บทความที่ ๑๐๐: สนทนากับเสียงด้านใน (Voice Dialogue) ของ “คุณสุภาพ”
0 comments Posted by knoom at 12:50 PM
โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
เมื่อไหร่เราพึงเริ่มสนทนากับเสียงด้านใน (Voice Dialogue Work - VDW) ?
ต่างคนต่างมีคำตอบต่อคำถามนี้ต่างๆ กัน บ้างก็อาจจะเริ่มเมื่อรู้สึกขัดข้องหมองใจและหาสาเหตุไม่ได้ บ้างก็อาจจะเริ่มเมื่อรู้สึกว่าสาเหตุนั้นเกิดจากใครต่อใครที่อาศัยอยู่รอบตัวรอบใจ และหากจะสืบค้นต่อด้วยมุมมองของวอยซ์ไดอะล็อกแล้วอาจจะพบว่าใครต่อใครที่ทำให้เราหมองใจหรือกวนใจเรานั้นกำลังทำหน้าที่อย่างซื่อตรงที่จะสะท้อนให้เราได้เห็นได้รู้จักและได้ยินเสียงของตัวตนด้านในของเราที่ถูกหลงลืมละทิ้ง
ยิ่งเรารู้สึกมีใครต่อใครรอบตัวทำให้เราหงุดหงิดรำคาญใจมากเพียงใด แทบจะเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรามีตัวตนด้านในที่รอให้เราสืบค้น และทำความรู้จักคุ้นเคยอีกครั้งหนึ่งมากมายเสมอกันอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
หากการณ์เป็นเช่นที่ว่า ดังนั้นถ้าใครสักคนจะบอกว่า “ผู้คนที่ฉันชื่นชมและปลาบปลื้มใจอยู่ล้อมรอบข้างตัวฉัน และใครๆ ใกล้ตัวก็ปลาบปลื้มฉัน ฉะนั้นฉันคงไม่ต้องสืบค้นสนทนากับตัวตนด้านในของฉันแล้วน่ะ”
อันที่จริงการสืบค้นเดินทางเข้าไปในโลกภายในของเรา เพื่อให้เราตื่นรู้และรู้จักตัวตนของเราได้ดีได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั้น มีหลากหลายวิธีและวอยซ์ไดอะล็อกก็เป็นอีกเพียงวิธีหนึ่งที่อาจชี้แนะเราว่า แม้นเราจะเป็นสุขพึงพอใจกับใครๆ ใกล้ตัวเรา และเขาก็เป็นสุขปลาบปลื้มใจกับเราเช่นที่ว่า ก็นับว่าเป็นเวลาที่น่าสืบค้นตัวตนด้านในของเราเช่นกัน มิใช่เฉพาะเวลาที่หงุดหงิดหมองใจเท่านั้น
ด้วยว่าเวลาที่เราปลาบปลื้มใจกับใครสักคนหรือหลายๆ คน และชื่นชมเขาหรือเธอมากมายเพียงใด ไม่ว่าเขาจะอายุมากหรือน้อย ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก เป็นมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง เป็นนามธรรมตามอุดมคติหรือเป็นข้าวของที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมก็ตาม อาการปลาบปลื้มชื่นชมนั้นก็เป็นกระจกสะท้อนตัวตนด้านในที่ถูกลืมถูกละทิ้ง (disowned self) ของเราเช่นกัน
หากเราได้ใช้พลังของตัวเรามากเพียงไหนที่จะเก็บกักตัวตนที่เราทิ้งไปแล้วแสดงออกมาเป็นอาการหงุดหงิดรำคาญใจ เราก็อาจจะใช้พลังมากมายพอๆ กันที่สะท้อนแสดงตัวตนที่เราทิ้งไปออกมาด้วยอาการร่าเริงยินดีกับผู้คนที่เราปลาบปลื้ม ตราบใดที่พลังเหล่านั้นเกิดจากปัจจัยที่สัมพันธ์กับตัวตนที่เราละทิ้ง และถูกปกป้องไว้อย่างมิดชิดในจิตไร้สำนึกส่วนลึกๆ ของเรา
เป็นไปได้ว่าพลังหงุดหงิดหมองใจกับพลังปลาบปลื้มชื่นชมต่างไหลเวียนขึ้นๆ ลงๆ จนพลังในตัวของเราปั่นป่วน โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม หากเป็นเช่นนั้น การฝึกฝนวอยซ์ไดอะล็อกที่จะรับฟังเสียงตัวตนด้านในของตนอย่างรู้เนื้อรู้ตัวในที่สุดก็เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้ใจตัวเราเองมากขึ้น ดูแลพลังของตัวเราได้ประณีตยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะฝึกฝนฟังเสียงที่นำพาให้เราหงุดหงิดหรือเชื้อเชิญให้เราเพลิดเพลินเจริญใจก็ตาม
ตัวอย่างนี้มีอยู่ว่า นานเหลือเกินตั้งแต่วัยเด็ก คุณ “สุภาพ” ปลาบปลื้มผู้คนที่โดดเด่นอยู่บนเวทีจะเป็นนักร้องบ้าง นักแสดงบ้าง นักปาฐกบ้าง เขาได้แต่มองผู้คนเหล่านั้นด้วยสายตาที่ชื่นชมและยกย่อง แต่หากมีใครสักคนชวนเขาขึ้นเวทีเพื่อร้องเพลงหรือกล่าวต่อสาธารณชนคนกลุ่มใหญ่ เขาจะส่ายหัวปฏิเสธ และถ้าหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เขาก็จะขึ้นเวทีด้วยความประหม่าสุดๆ และหากจะต้องพูดจาต่อหน้าผู้คนจำนวนมากเหล่านั้น เขามักไม่พูดดังเกินไป ก็เบาไปจนจับความไม่ได้
