โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐
--------------------

"มีข้อสอบตรวจสุขภาพจิตคนไหม?"

เพื่อนของผมซึ่งเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาในคณะขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นผู้โยนคำถามนี้เข้ากลุ่ม email ของเพื่อนแวดวงใกล้ชิด คาดหวังจะได้คำตอบและความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากอีกหลายคนที่ทำงานในสายอาชีพต่างๆ พร้อมแจงเหตุผลที่ต้องการเครื่องมือตัวช่วยดังกล่าวไว้ว่า

"ที่ภาคกำลังจะรับอาจารย์ใหม่หลายคน อยากหาคนสุขภาพจิตดีๆ คุยรู้เรื่อง รู้จักให้ และยอมคนบ้าง"

ต้นตอของเรื่องราวที่ทำให้อยากได้คนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นเป็นเพราะว่า

"ทุกวันนี้แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น ไม่ยอมกัน ทำงานเป็นทีมก็ไม่ได้"

ทราบความตามนี้แล้วเพื่อนในกลุ่มต่างก็ช่วยกันแนะนำแบบทดสอบหรือวิธีเท่าที่เราเคยใช้เคยได้ยินมา ทั้งแบบทดสอบทางจิตวิทยาอย่างง่าย ไปจนถึงกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น ต้องอาศัยการตีความภาพวาดโดยผู้เชี่ยวชาญ และแม้กระทั่งมีผู้เสนอให้ลองแบบทดสอบ นพลักษณ์ (Enneagram) ค้นหาว่าผู้สมัครแต่ละคนมีอุปนิสัยและโลกทัศน์อย่างไรบ้าง

เพราะผมเคยผ่านการอบรมเรื่องนพลักษณ์ในโครงการวิจัยการอบรมกระบวนกรแบบจิตตปัญญาศึกษามาบ้าง ทำให้อดอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ รีบตอบ email ให้ความเห็นไปว่า เราไม่ควรใช้นพลักษณ์ในวัตถุประสงค์จำแนกคนทำนองนี้ เพราะหัวใจของการเรียนรู้คนตามแนวคิดนพลักษณ์นั้น คือการได้เข้าใจถึงเบื้องลึกของพฤติกรรมความคิดที่ปรากฏ ทั้งของตัวเราเองและของผู้อื่น สำคัญยิ่งคือการเรียนรู้ให้ยอมรับและชื่นชมความแตกต่างหลากหลายของคน อีกทั้งการจัดว่าใครอยู่ลักษณ์ไหนนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น

ผมเสนอในมุมกลับกัน ถ้ามองเรื่องที่ว่ามานี้ด้วยแนวทางแบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว เราน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับคนที่มีอยู่ อย่าเพิ่งหมดหวังทิ้งกำลังใจที่จะทำงานกับคนเก่า รับคนใหม่เข้าไปก็ต้องอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งไม่รู้เขาจะเปลี่ยนไปหรือจะทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้นได้หรือเปล่า
วิธีการหนึ่งที่น่าจะลองกับบุคลากรปัจจุบันคือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นกระบวนการที่เครือข่ายเองได้นำมาใช้บ่อยครั้ง โดยการจัดสรรเวลาให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างมีคุณภาพและฟังอย่างลึกซึ้ง สร้างโอกาสให้เขาได้เผยความรู้สึกที่อยู่ภายใน บอกเล่าความคิดที่ไม่ใช่ของนักวิชาการ เพื่อทุกคนจะได้เรียนรู้กันและเข้าใจกันมากขึ้น หวังว่าเมื่อนั้นการยอมรับกันและทำงานเป็นทีมคงไม่ใช่เรื่องยาก

หลังจากได้แนะนำไปดังนี้แล้ว ผมนึกย้อนว่าหากผมเป็นเพื่อนคนนั้นบ้าง อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา ต้องรับผิดชอบการหาบุคลากรใหม่ พร้อมกับเผชิญหน้ากับคนทำงานแบบตัวใครตัวมัน หลังจากได้อ่านคำแนะนำทำนองนี้แล้ว ผมจะมีคำถามอะไรขึ้นบ้างไหม

สิ่งที่ปรากฏขึ้นแทบจะทันทีคือคำถามสองข้อ ประการแรก แน่ใจได้อย่างไรว่าวิธีการนี้ได้ผล? และประการที่สอง แสดงว่าเหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาล้วนแล้วแต่ฟังกัน ยอมรับและทำงานกันเป็นทีมจริงหรือ?

