Vision Quest)
องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการจึงได้แก่วิทยากรผู้มีความรู้ความเข้าใจทั้งในพระพุทธศาสนาและการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยพระภิกษุที่รับนิมนต์มาร่วมเป็นวิทยากรท่านหนึ่งให้แก่โครงการ คือ พระสมคิด ผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูป่าชุมชนของจังหวัดน่าน
พระสมคิดท่านได้พาพวกเราเดินชมสวนสมุนไพรในบริเวณวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างนั้นพวกเราต้องหยุดเดินกันทุก ๒ ก้าว ด้วยต้นไม้ทุกต้นที่เราเดินผ่านล้วนมีสรรพคุณเป็นยาไม่ประการใดก็ประการหนึ่ง จวบจนเวลาผ่านไปเกือบชั่วโมง เราก็ยังเดินกันไปได้ไม่กี่สิบก้าวจากจุดเริ่มต้น ระหว่างเดินเราได้สนทนากันไปด้วย เรื่องราวในวงสนทนานี้เองที่ได้ก่อให้เกิดคำถามบางอย่างขึ้นในใจของผู้เขียน
ท่านเล่าว่า เวลาท่านพาเด็กๆ เข้าไปเรียนรู้ในป่า ท่านจะไม่พกยาชนิดใดๆ ไปด้วย ถ้าหากเด็กๆ เกิดบาดเจ็บเลือดตกยางออก ท่านก็จะชี้ให้ไปเด็ดใบของต้นไม้ต้นโน้นต้นนี้มาพอกไว้เพื่อห้ามเลือด ถ้าหากเด็กๆ เกิดอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ก็จะมีต้นไม้ต้นโน้นต้นนี้เอามาทำเป็นยาได้เสมอ วิธีการนี้จะทำให้เด็กๆ สามารถจดจำสรรพคุณยาได้โดยไม่ต้องท่อง และเห็นคุณค่าของต้นไม้ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์ตรงในสถานการณ์จริง และเป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ และความวางใจ
พระสมคิดท่านยังได้เล่าถึงยาอีกขนานหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เปลือกไม้บางชนิดที่สามารถดูดพิษของสัตว์ที่มีพิษร้ายออกไปได้ เช่น งู ท่านเล่าว่าเปลือกของต้นไม้ดังกล่าวน่าจะยังมีหลงเหลืออยู่ในป่าดงดิบ เรื่องนี้ทำให้หลายคนรู้สึกตื่นเต้นสนใจว่าเป็นยาที่ดูจะดีกว่าเซรุ่ม ที่ต้องใช้กรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน
เรื่องที่ท่านเล่านี้กระทบใจผู้เขียนผู้เป็นคนกลัวงูเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เขียนต้องทบทวนตั้งคำถามใหม่ๆ กับตนเองใน ๒ เรื่องหลัก คือ การที่เราตัดป่าไม้ลง จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ อาจทำให้พืชที่มีสรรพคุณทางยาอันมีประโยชน์จำนวนมากสูญพันธุ์ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว..ใช่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ตั้งคำถามอีกข้อด้วยว่า ถ้าเปลือกไม้ที่ว่ามีอยู่จริง พิษของงูที่ว่าน่ากลัวก็ไม่มีความหมายอะไรใช่ไหม ทันทีที่ตั้งคำถามนี้กับตัวเอง ความกลัวงูที่เคยมีมาตลอดชีวิตก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง ทำให้บอกตัวเองได้ด้วยว่า ความกลัวที่มีมาตลอดไม่ใช่กลัวงู แต่กลัวพิษของงู การได้ตระหนักถึงสาเหตุต้นตอของความกลัวของตนเองนี้เป็นการเรียนรู้อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้เชื่อมโยงไปได้ถึงความกลัวข้ออื่นๆ ในชีวิต
