โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐

-----------------------

ชีวิตของพวกเราหลายคนอยู่กับการประชุม ทั้งการประชุมแบบเป็นทางการวงใหญ่ จนถึงการประชุมแบบไม่เป็นทางการสองสามคน หลายท่านคงเคยอยู่ในวงประชุมที่เครียด เหนื่อย อยากรีบเลิกเร็วๆหรือการประชุมที่มีความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนก็เป็นคนดีๆ กันทั้งนั้น แต่พอประชุมร่วมกัน ทำไมหนอจึงไม่ยอมกัน ขัดแย้งกัน โกรธกัน ทะเลาะกันได้ ทั้งนี้ไม่ได้ยกเว้นแม้กลุ่มคนที่ทำงานเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องความสุข


เหมือนเดิมที่เราคงจะไม่ไปหาแพะหรือใครที่เราจะโยนความผิดให้ แต่เรามาเรียนรู้ร่วมกันผ่านประสบการณ์ตรงของพวกเรากันเอง เคยบ้างไหมที่เวลาเราเสนออะไรขึ้นมาแล้วมีคนไม่เห็นด้วย รู้สึกอย่างไรกันบ้างคะ บางคนอาจรู้สึกโกรธ หงุดหงิดรำคาญใจ หรือรับฟังเนื้อหาที่แตกต่างได้แต่โดยดี ไม่ว่าผู้นำเสนอความเห็นแตกต่างนั้น จะเสนอด้วยอารมณ์หรือกิริยาสุภาพหรือก้าวร้าวอย่างไรก็รับฟังได้อย่างสบาย ได้รับเนื้อหาที่อาจเป็นประโยชน์เสริมเนื้อหาเดิม หรือใช้ปรับปรุงคุณภาพข้อเสนอเดิมได้ เพียงแต่ว่า...ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ


ต้นรากความรำคาญใจของเราเมื่อมีคนเห็นขัดแย้งอยู่ที่ไหนบ้าง เราโกรธเพราะเขาบอกว่าความคิดของเราไม่ดีพอ ความคิด “ของเรา” นั่นเอง “ของเรา” ที่ถูกกระทบเพราะมีตัวตน มีอาณาเขตที่เรียกว่า “ของเรา” ถ้าไม่มีความเข้าใจผิดว่าเป็น “ของเรา” ความขุ่นเคืองบีบคั้นจิตใจเพราะถูกกระทบก็ไม่น่าจะมีได้ เพราะไม่มีตัวตนหรือกำแพงอะไรให้ถูกกระทบได้


เปรียบเหมือนคนตีลูกเทนนิสเข้ากระทบฝาผนัง ถ้าไม่มีฝาผนังเสีย ลูกเทนนิสที่ถูกตีมาก็ทะลุผ่านไปได้ ไม่กระทบกับฝาผนังหรือ “ตัวเรา ของเรา” จนอาจเกิดการสะท้อนย้อนกลับไปที่ผู้ที่ตีลูกเทนนิส เหมือนที่เราพบได้ในหลายการประชุม เมื่อมีคนค้านความคิดอีกคนหนึ่ง คนที่ถูกค้านก็มักจะแสดงความอึดอัด หรือหาทางโต้กลับในรูปแบบต่างๆ เกิดเป็นความขัดแย้งกันไปมา


อย่างไรก็ตามการลดตัวตนหรือความเป็น “ตัวเรา ของเรา” นี้เป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นหนทางอันยาวนานสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งวิธีหนึ่งที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้วเช่น การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา แต่เราก็ยังต้องประชุมกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่อาจยังไม่เข้าถึงสัจธรรมข้อนี้อย่างถ่องแท้ เราจะทำกันอย่างไรดี จึงจะไม่ทรมานกับความทุกข์ซ้ำซากแบบนี้อีก


มีเทคนิคจากที่ต่างๆ ที่เคยเห็นเขาใช้กันมาเล่าให้ท่านผู้อ่าน เริ่มจากตัวอย่างการตกลงร่วมกันในที่ประชุม เช่น


การประชุมของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ดร. ปีเตอร์ เฮิร์ซท อดีตรองอธิการบดี เคยเล่าให้ชาวจิตตปัญญาฟัง และทดลองทำกันด้วย คือการที่ผู้เข้าร่วมประชุมโค้ง หรือ Bow ให้แก่กันก่อนการประชุมพร้อมๆ กัน ทุกคนนั่งอยู่ที่เก้าอี้หลังตรง เปิดตา เปิดใจใช้มือวางเท้าบนตักทั้งสองข้าง แล้วโค้งหรือน้อมตัวลงมาจากส่วนเอวช้าๆ อย่างมีสติพร้อมๆ กัน เราลองทำกันทั้งก่อนและหลังการประชุม รู้สึกเป็นการเรียกสติให้อยู่กับเนื้อกับตัวดีก่อนการประชุม ซึ่งโดยทั่วไปเราจะวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ ก่อนจะเข้าห้องประชุม ซึ่งทำให้หลายคนที่ใจอาจจะยังไม่อยู่ในห้องประชุมได้กลับเข้ามาตั้งใจเริ่มประชุมกัน ซึ่งการโค้งของชาวนาโรปะนั้นอันที่จริงมีเรื่องลึกซึ้งแฝงอยู่มากมายในนั้นเป็นต้นว่า เป็นการแสดงความเคารพในความกล้าหาญของนักรบ หรือผู้ที่กล้าพอจะเป็นคนอ่อนโยนโดยแท้จริง อ่านเสริมได้ที่ http://www.naropa.edu/about/bow.cfm

อีกตัวอย่างที่ประทับใจคือการประชุมของชาวหมู่บ้านพลัม หรือศิษย์ของหลวงปู่ติช นัช ฮันท์ พระเซ็นชาวเวียดนามที่ฝรั่งเศสผู้โด่งดังและกำลังจะมาเมืองไทยในวันที่ ๒๐-๓๑ พฤษภาคมนี้ (ดูรายละเอียดกำหนดการของท่านได้ที่ www.thaiplumvillage.org ) การประชุมของชาวหมู่บ้านพลัมจะมีเสียงระฆังดังทุกๆ ๑๕ หรือ ๒๐ นาทีแล้วแต่ตั้งกันไว้ ในขณะที่ประชุมพอเราทุกคนได้ยินเสียงระฆังก็จะหยุดพูดทันที ผ่อนคลายร่างกายอยู่กับลมหายใจ เป็นการกลับมาอยู่กับความสงบอีกครั้งจนกระทั่งเสียงระฆังค่อยๆ จางไป จึงประชุมต่อ

บางคนอาจสงสัยว่าแล้วจะประชุมต่อรู้เรื่องหรือ ไม่ลืมหรือ เท่าที่เคยอยู่ในวงประชุมแบบนี้มาก็เห็นพูดต่อกันได้สบายๆ นะคะ ที่ดูจะมีคุณอเนกอนันต์มากเห็นจะเป็นตอนที่มีการถกปัญหากันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด แล้วพอดีมีระฆังดังขึ้นมา “เก๊ง.....” เหมือนพักยกเลย J เราก็ได้ “รู้สึกตัว” กันขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่จมไปกับความคิดและอารมณ์ตามเนื้อเรื่องที่ประชุม เมื่อเสียงระฆังหยุดเราก็เริ่มคุยกันต่อด้วยสภาพที่อารมณ์ลดลงมากแล้ว
ระฆังแห่งสตินี้เป็นวิธีการฝึกที่ไม่ใช่เพียงแต่ในการประชุมแต่ในชีวิตประจำวันด้วย ท่านใดสนใจอ่านต่อได้ที่ http://www.plumvillage.org/practice/html/bellOfMindfulness.htm สำหรับตัวระฆัง ถ้าไม่มีระฆังเสียงใสๆหรือต้องยุ่งในการจับเวลาหาคนมาตีระฆัง ขอนำเสนอโปรแกรมระฆังสำเร็จรูปเสียงใสกังวานใช้ได้ทีเดียวที่ http://www.mindfulnessdc.org/mindfulclock.html

ตัวอย่างเทคนิคเหล่านี้อาจจะพอเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง ถ้าผู้ร่วมประชุมกับท่านยอมตกลงกับวิธีการร่วมกันกับท่านด้วย แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าจะได้ผลหรือเปล่าหรือคนอื่นจะทำด้วยหรือเปล่า ขอเสนอให้ลองเปิดเสียงระฆังเองคนเดียวดูก่อนจากเครื่อง notebook พอเสียงระฆังดังทีหนึ่ง เราก็เรียกสติมาทีหนึ่งผ่อนคลายสบายๆ ทั้งกายใจ อย่างน้อยเราเองก็จะได้มีสติไม่เผลอหงุดหงิดหรือจมไปกับเรื่องในที่ประชุมเกินไป ซึ่งคงจะต้องปรับใช้กันในแต่ละบริบทที่แตกต่าง

ลองทดลองเล่นดูนะคะ ได้ผลไม่ได้ผลอย่างไรอีเมล์มาคุยกัน ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการประชุมนะคะ

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home