โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
... ฝีเท้าของผู้เขียนย่ำเข้าสู่ความสงัดของป่าต้นน้ำ ที่หมู่บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พร้อมกับคณะนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรการศึกษาองค์รวม (Holistic Education) รุ่นที่ ๑ ของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยมีอาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู เป็นผู้นำให้เราปลดวางสัมภาระ ปลีกตัวออกห่างจากความจำเจในหน้าที่การงานและความคิดเชิงตรรกะทางสังคม เข้าสู่การเรียนรู้ที่นัยทางหนึ่งนั้นเป็นการแสวงหาปรีชาญาณจากธรรมชาติ (Nature Acquisition) เชื้อเชิญแต่ละคนก้าวสู่พรมแดนที่ท้าทายตัวตนที่เปราะบางให้ทำหน้าที่สะท้อนภาพพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ด้วยการอดอาหารเป็นเวลา ๑ วัน และแยกย้ายออกไปเดียวดายกลางป่าเป็นเวลา ๑ คืน การเดินทางครั้งนั้นเป็นการเดินเข้าป่าในเชิงกายภาพ แต่อันที่จริง แต่ละคนกำลังเดินกลับสู่บ้านหลังใหญ่ มาตุภูมิแห่งขุนเขาที่นำพาเราหยั่งถึงธรรมชาติที่แท้ภายในตน
คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนถามตัวเองคือ ที่หมายของความรู้ที่เพิ่มขึ้นจากประสบการณ์และการแสวงหาทางจิตวิญญาณ จะนำพาให้ผู้เขียนก้าวไปสู่ปัญญาที่สร้างให้เกิดความเข้าใจต่อความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วยใจที่เคารพ หรือนำไปสู่การสะสมองค์ความรู้ในเชิงปริมาณที่ก่อร่างสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พิพากษาตัดสินผู้อื่น? ดูเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนในระยะนี้ และจากการเฝ้าสังเกตการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นจากแวดวงการศึกษา ก็ยิ่งเห็นว่าคนเราเรียนรู้มากขึ้น แต่กลับเป็นไปเพื่อบ่มเพาะจุดยืนทางความคิดอันเป็นที่มาของการเจริญอัตตาตัวตนที่แข็งกร้าว หลงผิดคิดว่าความรู้จะทำให้มนุษย์พึ่งพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวได้ในโลกนี้
รหัสนัยที่ธรรมชาติชี้ให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองเห็นตัวตนที่ชัดเจน คือ การทึกทักเอาเองว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ธรรมชาติก็มอบความจริงผ่านภาพสะท้อนให้ผู้เขียนย้อนมองตัวเอง คือ ช่วงก่อนที่จะเดินทาง ผู้เขียนตั้งใจเอาไว้ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนน้อยที่สุด รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด บริโภคอาหารและทรัพยากรให้น้อยที่สุด พึ่งพาให้น้อยที่สุด ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการฝึกละวางความต้องการ แต่ในฟากของความสุดโต่งที่ขาดสติ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำกล่าวว่า “ฉันจะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด” นั้นก็คือ “ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งใคร ดังนั้น ไม่มีใครหรืออะไรที่จำเป็นสำหรับฉัน ฉันดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง” เป็นเป้าหมายที่คับแคบเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะอัตตาตัวตนให้แข็งแกร่งขึ้น
ในช่วงการทำงานในชีวิตประจำวันกับผู้คนที่คุ้นเคย เราอาจมองเห็นภาพตัวเองไม่ชัด แม้จะมีพฤติกรรมทางใจเป็นสัญญาณบางอย่าง เช่น ความหงุดหงิดรำคาญ ความไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่การอยู่ในโลกที่มนุษย์สมมติสร้างขึ้นด้วยคำอธิบายและนิยามความคิดแต่เพียงมนุษย์นั้น ไม่ทำให้ตาของเราเปิดมองเห็นความจริงได้ แต่เมื่อเราต้องอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การเดินทางไกล การอดอาหาร และการอยู่กับความกลัวเพียงลำพัง ทำให้เราเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ก็ยังพึ่งพาอยู่นั่นเอง