มันทำให้ตั้งคำถามและได้คำตอบข้อที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งว่า ธรรมชาตินั้นละเอียดลออยิ่งนัก ธรรมชาติสร้างงูที่มีพิษขึ้นมา และในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างเปลือกไม้ที่สามารถถอนพิษงูได้ ธรรมชาติอาจทำให้เราเลือดไหลเวลาเกิดบาดแผล แต่พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างใบไม้ที่ใช้ห้ามเลือดได้
ในความหลากหลายของธรรมชาติมีความสมดุลที่ยิ่งใหญ่ และขณะเดียวกัน ถ้าเราละเลยที่จะสัมผัสเห็นคุณค่าของความละเอียดอ่อนหลากหลายของธรรมชาติดังกล่าวนี้โดยเลือกที่จะเก็บเพียงบางอย่างไว้ แต่ทำลายบางอย่างไปตามความรู้สึกชอบไม่ชอบ หรือตามความหวาดกลัวส่วนตัวของเราเอง สมดุลที่ธรรมชาติจัดวางไว้อย่างเหมาะสมแล้วจะหายไป ต้นไม้ต้นหนึ่งในป่าที่ถูกเราตัดทิ้งไป อาจจะเป็นต้นไม้ที่จะรักษาพิษงูต้นสุดท้ายก็เป็นได้ เฉกเช่นเดียวกัน งูพิษตัวหนึ่ง หรือบุคคลคนๆ หนึ่งซึ่งเราเลือกตัดสินเขาไปว่า ไม่ดี ไม่มีคุณค่าพอที่จะคบหา เขาคนนั้นอาจจะเป็นบุคคลผู้มีคุณค่าประการใดประการหนึ่งเป็นอย่างยิ่งต่อโลกในแง่มุมที่เราคิดและคาดไม่ถึงก็เป็นได้
การเดินชมสวนในครั้งนี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้ธรรมะบางอย่างจากต้นไม้ จากธรรมชาติว่าในความหลากหลาย มีคำตอบของปัญหามากมายที่เราเผชิญอยู่ ยิ่งปัญหาซับซ้อน คำตอบก็คงจะยิ่งต้องหลากหลาย ไม่มีคนๆ เดียวที่เป็นคำตอบของทุกเรื่องได้ ไม่มีกลุ่มๆ เดียว ที่จะแก้ปัญหาทุกปัญหาได้ ยิ่งสังคมและธรรมชาติมีความหลากหลายอยู่ ก็ยิ่งมีความสมดุลมากขึ้นเท่านั้น.. ความหลากหลาย จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา มากกว่าเป็นภัยคุกคาม การเปิดรับต่อความหลากหลายซับซ้อน การเรียนรู้ท่ามกลางความแตกต่าง จะยิ่งทำให้ชีวิตของเราเติมเต็มยิ่งขึ้น
เลยทำให้ผู้เขียนระลึกต่อไปถึงคำสอนของท่านอาจารย์ระพี สาคริก เรื่องโอกาสในการเรียนรู้จากความหลากหลายของผู้คน อาจารย์ท่านเล่าว่า มีคนชื่นชมท่านเสมอว่า ท่านดูเป็นคนใจเย็น มีความสุข คาดว่าน่าจะเป็นเพราะท่านได้อยู่ใกล้กับความสงบเย็นของต้นไม้และธรรมชาติ แต่ท่านกลับเห็นว่าท่านได้เรียนรู้มากกว่าจากความหลากหลายแตกต่างของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนมนุษย์ ในความหลากหลายของธรรมชาตินั้นมีบทเรียนดีๆ ที่คนที่อยากเรียนรู้ ไม่ควรหลีกหนี หรือหวาดกลัว แต่ควรเปิดตนเองออกสัมผัสให้เต็มที่ และธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดนั้นก็คือ เพื่อนมนุษย์ นี่เอง