วัยเด็กของ ด.ช. “สุภาพ” เป็นวัยเด็กที่หวาดผวา เมื่อใดที่เขาจะเริ่มชี้แจงคิดเห็นแย้งกับพ่อของเขา พ่อของเขาก็เสียงดังราวฟ้าผ่ากลบเสียงเขาอยู่เสมอๆ และถ้าเขาซุกซนริเริ่มเล่นดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่พี่ๆ ไม่ถนัด แม่ก็มักจะกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเสมอๆ ว่า เขาไม่มีวันทำได้ดีหรอก เหมือนกับที่เขาไม่สามารถเรียนได้ดีเท่าพี่คนโต เล่นกีฬาไม่ได้เก่งเท่าพี่คนรอง และทำงานไม่เร็วเท่าพี่คนเล็ก
เพื่อจะเป็นที่ยอมรับของพ่อ โดยเฉพาะแม่ และพี่ๆ และเพื่อจะอยู่เย็นเป็นสุขในครอบครัว คุณ “สุภาพ” เรียนรู้ที่จะเก็บงำความเชื่อมั่น ความกล้าหาญที่จะกระทำการต่างๆ ไว้ ด้วยความอ่อนโยน เยือกเย็น และยอมอยู่เบื้องหลังมากกว่าจะนำหน้าใครๆ
ในงานเลี้ยงสาธารณะ หากเลือกได้เขาจะแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชน ทำตัวไม่เป็นที่สังเกต และเมื่อใครๆ ชื่นชมเขาที่รู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตน เขายิ่งทำตัวเป็นคนสุภาพให้สมชื่อ สมความคาดหวังของทุกคนยิ่งขึ้น และตัวตนที่จะหาญกล้าออกนอกทางนอกระบบ นอกความคาดหวังของใครๆ รวมทั้งตัวตนที่กล้ายืนยันความเป็น “ฉันเอง” นั้นแทบจะไม่มีพื้นที่ในชีวิตของ “สุภาพ” นัก
สำหรับคุณ “สุภาพ” เครื่องมือที่จะช่วยให้เขา “อยู่รอดร่วมกัน” กับใครต่อใคร เริ่มต้นจากพ่อแม่พี่ๆ ตลอดจนเพื่อนๆ และครูหรือเจ้านาย รวมทั้งคนรักหากจะมีใครเดินเข้ามาในชีวิตในฐานะคนใกล้ชิด เครื่องมือนั้นคืออาการ “สุภาพ” อ่อนโยน ตัวตนตัวเอก (primary self) ที่เป็นตัวหลักให้เขาปรับตัว และปกป้องตัวเขาจากความอับอายบ้างหรือ ความเจ็บใจบ้าง และกลายเป็นยามประจำตัวมักจะบอกให้เขาให้เกียรติคนอื่น ให้ทางคนอื่นเสมอ
หากเขากระทำตรงกันข้ามและอาจหาญที่จะยืนยันว่าตัวเขาต้องได้อะไรๆ เสมอคนอื่น คุณ “วิจารณ์” ในตัวเขาจะคอยสะกิดเขาว่า เขา “ดูก้าวร้าว” ไปแล้วนะ เขาจะดูเหมือน “พ่อ” ของเขาอีกแล้วนะ แล้วเสียงของคุณ “วิจารณ์” อาจจะสะท้อนเสียงของ “แม่” ของเขาที่คอยเตือนให้เขาอย่าล้ำเส้น อย่านึกว่าตัวเองแน่ และคุณ “สุภาพ” ก็อยู่รอดปลอดภัยในพื้นที่เล็กๆ ที่ตัวเอกของเขาจัดหาให้
เมื่อคุณ “สุภาพ” ละทิ้งคุณ “กล้าก้าว” และ “ยืนหยัด” ในตัวเองไป หากวันหนึ่งคุณ “สุภาพ” ตกสภาพที่จะต้องลุกขึ้นมา “กล้า” ปกป้องผลประโยชน์ของตน หรือยืนยันความคิดความรู้สึก รวมทั้งอุดมคติของตนก็ตาม คุณ “สุภาพ” ก็อาจจะลุกขึ้นมาทำอย่าง “ก้าวร้าว” และ “ดื้อรั้น” เกินกว่าที่คุณ “กล้าก้าว” และ “ยืนหยัด” จะร้องขอให้ทำ และเมื่อได้ทำไปแล้วก็อดจะรู้สึกผิดในใจลึก ๆ เพราะคุณ “สุภาพ” ไม่รู้จักวิถีและวิธีของความกล้ายืนหยัดอะไรต่อมิอะไรเพื่อตัวเองมาก่อนอย่างเพียงพอที่จะดูแลวิถีเหล่านั้น
ตราบต่อเมื่อ “คุณสุภาพ” ตระหนักดีว่า ตัวเองไม่จำต้องสุภาพนักก็ได้ ไม่จำต้องปักใจว่า ความอ่อนโยนหรือผ่อนตามเป็นวิถีเดียวที่จะอยู่รอดร่วมกับคนอื่นๆ เมื่อนั้น “คุณสุภาพ” ก็อาจสามารถต้อนรับคุณ “กล้าก้าว” หรือ คุณ “ยืนหยัด” เข้ามาในชีวิตของเขา เข้ามาดูแลเขาในบางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องปกปักรักษาจุดยืนของเขาอย่างเข้มแข็งโดยไม่ปล่อยให้อาการกล้าก้าวนั้นกลายเป็นอาการก้าวร้าว และเขายังสามารถที่จะอ่อนโยนต่อผู้คนและเหตุการณ์ที่ต้องการได้ไปพร้อมๆ กัน ด้วยอาการตื่นรู้และเลือกได้ด้วยตัวเขาเอง มิใช่เป็นเพียงเลือกไปตามอิทธิพลของตัวเอกตัวหลักที่ปักใจเขาไว้ว่า เขาเป็นได้เพียงคุณ “สุภาพ”เท่านั้น
และเมื่อนั้นอีกหรือเปล่า ที่เราได้อาศัยสัมพันธภาพของเรากับใครต่อใครช่วยให้เราเจริญสติ รู้เนื้อรู้ตัวรู้ใจเราบ้าง มากขึ้น บ่อยขึ้นได้บ้างในชีวิตกิจวัตรประจำวันของคนเดินดินกินเงินเดือน
