โดย วิจักขณ์ พานิช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------

(๑)
บ่อยครั้งที่มักจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องของจิตตปัญญาศึกษา ว่าจะเป็นรูปแบบการศึกษาที่ผลิต “คนดีมีศีลธรรม” ออกมาสู่สังคม ความคาดหวังในลักษณะนี้หาใช่เป็นเรื่องเสียหาย แต่ทั้งนี้ ความคาดหวังใดๆ ที่เรามีต่อกระบวนการศึกษา อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นการเรียนรู้ของทั้งผู้เรียนและผู้คาดหวัง ได้อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ความคาดหวังแม้จะเป็นความคาดหวังในด้านดี ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อทวินิยมแห่งกฎเกณฑ์ มาตรฐาน การวัดผลดีชั่วถูกผิด ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือประสบการณ์ตรงของผู้เรียนเสียแล้ว ผลก็คือ ประสบการณ์จะถูกเจือปนไปด้วยบทสรุปล่วงหน้าเหล่านั้น จนผู้เรียนไม่สามารถเชื่อใจในสิ่งที่ตนเองประสบมาได้อีกต่อไป เมื่อนั้นความกลัวจะแทรกตัวเข้ามาแทนที่ กลายเป็นการเลือกที่จะฟังเสียงภายนอกแทนเสียงแห่งคุณค่าภายใน จากนั้นจึงหันไปยึดมั่นต่อการเรียนรู้ถูกผิด การตัดสินลงโทษ การสร้างความรู้สึกละอายที่ฝังรากลึก จนกลายเป็นตราบาป ผูกมัดเป็นปมด้อยภายในอันไร้ทางแก้
ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลของความเชื่อเรื่องบาปติดตัว (Original Sin) ที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมพุทธในบ้านเรามากเหลือเกิน การตัดสินผู้อื่นอย่างเสียๆ หายๆ จากสิ่งละอันพันละน้อยที่เขาได้กระทำในอดีต อย่างที่ไม่รู้จักความหมายของการให้โอกาส หรือให้อภัยด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ดูจะกลายเป็นลักษณะนิสัยที่มีอยู่ในตัวคนไทยอย่างที่ไม่มีใครรู้ตัว ทั้งนี้ยังไม่รวมนิสัยการชอบนินทา ว่าผู้อื่นเสียๆ หายๆ ลับหลัง ฯลฯ แม้แต่การนำความคาดหวังทางศีลธรรมจริยธรรมมาตัดสินคุณค่าผู้อื่น เช่น คนกินเหล้าสูบบุหรี่เป็นคนเลวไม่น่าคบ ท้องก่อนแต่งเป็นพฤติกรรมที่ต้องประจาน เด็กที่ไม่มีสัมมาคารวะ เถียงผู้ใหญ่เป็นเด็กดื้อไม่น่ารัก ฯลฯ คุก เรือนจำ และทัณฑสถาน ก็กลายเป็นสถานที่รวมเหล่าสัตว์เดรัจฉานชั่วช้า คนบ้าวิกลจริตกลายเป็นพวกน่ารังเกียจ หญิงค้าประเวณีเป็นกาลกิณีของสังคม และอีกมากมายที่เรียงรายเต็มหน้าหนังสือพิมพ์

ในทางกลับกัน เรากลับยกย่องเชิดชูนักการเมือง คนร่ำคนรวย ผู้มีอำนาจที่โกงกินบนหลังประชาชน พระสงฆ์องค์เจ้าผู้อาศัยผ้าเหลืองแสวงหาลาภสักการะ ดารา นักร้อง คนเด่นดังที่เอาแต่สร้างภาพมายาของความเป็นคนของประชาชน เปลือกที่สวยงามเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างปรารถนา ขอเพียงตัวสูตัวกูดูใสซื่อมือสะอาด จิตใจด้านในจะชั่วช้าสามานย์ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ไม่มีใครเห็น

หากการศึกษาไม่สามารถที่จะแทรกผ่านเมฆหมอกแห่งสมมติสัจจะเหล่านั้นไปได้ การเรียนรู้ยังสอนให้คนประดิษฐ์หน้ากากสวยๆ มาสวมใส่ยิ้มให้กัน แต่จิตใจกลับยังคับแคบ แบ่งแยกสูงต่ำดำขาว ดีชั่ว ถูกผิด เป็นนิจศีล การศึกษาที่ว่าก็คงเป็นได้เพียงเครื่องมือผลิตคนกึ่งดิบกึ่งดี ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม พอที่จะเป็นปากเสียงให้สังคมได้ก้าวไปในทิศทางแห่งการเข้าถึงความจริงได้เลย

