โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๑
วันเด็กที่เพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อไม่กี่อาทิตย์ ทำให้นึกถึงการเรียนรู้ของเด็กๆ และนึกถึงสิทธิประเภทหนึ่งของเด็กไทย ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วม (Participation Right) ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียนและในสังคม การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีพื้นที่ปลอดภัย กล้าที่จะแสดงออก ตั้งคำถาม และร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงตั้งแต่ในครอบครัว
เมื่อพิจารณาลักษณะครอบครัวไทยและสังคมไทย แน่นอนเรามิเคยปฏิเสธความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย แต่การมองอีกด้านทำให้ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าเราได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเด็กมากมายเพียงใด จริงอยู่หลายครั้งเราได้พยายามปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้ทั้งเด็กและครูได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เรียน ได้แบ่งปันความรู้สึก และร่วมเล่าหรือเขียนถึงสิ่งที่ได้ยินให้นำมาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของตน แต่จะเป็นไปได้ขนาดไหนที่เด็กสามารถโต้แย้งถึงสิ่งที่ตนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยได้อย่างปลอดภัย หรือแม้กระทั่งสามารถบอกได้ว่า “หนูไม่เข้าใจ” “หนูขอให้อธิบายเพิ่ม” หรือ “เนื้อหาที่เรียนมากเกินไป หนูรับไม่ไหวแล้ว”
การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วม เป็นการ “ปลดปล่อยความทุกข์” ในการเรียนรู้ของเด็ก และฝึกฝนความเป็นประชาธิปไตยในชีวิตจริงของเด็ก โดยไม่ต้องรอให้อายุครบเกณฑ์เลือกตั้ง หรือไปเข้าร่วมชมรมประชาธิปไตยใดๆ ในโรงเรียน เพราะ “ประชาธิปไตย” ที่สามารถเริ่มต้นได้ในครอบครัว หรือในชั้นเรียน จะเป็น “ประชาธิปไตยเชิงลึก” (Deep Democracy) ที่ผู้น้อยซึ่งอ่อนด้อยกว่าทั้งอายุ ความรู้และอำนาจ สามารถมีส่วนร่วมส่งเสียงแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างอิสระและปลอดภัย แนวคิดนี้ได้เทียบเคียงมาจากแนวคิดของ อานี มินเดล (Arny Mindell) เขากล่าวถึง ความเป็นประชาธิปไตยเชิงลึก ว่าเป็นทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการตระหนักรู้ของเสียงและความคิดเห็นของทั้งคนที่สำคัญและไม่สำคัญ เสียงของคนที่ดูเหมือนจะด้อยกว่า (ทั้งอายุ ความรู้ และอำนาจ) นั้นมีความหมาย มีคุณค่า มีปัญญาแฝงอยู่ และปัญญานี้มีผลต่อกลุ่มคนส่วนรวมเช่นกัน แนวคิดนี้เขยิบระดับขึ้นจากประชาธิปไตยทั่วไปในประเด็นว่า เสียงส่วนน้อย คนกลุ่มน้อยก็สำคัญ มิใช่แต่เสียงส่วนใหญ่เท่านั้น เสียงที่มีน้ำหนักมากกว่าบางครั้งก็อาจละเลยไม่ได้พิจารณาเสียงและเหตุผลของส่วนน้อย
เปรียบเทียบกับกรณีของเด็กในครอบครัว ในห้องเรียน เสียงของเด็กมักสำคัญน้อยกว่า เด็กไทยจำนวนมากเป็นโรคเหงา โรคไม่กล้า และโรคขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะไม่สามารถมี “พื้นที่ปลอดภัย” ในการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมตั้งแต่อยู่ในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่พี่น้องและ ในห้องเรียน ระหว่างครูกับศิษย์ เมื่อประชาธิปไตยเบื้องต้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบ้าน ในโรงเรียน การมุ่งเรียกร้องถึงความสำคัญและคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง และระบบตัวแทนก็ไกลจากความเป็นจริง
ประชาธิปไตยเชิงลึกจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ใหญ่ ผู้มีความสำคัญได้มี “สติ” และ “ตระหนักรู้” เต็มใจให้เด็กได้มีส่วนร่วมบอกความรู้สึกและร่วมเรียนรู้ สติและความตระหนักรู้นี้จะเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อผู้ใหญ่ได้มีโอกาส “ใคร่ครวญ” ถึงสิ่งที่ตนคิด พูดและแสดงออก การตระหนักรู้ ยังเปิดโอกาสให้เห็นทัศนคติของตนที่ยอมรับ “ความแตกต่างหลากหลาย” และ “รวมผู้อื่น” เช่น เด็ก หรือ ผู้ด้อยโอกาสกว่าเข้าไว้ในชีวิตการทำงานและการอยู่ร่วมกันด้วย
ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงเป็นการฝึกฝนจิตใจจาก “ด้านใน” ยอมรับและเต็มใจฝึกฝนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการแปลกแยก (ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ระหว่างศิษย์-ครู) สู่การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงเสนอแนะก้าวที่เลยพ้นความสำคัญของ “เสียงส่วนใหญ่” ตลอดจน “คนที่ใหญ่กว่า” (ทั้งอายุ ความรู้ อำนาจและสถานภาพต่างๆ) การที่บุคคลจะฝึกการเห็นความสำคัญของคนที่ด้อยกว่า เสียงของคนตัวเล็กกว่า ต้องอาศัย “การฝึกฝนด้านใน” เป็นประสบการณ์ด้านในของการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของทุกสิ่งนั่นเอง
เครื่องมือในการฝึกประชาธิปไตยเชิงลึกซึ่งง่ายที่สุดคือ “การฟัง” ที่ไม่ใช่แต่เพียง “ได้ยิน” เสียงของเด็กเท่านั้น แต่เป็นการฟังด้วยหัวใจที่เมตตาต่อเด็ก ฟังโดยไม่คิดตัดสินตามประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เคยประสบมาก่อน แต่ให้โอกาสเด็กได้พูดความรู้สึก ได้เล่าเหตุผล ได้แบ่งปันสิ่งที่ตนคิด โดยไม่ตัดบทว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน!” และฟังโดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองนึกถึงเมื่อครั้งตนเองเป็นเด็ก นึกถึงสภาวะที่ตนอ่อนด้อยกว่า หัวใจแบบเด็กๆ ของตนนั้นเรียกร้องอะไร
การฟังอย่างลึกซึ้งเช่นว่านี้เกิดขึ้นในกระบวนการสานเสวนา (Dialogue) นั่นเอง ดังนั้น ประชาธิปไตยเชิงลึกจึงสามารถสอดแทรกในการเรียนรู้ของทุกวิชา ไม่จำกัดว่าต้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองวิชารัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์เท่านั้น ในครอบครัว ในห้องเรียน ในการทำงาน ก็สามารถเริ่มต้น “การฟังด้วยหัวใจ” เพื่อเชื้อเชิญให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยขนาดไหน เสียงและความรู้สึกของทุกคนมีค่า ถึงแม้จะแตกต่างแต่ก็สามารถแบ่งปัน อธิบาย ชี้แจง เหตุผล และจุดยืนของความแตกต่างนั้นได้
ประชาธิปไตยเชิงลึกโดยผ่านวัฒนธรรมแห่งการฟังเช่นนี้ จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตยที่พวกเราโดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันเรียกร้องหาเป็นอย่างยิ่ง
ความเหงาของผู้คนทั้งหลายจะได้รับการบรรเทาให้ลดน้อยลง เพราะการฟังอย่างลึกซึ้งจะทำให้เด็กและผู้คนทั้งหลายได้สื่อสารกันอย่างเมตตา เชื่อมโยงความรู้สึกของผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ถมช่องว่างของความแปลกแยกไปสู่โยงใยเอื้อเฟื้อต่อกัน ดังในพระพุทธศาสนาว่าด้วยปรโตโฆสะ อันเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง การมีกัลยาณมิตรที่ดี และมีโยนิโสมนสิการ คือการคิดอย่างแยบคาย
แน่นอนว่าเสียงของเด็กที่คิดเห็นแตกต่างอาจไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่ หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ก็ทำให้ผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ ได้มีโอกาสฝึกจิต ฝึกเมตตา ฝึกความอดทนมากขึ้นและเพียรพยายาม “พัฒนา” ตนเอง และความรู้สึกไม่สบอารมณ์จะคลายลงเมื่อมีความต่อเนื่องของการฟังที่เมตตาและกติกาหลายๆ อย่างของสานเสวนา เช่น ความใจกว้าง การยอมรับและพร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เป็นต้น เพียงเท่านี้เด็กก็จะวางใจและเริ่มกล้าพอที่จะแสดงความคิดเห็น ร่วมเรียนรู้ สิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กก็จะได้รับการปฏิบัติจริง ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ในบ้านเมืองของเราอาจใกล้ความเป็นจริงขึ้นบ้างก็เป็นได้
Labels: ปาริชาด สุวรรณบุบผา
55 5+