โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------
ฉบับที่แล้วที่เราคุยกันถึงหลุมพรางคนดีที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมคาดหวังจากคนดีหรือตั้งใจทำดี ฉบับนี้เรามาดูหลุมพรางคนดีภายในตัวของคนดีเอง ความคาดหวังของสังคมและตัวเองที่จะต้องเป็นคนดี ทำดี ทำเพื่อสังคม เป็นผลให้คนดีเหล่านี้อาจเข้าใจคล้อยตามความคาดหวังด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือพฤติกรรมอะไรขึ้นกับตนในทางที่ไม่ดี ก็ไม่คิดว่าเป็นของตน หรือเป็นสิ่งที่ตนควรจัดการหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป

หลุมพรางนี้ขอเรียกเล่นๆ ว่า “หลุมดักความเจริญ” กล่าวคือ เมื่อเราเป็นคนที่เขาเรียกว่าดี เป็นแบบอย่างให้คนอื่นๆทั้งทางตรงและทางอ้อม บางคนก็เป็นครูผู้สอนการปฏิบัติดีพูดดีทำดี สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ไม่สามารถยอมรับกับความผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีไม่ค่อยงามของตน หรือแม้แต่ความคิดที่ผุดขึ้นมาในทางที่ไม่ดีของตน

เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับคนดีทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว เราอาจเพียงรู้สึกว่า “ไม่มีอะไรนี่ ก็เพราะเหตุการณ์เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ เราก็เลยทำอย่างนี้ ธรรมดา” บางคนไม่รู้แม้แต่ว่ามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นในตัว ทำไปตามธรรมชาติเดิมที่คุ้นชิน ไม่รู้สึกว่าผิด บางคนแวบแรกรู้สึกว่าผิดปกติไม่ถูกไม่ควร แต่แวบถัดไปจิตหรือใจเราก็กลบเกลื่อนบิดเบือนเรื่องราวไปในทางที่ทำให้ตนเองสบายใจ และยังภูมิใจอยู่ได้ว่าเป็น “คนดี” ไม่มีอะไรบกพร่องเลย เพื่อให้เห็นภาพชัดขอยกตัวอย่าง เช่น
คนดีคนหนึ่งเห็นเพื่อนร่วมงานดูประหนึ่งว่าจะเด่นกว่าตนเองในช่วงนี้ ทั้งที่ตนเด่นมาโดยตลอด พฤติกรรมแสดงออกมาอาจเป็นการประท้วงต่อคนนั้นโดยไม่รู้ตัว อาจยังพูดจาดีต่อกัน แต่พอถึงเวลาทำงานร่วมกัน มักมีเหตุทำให้ไม่ได้ตามเป้าที่ควรเป็น โดยคนดีนั้นเองก็นึกว่าเพราะตนมีงานอื่นยุ่งเลยทำงานให้เพื่อนได้ไม่เต็มที่ บางคนมีผลถึงร่างกาย เช่น ปวดหัวตัวร้อนท้องเสีย ทำงานให้เพื่อนไม่ได้ บางกรณีก็เป็นวิธีการทางสังคม เช่น ทำให้อีกคนที่ตนสนับสนุนเด่นกว่าเพื่อนคนนั้น เพื่อลดความเด่นของเขา

ตรงนี้ถ้าเรามาวิเคราะห์จะพบว่าคนดีนี้มีความอิจฉาเกิดขึ้นลึกๆ ในใจ แต่อาจไม่ทันต่อความอิจฉานั้น ไม่อยากยอมรับว่าในโลกนี้จะมีใครดีกว่าได้ (แม้ว่าข้อเท็จจริงอาจจะดีกว่าแค่เรื่องเดียว) ใจบางส่วนที่ไวกว่าใจที่รู้ทันความอิจฉาก็สร้างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาโดยรู้ไม่ทัน และมีแนวโน้มว่าไม่อยากจะรู้ทันด้วย เพราะไม่เชื่อว่าตนมีความอิจฉาอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ เป็นไปไม่ได้ ฉันเป็นคนดีออกจะตาย ฉันเมตตาผู้คน รักผู้คน ใครทำดีฉันก็มีมุทิตาจิต ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ...แต่นั่นเป็นเพียง “ความคิด” ไม่ใช่ความจริงของจิตเขาในแต่ละขณะ ความคิดนั้นจึง “เคลือบ” จิตแท้ๆ ที่กำลังส่งผลต่างๆ นานา จนไม่สามารถรู้ทันจิตแท้ได้ เหมือนน้ำตาลหลากสีที่เคลือบเม็ดช็อคโกแลตเอ็มแอนด์เอ็ม คนดีจึงเห็นแต่สีสันสวยงามของตน ไม่ใช่สีน้ำตาลของช็อคโกแลตข้างใน

