โดย ศุภชัย พงศ์ภคเธียร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
---------------------
ในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่นี้ บรรยากาศการรับน้องในมหาวิทยาลัย เสียงกลอง เสียงนักศึกษาใหม่ร้องเพลงเชียร์ เสียงบูมคณะ บูมมหาวิทยาลัย ล้วนแต่ทำให้หวนนึกถึงสมัยเป็นนักศึกษา หลายคนต่างก็เคยเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา ที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากมหาวิทยาลัย จากโรงเรียน จากครอบครัว จากสังคมแวดล้อมที่เราเติบโตมาทั้งนั้น
ผมเป็นวิศวกรคนหนึ่ง ที่ภาคภูมิใจในความเป็นวิศวกรซึ่งจบจากสถาบันอันมีชื่อของประเทศ ที่เด็กนักเรียนมัธยมจำนวนไม่น้อยใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาศึกษา พอนึกถึงสมัยเป็นเด็กมัธยม ช่วงนั้นเราต้องเรียน ต้องติววิชาต่างๆ ที่จะใช้เอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอย่างหนัก ในตอนกลางวันต้องเรียนที่โรงเรียนตามหลักสูตร พอเลิกเรียนก็ต้องรีบไปติววิชาภาษาอังกฤษในสถาบันมีชื่อย่านวังบูรพา จำได้ว่าในห้องเรียนนั่งอัดกันอย่างกับปลากระป๋อง แทบจะไม่มีทางเดิน ซ้ำยังต่อทีวีวงจรปิดไปเรียนชั้นอื่นอีกด้วย และยังบันทึกเทปไว้ สำหรับคนที่ไม่สามารถมาเรียนสดกับตัวอาจารย์ได้ ค่าใช้จ่ายก็สูงเกือบเท่าเรียนสดกับอาจารย์
กว่าจะได้กลับถึงบ้าน ก็ 4-5 ทุ่ม หรือกว่านั้น พอถึงบ้านก็รีบกินข้าว อาบน้ำ แล้วก็ต้องรีบทำการบ้าน แบบฝึกหัดของครูที่โรงเรียนสั่งไว้ ซึ่งก็มีมาก ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวิชาต่างๆ อาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชาจะใช้ข้อสอบคัดเลือกเข้ามหา’ลัยในปีการศึกษาต่างๆ แล้วยังใช้ข้อสอบระดับสูงกว่าขึ้นไปอีก เช่น ข้อสอบระดับปริญญาโท-เอกมาทดสอบกันด้วย เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องไปติววิชาอื่นๆ ตามโรงเรียนกวดวิชา เป็นอย่างนี้ทุกวันในช่วงเรียนมัธยมปลาย แทบไม่มีวันหยุด
จนกระทั่งช่วงใกล้สอบเอนทรานซ์พวกเราจะเก็บตัวติวเข้ม บ้างเก็บตัวเป็นกลุ่ม บางกลุ่มก็ 4-5 คน บางคนก็ซุ่มดูหนังสือคนเดียว พวกเราเอาจริงเอาจังมาก ราวกับนักกีฬาทีมชาติเก็บตัวก่อนแข่งขัน บางคนเครียดจนต้องอาศัยยาคลายเครียด บางคนผู้ปกครองต้องพาไปพบแพทย์ บ้างก็หายาบำรุงอาหารเสริมมาช่วย น่าสงสารพวกเรานะที่ต้องแข่งขัน เอาจริงเอาจังกันจนแทบจะไม่ห่วงชีวิต ไม่ห่วงสุขภาพกันเลย
พอมาปัจจุบัน กว่า 30 ปีผ่านไป ลูกสาวผมเองก็กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายเหมือนกัน เมื่อคืนก่อนเธอโทรมาบอกว่าให้ช่วยไปรับเธอหน่อย เพราะ เธอนั่งรถเมล์หลับด้วยความอ่อนเพลีย จนเลยป้ายที่จะต้องลงไปไกล ตอนนี้ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจ ที่พวกเราเติบโตมาในสังคม ในระบบการศึกษา ที่เตรียมพวกเราเพื่อป้อนให้กับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งพวกเราก็ตั้งใจทุ่มเทเวลา ชีวิตของพวกเราให้กับการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศตามค่านิยมแบบนี้
ในช่วงที่เรียนอยู่ในคณะวิศวะ พวกเราก็เรียน เล่น และทำกิจกรรมต่างๆ ตามค่านิยมของนักศึกษาสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องเรียนหนักเรื่องการคำนวณ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสาขาต่างๆ แต่ที่น่าแปลก คือไม่มีการเรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวเอง หรือเรียนรู้ว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสุข
สิ่งที่ทำให้ผมตั้งใจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองขนานใหญ่ เกิดขึ้นในช่วงเรียนจบแล้วประมาณ 4 ปี ช่วงนั้นผมก็ใช้ชีวิตกลางวันทำงาน กลางคืนเที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายาตามประสาวิศวกรหนุ่มโสดทั่วไป ทำให้เห็นคนชอบเที่ยว ชอบเมาแทบทุกคืน ดีกว่าสมัยเป็นนักศึกษาหน่อย ตรงที่ตอนโตแล้วไม่ถึงขนาดสร้างวีรกรรมไว้ต่างๆ นานา จนต้องออกตามหา อย่างบางคนก็ไปนอนตามแผงผักที่ตลาด บางคนไปเจอที่ป้ายรถเมล์ บางคนก็ไปเจอที่ม้านั่งในโรงอาหาร ที่หอพักบ้าง
พอคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ทำให้ผมก็อดคิดไปไม่ได้ว่า ปกติพวกเราก็เมาชีวิตอยู่แล้ว ทำไมเรายังจะกินเหล้ากันให้เมาเข้าไปอีก ยิ่งทำให้เมาในเมา ยิ่งทำให้ “หลงชีวิต” เข้าไปกันใหญ่ เลยเป็นที่มา ทำให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมาว่า “ชีวิตคนเรา มีอะไรเป็นเป้าหมายกันแน่?” แล้วเราจะพัฒนาตนเองอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต เราเรียนอะไรมาตั้งมากมาย มนุษย์เราสามารถหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ในโลกได้มหาศาล แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง โดยเฉพาะความรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตใจ
เพื่อนหลายคนยิ่งทำงานยิ่งเครียด ยิ่งรวยยิ่งเครียด เรามักได้ยินคนพูดกันว่า “สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจ” แต่เราก็พบว่าแม้แต่คนพูดก็ยังถูกความทุกข์เล่นงานเอา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เราจะต้องศึกษาหาความรู้เรื่องชีวิตของคนเราให้ได้ด้วย และถ้าไม่ถูกความทุกข์เล่นงานเหมือนอย่างคนทั่วไปก็จะดี
ในยุคนี้ยังดีที่เรามีการศึกษาค้นคว้าศาสตร์ในเรื่องของจิตใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และแสวงหาความรู้ได้ง่ายขึ้น หลากหลายกว้างขวางขึ้น แต่ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาตำรา หรือฟังจากครูบาอาจารย์ เป็นเพียงความรู้ที่เราเข้าใจ จำได้ คิดได้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับจินตนาการเอา ยังไม่ใช่ความรู้ หรือปัญญา ที่เกิดจากประสบการณ์ เกิดจากการตระหนักรู้ ได้จากการปฏิบัติด้วยตัวเอง
จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราได้เรียนรู้ ได้พัฒนาศักยภาพภายในตนเอง ให้เรารู้เท่าทันความคิด รู้จักอารมณ์ รู้จักธรรมชาติของเราเองดีขึ้น รู้ว่าอะไรคือคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่จะมีจะเป็นได้ ควบคู่ไปกับศาสตร์ที่เราต้องเรียน เพื่อใช้ประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเหลือสังคม และหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองไปด้วยกัน พวกเราคงจะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ไม่ถูกความเครียด ความทุกข์เล่นงาน
จะดีกว่าไหม ถ้ารู้จักชีวิตดีขึ้น สามารถออกแบบ สามารถสร้างชีวิตที่เราปรารถนาได้มากขึ้น ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง
พอชีวิตระยะหลัง ผมหันมาสนใจงานการศึกษา งานพัฒนาเยาวชนมากขึ้น จนอาจารย์ที่นับถือกัน ล้อเลียนว่า ตอนนี้ผมไม่ใช่วิศวกรแล้ว ทีแรกก็แปลกใจ และสงสัยเล็กน้อย แต่พออาจารย์อธิบายว่า ก็เปลี่ยนจากวิศวกรสร้างเครื่องจักรเครื่องยนต์ มาเป็นวิศวกรสร้างมนุษย์แทน ก็รู้สึกแปลกดีเหมือนกัน ถ้าจะมีวิศวกรสาขาใหม่เป็น “วิศวกรมนุษย์” ผมเชื่อว่าเราสามารถเป็น “วิศวกรมนุษย์” กันได้ทุกคน ถ้าเราสามารถสร้าง “ความเป็นมนุษย์” ให้กับตัวเราเองได้ และถ้าเราสามารถพัฒนาตัวเราได้ เราก็จะรู้วิธีการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน และเยาวชนของเราได้
ถึงแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ ตัวเราเองก็เป็นผู้สร้างชีวิตของเรา เพราะมนุษย์เรา คิดอย่างไร ทำอย่างไร เชื่ออย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น จึงเท่ากับว่า เราก็เป็น“วิศวกรมนุษย์” ผู้สร้างชีวิตของตัวเอง ขณะเดียวกัน ชีวิตของเราก็จะกลายเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรอบข้างและคนรุ่นต่อๆไปในสังคม ไม่ว่าเราจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม
Labels: ศุภชัย พงศ์ภคเธียร