(๒)
การมาศึกษาต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่มีพื้นฐานของการเรียนรู้ด้านใน ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สุดแสนจะธรรมดา ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่ ที่ผู้คนมีจิตใจเปิดกว้าง และเคารพศักยภาพของกันและกัน นักเรียนที่นี่ดูจะไม่มีความดัดจริต แต่ละคนดูมีความมั่นใจในทุกประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านมาในชีวิต ไม่ว่ามันจะดูดีเลวอย่างไรในสายตาคนอื่น ใครจะสูบบุหรี่ก็สูบ ใครจะกินเหล้าก็กิน ใครจะรักเพศอะไร จะทำงานสูงต่ำเพียงไหน จะเป็นลูกผู้ดีมีจนอย่างไรก็สุดแล้วแต่ เราต่างก็ยังเป็นคนธรรมดาๆ ที่พร้อมจะมาเปิดใจเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อเราสามารถยอมรับในความแตกต่าง สามารถหลอมรวมทุกประสบการณ์แห่งชีวิตไม่ว่ามันจะเจ็บปวด หรือรื่นรมย์เพียงไหน เมื่อนั้นเราก็สามารถที่จะเคารพในทุกประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ทั้งในตนเองและผู้อื่น ได้อย่างไร้การเปรียบเทียบ

เพื่อนร่วมกระบวนการเรียนรู้บนเส้นทางแห่งการฝึกตนนั้น หาใช่เป็นคนที่ดีเด่ ไม่ใช่คนเท่ คนยิ่งใหญ่ และไม่ใช่นักเรียนดีเด่น เพราะพวกเขาไม่มีภาพลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงไม่ใช่คนอวดดี ที่เอาแต่ยกตนข่มท่าน แต่กลับเป็นคนธรรมดาๆ ที่ให้ความเคารพผู้อื่นอย่างจริงใจในแบบที่เขาสามารถเคารพตัวเขาเองได้เสมอ เพื่อนเหล่านี้คือ เพื่อนแท้ที่คอยแบ่งปันประสบการณ์แห่งการเรียนรู้จากใจ เราเรียนรู้ร่วมกัน ภาวนาร่วมกัน เราคอยประคับประคองกันในยามสับสนพลาดพลั้ง เราให้กำลังใจกันในยามที่เพื่อนเลือกทางที่ต่างกันออกไป ผิดถูกอย่างไรไม่สำคัญเพราะอย่างน้อยเราก็เชื่อว่า ทุกเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือก เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการแห่งความดีงามของการทำประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เพื่อนฝรั่งเพี้ยนๆ แปลกๆ ของผู้เขียนมีความเชื่อร่วมกันว่า การภาวนาศึกษาคุณค่าด้านใน ไม่สามารถเปลี่ยนเขาไปจากความเป็นตัวของเขาเองได้ เพื่อนเหล่านี้มักจะพูดเสมอว่า “เราไม่ได้ภาวนาเพื่อที่จะเลียนแบบใคร เราไม่ได้ต้องการเป็นคนดี หรือเพื่อให้ดูขลัง (spiritual) เราแค่มาที่นี่เพื่อค้นหาตัวเราเอง” เพื่อนเหล่านี้พอเรียนจบก็ออกไปทำงานแปลกๆ บ้างก็ไปสอนคนในคุก บ้างก็ไปทำงานเพื่อสิทธิผู้หญิงค้าประเวณี บ้างก็ไปเป็นนักเขียน บางคนไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือไปเรียนต่อด้านอื่น แต่สิ่งที่ทุกคนยังมีเหมือนกันก็คือ ทุกคนยังให้คุณค่ากับความธรรมดา ของการเป็นคนธรรมดาๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าครูอาจารย์ในแวดวงจิตตปัญญาศึกษาในบ้านเรา จะเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างพอ ที่จะเคารพศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนทุกคนอย่างไม่มีอคติ และพร้อมที่จะเป็นเพื่อนแท้แห่งการเรียนรู้ด้วยใจจริง เพราะหากเรามัวแต่ไปตัดสินกันด้วยหน้ากากทางจริยธรรม ความเลิศล้ำทางวิชาการ หรือ ภาพความสูงส่งทางจิตวิญญาณผิวเผิน อย่างที่ไม่สามารถเคารพในความติดดินธรรมดาสามัญ “มือเปื้อนดิน ตีนเปื้อนโคลน” ในความไม่สมบูรณ์แบบที่ง่ายงามของกันและกันได้ ก็คงไม่มีทางที่กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เราน่าจะหันมาให้คุณค่าแก่การออกนอกลู่นอกทาง ความบ้า ความเพี้ยน และชื่นชมในศักยภาพที่แปลกและแตกต่างของกันและกันให้มากขึ้น อย่าเอาแต่เพียงทำอะไร “ดีๆ” ตามๆ กัน แล้วด้นถอยหลังกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ ของการเรียนการสอนแบบอำนาจความคาดหวังเบ็ดเสร็จ ใช้กฎเกณฑ์ เครื่องวัดผิดถูก สูงต่ำทางศีลธรรม ยัดเยียดหน้ากากแห่งความสมบูรณ์แบบและพฤติกรรมดิบๆ ดีๆ ให้กันอย่างน่าอเนจอนาถเป็นที่สุด

...เพราะหากเป็นเช่นนั้นจิตตปัญญาศึกษาก็ได้แยกตัวเองออกจากความเป็นจริงที่หลากหลายในปัจเจกบุคคลโดยสมบูรณ์ และเป็นได้แค่เพียง “การศึกษาติดดี” ที่เอาไว้ใช้สำเร็จความใคร่ทางวิชาการของนักปรัชญาการศึกษากลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home