ผู้เขียนพยายามเดินหาสถานที่กางเต็นท์ที่พักระหว่างการอดอาหารวันที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเข้าสู่จุดที่อ่อนแอที่สุดเนื่องจากกำลังปรับสภาพ ผู้เขียนเดินห่างจากจุดนัดพบออกไปไกล ยิ่งเดิน ยิ่งเหนื่อย หายใจเริ่มติดขัด ร่างกายอ่อนแรง ต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ แต่ใจที่แข็งกร้าวอยากเอาชนะไม่ยอมน้อมขอความช่วยเหลือใดๆ หรือลดทอนเป้าหมายของตัวเองลง ระหว่างที่แรงเฮือกสุดท้ายกำลังจะหมด ยังไม่วายมองหาจุดที่พักที่ไม่เบียดเบียนชีวิตเล็กๆ ของต้นไม้เล็กใหญ่หรือต้นหญ้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีพื้นที่เช่นนั้นในป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ความหลงยึดอยู่กับความคิดที่ต้องทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดโดยไม่คำนึงถึงบริบทความจริง ปล่อยให้ทิฐิมานะคาดคั้นลากสังขารตนเองให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางความคิดให้ได้ ในที่สุดเมื่อกายอ่อนล้าและหมดแรงไปต่อ ผู้เขียนจำนนใจอ้อนวอนจากธรรมชาติ จำนนต่อฐานะผู้พึ่งพิงของตนเองต่อต้นไม้ใบหญ้าน้อยใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมทาง และมดแมลงตัวน้อยที่เราไม่เคยมองเห็นค่าของเขาเมื่อตัวเราเป็นใหญ่ที่บ้านในเมืองหลวง แต่ ณ ที่แห่งนี้ ผืนป่ามอบความจริงอย่างที่สุดให้กับมนุษย์
หลังจากนั่งพักจิบน้ำ กางเต็นท์ที่พักเสร็จ ผู้เขียนนิ่งเงียบอยู่กับตนเอง อยู่กับความเป็นจริงที่ธรรมชาติมอบให้ การเงียบเสียงจากภายนอก ทำให้ได้ยินเสียงภายในของเราชัดเจนขึ้น เมื่อความคิด หรืออารมณ์ใดๆ ผุดบังเกิด เราจะได้ยินเสียงของมันเหมือนดังออกมาข้างนอก ผู้เขียนย้อนกลับไปใคร่ครวญถึงเสียงของตนเองในระหว่างเดินหาที่พัก และมองเห็นธรรมชาติของความอยากเอาชนะที่เกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะพึ่งพาตนเองได้ แต่ก็ยังขัดขืนดื้อดึงไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ในฐานะผู้ร้องขอการพึ่งพิงจากธรรมชาติ มายาคติที่สร้างขึ้นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้าง เป็นนายเหนือธรรมชาติ ทำให้ผู้เขียนมองไม่เห็นความจริงว่า สรรพสิ่งที่ดำเนินไปนั้น สัตว์ก็ยังต้องพึ่งพาผืนป่า ป่าก็พึ่งพาไอแดด และปรายฝน คนก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ และแม้แต่วินาทีแรกที่ลมหายใจของเราปรากฏเป็นชีวิตบนโลก เราก็อยู่ในฐานะผู้พึ่งพาธรรมชาติแล้ว หากแต่ใจของเราไม่ยอมศิโรราบ ตาของเราจึงมองไม่เห็นโยงใยที่ซ่อนเร้นอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ความรู้และปัญญาที่เกิดโดยคำนึงถึงความจริงข้อนี้ จึงเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอัตตาตัวตนที่ใหญ่ขึ้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การตัดสินถูกผิดโดยมีตัวเราเป็นฐานจึงทำหน้าที่แทนปัญญาที่จะเข้าใจความเป็นไปของทุกสิ่งอย่าง
มนุษย์ผู้กล้าจะอยู่เพียงลำพังได้จริงหรือ? การทำงานที่ประสบกับความสำเร็จไม่ต้องพึ่งพาคนเล็กคนน้อยเช่นนั้นหรือ? เราไม่ต้องการความสัมพันธ์ฉันมิตรเพื่อปลอบประโลมหัวใจเหนื่อยล้าของเราจริงหรือ? การดำรงอยู่ของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งใดนอกเหนือจากตัวเองจริงหรือ?
ในคืนแรกๆ ผู้เขียนพักอยู่ในหมู่บ้านของ “ผู้ดูแลป่า” พลังของคนเล็กๆในสังคมอย่างชาวปกาเกอะญอ ที่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองนักในการปกปักษ์รักษาป่าต้นน้ำพื้นที่กว่า ๑๕,๐๐๐ ไร่ ด้วยจำนวนสมาชิกเพียง ๒๐ หลังคาเรือน “อ้ายชัยประเสริฐ” ชาวปกาเกอะญอวัย ๔๐ ปี บอกว่า “ภารกิจของคนต้นน้ำคือการรักษาน้ำให้กับคนปลายน้ำ ชาวปกาเกอะญอรักษาป่าเพราะป่าเป็นแหล่งกำเนิดน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตอีกหลายชีวิต”
พวกเราชาวเมืองทุกคนก็เป็นหนึ่งในผู้พึ่งพาภารกิจการปกปักษ์รักษาของเขา ทุกหยดน้ำที่เราดื่มกินในแต่ละวัน เกิดจากจิตใจดีงามที่ทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลสรรพชีวิต เรามิอาจตัดสายใยแห่งการพึ่งพานี้ได้ มนุษย์มิได้ดำรงอยู่เป็นปัจเจกที่โดดเดี่ยว ในทางกลับกัน มนุษย์เป็นชีวิตเล็กๆ ชีวิตหนึ่งในสายสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
เมื่อผู้เขียนประจักษ์ถึงความจริงที่เรามิได้ยิ่งใหญ่มาจากไหน ในทางกลับกันก็เป็นเพียงผู้พึ่งพาสิ่งต่างๆ อยู่นั่นเอง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของตนก็ลดลง ธรรมชาติได้สอนความจริงว่าเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของความหลากหลายของสรรพชีวิตที่เลื่อนไหลดำรงอยู่บนโลก และเป็นโลกใบเดียวกันนี้เอง
Labels: มิรา ชัยมหาวงศ์