อีกกรณีหนึ่งที่พบได้อยู่เรื่อยๆ คือเมื่อคนดีพบข้อจำกัดในตัวตน แต่ “ไม่ยอมรับ” กลับทำพฤติกรรมอื่นโดยไม่ทันต่อจิตหรือใจที่เปลี่ยนประเด็น เช่น รีบหาข้อแก้ตัวว่าฉันไม่ได้ผิดนะ ที่ทำนี่มีเหตุผล ๑ ๒ ๓ (มะนาวหวาน) หรือรีบหาข้อโต้แย้งว่าเหตุการณ์หรือผู้ชี้ประเด็นเหล่านั้นต่างหากที่ไม่ถูก ฉันน่ะถูก ฉันดีอยู่แล้ว คนนั้นต่างหากไม่ดี (องุ่นเปรี้ยว) ซึ่งไม่ว่าแบบไหน คนดีนั้นก็ไม่ได้เรียนรู้เพิ่มอยู่ดี ตกอยู่ในวังวนความดีของตน ที่ไม่ได้เพิ่มขยายพื้นที่อีก

การพัฒนาตัวเราในแต่ละมุมแต่ละด้าน “การยอมรับ” ด้วยความเข้าใจหรือความรู้สึกแท้จริงตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในแต่ละคน มนุษย์โดยทั่วไปเชื่อมั่นว่าเราดีเราถูกอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีความมั่นใจสูง หรือสะสมความมั่นใจในความดีของตัวเองสูง ไม่ว่าจากการประสบความสำเร็จหรือการเรียนรู้ในอดีต หรือจากการยอมรับจากสังคมรอบข้าง จนคนดีนั้นอาจรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าลัทธิกลายๆ ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นแรงบั่นทอนการพัฒนาต่อไปของคนดีนั้น ทำให้เขา “ติดหลุมพรางความดี” ที่ตนขุดไว้เอง

เทคนิคการตรวจสอบอาการ “ตกหลุมพรางความดี” ง่ายๆ คือสำรวจว่าเราเคยพยายามหาเหตุผลไปคัดง้างความคิดหรือเนื้อหาที่รับรู้จากใครบ้างหรือไม่ พอค้านแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกว่า “เฮ้อ นี่แหละ อย่างที่ฉันเป็นอยู่อย่างนี้ดีแล้ว ถูกแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร” ถ้ามีอาการนี้ก็น่าจะเริ่มสังเกตตัวเราให้มากขึ้นว่าตัวตนของเราใหญ่ขึ้นหรือไม่หลังจากทำอย่างนั้น ถ้าใหญ่ขึ้นก็น่าจะผิดทางแล้ว กลายเป็นการพอกพูนอัตตา บางครั้งเกิดจากการต้องการเอาชนะผู้ให้ข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อเดิมของเรานั้น

อาการแบบนี้บางทีก็เกิดมากกับเจ้าสำนักต่างๆ ที่เริ่มมีทฤษฎีส่วนตัวมากขึ้น เป็นผู้สอนคนมากมาย จนกลายเป็นว่าตัวเจ้าสำนักต้องถูกเสมอ....ซึ่งจริงหรือถ้าเรายังไม่ได้บรรลุขั้นสุดท้าย และนี่ก็เป็นอาการเดียวกับที่ผู้เขียนพบในเจ้าสำนักทางธุรกิจหลายองค์กรหลายบริษัท ที่ต้องปิดตัวหรือทุรนทุราย เพราะพยายามใช้ทฤษฎีเดิมๆ ที่ตนเชื่อมั่น เพราะเคยใช้ได้ผลมาแล้วในอดีต เรื่องใหม่ๆ (กว่าที่เรียนรู้มาแล้ว...แต่อาจจะไม่ได้ใหม่จริงๆ) จะไปดีกว่าที่ฉันเคยทำสำเร็จมาได้อย่างไร แล้วเมื่อเกิดวิกฤตองค์กรเหล่านั้นบริษัทเหล่านั้นก็ได้พิสูจน์ทฤษฏีของตนแล้วว่าไปไม่รอด ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เรารู้และมีอยู่แล้วเป็นสิ่งผิดไม่น่าดำเนินต่อไปเสียทั้งหมด เพียงแต่เล่าจากเหตุการณ์ที่เคยประสบเคยเห็นว่า ผู้ที่นึกว่าเรารู้แล้ว เก่งแล้ว ดีแล้ว ทั้งหลายนี้มีอาการที่ตามมาได้นั่นคือการตกหลุมพรางของตัวเอง เกิดอาการ “ต่อมเรียนรู้ฝ่อ” เป็นผลให้การพัฒนาของคนเหล่านั้นอยู่กับที่ ที่เคยดีก็ดีอยู่เท่านั้น ไม่ได้พัฒนาไปกว่าเดิม

ผู้เขียนใคร่ครวญอยู่พักหนึ่งก่อนตัดสินใจเขียนบทความนี้ เพราะบางท่านอาจคิดว่าผู้เขียนกำลังว่าตน แต่คิดดูแล้วว่าถ้าเราตั้งใจดีกับผู้อ่านจริง และนี่เป็นเรื่องที่พบซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าผู้เขียนเห็นแก่ตัวเองกลัวผู้อ่านไม่ชอบใจ อาการนี้ก็อาจเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วไป ตัวผู้เขียนเองก็เคยตกหลุมพรางความดี และไม่มั่นใจว่าจะไม่ตกอีก ได้แต่คอยเตือนตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะการพัฒนาในแต่ละมิติของเราจะหยุดลงทันที ถ้าไม่ยอมรับข้อจำกัดของตัวเราหรือส่วนที่เราสามารถปรับปรุงตัวได้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home