เมื่อนั้นกระมังที่เราจะอาจจะตอบตัวเองว่า เราจะสนใจหรือริเริ่มสนทนากับเสียงด้านในหรือทำวอยซ์ไดอะล็อกได้เมื่อไหร่
Labels: สมพล ชัยสิริโรจน์
โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ทุกวันนี้เวลาเราดูข่าว เราจะเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมของสังคมทั้งในและนอกประเทศไทย คงไม่เกินความเป็นจริงที่จะกล่าวว่า ความรุนแรงกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ปรากฏออกมาให้สังคมภายนอกรับรู้ได้และอยู่ในซอกหลืบที่สังคมไม่เคยได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในเด็ก ในวัยรุ่น และคนหนุ่มสาว ความรุนแรงที่ผ่านออกมาทางสื่อต่างๆ การขยายตัวของความรุนแรงในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส และปัตตานี) และความรุนแรงระหว่างชนชาติในธิเบต จีน ขณะนี้
สาเหตุของความขัดแย้ง จนถึงขั้นขยายตัวจนก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นมีด้วยกันหลายเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน ผู้เขียนจะขอพูดถึงสาเหตุที่อยู่ใกล้ตัวก่อน คือเรื่องการตกร่องหรือการยึดติดกับพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ บางครั้งเรามักจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้หากปล่อยปละละเลยก็จะสะสมเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นอยู่ทุกๆ วัน
ที่ผ่านมาเราเคยได้เปิดสมุดบันทึกชีวิตของเราขึ้นมาอ่านทบทวนกันบ้างไหม โดยเฉพาะในเรื่องการยึดติดกับร่องพฤติกรรมการแสดงออกบางอย่างของตัวเรา อีกทั้งได้เคยลองเฝ้าสังเกตสมุดบันทึกชีวิตร่องพฤติกรรมการแสดงออกของผู้คนรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ เพื่อนร่วมงานในหน่วยงาน ในองค์กร หรือคนในชุมชน ในสังคมที่เราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราเคยมีความรู้สึกต่อการยึดติดกับร่องพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้นอย่างไรบ้าง หรือเราเคยตั้งคำถามกันบ้างไหมว่าทำไมคนเรานั้นจึงมีร่องพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งๆ ที่บางครั้งฝาแฝดเกิดมาในเวลาไล่เลี่ยกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูมาก็ไม่ต่างกันมากนักแต่ทำไมจึงมีร่องพฤติกรรมการแสดงออกแตกต่างกัน จนบางครั้งการยึดติดกับร่องพฤติกรรมการแสดงออกเหล่านี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้ยาก และหากสะสมเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน (เพราะเราต้องสัมพันธ์กันอย่างหลีกหนีไม่ได้ เช่น คนในครอบครัวเดียวกัน หัวหน้ากับลูกน้อง เพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน เป็นต้น) โดยที่เราเองก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะแสวงหาทางคลี่คลายหรือทำความเข้าใจระหว่างกัน ก็จะทำให้เริ่มเกิดเป็นความไม่ชอบ ไม่พอใจ จนถึงเกิดเป็นความขัดแย้ง ระหว่างบุคคล ขยายไปที่กลุ่มคน จนถึงขั้นก่อตัวขยายออกไปสู่องค์กรชุมชน และสังคมจนเป็นการแบ่งข้างแบ่งฝ่าย และสร้างความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นได้ในที่สุด
จะขอยกตัวอย่างความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจที่สะสมขึ้นบ่อยๆ จนบางครั้งถึงกับรู้สึกได้ถึงความขัดแย้งทั้งที่แสดงออกมาให้เห็นและเก็บซ่อนไว้ในใจ จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง ผู้เขียนค้นพบว่าตัวเองเป็นคนมีบุคลิกลักษณะไม่ชอบที่จะสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึก หรืออาจจะบอกได้ว่าไม่ค่อยได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกทั้งของตัวเองและผู้อื่นมากนัก เวลาเกิดอารมณ์ความรู้สึกก็จะหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้หรือพิจารณาอย่างถ่องแท้จริงจัง