โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑
คุณคิดหรือว่าสิ่งที่คุณพูดคือความจริง...
คำพูดที่เอื้อนเอ่ยออกจากปากของเรา มันคือความจริงทั้งหมดในใจของเราหรือเปล่า สิ่งที่เราทำลงไป ใช่สิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ ตามเสียงที่หัวใจตะโกนบอกหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นเพียงพื้นผิวที่อยู่บนสุดของความจริงที่อยู่เบื้องลึกในจิตใจเราเท่านั้น เป็นเพียงเปลือกของความจริงเท่านั้น
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเพิ่งได้ค้นพบว่าตัวเองเป็นจอมโกหก โกหกคนอื่นยังไม่พอ ยังโกหกตัวเองอีกด้วย ตอนที่ได้รับรู้ถึงด้านมืดในจิตใจของตัวเองเช่นนี้ รู้สึกตกใจ หวาดหวั่นใจเป็นที่สุด หัวใจเต้นแรง ตัวชาไปทั้งตัว ความคิดเวียนวนสับสนไปมาว่า ทำไมเราจึงเป็นคนเช่นนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นไหลผ่านเข้า ย้อนกลับเป็นฉากๆ แสดงภาพให้ยิ่งตอกย้ำตราตรึงว่า เราเป็นจอมหลอกลวง พูดในสิ่งที่ไม่ใช่ความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ทำในสิ่งเราไม่ได้ต้องการจะทำมันจริงๆ หรือไม่ทำตามความต้องการในหัวใจของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาลวงคนอื่นและตัวเองอยู่เสมอ แล้วเพราะอะไรหรือสิ่งใดกันเล่า ที่ทำให้เราเป็นคนลวงหลอกเช่นนี้ ทั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนี้เลย ไม่ได้อยากที่จะเป็นคนแบบนี้ ไม่ได้ต้องการให้คนอื่นต้องมาเจ็บปวดหรือแบกรับความทุกข์จากคำโกหกของเรา เราแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปกับสิ่งที่เราทำลงไป ไม่เลย ไม่อยากเลย.... เสียงจากมุมที่มืดมิดในหัวใจร้องดังขึ้นมาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เราคิดว่าตัวเองเป็นคนดี มีน้ำใจ ช่วยเหลือแบ่งปันสุขทุกข์ รับฟัง ใส่ใจผู้อื่น ทำเพื่อผู้อื่น ทั้งหมดนี้เรากำลังโกหกตัวเองและหลอกลวงคนอื่นอยู่หรือเปล่า เพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นอาจจะไม่ใช่ความต้องการแท้จริงที่อยู่เบื้องลึกในใจของเรา
ความลวงที่เราสร้างขึ้นมาหลอกคนอื่น มันตามกลับมาหลอนตัวเราเอง หลอกหลอนจนเราไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วความจริงคือสิ่งใด เราคิดและรู้สึกอย่างไรกันแน่ อะไรคือสิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ กระทั่งแทบไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนเช่นไร นั่นเป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุดที่ได้ค้นพบว่าตัวตนของเราบิดเบี้ยวจากภาพที่เราคิดจินตนาการไว้ และตัวเราเองที่เป็นคนทำให้ตัวตนของเราบิดเบี้ยว ทั้งยังทำให้คนอื่นรับรู้ตัวตนของเราแบบผิดๆ อีกด้วย เพียงเพราะเราไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึก ความคิด ความต้องการของตัวเอง
เราลองถอยหลังมาสักหนึ่งก้าว แล้วเฝ้ามองดูความลวงที่เราสร้างขึ้นกันเถอะ
เมื่อเรากำลังลวงหลอกตัวเองและคนอื่น เรามักหาเหตุผลต่างๆ มาอ้างเพื่อให้รู้สึกว่า เป็นความชอบธรรมในการที่เราจะทำเช่นนั้น ทำเพื่อให้งานออกมาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพื่อผู้คนจะได้ไม่ต้องขัดแย้ง มีแต่ความรักให้แก่กัน อยากให้มีความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อคนนั้น เพื่อสิ่งนี้ ข้ออ้างสารพัดที่เราสร้างขึ้นมา ท้ายที่สุดนั่นก็เป็นเพียงการปิดบัง เก็บงำความต้องการ ความปรารถนาของเราเอาไว้ เพื่อรักษาภาพตัวตนของเรา ตัวตนที่แสนจะอ่อนแอ เปราะบาง ที่ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยบอกความต้องการ ความปรารถนาที่แท้จริงของเราต่างหาก กลัวที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด กับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวัง
และเหตุผลที่เรายกมาอ้างนั้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความจริงในใจเราเท่านั้น แต่เรามักจะหยิบมันขึ้นมาพูดราวกับนั้นเป็นเหตุผลหลักสำคัญในการที่เราจะเลือกหรือตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างลงไป แล้วเราก็เก่งมากในการที่จะทำให้คนอื่นๆ เชื่อว่านั่นคือ เหตุผลที่แท้จริงของเรา จนในที่สุดคนอื่นๆ ก็เชื่อตามที่เราอยากให้เข้าใจ ปฏิบัติกับเราอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่จริงๆ แล้วสิ่งนั้นไม่ใช่ความจริงของใจเราเลย เพราะเหตุนี้เองคนอื่นจึงเข้าใจเราคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ปฏิบัติต่อเราอย่างผิดๆ ถูกๆ หรือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับเราอย่างไรดี และเราก็มักจะอึดอัดการสิ่งที่คนอื่นคิดและปฏิบัติต่อเรา ทั้งที่เราเองที่เป็นฝ่ายเริ่มต้นในการที่ทำให้คนอื่นเข้าใจเราอย่างถูกๆ ผิดๆ เอง
บางครั้งเราก็ใช้เหตุผลมาอ้างอิงเยอะแยะไปหมด ซับซ้อนหลายชั้น จนบางครั้งตัวเราก็ยังงงเสียเองว่า จริงๆ แล้วเหตุผลที่แท้จริงคือสิ่งใดกันแน่ ยิ่งเรามีข้ออ้างอื่นมากลบกลื่นความจริงในใจเรามากขึ้น ตัวตนของเราก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นๆ คนรอบข้างก็เข้าถึงความจริงในตัวเรายากมากขึ้น จนในที่สุดมันได้กลายมาเป็นการหลอกลวงตัวเอง ค้นหาเสียงที่แท้จริงในตัวเองไม่เจอเสียแล้ว เพราะเสียงนั้นมันไม่เคยดังถึงหูผู้ใด ไม่เคยถูกสัมผัส ไม่เคยถูกรับรู้ ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงที่แท้ในใจเรา เพราะแม้แต่ตัวเราเองยังมองข้ามเสมอ เราเลือกที่จะไม่ฟัง เลือกที่จะเก็บและปิดบังเสียงในใจเราจนมันเลือนหายไป แล้วเราก็พบว่าเสียงนั้นไม่ได้หายไปไหน เสียงแห่งความจริงในใจเราจะกลับมาหลอกหลอนตัวเราเสมอ ไม่ว่าเราจะเก็บงำมันไว้ดีสักเพียงไหน สุดท้ายเราก็ไม่สามารถที่จะทนการหลอกลวงตัวเองต่อไปได้อีก เพราะเราจะเริ่มรู้สึกว่าการหลอกลวงตัวเองนั้นมันกำลังจะกัดกินตัวตนของเราไปเรื่อยๆ พลังชีวิตของเรากำลังค่อยๆ หมดไป เหนื่อยล้า ไม่มีสนุก ไม่มีความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย ด้วยว่าเราได้กักขังเสียงภายในและตัวตนที่แท้จริงของเราเอาไว้มานานแสนนาน และภาพลวงที่เราสร้างขึ้นนั้นมันได้บาดรัดหัวใจของเราจนไม่อาจทนความอึดอัดได้อีกต่อไป
การที่เราจะแหวกม่านมายา ภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้นมาเองนั้นเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และเราอาจจะรู้สึกเจ็บปวดกับมันมากมาย แต่เมื่อรับรู้ว่าในตัวเรามีมุมของการลวงหลอกตัวเองและผู้อื่นซุกซ่อนอยู่ สิ่งที่เราจะทำได้คือต้องอ่อนโยนกับตัวเองให้มาก ลดการกล่าวโทษหรือตัดสินตัวเองที่เป็นคนอย่างนี้ เพราะการที่เราเลือกใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้เราสามารถดำรงตนอยู่ได้ในทุกวันนี้ การที่เราไม่ได้รับฟังหรือทำตามเสียงภายในตัวตนที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิด เพียงแค่เพราะเราหลงลืมที่จะเอาใจใส่ตัวเอง เรามักเลือกที่จะฟังเสียงคนอื่น ความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพียงเพราะเรากลัว กลัวที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราพูดความคิด ความรู้สึกที่แท้จริง กลัวว่าจะบางสิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่ใจคิดวาดหวัง กลัวว่าถ้าพูดสิ่งที่เป็นความปรารถนาในใจของเราออกไปแล้วเราจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่น่ารัก ไม่เป็นคนดี เราวาดความกลัวไว้ก่อนเสมอแล้วเอาความกลัวนั้นมาห่อหุ้มตัวตนอันเปราะบางของเราไว้
