โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๐

ระยะหลังมานี้ ฉันได้ร่วมทำงานกับพ่อใหญ่อยู่บ่อยครั้ง พ่อใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) เป็นพ่อทางจิตวิญญาณของฉัน การน้อมตนเป็นลูก เป็นศิษย์นั้น ช่วยเคาะเจ้าอัตตาตัวตนให้ฉันได้มากโขทีเดียว เพราะมันเป็นการช่วยให้ตระหนักกับตนเองว่า เรายังมีครูผู้กำกับดูแล การทำงานร่วมกับครูยังช่วยเปิดมุมมองของฉันให้ลึกซึ้งขึ้นด้วย ผ่านแว่นตาของครูที่มองออกไปเบื้องหน้า นี่ไม่นับประสบการณ์ตรงที่ไหลหลั่งมาจนเรียนไม่หวาดไหวนะ ครูเองก็สอนแบบวิถีโบราณ คือไม่ใช่แค่มาขอเรียน เมื่อจะเรียนก็ต้องยอมตัวด้วย

แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะแค่ยอมตนนี่ก็แสนยากแล้ว โดยมากเรามักพูดว่า “ยอม” แต่ความจริงแท้ภายในของเรากลับไม่เคยยอมลงเลย เรายังกลัวว่าเราจะโง่ หรือด้อยกว่าเขา จนทำให้ฉันเกิดคำถามกับตนเองอยู่บ่อยครั้ง ว่าอะไรนะทำให้คนที่ดื้อรั้น อัตตาแรงอย่างฉัน เกิดสภาวะเชื่องลงได้ขนาดนี้

ทั้งที่ตอนเริ่มเดิมทีนั้น ฉันนี่แหละตัวป่วนของแท้ อยากเรียนก็อยากอยู่ แต่จะให้ก้มหัวให้น่ะไม่มีทาง ยังเชื่อเหลือคณาว่าตน “เจ๋ง” จนกระทั่งฉันค้นพบบางอย่างในตนเอง ผ่านการสอนแบบเรียนผ่านการปฏิบัติ เรียนไปพร้อมกับงานและที่สำคัญครูเองก็เรียนรู้ ฝึกตนและเปลี่ยนแปลงให้เห็นด้วยเช่นกัน และเมื่อเราค้นพบความยิ่งใหญ่ในความธรรมดาสามัญของครู จิตของเราก็น้อมได้ โดยมิจำต้องพยายาม

การน้อมตนและขอเป็นบุตรทางจิตวิญญาณนั้น มีความหมายต่อชีวิตฉันมาก ไม่ใช่ว่าพ่อฉันไม่ดี ไม่น่าเคารพนะ คนเรามักแยกไม่ออกเรื่องความสัมพันธ์ ประการสำคัญคือ ฉันแลเห็นถึงการเกิดใหม่อีกครั้งที่ภายในตนเอง จริงๆ แล้วหากเราไม่ติดยึดกับสภาวะการเกิดเพียงการถือกำเนิดเป็นทารก โดยเฉพาะในวิถีการพัฒนาด้านใน การเกิดใหม่ในแบบที่ดวงตาเปิดรับการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกครั้งนั้น เราอาจพบการเกิด-ดับของตนมากกว่าครั้งหนึ่งที่ชีวิตพึงมี

นับวัน จากที่เคยตามเรียน แบบห่างๆ ฉันก็เริ่มสนิทสนม และหลอมจิตกับพ่อใหญ่ พ่อครูของฉันได้มากขึ้น เมื่อหลอมรวมแล้ว ความเป็นหนึ่งแบบไม่แยกส่วนก็ผุดบังเกิด ทำให้เราแลเห็นความเป็นอื่นต่อกันน้อยลงไปด้วย ก็ความขัดแย้งทั้งหลาย ทั้งที่เกิดจากภายนอกและภายในตัวตนของเรานี้ ต่างล้วนเกิดจากภายในของเราเองที่แลเห็นเขาเป็นอื่นจากตัวเรา แม้บางทีที่เราบอกว่ารักกัน แต่เราก็ยังมีความเป็นอื่นแก่เขา เราจึงไม่อาจเห็นในมิติของเขา ที่อาจเหมือนหรือต่างไปจากที่เรามอง เพราะเมื่อโลกภายในของเราเป็นเช่นไร ภาพที่สะท้อนต่อเราจากโลกภายนอกก็จะเป็นเช่นนั้น เช่น โลกภายในของเรากำลังกลัวและหวาดระแวง เราก็อาจแลเห็นแต่ความไม่น่าวางใจ แลเห็นแต่คนที่กำลังเอารัดเอาเปรียบเรา แม้คนนั้นเขาจะไม่ได้คิดอะไรกับเราเลยก็ตามที แล้วเราก็เริ่มหวาดกลัว หวาดระแวงต่อโลก เราเริ่มไม่วางใจกันและกัน เราเริ่มมีแต่คนที่เรารู้จักแต่ไม่สนิทสนม เรากลายเป็นมนุษย์ที่กลัวการสนิทสนม เพราะเราหลงคิดไปว่า เขาจะมาเอาเปรียบเรา ซึ่งก็ไม่แปลกนัก ที่ทุกวันนี้เราจะไม่รู้จักคนข้างบ้าน มีญาติที่ไม่สนิทนัก มีเพื่อนแต่ก็แค่เรียนมาด้วยกัน อะไรทำนองนั้น