หากต้องร่วมงานกับคนที่ใส่ใจต่ออารมณ์ความรู้สึกมากๆ จนทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มั่นใจในตนเอง ลังเลวิตกกังวล ขี้เกรงใจจนไม่กล้าที่จะพูดอะไรอย่างตรงไปตรงมา (ในความรู้สึกของเรา) เพราะเขากลัวเสียความสัมพันธ์และอาจทำให้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น มันจะเร็วมากที่จะทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยพอใจ และตามมาด้วยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพราะเราสามารถที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วโดยไม่ลังเล มั่นใจตัวเองพอสมควร บุกตะลุย กล้าได้กล้าเสีย รักอิสระ เปิดเผย พูดจาตรงไปตรงมาจนบางครั้งก็ไม่กลัวที่จะสูญเสียความสัมพันธ์
ผู้เขียนมักจะมีโครงการใหม่ๆ มาเสนอเพื่อนร่วมงานเสมอ ชอบที่จะคิดนอกกรอบและสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทาย บางครั้งไม่ลงรายละเอียด ไม่รอบคอบ มีความยืดหยุ่นสูงพอสมควร ให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าข้อมูล เมื่อเกิดปัญหามักจะไม่จำนนต่ออุปสรรคสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยึดติดกับหลักการ รักการเรียนรู้แบบกว้างๆ หลากหลายแต่ก็รู้ไม่ลึก เบื่อง่ายไม่ค่อยมีวินัยในตัวเอง ขาดความอดทน เราก็มักจะเห็นแย้งกับเพื่อนที่มีลักษณะไม่ค่อยยืดหยุ่น ยึดติดในหลักการสูง คิดในกรอบ ตัดสินใจช้า คาดหวังสูง กลัวความผิดพลาด รอบคอบจนเกินไปในความรู้สึกของเรา ลงรายละเอียด มีหลักการ มีขั้นตอนชอบวิเคราะห์
บุคลิกต่างๆ เหล่านี้ที่ผู้เขียนใช้แสดงออกบ่อยๆ จนคุ้นชินจนเป็นนิสัย และเมื่อต้องร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกที่แตกต่างออกไปจากเรา หากไม่เราเท่าทันหรือรู้ตัวเองพอ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกได้ถึงอาการขัดอกขัดใจ ไม่พอใจ จนบางครั้งสะสมเป็นความขัดแย้งอยู่บ่อยๆ
จากประสบการณ์พบว่าเมื่อลองสำรวจลงไปลึกๆ แล้วการที่คนเราแสดงออกต่างกันนั้นจริงๆ แล้วคนเรามีความต้องการหรือแรงจูงใจในการกระทำการแสดงออกเหมือนกันมากกว่าแตกต่างกัน เช่น เราต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตพื้นฐาน ต้องการความสุข ต้องการความมั่นคง ต้องการเป็นที่ยอมรับ ต้องการอิสรภาพและทางเลือก ต้องการความเข้าใจ ต้องการเรียนรู้ ต้องการความสงบและสันติ ต้องการความเคารพซึ่งกันและกัน ต้องการเป้าหมายในชีวิต ต้องการความร่วมมือ ต้องการกำลังใจและการดูแลเอาใจใส่ ต้องการความไว้ใจ เป็นต้น แต่การแสดงออกหรือวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความต้องการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามความถนัด ความสามารถหรือความคุ้นชิน ที่เราทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำและก็ได้รับการตอบสนองตามความต้องการ
ฉะนั้นหากเราเท่าทันว่าระหว่างเรากับผู้อื่นนั้น เพียงแค่วิธีการการแสดงออกหรือช่องทางในการได้มาซึ่งความต้องการนั้นแตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับวิธีการของกันและกัน จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแสดงออกถึงความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง และหากความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนองมากเพียงใด ความขัดแย้งและความรุนแรงก็จะขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น
การยึดติดในร่องพฤติกรรมการแสดงออกเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน เช่น การยึดติดในผลประโยชน์ เกียรติยศชื่อเสียง การเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าเขาด้อยกว่า ความอยากความต้องการที่เกินพอดีในทุกๆ เรื่อง เป็นต้น เหตุต่างๆ เหล่านี้ก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นเพิ่มความขัดแย้ง ความรุนแรงให้ขยายตัว
