โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๑

การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงได้หลายด้านหลายมิติและเปลี่ยนแปลงอย่างลงลึกนั้น คำตอบไม่ได้อยู่ที่การมีเครื่องไม้เครื่องมืออันวิเศษมหัศจรรย์หรือเทคโนโลยีทางการศึกษาชั้นสูง ไม่ได้อยู่ที่ครูผู้สอนที่รอบรู้ชำนาญแล้วพร่ำสอนในแบบที่หยิบยื่นความรู้ให้ทางเดียว และอาจไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมบังคับให้ผู้เรียนต้องแสวงหาเติมเต็มความรู้ด้วยความรู้สึกขาดพร่องอยู่ตลอดเวลา ทำเหมือนผู้เรียนเป็นถังขนาดมหึมาเพื่อรองรับข้อมูลความรู้อันมากมายมหาศาลในโลกสมัยใหม่นี้ แต่แล้วผู้เรียนก็ไม่สามารถย่อยสังเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้เข้าสู่วิถีชีวิตที่เป็นจริง และไม่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในระดับสังคมได้

การเรียนรู้ที่ดีนั้นนอกจากจะทำให้เกิดความรู้ความสามารถหรือทักษะที่ใช้ประกอบกิจการงานแล้ว ควรทำให้ผู้เรียนมีสติปัญญามากพอที่จะสามารถเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ของชีวิต ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง เข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้ง สามารถดำรงอยู่และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ด้วยดีแม้จะมีความแตกต่างขัดแย้งกันก็ตาม ทั้งยังรู้เท่าทันโครงสร้างสังคมและธรรมชาติแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่วิกฤตการณ์หลายด้านในขณะนี้

ดังนั้นหากจะจัดการเรียนรู้ไปสู่ผลดังกล่าวนี้ เราจำต้องสร้างสรรค์วิธีการหรือกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่ซึ่งมีลักษณะพื้นฐานสำคัญก็คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทุกคนเรียนรู้จากกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจากผู้สอนเป็นหลักอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันผู้สอนเองก็ควรรับฟังและเรียนรู้จากผู้เรียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้สอนจึงไม่ได้ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลความรู้แต่ถ่ายเดียว แต่ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้อันหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์ตรงและตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเสริมเติมความรู้ประสบการณ์ของตนบ้างเพื่อทำให้บทเรียนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นในที่นี้จึงขอเรียกผู้สอนว่า “กระบวนกร” แทน

การเรียนรู้ที่เอากลุ่มเป็นตัวตั้งนั้น กระบวนกรจำต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ เนื้อหา และความหลากหลายของผู้เรียน ดังนั้นกระบวนการหนึ่งๆ อาจจะไม่สามารถใช้ได้ดีในทุกบริบท กระบวรกรจึงไม่ควรหยุดนิ่งที่จะแสวงหาและทดลองใช้กระบวนการใหม่ๆ กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งนั้นมักให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์โดยตรง โดยยังไม่เน้นการให้ข้อมูลความรู้ ดังเช่น หากจะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติแวดล้อมเพื่อให้เกิดสำนึกอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เราก็จะพาผู้เรียนไปเดินรอนแรมในป่าพร้อมกับพูดคุยกับชาวบ้านชาวเขาที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย หรือหากจะเรียนรู้เรื่องความยากจนในสังคมไทยก็จะจัดให้ผู้เรียนเข้าไปชุบตัวอยู่กับชาวบ้านที่เดือดร้อนพร้อมกับจัดกระบวนการพูดคุยวิเคราะห์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเชื่อมโยงไปสู่ภาพรวมโครงสร้างสังคมไทยที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าจะเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่มก็ให้ผู้เรียนได้ลองทำงานหรือกิจกรรมจำลองร่วมกันแล้วถอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงเข้าสู่การทำงานในชีวิตจริง เป็นต้น กระบวนการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ตรงจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่สดใหม่ ทำให้กระแทกความรู้สึกนึกคิดเข้าไปข้างในจิตใจคนได้ง่าย และยังทำให้เกิดปัญญาที่ผุดพรายขณะผ่านประสบการณ์ได้ไม่ยาก

กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งมักมีจุดเด่นตรงที่สามารถทำให้ผู้เรียนกล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง ดังนั้นเมื่อผ่านประสบการณ์ตรงแล้วกระบวนกรจึงต้องสังเกตหรือเฝ้ามองอย่างลึกซึ้งถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นบทเรียน โดยเฉพาะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนได้ว่าเขากำลังเผชิญกับความสั่นไหวภายใน แล้วอาศัยทักษะการตั้งคำถามอย่างลงลึกและเชื่อมโยงเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน พร้อมกับแลกเปลี่ยนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น จากนั้นจึงใช้ทักษะการรับฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อจับประเด็นต่างๆ และเชื่อมโยงประเด็นให้เห็นการโยงใยของสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น พร้อมกับเชื่อมโยงบทเรียนไปสู่ชีวิตจริงว่าจะนำไปประยุกต์ใช้จริงได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งก็คือ การใช้งานศิลปะเป็นกระบวนการผ่านประสบการณ์ เพราะงานศิลปะทำให้ได้ใช้ทั้งร่างกาย พลังจิตนาการ รวมถึงความรู้สึกที่อยู่ลึกของจิตใจมาผสมผสานจนเราสามารถปลดปล่อยศักยภาพอันเร้นลับภายในออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีจึงควรเปิดโอกาสให้เราใช้ทวารแห่งการรับรู้หลากหลายทางเอื้ออำนวยให้เราผสมผสานพลังจินตนาการ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนทักษะทางกายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและลงตัว

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ลึกซึ้งจากกระบวนการผ่านประสบการณ์ตรงนั้น กระบวนกรจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการรับฟังอย่างลึกซึ้ง รวมถึงจัดปรับบรรยากาศให้เรียนรู้ด้วยความรู้สึกไว้วางใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลทางความคิด กำลังใจและทางจิตวิญญาณ แทนการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศการแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมเก่งกาจ การรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งและความรู้สึกไว้วางใจกันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้มีพลัง เพราะมันทำให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนบทเรียนจากแต่ละคนไปสู่กลุ่มทั้งหมดที่เรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรมหรือกระบวนการที่ทำให้ทุกคนรับฟังอย่างลึกซึ้งและไว้วางใจกันมักจะเป็นด่านแรกๆ ก่อนพาเข้าสู่เนื้อหาการเรียนหลัก ตัวอย่างกิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ การฝึกรับฟังเรื่องเล่าภูมิหลังของชีวิตของกันและกัน (สายธารชีวิต) เป็นต้น

เมื่อทุกคนเกิดความไว้วางใจขึ้นบ้างแล้วและกระบวนกรต้องการให้บทเรียนเป็นไปอย่างลึกซึ้งขึ้นอีก จำเป็นต้องใช้ความสามารถภายในของตนหรือจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญในการเผชิญกับสถานการณ์ที่เขารู้สึกเสี่ยง โดยเฉพาะการเผชิญกับความจริงภายในบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เช่น การมองเห็นมุมที่น่าเกลียดของตน เป็นต้น ในแง่นี้กระบวนกรไม่เพียงทำให้ผู้เรียนเกิดความกล้าที่จะเผชิญความจริงเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้เขายอมรับและคลี่คลายปมภายในได้ด้วยตัวเขาเองในที่สุด

ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ กระบวนกรต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทำอย่างไรในแต่ละขณะของการเรียนรู้จึงจะทำให้ทุกคนเรียนรู้อย่างรู้สึกตัว แต่ละขณะของบทเรียนทุกคนรู้สึกตัวแจ่มชัดถึงรายละเอียดของสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบสัมผัสกับประสาทสัมผัส รู้ชัดว่าคืออะไร เป็นอย่างไร รู้สึกตัวได้ชัดว่า เมื่อกระทบสัมผัสแล้วแต่ละคนรู้สึกนึกคิดภายในอย่างไร รู้สึกตัวชัดว่าสภาพจิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งนั้นเป็นอย่างไร ไปจนถึงรู้สึกตัวแจ่มชัดจนสามารถมองเห็นความจริงที่อยู่ลึกๆ ของปรากฏการณ์และสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การเรียนรู้อย่างรู้สึกตัวหรืออย่างมีสติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ทุกชนิดที่จะทำให้เราเข้าถึงบทเรียนได้อย่างตามที่มันเป็น ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหลักการที่มาจากบททดลองของการแสวงหากระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงคนอย่างลึกซึ้ง แม้จะไม่ใช่ข้อสรุปที่ตายตัวแต่หลายกลุ่มหลายอาชีพได้ทดลองประยุกต์ใช้ต่างรู้สึกได้ว่า การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงคนนั้นทำได้จริง

1 Comment:

  1. Anonymous said...
    ขอบคุณครับ

Post a Comment



Newer Post Older Post Home