โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
-------------
จากบทความ “แยก ‘รู้’ ออกจาก ‘เรื่อง’” ตอนแรกที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ บทความนั้นได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคข่าวสารข้อมูล ที่ทำให้เราตกอยู่ในวังวนแห่งความคิดทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยรู้ว่ามีโลกที่ยังคงดำรงอยู่นอกเหนือโลกแห่งความคิด หากเปรียบกับหนังเรื่องเดอะเมทริกซ์ (The Matrix) ผู้คนที่ตกอยู่ในโลกแห่งความคิดก็เปรียบได้กับผู้คนที่อยู่ในโลกเมทริกซ์ และผู้ที่ข้ามพ้นความคิดก็คงเปรียบเสมือนนีโอ เราอาจใช้ชีวิตอยู่ในโลกความคิด/เมทริกซ์ได้อย่างมีความสุข แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ความสุขนั้นถูกกำหนดมาให้แล้วโดยเราไม่สามารถเป็นผู้เลือก เราถูกขังอยู่ในคุกแห่งความคิด ถูกผูกมัดอยู่ในพันธนาการแห่งเรื่องราวและสังสารวัฏอันไม่จบไม่สิ้น ไม่อาจปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระได้เลย
การออกจากโลกความคิด คล้ายกับเรื่องราวในหนังเดอะเมทริกซ์ กล่าวคือ ถึงแม้ว่าเราจะถูกกำหนดให้เลือก เราก็ยังพอมี “ทางเลือก” หลงเหลืออีกเล็กน้อย คือเลือกว่าเราจะเดินอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือเดินข้ามพ้นโลกความคิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกกิน “ยาเม็ดสีแดง” หรือ “ยาเม็ดสีน้ำเงิน”
หาก “ทางเลือก” ของคุณคือ “ยาเม็ดสีแดง” หรือหนทางสู่การข้ามพ้นความคิด ผมจะเริ่มแนะนำให้คุณรู้จักกับการแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” หาก “ทางเลือก” ของคุณคือ “ยาเม็ดสีน้ำเงิน” หรือการอยู่กับโลกความคิดความฝันตามความคุ้นชิน คุณอาจไม่จำเป็นต้องอ่านบทความนี้ต่อไป
“ทางเลือก” นี้เป็นของคุณ
...
โลกความคิดเป็นโลกของการ “รู้เรื่อง” กล่าวคือ รู้ว่าเราจะกินอะไรเช้านี้ รู้ว่างานที่กำลังทำอยู่จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือรู้ว่าเรากำลังไม่รู้ว่าเพื่อนคนนี้กำลังคิดกับเราอย่างไร เป็นต้น หากเราพินิจพิจารณาปรากฏการณ์ “รู้เรื่อง” อย่างแยบคาย เราจะพบว่า “ความคิด” เป็นจิตผู้รู้ ที่ไปรู้ “เรื่อง” ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ กระบวนการเบื้องหลังของโลกความคิดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ที่ประกอบสร้างเรื่องราวขึ้นมาผูกมัดและพันธนาการเราไว้
เคล็ดลับของการไปพ้นจากโลกความคิด คือ การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ณ จุดสมดุลหนึ่งแห่งความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เราจะมีปรากฏการณ์สองอย่างคือ ความรู้ว่ารู้อะไร และความรู้ว่าไม่รู้อะไร สรุปลงได้เป็น “รู้เรื่อง” แต่ในปราฏการณ์นั้น จิตผู้รู้จะมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่เรามักไม่คุ้นเคยหรือรู้จักกันคือ ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร
การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ มีขั้นตอนเริ่มต้นที่ การเปิดพื้นที่ให้กับความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร
ภาษาเซนอาจเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การเทน้ำออกจากถ้วย” “จิตของผู้ฝึกใหม่” (Beginner’s mind) หรือ “การทำความสะอาดลิ้นชักให้ว่าง” เป็นต้น
เรียกง่ายๆ ก็คือ เผื่อใจไว้ก่อนว่าเราอาจยังไม่รู้อะไรอีกมาก เป็นการอ่อนน้อมโดยไม่เอาตัวตนของ “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ว่ารู้อะไร และความรู้ว่าไม่รู้อะไร โปรดสังเกตว่า “ความรู้ว่าไม่รู้อะไร” มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการเผื่อใจไว้ว่าเราอาจยังไม่รู้อะไร
แต่ที่สุดของความไม่รู้คือ “ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร” กล่าวคือ ให้เผื่อใจไว้สุดๆ ว่าเรายังไม่รู้อะไร
การแยก “รู้” ออกจาก “เรื่อง” จะเป็นไปไม่ได้เลยหากพื้นที่ของความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไรยังไม่ได้รับการเปิดขึ้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากพื้นที่ในใจของเรายังเต็มไปด้วย “ความรู้” เหตุเพราะความรู้นั้นคือ อัตตาใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั่ว
พื้นที่ของความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร อนุญาตให้จิตผู้รู้เคลื่อนไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ การเริ่มต้นปฏิบัติจิตเพื่อไปสู่การข้ามพ้นความคิด จึงอาศัยเพียงแค่เราเริ่มเผื่อใจอย่างสุดๆ ต่อความไม่รู้
ไม่ใช่แค่ ความรู้ว่าไม่รู้อะไร แต่เป็น ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร!
การเปิดพื้นที่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ประดุจดั่งการเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง หากวัตถุนั้นถูกวางติดอยู่กับผนังกำแพง การเคลื่อนย้ายก็เป็นไปไม่ได้ แม้จะออกแรงดันสักเท่าไร ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่การทลายกำแพงเพื่อเปิดพื้นที่ว่าง ให้กับการเคลื่อนย้ายวัตถุ
การเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อจิตเคลื่อนไปก็จะชนกับกำแพง หรือเปลือกที่ห่อหุ้มจิตเราไว้ เมื่อทลายกำแพงหรือกะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มจิตออกมา ก็จะพบกับพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้น วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น
เมื่อนั้น...จิตผู้รู้ขยายใหญ่ขึ้น ครอบคลุมสิ่งที่ถูกรู้มากขึ้น
จากกำแพงหนึ่งสู่กำแพงหนึ่ง จากเปลือกชั้นหนึ่งสู่เปลือกอีกชั้นหนึ่ง ชั้นแล้วชั้นเล่า...
เมื่อนั้น...จิตใหญ่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลกธาตุและจักรวาฬ ไม่มีการไปไม่มีการมา ฉับพลันนั้นสรรพสิ่งรวมลงในรสเดียวกัน เป็นรสอันเอก ความรู้/อัตตาใหญ่ทั้งปวงกลายเป็นจิตเล็ก ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง หาตัวตนอันใดที่จะยึดถือได้ไม่
สรรพสิ่งเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ ความสละคืนไม่เอาอะไรไว้อีกอุบัติขึ้น ไม่มีแม้สิ่งใดที่จะบังคับควบคุมไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามทำงานอะไรอีกต่อไป ข้ามพ้นความคิดนึกปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง
ฉับพลันนั้นรอยยิ้มน้อยๆ กับความสุขอันปราณีตผุดบังเกิด ใจใหญ่โอบอุ้มสรรพสิ่งด้วยมหากรุณาผุดบังเกิด เพื่อร่วมไหลลื่นไปกับธาตุทั้งปวงอย่างเป็นปกติ
...
ผมไม่รู้หรอกว่าจิตใหญ่/ใจใหญ่คืออะไร
เพราะผมไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร...
Labels: พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
0 Comments:
Subscribe to:
Post Comments (Atom)