ความกลัวนั้นเป็นมายาที่เราสร้างเอาไว้เช่นกัน การพูดความจริงและการทำตามสิ่งที่ใจเราปรารถนาไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเลย นั่นกลับเป็นสิ่งที่กล้าหาญยิ่งกว่าสิ่งใดที่เราสามารถซื่อสัตย์ต่อตัวเองได้ เมื่อเราซื่อสัตย์กับตัวเองเราจึงจะสามารถซื่อสัตย์ต่อคนอื่นได้ เมื่อเราพูดความจริง คนอื่นก็จะรับรู้เราตามความเป็นจริง จะทำให้เขาเหล่านั้นลดการปรุงแต่งที่มีต่อเรา ปฏิบัติต่อเราอย่างที่ถูกที่ควรมากขึ้น แม้ความจริงที่เราพูดอาจจะทำให้ตัวเองและคนอื่นต้องเจ็บปวดกับความจริงเหล่านั้น แต่นั่นคือสิ่งที่จะช่วยกะเทาะเปลือกตัวตนที่ขลาดกลัวของเราให้มีความกล้าหาญมากยิ่งขึ้น และความมีน้ำใจ การช่วยเหลือแบ่งปัน ร่วมทุกข์สุขกับผู้อื่นของเราก็จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากใจจริงที่มันเอ่อล้นไปยังผู้อื่นโดยไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง ที่เราและผู้อื่นก็สามารถรับรู้ได้ถึงความจริงใจนั้น
การลวงหลอกตัวเองสร้างบาดแผลในใจของเรามานาน อย่าให้มันกลายเป็นแผลเรื้อรังคอยกัดกร่อนชีวิตและจิตวิญญาณของเราอีกต่อไปเลย ปลดปล่อยตัวตนของเราออกจากความลวงที่เราสร้างพันธนาการตนเองไว้ เบื้องหลังความลวงคือ ความจริงอันไพศาล ความจริงที่เราไม่อาจตัดสินตัวเองและผู้อื่นได้ นอกจากเปิดใจกว้างให้ความจริงเข้ามาปรากฏในใจเราและเผยความจริงนั้นออกมาด้วยตัวเราเองเท่านั้น คงไม่มีใครที่จะปลดปล่อยตัวเราออกจากความลวงหลอกตัวเองได้นอกจากตัวเราเอง ม่านลวงที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราก็ต้องสลายมันด้วยตัวเองเช่นกัน
Labels: เจนจิรา โลชา
โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๑
เร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เรื่อง Amistad ซึ่งกำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก เมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษที่แล้ว รู้สึกประหลาดใจว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกาในยุคก่อนสงครามกลางเมืองเมื่อราว พ.ศ. 2382 มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับไทยในยุคดิจิตอล 2551 ทีเดียว
Amistad พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณของชาติ การเมือง การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และบรรยากาศความขัดแย้งทางความคิดในสังคมระหว่างคนเหนือกับคนใต้ของสหรัฐอเมริกา
ชนวนของเรื่องเริ่มจากเรือเดินสมุทรสัญชาติสเปนชื่อ La Amistad ซึ่งแปลว่า มิตรภาพไร้พรมแดน
ชื่อเรือช่างเย้ยหยันความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเสียเหลือเกิน เนื่องด้วยเรือลำนี้บรรทุกชาวแอฟริกันที่ถูกลักลอบจับมาเพื่อขายต่อนายทาส ระหว่างทางที่รอนแรมในทะเล ชายหลายคนถูกเฆี่ยนตีจนตาย ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผู้คนกว่า 50 ชีวิตถูกทิ้งถ่วงน้ำเพื่อลดภาระน้ำหนักของเรือและเพื่อคลายภาวะอาหารขาดแคลน
คืนฝนตกวันหนึ่ง หนุ่มผิวหมึกชื่อ ซินเค ใช้นิ้วแคะตะปูจากแผ่นไม้ของเรือออกมาและใช้ตะปูไขทำลายโซ่ตรวนที่ล่ามอิสรภาพเขาไว้ เขาและพวกฆ่าลูกเรือคนขาวเกือบหมดลำ เหลือเพียงผู้ที่สามารถเดินเรือได้ เพื่อให้นำเขากับพวกกลับกาฬทวีป
แต่เรือกลับไปขึ้นฝั่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกคนบนเรือถูกจับในข้อหาฆ่าคน และรัฐบาลภายใต้การนำของพระราชินีอิสซาเบลที่ 2 ของสเปนเรียกร้องให้สหรัฐส่งเรือพร้อมสินค้าทั้งหมดกลับสเปน ซึ่งสินค้าที่ว่านี้ก็ คือ มนุษย์ที่ถูกทำให้เป็นทาส
ในช่วงปีพ.ศ. 2382 ทาสเป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งความคิดและวิถีชีวิตระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ของอเมริกา
รัฐทางใต้ของอเมริกาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ซึ่งอ้างความจำเป็นในการใช้แรงงานทาสจำนวนมาก ส่วนรัฐทางเหนือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรเป็นหลัก
ความเป็นความตายของทาส กลายเป็นประเด็นทางการเมือง เรื่องชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้ต่างฝ่ายพยายามจะเอาชนะกัน ทั้งการเจรจาต่อรองโดยอ้างความชอบธรรมจริยธรรม บ้างอ้างวิถีชีวิตตามครรลองของพื้นถิ่น และบ้างก็อ้างว่าทำเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง
นอกจากนั้นยังมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ด้วยหวังให้ผู้พิพากษาที่ตนเลือกมานั่งบัลลังก์ตัดสินลงโทษชาวแอฟริกันในข้อหาฆาตกรรม และส่งเรือสินค้าทาสนี้กลับสเปน
แต่ผู้พิพากษาหนุ่มตัดสินความให้จำเลยได้รับอิสรภาพ ส่วนผู้ค้าทาสถูกคุมขังรับโทษ
คำพิพากษานี้ทำให้การเมืองขั้วใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง และอุทธรณ์เรื่องนี้สู่ศาลสูงสุด เป็นเหตุให้ นักการเมือง วุฒิสมาชิก ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ผู้ที่กำลังสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และอดีตประธานาธิบดีเข้ามาเกี่ยวข้อง
หนึ่งในนั้นคือ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 6 ของอเมริกา คือ จอห์น ควินซี อดัมส์ (ดำรงตำแหน่งปีพ.ศ. 2368-2372) ท่านเข้ามาช่วยว่าความให้จำเลยทาส คดีนี้กลายเป็นคดีทางการเมืองไปแล้ว
ก่อนจะขึ้นว่าความต่อศาลสูง ท่านประธานาธิบดี อดัมส์ ขอพูดกับ ซินเค ซึ่งบทสนทนาสำคัญตอนนี้มีว่า
“เราจะไม่ได้ขึ้นศาลโดยลำพังหรอก” ซินเคพูด
อดีตประธานาธิบดีอดัมส์ ส่ายหน้าพร้อมกล่าวว่า “ไม่หรอก เรามีสิทธิ และความถูกต้องอยู่ด้วยกับเรา”
“เปล่า ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น” ซินเคตอบ “ในยามวิกฤตคับขัน พวกเราชาวเมนเดจะเรียกหาวิญญาณเหล่าบรรพบุรุษให้มาช่วย ให้นำปัญญาญาณจากอดีตมากอบกู้สถานการณ์ในปัจจุบันอันมืดมน บรรพบุรุษต้องมาตามเสียงเรียกของผม เพราะว่า ในเวลาเช่นนี้ ผมคือเหตุผลทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เป็นเครื่องแสดงว่าพวกท่านทั้งหลายเคยดำรงอยู่จริง”
คำพูดง่าย ๆ เช่นนี้ ทำให้อดัมส์เห็นทางที่จะพูดต่อศาล “ถ้าทาสเหล่านี้สมควรตาย เราจะทำอย่างไรกับเอกสารคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่บรรพชนร่วมกันร่างขึ้น ที่ว่า ‘มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน’ ”
“ข้อเสนอแนะของผม ก็คือ ฉีกมันทิ้งไปเสีย” อดัมส์กล่าว เพราะหากเราทำลายจิตวิญญาณของบรรพชนที่ให้กำเนิดประเทศนี้ นั่นก็เท่ากับว่าพวกท่านไม่เคยดำรงอยู่เลย จิตวิญญาณที่สร้างชาติและความเป็นอเมริกันนั้นได้ถูกทำลายและไม่มีอยู่จริง
จอห์น ควินซี อดัมส์ เป็นลูกชายของประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐอเมริกา จอห์น อดัมส์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบิดาผู้วางรากฐานจิตวิญญาณของอเมริกันชน และมีส่วนร่วมในการเขียนคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319 ร่วมกับ เบนจามิน แฟรงคลิน โรเบิร์ต ลิฟวิงสตัน โทมัส เจฟเฟอสัน และผู้แทนประชาชนอีกกว่า 50 คน ที่ร่วมลงนาม
จิตวิญญาณอเมริกาคือสิทธิ เสรีภาพของทุกคน ซึ่งไม่ว่ากฎหมาย กฎระเบียบ วิถีชีวิต แม้แต่รัฐบาล ก็จะทำลายหรือละเมิดมิได้
แล้วจิตวิญญาณของสยามประเทศ คืออะไร?
เพื่อนในแดนอีสานเล่าความครั้งเธอยังเยาว์ว่า “สมัยก่อนคนรุ่นปู่ย่าตาทวดอยู่ร่วมกันหลากเชื้อชาติ เมื่อมีคนจากต่างถิ่น เช่น ญวน ลาว เขมร มาในพื้นที่ เราก็แบ่งกันอยู่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นเพื่อนกัน”
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีเช่นนี้หรือเปล่าที่เป็นหัวใจของชนแถบนี้ คนสยามค่อนข้างใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างได้ พร้อมเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ เล่นแร่แปรธาตุได้เสมอ มีความสามารถอย่างยิ่งในการหลอมรวม ผสมผสาน และประยุกต์ดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับจริต ความคุ้นเคยของตน เห็นได้ชัดจากการดัดแปลงอาหารต่างๆให้มีเอกลักษณ์เป็นแบบฉบับของตน
จิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้อยู่ได้จนปัจจุบัน ยังมีอยู่หรือไม่?