สำหรับผู้เขียนค้นพบว่าหากเราเริ่มต้นคลี่คลายความขัดแย้งจากการปรับเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อนน่าจะง่ายกว่าไปผลักดันให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง หากทุกคนเริ่มจากการใส่ใจต่อเรื่องเล็กน้อยที่เป็นต้นเหตุที่สำคัญของความขัดแย้งรุนแรง นั่นหมายถึงเราก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ครอบครัวมีความรักความเข้าใจต่อกัน ภายในองค์กรมีความร่วมไม้ร่วมมือกันมีพลังสร้างสรรค์ เมื่อหน่วยย่อยๆ ในสังคมสงบสุข ก็จะส่งผลกระทบให้สังคมประเทศชาติ สังคมโลกสงบและมีสันติสุขในที่สุด
Labels: พูลฉวี เรืองวิชาธร
โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑
เรื่องภาวะโลกร้อนกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นประเด็นที่มีผู้คนสนใจจำนวนมาก มีข้อมูล มีบทความตีพิมพ์ออกมามากมาย เพื่อช่วยย้ำเตือนให้มนุษย์หยุดทำลายหรือเบียดเบียนโลกที่เราอาศัยอยู่ โดยลดการบริโภคในสิ่งที่เกินความจำเป็น ลดการเผาผลาญพลังงาน ลดขยะ ลดการสร้างมลพิษ มิฉะนั้น โลกก็จะปรับสมดุลเองในรูปแบบภัยธรรมชาติต่างๆ เพื่อลดส่วนต่างของความไร้ระเบียบ ซึ่งตรรกะเชิงวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ไม่ยากเกินกว่าเด็กมัธยมจะเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้นำหลายๆ ประเทศ ไม่เข้าใจ เพราะไม่เห็นมีนโยบายหรือมาตรการอันใดเด่นชัดในการลดการผลิต มีแต่เร่งการผลิต เร่งเศรษฐกิจ แบบไร้สติ ไม่รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของคนในประเทศ เข้าใจและตัดสินไปเองว่าประชาชนอยากรวย อยากมีเงิน อยากมีบุญวาสนา ก็ต้องเร่งทำงาน ละทิ้งบุตรหลานให้เติบโตกันเอง ทำงานที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม วนเป็นวงจรของความอับจน เมื่อคิดจะแก้ไขความยากจนก็แก้โดยการเร่งวงจรของความอับจนให้เร็วขึ้น และยิ่งเร่งปัญหา ทำงานมากขึ้น ผลิตมากขึ้น จนบริโภคไม่ทัน สร้างขยะ สร้างมลพิษมากมาย ทุกอย่างเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่ง แล้วสุดท้ายก็ถึงจุดวิกฤต
ขณะนี้มีผู้คนมากมายแอบเตรียมตัวรับมือกับสภาวะวิกฤตดังกล่าว มิตรสหายหลายคนเตรียมย้ายบ้านไปยังที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วมไม่ถึง ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกว่าจะเป็นการดีมากหากมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องข้อมูลที่จะสูญหายจำนวนมาก มนุษย์อาจไม่รับรู้เลยก็ได้ว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีที่มาอย่างไร ต่อไปก็จะย่ำรอยเดิมอีก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเก็บรักษาความรู้และข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานให้ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของคนรุ่นเรา หลายคนมีความหวังจะแก้ไขปัญหาวิกฤต หลายคนมีความหวังที่จะชะลอและยืดระยะเวลาของวิกฤตออกไป และหลายคนบอกว่ามนุษย์จะต้องเผชิญวิกฤตเสียก่อนจึงจะได้สติและยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เพื่อนับหนึ่งใหม่ กลับมาถามตัวเองจริงๆ ว่าชีวิตต้องการอะไร แล้วเริ่มออกแบบกระบวนการใช้ชีวิตให้ตรงกับเป้าหมายของชีวิตจริงๆ
ผู้เขียนเคยถามหลายคนว่า เป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคืออะไร มักจะได้คำตอบว่าคือ “ความสุข” ซึ่งก็ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน และผู้เขียนก็ดีใจที่ได้ยินเช่นนั้น เพราะอันที่จริงเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงความสุข หากลองหยุดคิดและออกแบบชีวิตให้มีความสุขจริงๆ โดยไม่ต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ในวงจรหายนะที่โลกเป็นในขณะนี้ เป็นเรื่องของวิธีคิด วิธีการมองโลกและชีวิต
