โดย กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
--------------------------
การอบรมของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เรื่อง “งาน พลังกลุ่ม และความสุข” จัดโดยเสมสิกขาลัยดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและเสร็จสิ้นลงด้วยดี ผู้เข้ารับการอบรมรู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านเกมและกิจกรรมต่างๆ บางกิจกรรมต้องร่วมมือร่วมใจกันวางแผนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรค ในที่นี้หมายถึงโจทย์ที่มีเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมากมายด้วยข้อจำกัดในการทำงานให้สำเร็จ ซึ่งแม้แต่ตัวผู้จัดกระบวนการเรียนรู้นี้เอง ยังต้องใช้เวลาอธิบายนานพอสมควรกว่าจะเสร็จ
บางกิจกรรมสามารถกดดันผู้เข้ารับการอบรมที่ยังไม่เคยร่วมกิจกรรมนั้นมาก่อน ทำให้คิดว่าจะทำได้จริงหรือ? จะเป็นไปได้หรือถ้าไม่ย่อหย่อนกฎเกณฑ์หรือกติกาที่ตั้งไว้ บางกิจกรรมไม่มีเงื่อนไขเวลา แต่ถ้าทำไม่สำเร็จอาจทำให้ไม่ได้รับประทานอาหารเอาง่ายๆ ขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ทำกันและให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในชีวิตจริง เช่น
เกมตัวต่อมหาสนุก เพื่อเรียนรู้ความสำคัญของการสื่อสารที่ดีและเพียงพอ เพราะประจักษ์ชัดถึงความผิดพลาดอย่างเป็นรูปธรรม จากการสื่อสารที่ไม่ดีและไม่เพียงพอระหว่างการทำงานร่วมกันของผู้มีหน้าที่ต่างๆ
การแสดงละคร เพื่อเรียนรู้ความไม่ไว้วางใจกัน ผ่านการจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์จริง และจินตนาการถึงบทบาทของตัวละครที่ควรจะเป็นหากอยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้น รวมถึงผลกระทบจากความไม่ไว้วางใจและการร่วมกันหาทางออก
กิจกรรมสายธารชีวิต เพื่อเรียนรู้การรับฟังอย่างลึกซึ้ง โดยฝึกฟังชีวิตและประสบการณ์ของพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สุขหรือทุกข์ เปิดโอกาสให้รู้จักกันมากขึ้น กล่อมเกลาอารมณ์ความรู้สึกให้อ่อนโยนต่อชีวิตเราและเขา
กิจกรรมแม่น้ำพิษ เพื่อเรียนรู้การแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ผ่านการทดลองปฏิบัติจริง ทุกคนจะได้เรียนรู้การวางแผน การทำงานด้วยความรู้สึกที่เท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม แบบอย่างการทำงานที่เราชอบและไม่ชอบ ล้วนสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการทำงานจริงได้
งานเลี้ยงสังสรรค์เล็กๆ ที่ตั้งชื่อว่า “กิจกรรมเฉลิมฉลองชีวิต” เพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย
ทุกอย่างที่เรารู้สึกนึกคิด อารมณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งชอบและไม่ชอบ สบายหรือลำบาก ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าในการทำงานจริงกับคนอื่น มันก็เกิดขึ้นและผ่านไปอยู่เสมอ ทำให้ตระหนักว่าการทำงานที่ต้องอาศัยทุกคนในต่างหน้าที่และบทบาทนั้น ควรทำความเข้าใจว่า ความสำเร็จ ความพลาดพลั้ง ความราบรื่น ความขลุกขลักที่เกิดขึ้น เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ต่อรูปสัตว์ประหลาดผิดไปจากแบบในเกมตัวต่อมหาสนุก แท้ที่จริงแล้วเราจะพบข้อที่ควรปรับปรุงได้จากทุกคนในกลุ่มที่เล่นกันคนละบทบาทตลอดกระบวนการทำกิจกรรมนั้น หรือกล่าวได้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมต่อความผิดพลาดนั้น