ในภาพยนตร์ อดีตประธานาธิบดี อดัมส์ ยังกล่าวต่อไปว่า บางทีการที่คนเราไม่หวนระลึกถึงภูมิปัญญาในอดีต ไม่กลับไปสู่รากเหง้าของตนอาจเป็นเพราะความกลัวที่จะเผชิญกับความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว เราไม่ได้เป็นปัจเจกชนอย่างที่เราคิดและหวงแหน เราคือผลสืบเนื่องของอดีต
“สิ่งที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ คือสิ่งที่เราเป็นมาแต่อดีต เราต้องการความเข้มแข็งจากบรรพชน ปัญญาที่จะช่วยเราก้าวข้ามความกลัวและอคติของตัวเอง โปรดให้พลังแก่เราที่จะกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าหากสิ่งนั้นหมายถึง สงครามกลางเมืองแล้วละก็ ขอให้มันมา และเมื่อสงครามกลางเมืองมาถึง ก็ขอให้มันเป็นการปฏิรูปครั้งสุดท้ายของอเมริกาเถิด” อดัมส์กล่าว
สงครามกลางเมืองระหว่างเหนือและใต้จบลงเมื่อปีพ.ศ. 2408 ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศอิสรภาพให้กับทาส และ สถาปนาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในอเมริกา แต่สงครามกลางเมืองนี้ก็ได้คร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 620,000 นาย และ พลเรือนได้รับบาดเจ็บอีกมาก ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การลอบสังหารประธานาธิบดี ลินคอล์น ในปีเดียวกันนั่นเอง
หวังว่าประวัติศาสตร์ของชาติหนึ่ง จะไม่เป็นอนาคตของอีกชาติหนึ่งที่อยู่ไกลกว่าครึ่งโลก แต่กิเลสที่ครองใจคนทุกเผ่าพันธุ์และทุกยุคสมัยอาจทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซ้ำซากได้ จนกว่ามนุษย์จะเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเสียใหม่ กงล้อของประวัติศาสตร์จึงสามารถสร้างรอยทางใหม่ ๆ ให้พ้นจากหล่มทางเดิม
บางทีหนึ่งในหนทางที่เราจะเปลี่ยนจิตใจและเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในอนาคตได้ คือ การกลับไปมองอดีต เรียนรู้จากความผิดพลาด ค้นหารากเหง้าของตน เรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายอย่างที่บรรพบุรุษเราเคยอยู่กันมา
Labels: กรรณจริยา สุขรุ่ง
โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑
เมื่อวานผู้เขียนได้ไปร่วมงานเสวนาที่จัดโดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหัวข้อ “ไทย ... ภายหลังเศรษฐกิจบริโภคนิยม (Post Consumerism)” โดย ดร.ไสว บุญมา อดีตเศรษฐกรประจำธนาคารโลก ท่านกล่าวว่าบ่อยครั้งที่คนมักกล่าวโทษแนวคิดทุนนิยม บริโภคนิยม ตลาดเสรีว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้สังคมเรามีปัญหามากมายในทุกวันนี้ อ.ไสวชวนเดินย้อนกลับไปมองการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของโลกเราว่า ตั้งแต่คนเริ่มอยู่กันเป็นชุมชนเมื่อกว่าหมื่นปีมาแล้ว ระบบเศรษฐกิจแรกที่เราใช้กันก็คือระบบตลาดเสรี ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเป็นของบุคคล และบุคคลก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันตามความพอใจ และน่าแปลกใจว่าประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่ได้ล่มสลายหรือย้ายไปต่อปลายแถวของการพัฒนาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรมายา โรมัน อียิปต์ ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือประเทศเพื่อนบ้านเรา กัมพูชา
เพราะอะไรประเทศเหล่านี้ที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนจึงถดถอยไป อ.ไสวมีคำตอบสามข้อคือ 1) ความเจริญดึงดูดให้ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น ประชากรมากขึ้นตามมาด้วยความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากขึ้นเพื่อการบริโภค 2) ความเจริญทางศิลปะวิทยาการก็นำมาซึ่งการสร้างสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ ทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปิรามิด ปราสาท วัด โบสถ์ หลายที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นมรดกโลก สิ่งเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงทรัพยากรบุคคลไปอย่างมหาศาล จนถึงขั้นที่ธรรมชาติเสียสมดุล 3) สุดท้ายเมื่อเกิดการแสดงแสนยานุภาพ ก็ตามมาด้วยสงคราม ทั้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและแย่งชิงความเชื่อ
เราแย่งชิงทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งธรรมชาติให้เราไม่ไหวอีกต่อไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตแตกต่างจากเหตุการณ์ในทุกวันนี้หรือไม่? วันนี้หลายคนกล่าวโทษระบบทุนนิยม หรือตลาดเสรี หรือแม้แต่กล่าวโทษ อดัม สมิธ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งตลาดเสรีว่าเป็นตัวการทำร้ายสังคม
ปัญหาอยู่ที่ระบบจริงหรือ? ในอดีตเคยมีคนตั้งคำถามนี้ จนก่อเกิดเป็นระบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ตัดสินใจการใช้ทรัพยากร ซึ่งระบบนั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองไปแล้ว
