โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๒
ขับรถกลับจากการพบปะกลุ่มคนทำงานเรื่องจิตตปัญญา ตั้งใจจะฟังซีดีธรรมะที่เปิดคลอไปในรถ แต่จิตใจกลับวิ่งออกนอก คิดถึงประเด็นที่พวกเราค้นพบกันระหว่างวงคุยแลกเปลี่ยน
งานจิตตปัญญาได้รับการตอบสนองและแพร่ขยายไปในหลายวงการทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวงการศึกษา อาจด้วยความมีประสิทธิภาพของทีมงานและผู้ที่สนับสนุนเกี่ยวข้อง ประกอบกับความต้องการ “น้ำทิพย์ชโลมใจ” ของสังคมที่นับวันจะวุ่นวายมากขึ้น เกิดมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ศึกษาเรื่องจิตใจหรือจิตตปัญญากันอย่างจริงจัง ผลักดันให้นำไปใช้ในองค์กร ใช้ในชั้นเรียน หรือใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นกระแสการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีอีกรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น
กระบวนกรจิตตปัญญา (Facilitator in Contemplative Education) และ/หรือผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ “ทำได้อย่างที่ชักชวนผู้อื่น” หรือ Practice what you preach ได้แค่ไหน เป็นคำถามที่เราตรวจสอบถามตัวเองกันมาเป็นระยะๆ
จากการสอนบริหารคนบริหารองค์กร ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่ง่ายที่เราจะปรับพฤติกรรมการบริหารคนของเราเองให้ได้ดีในแนวทางที่เราบอกเล่า แม้ยิ่งทำได้ยิ่งเห็นประสิทธิภาพทั้งกับส่วนรวมและตนเอง ยิ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่ชักชวนผู้คน แต่ก็ยอมรับว่าต้องตั้งใจพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังทีเดียว ถึงวันนี้ก็ยังเห็นหนทางที่จะสามารถพัฒนาเพิ่มต่อเหลืออีกมาก
การมี “สติ” ทันกับแต่ละขณะของตนเอง ทันต่อพฤติกรรมของตนเอง เข้าใจสถานการณ์จริงของตนเอง เป็นส่วนช่วยอย่างมากให้เราสามารถใช้ “พฤติกรรมอันควร” ต่างๆ ที่ทั้งเรียนทั้งสอนนี้ได้เป็นธรรมชาติ และแน่นอน “หลุด” ก็ยังมีอยู่ให้เห็นเป็นธรรมชาติอยู่ด้วยเช่นกัน
น่าเห็นใจเหล่าผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนกร ผู้ทำงานเบื้องหลัง เบื้องหน้า ช่วยกันผลักดัน สร้างกระบวนการเรื่องดีนี้ให้เกิดขึ้น ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ร้อนแรงของสิ่งแวดล้อมสังคม และข้อจำกัดมากมาย ในขณะเดียวกันก็ถูกผู้คนรอบข้าง “คาดหวัง” ว่า “ต้องเป็นคนดี เป็นตัวอย่างที่ดี แบบจิตตปัญญา” อีกด้วย ดูเหมือนเป็นนางแบบเชิญชวนให้ใส่ชุดผ้าไหม ที่กำลังเย็บเสื้อไปแต่งหน้าไป ในขณะที่เดินไปบนแคทวอล์ค และมีผู้ชมยืนดูวิจารณ์อยู่รอบข้าง… น่าเห็นใจ