พลังและความสุขแห่งการเรียนรู้ร่วมกันเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ทีมผู้จัดการอบรมประสงค์จะให้พวกเราเรียนรู้ การได้มา “สัมผัส” ถึงพลังกลุ่มและค้นหาคำตอบว่า ที่มาของพลังนั้นคืออะไรด้วยตัวเองจากประสบการณ์การร่วมกิจกรรม ขบคิดในช่วงสรุปบทเรียน แล้วพรั่งพรูออกมามากมายและหลากหลาย เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับพวกเราที่จะนำไปสู่วิถีการปฏิบัติจริง แต่ต้องใจเย็นสักหน่อยว่า คิดได้แล้ว แต่จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วย สำหรับผู้เขียนนั้นคิดว่า ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยสนับสนุนพอสมควร จึงจะทำให้การทำงานกลุ่มจริงๆนั้นมีพลังช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดแรงบันดาลใจเพื่อร่วมฝ่าฟันอุปสรรค หรือแก้ปัญหาที่ยากเกินกว่าลำพังเพียงคนเดียวจะทำได้ และสามารถมีความสุขไปพร้อมกันด้วย
เมื่อการอบรมผ่านไปจนถึงกิจกรรมสุดท้าย ผู้เขียนมีความคิดแว้บขึ้นมาว่า “สงสัยว่าจริงๆแล้วตัวเราเองทำงานกลุ่มไม่เป็นนะ!!!” เพราะเมื่อทบทวนลักษณะการทำงานของตัวเองไปด้วยภายหลังการทำกิจกรรมสายธารชีวิต พบว่ามักเป็นงานที่ทำเพียงลำพัง นอกจากนี้ ในการทำงานแบบรวมกลุ่มที่ผ่านมานั้น ไม่แน่ใจว่าตัวเรารู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดีในทีมงานหรือไม่? รู้สึกอยากเกื้อกูล เห็นใจกันและกันขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? มีความสุขจริงหรือไม่? ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นหรือไม่? แล้วได้เคยลองเผชิญกับปัญหาที่ยากจริงๆ แล้วหรือไม่? และหากเจอจริงคิดว่าจะทำได้หรือไม่? ตัวเราอาจคุ้นชินกับการใช้วิธีการเดิมๆ แก้ไขโจทย์ลักษณะเดิมๆอยู่ก็ได้
ดูเหมือนว่าเรายังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปใกล้โจทย์สำคัญที่รออยู่ เพราะกลัวความยากลำบาก ยากแก่การควบคุม หรือยากต่อการดำเนินการด้วยเราเพียงลำพัง หรือตัวเราอาจจะกำลังทำงานแก้ไขโจทย์สำคัญ ด้วยวิธีการที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างพลังกลุ่ม และท้ายสุดจะส่งผลให้ผู้ร่วมงานขาดความพึงพอใจในผลงานที่ทำขึ้น เกิดความทุกข์ใจ หมดไฟ ขาดพลังใจในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกโชคดีว่าจับหลักการบางอย่างได้ เข้าใจมากขึ้นจากเกมและกิจกรรม คิดว่าเดี๋ยวจะลองเอาไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานจริง ที่ระยะหลังมักหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ยาก เริ่มจากงานที่ไม่สลับซับซ้อน พยายามสร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดพลังในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขควบคู่กันไปด้วย อาจจะเป็นการลองผิดลองถูกบ้าง โดยเริ่มจากการทบทวนความสัมพันธ์กับทุกคนรอบข้าง พยายามเสริมสร้างบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตรที่มีการรับฟังและยอมรับกัน ด้วยรูปแบบของการทำงานด้วยตัว หัวใจและมันสมอง ... คิดเพียงเท่านี้
ผู้เขียนขอสารภาพว่า การทำงานเป็นกลุ่มจริงๆ นั้นยาก การแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาศัยทักษะนอกเหนือไปจากการพัฒนาความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน กล่าวคือเป็นทักษะการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง แต่ยังอดฝันหวานไปไกลไม่ได้ ... เผลอไผลนึกคิดคาดหวังไปว่า วิธีการทำงานร่วมกันกับทีมและเพื่อนกลุ่มต่างๆ ต่อจากนี้กับโจทย์ที่ท้าทายกว่าเดิม จะมีความหมายอย่างยิ่งต่อตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจะลองพิจารณาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง
Labels: กอบแก้ว มโนมัยพิบูลย์