ครั้งหนึ่งในการทำงานร่วมกับพ่อใหญ่ งานโรงเรียนพ่อแม่ ที่ จ.นครสวรรค์ เราพูดคุยเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ การทำชุมชนปฏิบัติการขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้และหล่อเลี้ยงร่วมกัน การฝึกตนของแต่ละคนก็อาจเป็นจริงได้มากขึ้น มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งถามไถ่กับพ่อใหญ่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะเกิดกลุ่มอย่างที่พ่อใหญ่ทำได้ เพราะเขายังมองไม่เห็นช่องทางที่จะเป็นไปได้ในชีวิตเขาเลย เพราะเพื่อนที่เขามีก็คงไม่สนใจเหมือนกับเขา แล้วจะหาใครมาร่วมได้

ฉันประทับใจคำตอบของพ่อมาก แทนที่จะตอบตรงๆ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ถามได้คำตอบเลย แต่พ่อใหญ่กลับเล่าเรื่องการเดินทางของชีวิตแกเอง เรื่องราวที่แต่ละคนมาร่วมกันเป็นชุมชนของเราในวันนี้แม้แต่ตัวฉันเอง แล้วพ่อใหญ่ก็ยิ้มแก่ผู้ถามท่านนั้น และกล่าวว่า “ผมไม่เคยกลัวการสนิทสนม ผมพร้อมจะดูแลคนทุกคนที่เข้ามาในชีวิตอย่างสนิทชิดเชื้อ ผมมันพวกใจกล้าบ้าบิ่น กล้าที่จะบอกรักก่อน โดยไม่กลัวการปฏิเสธ” แล้วแกก็หัวเราะ

สิ่งหนึ่งที่มักพบเจอบ่อยครั้งทั้งกับตนเองและคนรอบข้างคือ เรามองเห็นข้อจำกัดของผู้อื่นง่ายกว่าข้อจำกัดที่เรามี เราแลเห็นแต่อุปสรรคและภาระที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ เราจึงพยายามจัดวางความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในชีวิต โดยให้ตัวตนของเรานี้ปลอดภัยที่สุดจากความสัมพันธ์นั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังคงมีความเป็นอื่นอยู่ในความสัมพันธ์ของเราเสมอ แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน และเมื่อเป็นอื่นจากกัน เราและเขาก็มิอาจหลอมรวมกันได้ การร่วมกันของผู้คนส่วนมากจึงเป็นดั่งภาระ เป็นงานที่ต้องจัดการดูแล ไม่ช้าเราก็เหนื่อย หรือมีอาการอยากหนีห่างในบางครั้ง แล้วเราก็มักพบแต่ความผิดหวังในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในความสัมพันธ์มันคงต่างไปจากการจัดหมวดหมู่ของสิ่งของในบ้าน หรือโต๊ะทำงานของเรา ให้เข้าที่เข้าทาง เป็นระบบ เพราะเราต่างเติบโตและเปลี่ยนแปลงกันตลอดเวลา เรียนรู้ และเจ็บปวดเป็นด้วยกันทั้งนั้น จะว่าไปเจ้าความเจ็บปวดนี่ก็ไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะเท่ากับเรามีพื้นที่การเรียนรู้เพิ่ม ถ้าเราคาดหวังน้อยลง กลัวความเจ็บปวดน้อยกว่านี้ เราอาจค้นพบความอัศจรรย์ในมิตรภาพระหว่างกัน และมันคงง่ายมากขึ้นที่เราจะเชื้อเชิญผู้คนเข้ามาร่วมกับเรา กล้าบอกคำรัก คำแห่งมิตรไมตรีจากตัวเราออกไปก่อน โดยไม่ต้องกังวลต่อผลการตอบรับ เพื่อสร้างพื้นที่อันปลอดภัยและน่าวางใจให้เกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์

ฉันตระหนักเสมอว่า ฉันมีญาติ มีพี่และน้อง มีกัลยาณมิตรที่หล่อเลี้ยงดูแลชีวิตฉัน มากขึ้นทุกขณะ พ่อใหญ่จะบอกอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อเราดูแลเขา พวกเขาก็จะดูแลเรา ลูกหลานเราก็มีพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ดูดายลูกหลานของพวกเขา การไม่ทิ้งใครคนหนึ่งให้โดดเดี่ยวกับทุกข์ของเขา ก็เท่ากับเราได้ร่วมดูแลโลกทั้งใบแล้ว ชีวิตหนึ่งยังมีอะไรวิเศษมากไปกว่านี้อีก หากเพียงเรามีความสัมพันธ์อันงดงามอยู่รอบตัว

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home