ถึงกระนั้นการสำรวจตัวพวกเราเองตามจริงก็น่าจะช่วยให้ไม่หลงทางไปไกล ช่วยให้เราเรียนรู้พัฒนาตนเองและเทคนิควิธีต่างๆ ไปในขณะที่ชักชวนผู้คนรอบข้าง ได้ยินเรื่องราวของบางกลุ่มบางคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้แนวจิตตปัญญาว่า บางคนชอบอยู่กับความคิดของตนเอง บางคนเชื่อมั่นมากกับความเชื่อบางชุด เครื่องมือบางตัว หรือพยายามชักชวนให้คนทำตาม “แนวทาง” ที่ตนรู้สึกว่าใช่ โดยอาจลืมไปว่าเราแต่ละคนต่างมีความชอบมีจริตทิศทางที่อาจแตกต่างกัน แม้ว่าเราอาจจะมีจุดร่วมหรือแกนหลักบางประการร่วมกันอยู่บ้าง หากใช่ว่าวิธีการอื่น แนวความคิดอื่นจะใช้ไม่ได้ ไม่ดี คนที่ทำแบบอื่นแตกต่างจากที่ “ฉันคิดว่าใช่” นั้นไม่เหมาะสม “ต้องแบบนี้ซิ ... ถึงจะเรียกว่าจิตตปัญญา” ... เป็นจริงอย่างนั้นหรือ
จริงเสมอหรือที่ต้องนั่งล้อมวงคุยกัน
จริงเสมอหรือที่ต้องทำอะไรช้าๆ
จริงเสมอหรือที่ต้องไม่มีใครชี้นำความคิด
จริงเสมอหรือที่ต้องไม่มีเนื้อหาให้มากมาย ใช้กระบวนการให้เรียนรู้
จริงเสมอหรือที่ ...
ผู้เขียนมิได้หมายความว่าสิ่งที่เอ่ยมาไม่ควรทำ และแน่นอนว่าใช้ได้ผลกับคนหลายกลุ่ม หากแต่อาจมีวิธีอื่นอีกมากมายแม้แต่วิธีที่ตรงกันข้ามที่ช่วยให้ผู้คนเรียนรู้ด้านในของตัวเราได้ ... หรือไม่ ลองนึกถึงประวัติศาสตร์หลายพันปีที่คนพัฒนากันมาดู เขามีวิธีอะไรกันบ้าง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญมิใช่เพิ่งเกิด ... หรือไม่
เป็นต้นว่าการเทศนาของพระพุทธเจ้าในหลายๆ ครั้ง ภาพสะท้อนจากคัมภีร์คือภาพของครูที่นั่งพูดให้กับผู้เรียนเป็นร้อยเป็นพันคน แทบจะเป็นการสื่อสารทางเดียวหากไม่มีการปุจฉา ผู้เรียนนั่งฟังด้วยใจอยู่กับที่ ไม่มีการขยับเขยื้อนย้ายร่างกายหรือไปนั่งล้อมวงใดๆ จนกว่าจะจบการเทศนา
หรือการเรียนรู้แบบอาจารย์เซ็น ที่ให้ศิษย์เดินตามครูไปไหนต่อไหน พอประสบกับเหตุการณ์สด จึงปล่อยคำถามหรือประโยคสั้นๆ ที่แทงตรงประเด็นเพียงประโยคเดียว ช่วยพลิกให้คนเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างถาวร
หรือวิถีปฏิบัติของหลายนิกาย ที่ผู้ฝึกต้อง “เข้าเงียบ” อยู่คนเดียว ตัดการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกเป็นเวลานาน พร้อมกับฝึกปฏิบัติตามวิถีของตนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอน
หรือการพัฒนาจิตใจด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นแบบฉือจี้ ที่อาสาสมัครผู้มีจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจกันไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทำความสะอาดผู้ป่วย เก็บแยกขยะ ให้บริการผู้คนในโรงพยาบาล ...