ผู้อ่านคงคุ้นเคยที่ปราชญ์ฝรั่งเขานิยามถึงความสุขว่ามีหลายระดับ เช่น การมีปัจจัยสี่ ความปลอดภัย การมีสังคมที่ดี มีความภูมิใจตนเอง เป็นต้น ความสุขที่กล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศในการออกแบบให้ผู้คนมีความสุขเช่นนี้ให้ได้ ไม่ใช่ให้ประชาชนดิ้นรนกันเองไปวันๆ อย่างไม่มีวันเข้าถึงได้ ผู้นำประเทศมีศักยภาพในการหาคนที่มีความสามารถมาคิดว่าทำอย่างไร จะสร้างความสุขให้คนในประเทศได้อย่างพอเพียง รัฐบาลต้องทำงานในเรื่องการออกแบบประเด็นนี้ให้มาก ค้นหาศักยภาพจริงๆ ของคนในประเทศให้เจอ และเดินต่อให้ถูกทาง สนับสนุนให้คนมีอาชีพในสิ่งที่ตนถนัด ไม่ใช่สะเปะสะปะตามก้นประเทศอื่นเหมือนทุกวันนี้ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า จะช่วยลดวงจรความอับจนได้ในที่สุด และลดปัญหาทั้งปวงได้อีกมากมาย เพียงแต่ยอมนับหนึ่งใหม่ เป็นหนึ่งที่เข้มแข็ง ไม่ใช่หนึ่งที่แผ่วไร้ความหมาย
ข้างต้นเป็นการมองเป้าหมายชีวิตโดยใช้ความคิดเป็นตัวตั้ง และแก้ไขวิกฤตการณ์โดยใช้ศักยภาพของความคิด แต่การเข้าถึงความสุขอีกแบบที่ปราชญ์ฝรั่งเขาไม่ได้พูดถึง และไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิด หากคนไทยรู้จักดี คือ ความรักความเมตตา คนที่มีความรักจะมีความสุข อย่างไรก็ตามเรามักได้ยินว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ผู้เขียนเห็นว่า นั่นเป็นความรักที่ไม่ใช่ “ความรักที่แท้จริง” หากคนมีความรักที่แท้จริง จะไม่มีทุกข์ แต่จะเกิดอิสรภาพ คนเราควรฝึกรักตัวเองและรักคนอื่นให้เป็น ความรักความเมตตา จะทำให้เกิดความสุขได้อย่างฉับพลัน คนหนุ่มสาวในสังคมควรเรียนรู้เรื่องความรักที่แท้ ไม่ให้ปะปนกับความใคร่ การใช้อำนาจ หรือการประลองอารมณ์ จะได้ไม่เกิดปัญหาโศกนาฏกรรมต่างๆ ที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ความรักที่แท้
ความรักที่แท้เป็นเรื่องของดุลยภาพที่สามารถก้าวข้ามมิติทั้งสี่ เหนือขอบเขตของระนาบเวลา ดังนั้น คนจะหลุดออกจากความเป็นตัวเป็นตน เกิดอิสรภาพ หมดความเห็นแก่ตัวและการเอาเปรียบ เกิดการให้อภัยกันและกัน และประจักษ์ต่อความงาม เกิดความสุขอย่างมหาศาล สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการคิดให้มาก
อันที่จริง กระบวนการคิดไม่ใช่เรื่องเสียหาย คนทุกคนต้องใช้ความคิดในการทำงาน ต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีความคิดที่ถูกต้องในการทำงานการใดๆ ต้องมีจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องเสียก่อน และจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องคือการมีความรักความเมตตา ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยความโกรธ ความกลัว ความเกลียด อันจะส่งผลให้เกิดพลังในด้านลบ และการกระทำในด้านลบ หากตั้งต้นด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ตั้งต้นด้วยความรักความเมตตา ที่ไม่ปะปนกับราคะ ก็จะส่งผลให้เกิดพลังและงานที่เปี่ยมไปด้วยความงาม ความสมดุล ไม่ว่าจะคิด หรือรู้สึกต่อสิ่งใด ก็จะเป็นความงดงามและเป็นกลาง
ท่านกฤษณมูรติ กล่าวว่า “คุณคงเห็นกิจกรรมของมันสมองที่เกิดขึ้นในโลกนี้ สงคราม การต่อสู้ชิงดีชิงเด่น ความบ้าอำนาจ และบางทีคุณก็สะดุ้งกลัวอยู่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป สะดุ้งกลัวในความสิ้นหวังและสิ้นศรัทธาในมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีการแบ่งแยกระหว่างความรู้สึกและความนึกคิดอยู่ ตราบใดสิ่งหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกสิ่งหนึ่ง สิ่งที่มีอำนาจเหนือนั้นจะทำลายอีกสิ่งหนึ่ง ความรักมิได้อยู่ในทั้งสองสิ่งนี้ เพราะความรักไม่มีคุณลักษณะของการครอบงำ ความรักมิได้ก่อเกิดขึ้นมาด้วยความคิดหรือความรู้สึก หากเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่ผลของสิ่งใด ความรักปราศจากจากความกลัว ความกังวล และความโกรธที่พยายามครอบงำจิตใจของคุณตลอดเวลา”
คนเราควรบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรักความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจทุกวัน เริ่มชะลอความคิดความรู้สึกในด้านลบ โดยเติมความรักความเมตตาเข้าไปแทนที่ ไม่ช้าความกลัว ความโกรธ ความเกลียดก็จะไม่สามารถครอบงำเราได้ และจะไม่เกิดการกระทำอันรุ่มร้อน ผู้เขียนเชื่อว่าจะลดปัญหาโลกร้อนภัยพิบัติได้อย่างน่าประหลาดใจเลยทีเดียว
Labels: จารุพรรณ กุลดิลก
บทความที่ ๙๗: ฐานกาย หรือสมองชั้นต้น ด่านแรกแห่งการเปลี่ยนแปลง
0 comments Posted by knoom at 3:00 AM
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑
ผมเคยพูดถึงขาไปขากลับของการเดินทาง เปรียบได้กับการเรียนรู้ในชีวิตมนุษย์เหมือนกัน เมื่อเราเป็นเด็ก เราจะเดินทางขาไป เมื่อเราเริ่มเข้าวัยกลางคน เราจะรู้สึกว่า เรารู้จักโลกนี้ดีแล้ว เราผ่านฝนมาหลายฤดูกาล ชีวิตขากลับของเราจึงเริ่มน่าเบื่อหน่าย เรารู้แล้ว รู้ไปหมด ชีวิตหมดความตื่นเต้นอีกต่อไป เราลืมวันคืนที่เคยเป็นเด็กไปเสียสิ้น
แต่ขาไป (ไม่ใช่ขากลับ) ของการเรียนรู้นั้น เป็นการตื่นตัวกับการรับรู้โลกซึ่งสำคัญมาก มิฉะนั้น จะกลายเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล สัญญา (Perception) เก่าจะเข้ามาครอบ ทำให้เราถูกตรึงติด หรือกักขังอยู่ใน the known หรือที่รู้อยู่แล้ว/ที่รู้แล้ว
สัญญา/ Perception เมื่อการรับรู้ผ่านสมองชั้นต้นมาแล้ว จะก่อตัวในสมองชั้นกลาง และสมองซีกขวา ถ้าจะรับรู้แบบใหม่ ไม่เหมือนเดิม จะมี “สัญญาใหม่” ได้ไหม มีความเป็นไปได้แต่อาจจะยากกว่า เช่น พวกชนเผ่าพื้นเมือง ในทวีปอเมริกา เห็นเรือสำเภาเป็นครั้งแรก ก็ไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย! คือเห็น แต่ไม่รับรู้ ต้องไปเอาพ่อมดหมอผีมา พวกนี้ถูกฝึกให้เฝ้ามองอะไรต่ออะไร อย่างเนิ่นนาน และไม่ยอมให้จมจ่อมอยู่กับอะไรที่รู้แล้ว! ในที่สุดพ่อมดหมอผีก็ “มองเห็น” พอพ่อมดหมอผีมองเห็น ชาวบ้านก็มองเห็น!
ถ้าเป็นอย่างนั้น การที่เรามองไม่เห็นแล้วจะเอาเรื่องมาคิดใคร่ครวญต่อได้อย่างไร มันทำไม่ได้!
อีกมิติหนึ่ง ของสมองชั้นต้น หรือตันเถียนล่าง ก็คือการดูแลกลไกทั้งหมด มันคือ “การดำรงอยู่” (being) ของชีวิต กลไก ประสาทที่ทำงานเป็นอัตโนมัติทั้งหมด ที่ทำให้หัวใจของเราเต้นได้ โดยเราไม่ต้องคอยสั่งการ เป็นการดำรงอยู่อย่างเป็นอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่ มันโปรแกรมด้วยพันธุกรรมของบรรพบุรุษเสียครึ่งหนึ่งแล้ว อีกครึ่งหนึ่ง มันมาเรียนรู้จากผู้คน สังคมที่อยู่รอบตัว
แต่ถ้าโลกแคบอยู่แคบๆ กับพ่อแม่ตัวเอง ไม่มีต้นแบบ หรือ role models อื่นๆ ให้เห็น อันนี้ก็น่าเศร้าใจยิ่งนัก
มีตัวอย่าง สิ่งที่มาจากบรรพบุรุษเข้ามามีอิทธิพลกับเราอย่างไร ลูกชายของผมซึ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่สองของวิทยาลัยดนตรีในประเทศรัสเซียได้เขียนเล่าไว้ในวงน้ำชา (wongnamcha.com) ความว่า:
ทางเลือกมีเสมอ เราก็คงต้องเลือกอะไรในระดับที่เราพอใจ ทางเลือกอาจจะไม่ได้มีแต่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป
แต่เราก็คงต้องเลือกระดับที่เรารู้สึกว่าพอดีๆ หรือว่าพอไหว ฝึกฝนการจัดเวลาของตัวเองพยายามไม่ดองงานไว้นานๆ ค่อยๆ ทำไปทีละนิดแล้วงานมันจะดูไม่เยอะเกินไป
