โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐
ช่วงนี้มองไปรอบตัว เห็นคนรอบข้างกำลังหน้านิ่วคิ้วขมวด บางทีก็ได้ยินเสียงถอนหายใจดังเฮือก เป็นระยะๆ พอไถ่ถามก็ได้ความว่าเป็นเรื่องงานนั่นแหละ แต่ปัญหามักไม่ได้อยู่ที่งาน ปัญหามักจะอยู่ที่คน และคนคนนั้น ที่ทำให้คนหนุ่มสาวหยั่งเราเราท่านท่าน ต้องถอนใจแทนการกริ้วโกรธ ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเจ้านายมากกว่าลูกน้อง
เจ้านายบางคนให้งานลูกน้องไปแล้ว แต่พอถึงเวลาทำก็ไปแย่งงานลูกน้องทำ เพราะไม่ไว้ใจ กลัวไม่ถูกใจ กลัวไม่ได้ผลตามที่ประสงค์
เจ้านายบางคนโปรยคำหวาน ให้เขียนเสนอโครงการเข้าไป เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหลักที่ว่า เป็นการสนับสนุนคนทำงานดี-ดี ให้ทำงานดี-ดี ออกมา แต่พอถึงเวลาก็ให้ปรับแล้วปรับอีก จนบางครั้งก็เลิกแก้และเลิกความคิดที่จะทำโครงการดี-ดีนั้นไป
เจ้านายบางคนไปเกี้ยเซี้ยกับบริษัทข้างนอก ก็ให้ลูกน้องเขียนสเปคจัดซื้อจัดจ้าง ตามสคริปต์ที่ตัวเองกำหนด
เจ้านายบางคนอาการหนัก พอถึงเวลาตรวจรับงาน ก็ไปทวงผลงานเกินที่ตกลงไว้ อาจจะงานหนักจนอัลไซเมอร์ถามหาบางเวลา ต้องเรียกเอาสัญญามาตรวจดู ทั้งทั้งที่เป็นคนลงนามอนุมัติโครงการกับมือ
เจ้านายบางคนขี้เกียจและขาดมุทิตาจิต หากลูกน้องขยัน โดดเด่นเข้าตากรรมการ พอลับตานายใหญ่นายน้อยก็เรียกลูกน้องมาตักเตือนว่าอย่าทำอะไรในสิ่งที่องค์กร (ที่แปลว่าฉัน) ยังไม่ได้มีมติออกไป
เจ้านายบางคนรู้จักแต่การแสดงความประสงค์ แต่ไม่รู้วิธีทำให้สำเร็จ
ฯลฯ
ปัญหาเรื่องการทำงานกับเจ้านายมากมายมหาศาลเพียงนี้ มีวิชาอะไรในจิตตปัญญาศึกษาจะมาช่วยคลี่คลายได้บ้าง?
คิ้วข้าพเจ้าขมวดอยู่สักห้านาทีได้ ก่อนที่จะโยนทฤษฎีทั้งหลายที่เคยได้เห็นได้ยินมาทิ้งไป
ในภาวะที่น่าอึดอัดคับข้องใจเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าเสียงหัวเราะ
เมื่อมองดูให้ดี สิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ก็เป็นเพียงใบหน้าหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้างทางอำนาจ – มรดกตกทอดที่แม้ว่าเราจะไม่ประสงค์แต่วัฒนธรรมก็ยัดเยียดมอบให้เรามาหลายยุคหลายสมัย
อย่าว่าแต่เรื่องเจ้านายกับลูกน้องเลย เรื่องวุ่นๆ ในสังคมไทยก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น วัฒนธรรมการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายตามแบบเสรีนิยมไม่มีวันงอกเงยขึ้นมาได้ในวัฒนธรรมอำนาจแนวดิ่งเช่นนี้ เยาวชนที่มีคุณภาพไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ในวัฒนธรรมที่มองว่าเขาหรือเธอเป็นมนุษย์พันธุ์คิดเองไม่เป็น ประชาสังคมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในวัฒนธรรมอำนาจแบบรวมศูนย์ไม่ไว้วางใจกระบวนการตรวจสอบทางสังคม
พวกเราแต่ละคนต่างก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งโครงสร้างทางอำนาจนี้ไม่มากก็น้อยอยู่ในตัว ไม่ว่าอำนาจนั้นจะอยู่ในรูปของเงิน ปืน หรือตำรา และสะสมจนกลายเป็นจิตร่วมของสังคม