ฯลฯ ... หลากหลายวิธีและวิถีแห่งการฝึกตนสู่ผลทางจิตวิญญาณ
อย่างที่ชาวจิตตปัญญาทราบกันดีอยู่แล้วว่ามุมมองต่อโลก (worldview) หรือกรอบความคิด (paradigm) มีผลต่อความคิดความเชื่อของเราแต่ละคน จนอาจทำให้เราเผลอไปตัดสินว่าผู้อื่นที่มิได้อยู่ในกรอบเดียวกับเราว่า “ไม่ใช่” ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจริงกับแม้แต่ในเรื่อง “จิตตปัญญา” เอง ทันทีที่เรารู้ทันและสำรวจมุมมองต่อโลกของเราชัดเจน การใช้กรอบความคิดเหล่านั้นน่าจะเป็นไปอย่าง “เท่าทัน” มิได้ใช้ไปอย่างหลงลืมหรือเผลอตัว
จากเรื่องมุมมองสู่พฤติกรรมของเราแต่ละคน การฝึกปรือตนไปพร้อมกับการเดินทางชักชวนจัดกระบวนการให้ผู้คนเป็นเรื่องท้าทาย ... พวกเราทำอย่างที่ชักชวนคนอื่นกันได้ ... หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
เราชวนให้ผู้คนรักและเมตตาต่อกัน ... เรารักและเมตตากันเองหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนอภัยต่อกัน ... เราให้อภัยกันเองแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนใช้ชีวิตสมดุล หัว-กาย-ใจ ... เราสมดุลตัวเองได้เพียงใด
เราชวนให้ผู้คนย้อนดูตัวเอง เข้าใจตระหนักรู้ตัวเอง ... เราดูหรือไม่ บ่อยแค่ไหน
เราชวนให้ผู้คนคุยกันด้วยความสุนทรียะ ฟังกันมากขึ้น ... เราทำระหว่างกันด้วยหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนฟังคนโดยไม่ตัดสิน ... เราตัดสินคนเร็วไปบ้างหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนเข้าใจเบื้องหลังกรอบความคิดหรือมุมมองต่อโลกที่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ได้รับ ... เรารู้ทันหรือไม่
เราชวนให้ผู้คนลดอัตตาตัวตน ... เรายังมีอยู่เพียงใด
เราชวนให้ผู้คน ...
...
ยังมีคำถามอีกมากมายรอชาวจิตตปัญญาค้นหา ...
วิถีแห่งจิตตปัญญานี้คงมีทั้งความงดงามและขวากหนาม หากแต่การเรียนรู้และพัฒนาตนไปพร้อมกับการส่งผ่านชักชวนเพื่อนร่วมทาง เป็นเป้าหมายอยู่ในกระบวนการ หาใช่เป็นเพียงหนทางไปสู่เป้าหมายใดเท่านั้น ... หรือไม่
ระหว่างการเดินทางของพวกเราผู้สนใจเรื่องภายใน หาใช่ว่าผู้อื่นที่มิได้เรียกตนว่าจิตตปัญญา มิได้เดินอยู่ในหนทางเดียวกับเรา ... ใช่หรือไม่ หาใช่ว่าผู้อื่นที่มิได้เรียกตนว่าจิตตปัญญา มิได้มีความรู้เรื่องการพัฒนาจิตใจ ... ใช่หรือไม่ ใครต่อใครก็เป็นครูแก่เราได้ ... ใช่หรือไม่
ความคิดสร้างสรรค์ของชาวจิตตปัญญา ที่ทำให้เรื่องพัฒนาจิตใจจิตวิญญาณเป็นขนมหวานสำหรับคนทั่วไปเป็นเรื่องน่าชื่นชม หากเส้นเขตแดนของความแหวกแนวยังมีอยู่ที่ศีลหรือการประพฤติที่ไม่ผิดปกติสุข คือไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน...ใช่หรือไม่
เรื่องราว คำถามมากมาย ซึ่งรอการค้นหา ค้นพบ ด้วยตัวเราเอง เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน
เราทำได้อย่างที่ชักชวนเพียงใด ... จิตตปัญญา
Labels: มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
ส่วนหนึ่งเพราะกลัวจะเฝือ...และส่วนหนึ่งเพราะผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าผมอยู่ในวิถีนั้น...