โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------------------
คนดีหรือคนที่ตั้งใจคิดดีพูดดีทำดีอยู่เป็นนิจ หมายรวมถึงนักพัฒนาสังคม ครู อาจารย์ นักบวช ฯลฯ เป็นผู้ตั้งใจดีและเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนอีกมากมาย โอกาสที่จะถูกมองว่าเป็นคนดีจึงสูงขึ้นๆ คู่ขนานกับความคาดหวังว่าไม่ควรมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น(เลย)กับผู้คนเหล่านี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอะไรขึ้นในทางที่ไม่ดีสักครั้ง แล้วสังคมไม่พยายามเข้าใจเขา เขาจึงอาจหันหลังจากการเป็นคนดี กลายเป็นคนเสื่อมศรัทธาในการทำดี
กว่าคนแต่ละคนจะเป็น “คนดี” หรือผู้ซึ่งมุ่งมั่นทำดี แนะนำชักชวนสิ่งดีดีแก่คนรอบข้างหรือผู้อื่นมาทำดีด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเรามีคนดีเกิดขึ้นแล้ว ความคาดหวังของสังคมต่อคนดีเหล่านั้นกลับกลายเป็นแรงกดดันโดยไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับคนดีเหล่านั้น ยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันมากตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น พระรูปนั้นทำเรื่องไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเรามองจากอีกมุมเราอาจจะเห็นใจได้ว่า ท่านเหล่านั้นก็เป็นเพียง “คนต้องการทำดี” ที่กำลังมุ่งไปสู่สิ่งดีดี แต่มิได้เป็นผู้ถึงสิ่งดีที่สุดที่คาดหวังไว้ แค่เป็น “ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างทางไปสู่สิ่งดี” โดยมีสังคมรอบข้างตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุนานานับประการ การพลาดพลั้งไปย่อมมีอยู่ได้เป็นธรรมดา
ในบางครั้งนอกจากผู้คนจะไม่สนใจไปเข้าใจเขาเหล่านั้นแล้ว ยังประณามเขาอย่างหนักบ้าง ประณามถึงสถาบันที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น วิจารณ์วงการศาสนาบ้าง (ในกรณีที่คนดีนั้นคือพระ นักบวช) หรือวงการการศึกษาบ้าง (ในกรณีที่คนดีนั้นเป็นครู อาจารย์) ฯลฯ ยิ่งทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันที่ทำเรื่องดีดีมากขึ้นไปอีก คนที่เป็นคนดีก็เริ่มขยาดมากขึ้น ไม่กล้าอยู่ในสถานะที่ดูเป็น “คนดี” เพราะเดี๋ยวจะถูกเพ่งเล็ง สู้เป็นคนธรรมดาที่บังเอิญทำเรื่องดีดีบ้างท่าทางจะปลอดภัยกว่า หรือร้ายกว่านั้นอาจเลิกศรัทธาในการทำดีไปเลย อย่างที่บางคนพูดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน” แล้วยกตัวอย่างคนดีที่ถูกสังคมจัดการแบบนั้นมาคุยกัน
ทั้งนี้ก็มิได้กำลังบอกว่าเราควรจะเฉยเมยหรือส่งเสริมคนดีที่ทำผิดแต่ประการใด แต่กำลังบอกว่ากลไกบางอย่างในสังคมเราอาจเป็นตัวทำลายแทนที่จะส่งเสริมเรื่องดีดีให้เกิดขึ้นในสังคม ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็น “คนดี” คนนั้นที่บังเอิญชีวิตเคยผิดพลาดอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วถูกผู้คนกระหน่ำซ้ำเติมมากมาย แทนที่จะพยายามเข้าใจในเหตุปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หรือเข้าใจความด้อยปัญญาของคนดีที่ยังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้าย คนที่ดีเหล่านี้อาจแปรสภาพเป็น “คนเคยดี” ไปเลยก็ได้ ไม่เอาแล้วการเป็นคนดีนี่เหนื่อยเหลือเกิน ความคาดหวังมากเหลือเกิน เลิกเป็นดีกว่า ทำชั่วง่ายกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้กันมากๆ สังคมของเราคงวุ่นวายมากขึ้นๆ