บางครั้งเราจะอยู่ในสภาวะท้อหรือเหนื่อย จากการเผชิญกับผู้คนที่หลากหลายในชีวิต คำพูดที่ได้ยินกันเสมอในหมู่คนทำงาน คือ อยากจะหยุด ไปพักผ่อน พักร้อน สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังทำงานกันด้วยความร้อนกายร้อนใจ อาจารย์ระพี ท่านชวนคิดใหม่อีกครั้ง ท่านว่าถ้าท่านอยู่แต่กับความสงบเย็นของธรรมชาติ ป่านนี้ จะเรียนรู้อะไรได้ แต่ที่ท่านกลายมาเป็นคนเข้าใจชีวิตมากขึ้น จิตใจสงบเย็นยิ่งขึ้น เพราะการปะทะในความหลากหลายของผู้คนที่พบเจอต่างหาก ยิ่งหลากหลายมาก ก็ยิ่งทำให้ท่านได้เรียนรู้ชีวิตหลายรูปแบบ การได้ฟังได้เห็นเรื่องราวหลายมุมมอง ยิ่งทำให้ได้คำตอบที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อตนเองข้างในจิตใจ
วันที่คุยกับท่านวันนั้น เดิมผู้เขียนไม่อยากไปทำงานเลย พอฟังแล้วกลับรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ออกไปทำงาน เพราะคงทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องราว เพิ่มมุมมองต่างๆ ในชีวิตไปอีกมาก สำหรับท่านอาจารย์ระพี การได้ออกไปพบปะผู้คน ทำงานท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย เป็นเรื่องที่มีคุณูปการ เรื่องที่ท่านเล่าทำให้ผู้เขียนเข้าใจความกระตือรือร้น การมีความสุขในการทำงานของท่านได้ โดยไม่ต้องการวันหยุด วันลาพักผ่อนเหมือนใครๆ
หลายๆ เรื่องในชีวิต ขึ้นอยู่กับมุมมองที่จะมองมัน เรื่องของความหลากหลายนี้ก็เหมือนกัน เรามีแนวโน้มจะมองคำว่า “ความหลากหลาย” ในแง่มุมของความยุ่งยาก ความสับสนวุ่นวาย เหมือนคำที่ว่า “มากคน มากความ” และทำให้บางครั้งอยากลดทอนความหลากหลายออกจากกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำอะไรที่เราอยากจะให้เป็นไปตามใจเราต้องการ แต่ถ้าลองมองในมุมใหม่ ความหลากหลายนั้นได้ให้โอกาสที่อุดมกว่า ให้คำตอบที่หลากหลายกว่า ในการแก้ไขปัญหา เป็นสีสันของการสร้างสรรค์ ที่อาจไม่ได้เพิ่มปัญหาและเวลาในการทำงาน แต่จะช่วยย่นระยะเวลาของการเรียนรู้แก้ไขปัญหาได้อีกมาก
การมองข้ามความสำคัญของความหลากหลาย อาจทำให้เราหลงทางในการเรียนรู้ เพราะธรรมชาติเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายโดยพื้นฐาน ลองดูต้นไม้ที่ปล่อยให้ขึ้นเองในสวน หรือตามข้างทาง ลองดูผู้คนข้างถนนหรือแม้แต่ในตลาด การฝืนทำในทางตรงกันข้าม ดูจะเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยยุ่งยากมากกว่า ไม่ว่าการจัดสวนให้เป็นระเบียบ ตัดแต่งให้มีแต่พืชพรรณที่เราต้องการ หรือการทำให้ผู้คนมาคิดเหมือนที่เราคิดทั้งหมด แต่ถ้าลองเปิดรับกับวิถีพื้นฐานของธรรมชาติ เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายอันอุดม เหมือนที่ธรรมชาติทำบ้าง บางทีเราอาจะได้เรียนรู้อะไรมากมายในมุมมองที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยคิดมาก่อน ก็เป็นได้
Labels: ชลลดา ทองทวี