คำถามแรกนั้น แน่นอนว่าไม่สามารถรับประกันให้ได้หรอกว่าการใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาจะเป็นวิธีที่เหมาะสมถูกต้องที่สุดและทำให้ปัญหาการทำงานแบบตัวใครตัวมันหมดไป

แต่อย่างน้อยผมเชื่อมั่นว่าวิธีการสนทนาที่เปิดกว้างให้ทุกคนพูดหรือเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ไม่มีวาระ เน้นการให้แต่ละคนได้มีสติทั้งการฟังและการพูด ละเว้นการประเมินคุณค่าและตัดสินคนอื่นลงระหว่างอยู่ในวงสนทนา น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกทางสำหรับเชื่อมร้อยทุกคนเข้าหากันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนสามัญธรรมดา
ต่อคำถามว่าได้ผลแน่หรือ จะมีผลลัพธ์ที่แน่นอนไหม คำตอบคือ เราเริ่มลงมือปฏิบัติจัดกระบวนการกันเสียเลย การหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหานั้นมีความจำเป็นแน่ แต่เราไม่ควรจะให้เวลากับการเลือกมากจนระแวงสงสัยไม่ได้ริเริ่มหนทางหนึ่งใดอย่างจริงจัง

เพราะวิธีจัดการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาเน้นที่การวางใจ มีประสบการณ์ตรงและลงมือปฏิบัติ

หากเราใคร่รู้เรื่องสุนทรียสนทนาก็ดี สนใจนพลักษณ์ก็ตาม ตัวเราเองต้องได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจริง ได้ประสบการณ์ด้วยตนเอง และเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเป็นไปได้ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา

ส่วนคำถามถึงความมั่นใจว่า เหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษามีคุณสมบัติยอมรับกันและกัน และทำงานกันเป็นทีมนั้น ผมตอบได้เลยว่า ผมไม่กล้ารับรองคุณภาพของคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาว่ามีสมรรถภาพดังว่า

การเป็นอาจารย์ที่จัดการเรียนการสอนแบบจิตตปัญญาศึกษา หรือการเป็นนักฝึกอบรมกระบวนการจิตตปัญญา การทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติความสามารถในการทำงานดี และทำงานเป็นทีมได้อย่างยอดเยี่ยม และเครือข่ายก็มิเคยได้คัดกรองหรือพยายามตั้งเกณฑ์เพื่อเลือกเอาคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไว้เลย

สิ่งที่ยึดโยงแต่ละคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาไว้ ไม่ใช่ภารกิจการงานหรือบทบาทหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ทว่าเป็นความสนใจในการพัฒนาตัวเองจากข้างใน ได้เรียนรู้จิตใจของตนเองและเชื่อมสัมพันธ์การเรียนรู้นี้กับความรู้ทางวิชาการในสาขาชำนาญการของตนช่วยเหลือสังคม ไปจนถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน

การใฝ่เรียนรู้และหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาที่ทุกๆ คนในเครือข่ายตระหนักและพยายามปฏิบัติอยู่เสมอ

เมื่อย้อนกลับไปยังคำถามถึงแบบทดสอบหรือเครื่องมือคัดเลือกผู้สมัครมาเป็นอาจารย์ใหม่อีกครั้ง ผมก็ยังคงเชื่อว่าเราน่าจะเริ่มที่บุคลากรปัจจุบัน สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับคนตรงหน้า

แต่ผมกลับเริ่มรู้สึกว่าเราอาจไม่ต้องใช้วิธีการหรือกระบวนการแบบจิตตปัญญาศึกษาที่ผมเสนอไปแล้วก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องนพลักษณ์และเราไม่ต้องจัดกระบวนการสุนทรียสนทนาเลยก็ยังได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งและเป็นชื่อเรียกขานอีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ขอเพียงเราเริ่มจากตัวเราเองก่อน เรียนรู้ใจตนและพยายามเท่าทันใจตัวเอง วางใจและลงมือทำลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังไม่ย่อท้อ เพียงเท่านี้ปัญหาไหนๆ ย่อมพากันฝ่าข้ามไปได้แน่นอน

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home