“การให้อภัย” และ “การเข้าใจถึงสภาวะความเป็นจริง” ของสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้คนแต่ละคนสามารถเริ่มต้นความดีกันใหม่ได้ หลายศาสนามีพิธีการเพื่อช่วยให้คนยอมรับความผิดพลาดของเขาเพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เป็นคนดียิ่งขึ้น ในกระบวนการนี้ความเข้าใจและการให้อภัยจากผู้อื่นเป็นส่วนประกอบสำคัญแก่คนเหล่านั้น “คนที่เคยพลาดไปในชีวิต” แน่นอนเราคงจะไม่ได้ให้อภัยคนที่ทำผิดแล้วผิดอีก จนคนๆ นั้นมิได้ตระหนักรู้ถึงความผิดพลาดของตน แต่การที่ไม่ฟังกันไม่พยายามเข้าใจกันไม่ให้อภัยกันเลยคงจะไม่ใช่ทางออกที่งดงามเป็นแน่
ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าใจว่าเรื่องดีดีนั้นมีหลายมุมหลายมิติ หรือถ้าเทียบกับภาพกราฟคือมีหลายแกน มากกว่าแค่แกน x กับแกน y แต่อาจมีเป็นร้อยเป็นพันแกน เหมือนเม่น คนแต่ละคนอาจจะทำคะแนนได้ดีในบางมุมแต่คะแนนไม่ดีในบางมุม เป็นผลที่ทำให้เราเห็นภาพคนดีมีตำหนิอยู่เรื่อยๆ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา กว่าคนหนึ่งคนจะสามารถจัดการกับสิ่งไม่ดีในตัวได้ครบทุกด้านทุกมุมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เราจึงอาจเห็นเหตุการณ์ที่คนที่เรียกว่าดีมีข้อผิดพลาดอย่างนั้นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงหรือธรรมชาตินี้แล้ว เราก็จะให้อภัยเขาเหล่านั้นได้ไม่ยาก ถ้ายังทำใจไม่ได้อยู่ ลองนึกว่าถ้าเราเป็นเขา เราโดนอย่างนั้นบ้างเราจะรู้สึกอย่างไร
เมื่อเราให้อภัยคนดีที่พลาดได้แล้ว ความสามารถในการให้อภัยอาจเพิ่มพูนไปสู่คนที่ในชีวิตไม่ค่อยได้ทำดีเท่าไหร่ได้มากขึ้น เราคงเคยพบวัยรุ่นบางคนที่งานประจำคือการตีรันฟันแทงกับคู่ซ้อมต่างสถาบัน หรือวัยรุ่นที่เคยกระทำผิดถูกกักกัน เยาวชนเหล่านี้เป็นคนร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์หรือ หรือเขาเพียง “พลาดไป” เพราะเหตุปัจจัยบางอย่าง เพราะความหลงผิดบางอย่าง เพราะความไม่รู้ ถ้ามีคนเข้าใจและให้อภัยเขา เปิดพื้นที่ให้เขาทำเรื่องดีดีเพิ่มขึ้น เมล็ดพันธุ์แห่งความดีในตัวเขาจะมีโอกาสได้งอกเงยขึ้นหรือไม่ จะพลิกจากพื้นที่สีดำเป็นสีขาวหรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนให้พวกเราลองทำและพิสูจน์ด้วยตัวเองดู
ผู้เขียนได้พบวัยรุ่นหน้าโหดพร้อมลายสักเต็มตัวในพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายจิตอาสา น้องๆ เหล่านี้ไปช่วยขุดดินที่ถล่มทับบ้านใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ช่วงแรกน้องๆ รู้สึกเขินๆ ที่ลงไปช่วยชาวบ้าน ดูเหมือนไม่คุ้นชินกับการช่วยเหลือผู้อื่น ประกอบกับสายตาคนรอบข้างที่มองอย่างไม่ค่อยไว้ใจ แต่เมื่อเขาได้เริ่มทำงาน เริ่มสัมผัสกับการทำดีเพื่อผู้อื่น เห็นความชื่นบานของชาวบ้านที่เขาไปช่วยเหลือ เห็นความตั้งใจทำงานของผู้อื่นที่ช่วยขุดดินเหมือนกัน แม้จะแตกต่างกันจากภายนอก บ้างก็แรงน้อยกว่ามาก แต่ก็พยายามช่วยเหลือชาวบ้านเต็มที่เท่าที่มีแรง เห็นทีมงานอาสาสมัครระยะยาวที่เสียสละเวลาส่วนตัวของตนไปช่วยคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ความงดงามของเรื่องดีดีใกล้ตัวน้องๆ ประกอบกับเรื่องดีดีในตัวของเขาเองค่อยๆ ผลิบานขึ้น ทำให้น้องๆ หน้าโหดหลั่งน้ำตาออกมาขณะพูดกับเพื่อนอาสาที่ร่วมกันขุดดินมาทั้งวัน “ขอบคุณนะครับที่ให้เปิดโอกาสพวกผมมาทำเรื่องดีดี อย่าตัดสินพวกผมแต่จากภายนอก แม้เราจะเคยทำเรื่องไม่ดีมาก่อน แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่อยากทำดีนะ...” พูดไปน้ำตาร่วงไป หน้าตาที่ดูเหี้ยมเกรียมเมื่อเช้ากลายเป็นเพียงเด็กใจดีคนหนึ่งในตอนค่ำ เรียกน้ำตาผู้ฟังรอบวง
เราไม่รู้ว่าน้องๆ เหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไปได้ถาวรแค่ไหน เมื่อเขากลับสังคมเดิมของเขา คนจะเข้าใจเขาเหมือนที่พวกเราเห็นน้องๆ กลุ่มนี้ทำดีหรือไม่ เป็นคำถามคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อคนดีทำผิดพลาดเช่นเดียวกัน
Labels: มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