โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐

เนื่องจากโลกนี้มีอย่างน้อยสามทัศน์หรือสามมุมมอง อันได้แก่ ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น และทัศน์ของกระบวนการ หรือมุมมองบุคคลที่หนึ่ง มุมมองบุคคลที่สอง และมุมมองบุคคลที่สาม ตามลำดับ จิตใจของเราก็มีพื้นที่ให้โลดแล่นไปได้อย่างน้อยในสามมุมมองนี้ แต่ถึงคราวร้าย จิตใจของเรากลับเจ้าเล่ห์แสนกลใช้พื้นที่เหล่านี้อย่างไม่เข้าใจ

ด้วยการปฏิเสธบางส่วนของตัวเอง ตัวตนเริ่มเกิดรอยแยกเป็นสอง และตัวตนที่ถูกแยกและปฏิเสธออกไป ก็เริ่มถูกผลักออกจากพื้นที่ของมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สอง อันเป็นพื้นที่แห่งการต่อรองระหว่างตัวตนฉันและตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน คล้ายกับว่ามีสองคนในร่างเดียว ที่ต่างคนต่างถกเถียงกันไปมา และต่อรองว่าใครถูกใครผิด แต่กระนั้นการต่อรองในพื้นที่มุมมองบุคคลที่สองยังคงใกล้เกินไป และมีโอกาสสร้างความเจ็บปวดได้ง่าย ทำให้กระบวนการปฏิเสธตัวตนรุนแรงออกไปจนกลายเป็นการผลักออกไปสู่พื้นที่บุคคลที่สาม อันเป็นพื้นที่ที่เจ็บปวดน้อยกว่า ตัวตนที่ถูกปฏิเสธไม่ใช่ทั้งฉัน ไม่ใช่ทั้งคนอื่น แต่เป็น “มัน” ที่ฉันไม่รู้จัก และไม่อยากจะรับรู้ว่ามี “มัน” อยู่ พร้อมกันนั้นก็สร้างกำแพงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเพื่อปกป้องตัวตนที่เจ็บปวดอยู่ภายใน ปิดประตู และใส่กลอนไว้อย่างหนาแน่นจนยากที่จะเข้าไปได้

กระบวนการข้างต้นนี้เรียกว่า กระบวนการปฏิเสธตัวตน 1-2-3 หรือกระบวนการแยกตัวตนออกจากพื้นที่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สอง และไปสู่พื้นที่มุมมองบุคคลที่สาม การปฏิเสธก่อให้เกิดการสูญเสียพลังทางจิตใจอย่างมาก เนื่องจากต้องคอยปกป้องและปกปิดการรับรู้การมีอยู่ของตัวตนที่รู้สึกว่าน่ารังเกียจ การปกป้องตัวเองในทางจิตวิเคราะห์เรียกว่า “กลไกการป้องกันตนเอง” (defense mechanism) และการปกปิดการรับรู้ว่ามี “มัน” อยู่ อาศัยการเอาตัวตนที่ถูกปฏิเสธไปเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก

แท้จริงแล้ว ตัวตนที่ถูกปฏิเสธไม่ได้หายไป แต่หลบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึก บางครั้งเหมือนจะเห็น แต่ก็ไม่เห็น ด้วยจิตสำนึก มีแต่เงาที่คอยตามหลอกหลอนเราอยู่ร่ำไป คาร์ล ยุงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เงา” (shadow) ซึ่งคอยติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง ตัวตนที่ไม่ใช่ฉันกลายเป็นเงาคอยทำงานซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเรา คอยทำหน้าที่บงการ และนำพาชีวิตของเราไปตามอำนาจที่ซุกซ่อนและปกปิดอยู่ในจิตไร้สำนึก จนกระทั่งดูเหมือนว่าเราเป็นผู้เลือกได้เอง แต่ตรงกันข้าม เราต่างหากที่ถูกเลือก อันเป็นผลกรรมมาจากการแยกตัวตนออกเป็นสองตั้งแต่ต้น เงาแสดงตัวออกมาทั้งในด้านลบและบวก ในด้านลบ เงาอาจแสดงตัวโดยการโยนความผิดไปที่คนอื่น เช่น “ฉันไม่ได้โกธร เธอนั่นแหละโกรธ” แต่แท้จริงแล้วฉันกำลังปฏิเสธว่าฉันเองนั่นแหละที่เป็นคนโกรธ หรือในด้านบวก เงาอาจแสดงตัวโดยการชื่นชมคนอื่นในรูปแบบของศรัทธาหรือหลงใหลอย่างหน้ามืดตามัว ซึ่งแท้จริงแล้วฉันกำลังสร้าง “ฉันในอุดมคติ” ที่อยากจะเป็น แล้วปฏิเสธการชื่นชมและศรัทธาตัวเอง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นไม่ได้โกรธ หรือไม่น่าชื่นชม แต่เป็นสองส่วนที่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน กล่าวคือส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนของคนอื่น เป็นสิ่งที่เราสามารถรับทราบข้อมูลความเป็นไปของเขา แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่เราอาจตอบสนองมากเกินกว่าปกติ ซึ่งการตอบสนองเกินปกติในส่วนที่สองนี้เอง คือการแสดงตัวของเงา