และหากยังคิดอยู่ว่า ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ เราสามารถแก้ไขได้หากเรามีอำนาจ – นั่นแหละ บ่วงความคิดเรื่องอำนาจนี้ไม่นำเราไปสู่การแก้ปัญหานี้ได้เลย
ข้าพเจ้าคิดว่า สังคมได้มอบอาวุธอย่างหนึ่งให้กับผู้คนของตนในการรับมือกับโครงสร้างอำนาจ สิ่งนั้นคือ อารมณ์ขัน – อารมณ์ขันซึ่งท้าทายอำนาจด้วยความกล้าหาญนั้นย่อมประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความกรุณาอย่างยิ่ง
เราพึงมองคนมีอำนาจด้วยความกรุณา มองเห็นอวิชชาที่เป็นเครื่องผลักดันให้เขาหรือเธอแสดงกิเลสพื้นฐาน มองว่าเขาหรือเธอเป็นคนเขลาที่ไม่ทันเห็นตำแหน่งที่มีอยู่ว่าเป็นดังหัวโขนไม่อาจตามติดไปได้ในเวลาตาย และโดยธรรมชาติแล้ว คนหรือองค์กรที่มีอำนาจมักจะไม่เรียนรู้ เพราะไม่ค่อยรับสัญญานจากวงจรป้อนกลับ มีแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงสูง เพราะการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหวไม่ปลอดภัย สิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักการเรียนรู้ไม่ปรับตัวก็ย่อมสูญพันธุ์ไปตามกฎการคัดเลือกตามธรรมชาติ
อำนาจที่เขาหรือเธอแสดงต่อเราจึงเป็นเพียงอำนาจแอ๊บแบ๊ว อยู่ได้ชั่วครั้งชั่วคราว มาแล้วก็ไป ดำรงอยู่ก็แต่เพียงผลแห่งการแสดงอำนาจนั้น ซึ่งเขาย่อมต้องรับผลกรรมแห่งการกระทำนั้นตามหลักแห่งเหตุปัจจัย ดังที่ชีวประวัติหรือประวัติศาสตร์จะบันทึกหรือไม่บันทึกไว้ในอีกหลายรุ่น
หัวเราะแล้วแก้ปัญหาได้ล่ะหรือ?
การหัวเราะนั้นเรื่องหนึ่ง การแก้ปัญหานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นก็คือ การหัวเราะเป็นเรื่องของท่าทีในการเผชิญกับปัญหา และการกระโจนเข้าไปหาวิธีแก้ปัญหานั้นเป็นคนละเรื่องกับการทำความเข้าใจกับปัญหา
ปัญหาบางปัญหาพอพิจารณาดูแล้วดูใหญ่โตเกินกำลังของปัจเจกอย่างเราที่จะแก้ไข
แต่อย่าลืมว่า จิตตปัญญาศึกษาเชื่อในเรื่องของผีเสื้อกระหยับปีก ที่ทำให้เกิดพายุในอีกฟากหนึ่งของโลก จิตตปัญญาศึกษาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างแยกจากกันไม่ออก
แปลว่าอะไร? – แปลว่าอย่าไปคิดเปลี่ยนแปลงเจ้านายแอ๊บแบ๊วเลย เพราะบางครั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่กำลังผุพังมันเปลืองแรง โครงสร้างที่กำลังกัดกร่อนทำลายตัวไม่ช้าไม่นานก็พังทลายเอง สู้เอาเรี่ยวเอาแรงไปบ่มเพาะสิ่งดีงามใหม่ๆ ที่อยู่รอบตัว ให้มันงอกเงยเติบโตทันกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงดีกว่า
ที่สำคัญ เราอาจจะต้องคิดใหม่ ว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ไม่อาจใช้เวลาสิบปียี่สิบปี อาจจะต้องคิดต้องทำกันแบบข้ามภพข้ามชาติ – เพียงเท่านี้ ก็เห็นแล้วว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จทั้งหลายก็เป็นเรื่องแอ๊บแบ๊วทั้งเพ
Labels: ชลนภา อนุกูล