นอกจากเรื่องจัดการกับเวลาคงจะเป็นเรื่องการจัดการกับความเครียด วันเสาร์คุยกับครอบครัวที่รัสเซีย ว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นคนที่เครียดถึงเครียดมาก เรื่องแบบนี้มันสืบทอดกันได้ เราน่าจะตัดหรือลดมันในรุ่นของเรา ถ้าเราทำได้ ลูกหลานเราจะได้สบายขึ้น ผมคิดว่าการที่พ่อเริ่มทำงานกับตัวเองอย่างจริงจัง มันก็ช่วยให้ผมทำงานกับตัวเองได้ง่ายขึ้น มันเชื่อมโยงกันอย่างที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
บางครั้งเราเครียดโดยไม่รู้ตัว ความกังวลมันเหมือนจะอยู่ในอากาศ ตื่นเช้ามาแทนที่จะสดใสกับอากาศยามเช้า เราอาจกังวลว่า วันนี้ไปเรียนจะมีปัญหาไหมนะ ทั้งๆ ที่เรื่องเรียนเราก็แทบจะไม่มีปัญหาเอาซะเลย เราเครียดเกินกว่าเหตุ บางครั้งความเครียดอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเรา แต่มันอาจจะอยู่ที่ตัวเรามากกว่า คนบางคนที่ดูเหมือนว่า จะมีปัญหาชีวิตมากมาย แต่เขากลับไม่เครียดเท่าไหร่ ต่างจากบางคนที่เหมือนจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรแต่ก็เครียดมาก”
ในฐานล่างนี้ การดำรงอยู่เชื่อมโยงกับอารมณ์ โดยผ่านทางเคมีในสมองคือจะมีการหลั่งสารเป็บไทด์ (Peptide) เข้าสู่กระแสเลือดไปยังทุกส่วนของร่างกาย ในเซลล์แต่ละเซลล์จะมีที่รองรับเป็บไทด์ เหมือนมีแม่กุญแจนั่งอยู่ เป็บไทด์ตัวหนึ่ง ก็เป็นอารมณ์หนึ่ง เป็บไทด์เป็นลูกกุญแจ เมื่อลูกกุญแจเสียบเข้าล็อคพอดีกับแม่กุญแจในแต่ละเซลล์ เซลล์ก็รับสัญญาณของอารมณ์ และแสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา อารมณ์รัก อารมณ์เซ็กส์ซี่ เป็นต้น
ร่างกายของเราจะคุ้นกับแบบแผนของอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และจะไม่ยอมพรากจากแบบของอารมณ์นั้นๆ ไปได้ง่ายๆ สามีภรรยาบางคู่อยู่ด้วยกันไม่มีความสุขเท่าไร ทะเลาะกันตลอดเวลา แต่มันก็เคยชินกับลูกกุญแจและแม่กุญแจอย่างนั้นเสียแล้ว คุ้นเคยกับสารเคมีที่เคยหลั่งประจำอยู่แล้ว แม้จะทำลายล้างร่างกายอย่างไรก็ติดเสียแล้ว มันเคยปกติของมันอย่างนั้น จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรได้ เวลาพรากจากกันก็ร้องห่มร้องไห้ ไม่เป็นผู้เป็นคนเอาเสียเลย
อันนี้จะเห็นเลยว่า ฐานกาย คือเซลล์ แบบแผนพลัง (Energy pattern) ในเซลล์มาสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร และอารมณ์ความรู้สึกก็ไปสัมพันธ์กับความคิดด้วย มันแยกกันไม่ออก คือทุกความคิดจะมีอารมณ์กำกับอยู่ด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย จะสัมพันธ์กัน หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าที่เราจะคิดถึงและเข้าใจได้
ความคิดเก่าๆ ก็จะนำมาซึ่งอารมณ์เก่าๆ และแบบแผนความเป็นไปในร่างกายแบบเก่าๆ เป็นสมดุลเฉพาะ หรือเป็น “ปกติ” เฉพาะตัวใครตัวมัน ซึ่งปกตินั้น อาจจะหมายความถึงแบบแผนที่เพาะเลี้ยงอาการป่วยไข้บางอย่างบางประการก็ได้ จะเห็นได้เลยว่า ความคิด ความรู้สึก ก็อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ตราบใดที่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต โรคภัยนั้น รักษาอย่างไร ก็ไม่หาย
อีกอย่างหนึ่ง ความคิดกับอารมณ์ก็มีทางปฏิสัมพันธ์กัน เช่นเมื่อคิดอย่างนี้ก็รู้สึกอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ ก็จะมีอาการทางกายอย่างนี้ เช่น เครียดแล้วก็จะเกร็งที่ไหล่เป็นต้น หรือ เมื่อวิตกกังวลก็จะเจ็บที่กระเพาะอาหาร เป็นต้น
เพราะฉะนั้น โจทย์หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ท่านให้พวกเราตื่นรู้ รู้ตัว รู้เท่าทัน อาการทางกาย กายมันสังเกตได้ง่ายกว่าจิต มันเป็นอุบายให้หาทางคลี่คลาย ให้เราออกจาก ลูกกุญแจ แม่กุญแจเดิมๆ หรืออาการพันธนาการแบบเดิมๆ ที่ชีวิตเราเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา แต่ตอนนี้เราอยากออกจากความเคยชินนั้น ออกมาแล้ว เราจึงเริ่มถามหาหนทางเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
Labels: วิศิษฐ์ วังวิญญู