กระบวนการผสานรอยแยกระหว่างตัวตน คือกระบวนการนำพาตัวตนที่ถูกปฏิเสธจากพื้นที่มุมมองที่ห่างไกล กลับมาสู่บ้านที่แท้ในพื้นที่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง กระบวนการนี้คือ กระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1

กระบวนการในขั้น 3 คือ การหาเงาให้เจอเพื่อหันกลับมาเผชิญกับ “มัน” หรือตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน การหาเงาให้เจอเป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากมันได้ถูกกักเก็บเอาไว้แล้วในจิตไร้สำนึก สิ่งที่เราอาจพอสังเกตได้คือ กลไกการป้องกันตนเอง อนึ่งกลไกป้องกันตนเองเป็นธรรมชาติของจิตที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อใช้คัดกรองสิ่งที่ควรรับและควรปฏิเสธ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น แต่การใช้กลไกป้องกันตนเองมากเกินกว่าการคัดกรอง เช่น การโยนความผิดไปทำร้ายคนอื่น การเก็บกดเข้ามาทำร้ายตัวเอง หรือการใช้เหตุผลเพื่อหนีเอาตัวรอด ต่างมีรากมาจากเงาทั้งสิ้น การสังเกตกลไกการป้องกันตนเอง เป็นหนทางหนึ่งในอีกหลากหลายหนทางที่จะนำไปสู่การหาเงาให้เจอ และสามารถเผชิญหน้ากับตัวตนที่ไม่ใช่ฉันได้ในที่สุด

กระบวนการในขั้น 2 คือ การพูดคุยระหว่างตัวตนฉันกับ “มัน” โดยอาจเริ่มต้นใช้คำถามว่า “เธอคือใคร” “เธอต้องการอะไรจากฉัน” “เธอเอาอะไรมาให้ฉัน” เป็นต้น กระบวนการพูดคุยอาจเกิดขึ้นภายในตัวเราเอง หรืออาจเกิดขึ้นระหว่างการรับคำปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาก็เป็นได้

กระบวนการในขั้น 1 คือ การกลับไปเป็น “มัน” คือการเข้าไปสู่โลกของตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน โลกที่เจ็บปวด โลกที่ตัวฉันช่างอ่อนแอ ช่างน่ารังเกียจ การยอมรับความอ่อนแอและความน่ารังเกียจเท่านั้นที่ช่วยให้ “ฉัน” เป็นหนึ่งเดียวกับ “มัน” เช่น “ฉันเองที่เป็นคนโกรธ” “ฉันเองที่รู้สึกว่าไม่ดีพอ” เป็นต้น

เมื่อ “ฉัน” หรือตัวตนฉัน เป็นหนึ่งเดียวกับ “มัน” หรือตัวตนที่ไม่ใช่ฉัน การผสานรอยแยกระหว่างตัวตนก็เกิดขึ้น เป็นการบำบัดรักษาจิตใจ และสิ้นสุดกระบวนการยอมรับตัวตน 3-2-1 ในที่สุด และการยอมรับตัวตนถึงที่สุดนี้เท่านั้น ที่จะเป็นฐานให้แก่กระบวนการข้ามพ้นความทุกข์ในระดับปัญญาต่อไป

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเคน วิลเบอร์ ในหนังสือชื่อ Integral Spirituality บทที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “เงาและตัวตนที่ถูกปฏิเสธ” (The Shadow and the Disowned Self)

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home