แท้จริงแล้วระบบตลาดเสรีคือธรรมชาติของมนุษย์ คนเราต้องการเสรีภาพที่จะเป็นเจ้าของทรัพยากร และตัดสินใจได้เองว่าจะทำอะไรกับมัน และเราก็เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่รู้จักการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาแต่โบราณกาล อดัม สมิธไม่ได้เป็นผู้ค้นพบตลาดเสรี แต่เป็นคนนำเอาธรรมชาติของคนมาอธิบายและเสนอว่าควรทำอย่างไรให้สังคมอยู่ได้อย่างได้ประโยชน์สูงสุด และจุดสำคัญที่เขาบอกไว้แต่คนรุ่นหลังไม่ค่อยได้พูดถึงก็คือ ตลาดเสรีจะเป็นไปได้ด้วยดีต่อเมื่อคนมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ทำตามกฎเกณฑ์ และรู้จักพอ
เมื่อโลกพัฒนามากขึ้น ระบบสาธารณสุขดีขึ้น จำนวนประชากรก็มากขึ้น บวกกับความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้เราแต่ละคนมีศักยภาพในการผลิตและบริโภคมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันมีคนบนโลก 6.7 พันล้านคน ในขณะที่โลกเรามีศักยภาพที่จะรองรับการดำรงอยู่ของคนด้วยการบริโภคที่พอประมาณเพียง 4 พันล้านคน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อพวกเราที่ล้นโลกกันอยู่แล้วให้คุณค่า วางเป้าหมายชีวิตไว้กับการเติบโต ความสำเร็จของบุคคลหมายถึงหน้าที่การงานที่เจริญก้าวหน้า เงินเดือนสูงขึ้น มีบ้าน มีรถที่ใหญ่ขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจคือกำไรมากขึ้น ซึ่งมักจะมาจากความสามารถในการกระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้น และบางที่ต้องมากขึ้นในอัตราที่มากขึ้นด้วย แม้แต่ความสำเร็จของประเทศก็ยังวัดกันด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ
ถ้าคนเราจำนวนมากขึ้น แต่ละคนต้องใช้มากขึ้นๆๆๆ การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัด จากประสบการณ์ในอดีต สิ่งเดียวที่หยุดเราได้ก็คือเมื่อธรรมชาติทนไม่ไหวและหยุดเราเอง แล้วเรายังจะเดินตามกันไปบนทางสายนี้กันอยู่อีกหรือ?
ในวงพูดคุยมีการแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและทัศนคติของคน จะมีวิธีอะไรที่จะทำให้คนบริโภคอย่างพอเพียง ให้คนมีจริยธรรมทำตามกฎเกณฑ์ ผู้คนหันไปถามท่านผู้อาวุโสบนเวทีว่าคำตอบคืออะไร ท่านตอบได้น่าชื่นชมสำหรับผู้เขียน แต่อาจจะน่าผิดหวังสำหรับบางท่าน ซึ่งก็คือ “ผมเดินทางมาเยอะในการค้นหา และผมก็ได้พบคำตอบของผมแล้ว และพวกคุณก็ต้องหาคำตอบให้ตัวเอง”
เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วคำตอบของเราล่ะคืออะไร ถ้าเทียบการเดินทางจากอายุซึ่งอาจจะยังไม่มาก แต่ก็เชื่อว่าตัวเองได้ทดลองมาพอควรและค้นพบคำตอบกับตัวเองในวันนี้ สังคมเราสืบสาวหาสาเหตุของปัญหากันมาเยอะ และมาจบอยู่ที่การบริโภคอย่างมากเกินควร แต่เราไม่ค่อยได้สืบไปต่อว่าทำไมเราถึงต้องบริโภคกันมากมายขนาดนั้น?
น่าจะเป็นเพราะเราต้องการอะไรซักอย่างจากนอกตัวเพื่อมาเติมเต็ม มาเทียบวัดคุณค่าของตัวเอง รสนิยมบางทีไปถึงชนชั้นของเราบอกได้จากยี่ห้อเครื่องแต่งกาย ความสำเร็จบอกได้จากเงินเดือน บ้าน รถ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเรารู้สึกไม่เต็มด้วยตัวเอง ไม่มีคุณค่า ไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าจะมีสิ่งเหล่านั้น มองย้อนกลับไปก็เห็นว่าผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น เมื่อต้องไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่คุ้นเคยก็ยิ่งพยายามแต่งตัวให้ดูดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง หรือจะอยากทานของหวานหรือซื้อของใหม่ๆ เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเบื่อหน่าย
คำตอบสำหรับผู้เขียนจึงคือ การรู้จักตัวเอง เข้าถึงคุณค่าและความดีงามพื้นฐานของตัวเอง เมื่อเรามีความมั่นคงภายใน เราจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาของนอกตัวมายืนยัน เมื่อนั้นเราถึงจะรู้จักความพอเพียงได้ การมีมากเกินไปบางครั้งอาจจะเป็นภาระที่ทำให้เกิดความยึดติดมากขึ้นและละวางได้ยากขึ้นด้วยซ้ำ การเดินทางนี้เป็นการเดินทางที่แต่ละคนต้องออกเดินด้วยตัวเอง และจะมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่เข้าใจ
การเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องเริ่มจากคนแต่ละคนหาคำตอบให้กับตัวเอง ถึงจะยังทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วจึงไปชักชวนคนอื่นไปด้วยได้ ไม่สามารถเกิดได้ด้วยการวางระบบที่บังคับ ชักชวน หรือแม้แต่การสร้างแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนแปลง เพราะโดยธรรมชาติคนเราต้องการเสรีภาพ
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนแต่ละคนเลือกที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจตัวเอง ด้วยตัวเอง สิ่งที่เราช่วยได้จึงน่าจะเป็นการทำงานกับตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมทาง เปิดความเป็นไปได้ให้คนได้เห็น และสร้างกระบวนการที่ช่วยให้คนได้เลือกที่จะทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง
สิ่งนี้อาจจะยากและช้ามาก แต่ก็เป็นแนวทางเดียวที่มั่นคงและยั่งยืน การแก้ปัญหาไม่สามารถใช้แนวคิดเดิมกับที่ทำให้เกิดปัญหานั้นได้
สุดท้าย ในวันเดียวกันผู้เขียนได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการเปลี่ยนตัวเองเข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานในแนวคิดนี้ พี่ๆ ในองค์กรก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงค่าตอบแทนที่ไม่ได้มากเท่าที่อื่นๆ หลังจากได้ฟังอาจารย์ไสวยิ่งมั่นใจว่าถ้าจะทำงานตามแนวคิดนี้ก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้
ถ้าเราเลือกการเดินทางเพื่อการละวาง เราจะมีเยอะไปทำไม
Labels: กฤตยา ศรีสรรพกิจ
โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๑
การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงได้หลายด้านหลายมิติและเปลี่ยนแปลงอย่างลงลึกนั้น คำตอบไม่ได้อยู่ที่การมีเครื่องไม้เครื่องมืออันวิเศษมหัศจรรย์หรือเทคโนโลยีทางการศึกษาชั้นสูง ไม่ได้อยู่ที่ครูผู้สอนที่รอบรู้ชำนาญแล้วพร่ำสอนในแบบที่หยิบยื่นความรู้ให้ทางเดียว และอาจไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมบังคับให้ผู้เรียนต้องแสวงหาเติมเต็มความรู้ด้วยความรู้สึกขาดพร่องอยู่ตลอดเวลา ทำเหมือนผู้เรียนเป็นถังขนาดมหึมาเพื่อรองรับข้อมูลความรู้อันมากมายมหาศาลในโลกสมัยใหม่นี้ แต่แล้วผู้เรียนก็ไม่สามารถย่อยสังเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้เข้าสู่วิถีชีวิตที่เป็นจริง และไม่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในระดับสังคมได้
การเรียนรู้ที่ดีนั้นนอกจากจะทำให้เกิดความรู้ความสามารถหรือทักษะที่ใช้ประกอบกิจการงานแล้ว ควรทำให้ผู้เรียนมีสติปัญญามากพอที่จะสามารถเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ของชีวิต ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง เข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้ง สามารถดำรงอยู่และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ด้วยดีแม้จะมีความแตกต่างขัดแย้งกันก็ตาม ทั้งยังรู้เท่าทันโครงสร้างสังคมและธรรมชาติแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่วิกฤตการณ์หลายด้านในขณะนี้
ดังนั้นหากจะจัดการเรียนรู้ไปสู่ผลดังกล่าวนี้ เราจำต้องสร้างสรรค์วิธีการหรือกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่ซึ่งมีลักษณะพื้นฐานสำคัญก็คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทุกคนเรียนรู้จากกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจากผู้สอนเป็นหลักอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันผู้สอนเองก็ควรรับฟังและเรียนรู้จากผู้เรียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้สอนจึงไม่ได้ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลความรู้แต่ถ่ายเดียว แต่ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้อันหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์ตรงและตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเสริมเติมความรู้ประสบการณ์ของตนบ้างเพื่อทำให้บทเรียนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นในที่นี้จึงขอเรียกผู้สอนว่า “กระบวนกร” แทน
การเรียนรู้ที่เอากลุ่มเป็นตัวตั้งนั้น กระบวนกรจำต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ เนื้อหา และความหลากหลายของผู้เรียน ดังนั้นกระบวนการหนึ่งๆ อาจจะไม่สามารถใช้ได้ดีในทุกบริบท กระบวรกรจึงไม่ควรหยุดนิ่งที่จะแสวงหาและทดลองใช้กระบวนการใหม่ๆ กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งนั้นมักให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์โดยตรง โดยยังไม่เน้นการให้ข้อมูลความรู้ ดังเช่น หากจะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติแวดล้อมเพื่อให้เกิดสำนึกอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เราก็จะพาผู้เรียนไปเดินรอนแรมในป่าพร้อมกับพูดคุยกับชาวบ้านชาวเขาที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย หรือหากจะเรียนรู้เรื่องความยากจนในสังคมไทยก็จะจัดให้ผู้เรียนเข้าไปชุบตัวอยู่กับชาวบ้านที่เดือดร้อนพร้อมกับจัดกระบวนการพูดคุยวิเคราะห์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเชื่อมโยงไปสู่ภาพรวมโครงสร้างสังคมไทยที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าจะเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่มก็ให้ผู้เรียนได้ลองทำงานหรือกิจกรรมจำลองร่วมกันแล้วถอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงเข้าสู่การทำงานในชีวิตจริง เป็นต้น กระบวนการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ตรงจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่สดใหม่ ทำให้กระแทกความรู้สึกนึกคิดเข้าไปข้างในจิตใจคนได้ง่าย และยังทำให้เกิดปัญญาที่ผุดพรายขณะผ่านประสบการณ์ได้ไม่ยาก
กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งมักมีจุดเด่นตรงที่สามารถทำให้ผู้เรียนกล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง ดังนั้นเมื่อผ่านประสบการณ์ตรงแล้วกระบวนกรจึงต้องสังเกตหรือเฝ้ามองอย่างลึกซึ้งถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นบทเรียน โดยเฉพาะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนได้ว่าเขากำลังเผชิญกับความสั่นไหวภายใน แล้วอาศัยทักษะการตั้งคำถามอย่างลงลึกและเชื่อมโยงเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน พร้อมกับแลกเปลี่ยนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น จากนั้นจึงใช้ทักษะการรับฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อจับประเด็นต่างๆ และเชื่อมโยงประเด็นให้เห็นการโยงใยของสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น พร้อมกับเชื่อมโยงบทเรียนไปสู่ชีวิตจริงว่าจะนำไปประยุกต์ใช้จริงได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งก็คือ การใช้งานศิลปะเป็นกระบวนการผ่านประสบการณ์ เพราะงานศิลปะทำให้ได้ใช้ทั้งร่างกาย พลังจิตนาการ รวมถึงความรู้สึกที่อยู่ลึกของจิตใจมาผสมผสานจนเราสามารถปลดปล่อยศักยภาพอันเร้นลับภายในออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีจึงควรเปิดโอกาสให้เราใช้ทวารแห่งการรับรู้หลากหลายทางเอื้ออำนวยให้เราผสมผสานพลังจินตนาการ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนทักษะทางกายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและลงตัว
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ลึกซึ้งจากกระบวนการผ่านประสบการณ์ตรงนั้น กระบวนกรจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการรับฟังอย่างลึกซึ้ง รวมถึงจัดปรับบรรยากาศให้เรียนรู้ด้วยความรู้สึกไว้วางใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลทางความคิด กำลังใจและทางจิตวิญญาณ แทนการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศการแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมเก่งกาจ การรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งและความรู้สึกไว้วางใจกันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้มีพลัง เพราะมันทำให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนบทเรียนจากแต่ละคนไปสู่กลุ่มทั้งหมดที่เรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรมหรือกระบวนการที่ทำให้ทุกคนรับฟังอย่างลึกซึ้งและไว้วางใจกันมักจะเป็นด่านแรกๆ ก่อนพาเข้าสู่เนื้อหาการเรียนหลัก ตัวอย่างกิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ การฝึกรับฟังเรื่องเล่าภูมิหลังของชีวิตของกันและกัน (สายธารชีวิต) เป็นต้น
เมื่อทุกคนเกิดความไว้วางใจขึ้นบ้างแล้วและกระบวนกรต้องการให้บทเรียนเป็นไปอย่างลึกซึ้งขึ้นอีก จำเป็นต้องใช้ความสามารถภายในของตนหรือจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญในการเผชิญกับสถานการณ์ที่เขารู้สึกเสี่ยง โดยเฉพาะการเผชิญกับความจริงภายในบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เช่น การมองเห็นมุมที่น่าเกลียดของตน เป็นต้น ในแง่นี้กระบวนกรไม่เพียงทำให้ผู้เรียนเกิดความกล้าที่จะเผชิญความจริงเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้เขายอมรับและคลี่คลายปมภายในได้ด้วยตัวเขาเองในที่สุด
ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ กระบวนกรต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทำอย่างไรในแต่ละขณะของการเรียนรู้จึงจะทำให้ทุกคนเรียนรู้อย่างรู้สึกตัว แต่ละขณะของบทเรียนทุกคนรู้สึกตัวแจ่มชัดถึงรายละเอียดของสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบสัมผัสกับประสาทสัมผัส รู้ชัดว่าคืออะไร เป็นอย่างไร รู้สึกตัวได้ชัดว่า เมื่อกระทบสัมผัสแล้วแต่ละคนรู้สึกนึกคิดภายในอย่างไร รู้สึกตัวชัดว่าสภาพจิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งนั้นเป็นอย่างไร ไปจนถึงรู้สึกตัวแจ่มชัดจนสามารถมองเห็นความจริงที่อยู่ลึกๆ ของปรากฏการณ์และสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การเรียนรู้อย่างรู้สึกตัวหรืออย่างมีสติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ทุกชนิดที่จะทำให้เราเข้าถึงบทเรียนได้อย่างตามที่มันเป็น ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหลักการที่มาจากบททดลองของการแสวงหากระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงคนอย่างลึกซึ้ง แม้จะไม่ใช่ข้อสรุปที่ตายตัวแต่หลายกลุ่มหลายอาชีพได้ทดลองประยุกต์ใช้ต่างรู้สึกได้ว่า การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงคนนั้นทำได้จริง
Labels: ปรีดา เรืองวิชาธร