โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑
เรื่องภาวะโลกร้อนกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นประเด็นที่มีผู้คนสนใจจำนวนมาก มีข้อมูล มีบทความตีพิมพ์ออกมามากมาย เพื่อช่วยย้ำเตือนให้มนุษย์หยุดทำลายหรือเบียดเบียนโลกที่เราอาศัยอยู่ โดยลดการบริโภคในสิ่งที่เกินความจำเป็น ลดการเผาผลาญพลังงาน ลดขยะ ลดการสร้างมลพิษ มิฉะนั้น โลกก็จะปรับสมดุลเองในรูปแบบภัยธรรมชาติต่างๆ เพื่อลดส่วนต่างของความไร้ระเบียบ ซึ่งตรรกะเชิงวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ไม่ยากเกินกว่าเด็กมัธยมจะเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้นำหลายๆ ประเทศ ไม่เข้าใจ เพราะไม่เห็นมีนโยบายหรือมาตรการอันใดเด่นชัดในการลดการผลิต มีแต่เร่งการผลิต เร่งเศรษฐกิจ แบบไร้สติ ไม่รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของคนในประเทศ เข้าใจและตัดสินไปเองว่าประชาชนอยากรวย อยากมีเงิน อยากมีบุญวาสนา ก็ต้องเร่งทำงาน ละทิ้งบุตรหลานให้เติบโตกันเอง ทำงานที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม วนเป็นวงจรของความอับจน เมื่อคิดจะแก้ไขความยากจนก็แก้โดยการเร่งวงจรของความอับจนให้เร็วขึ้น และยิ่งเร่งปัญหา ทำงานมากขึ้น ผลิตมากขึ้น จนบริโภคไม่ทัน สร้างขยะ สร้างมลพิษมากมาย ทุกอย่างเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่ง แล้วสุดท้ายก็ถึงจุดวิกฤต
ขณะนี้มีผู้คนมากมายแอบเตรียมตัวรับมือกับสภาวะวิกฤตดังกล่าว มิตรสหายหลายคนเตรียมย้ายบ้านไปยังที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วมไม่ถึง ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกว่าจะเป็นการดีมากหากมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องข้อมูลที่จะสูญหายจำนวนมาก มนุษย์อาจไม่รับรู้เลยก็ได้ว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีที่มาอย่างไร ต่อไปก็จะย่ำรอยเดิมอีก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเก็บรักษาความรู้และข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานให้ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของคนรุ่นเรา หลายคนมีความหวังจะแก้ไขปัญหาวิกฤต หลายคนมีความหวังที่จะชะลอและยืดระยะเวลาของวิกฤตออกไป และหลายคนบอกว่ามนุษย์จะต้องเผชิญวิกฤตเสียก่อนจึงจะได้สติและยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เพื่อนับหนึ่งใหม่ กลับมาถามตัวเองจริงๆ ว่าชีวิตต้องการอะไร แล้วเริ่มออกแบบกระบวนการใช้ชีวิตให้ตรงกับเป้าหมายของชีวิตจริงๆ
ผู้เขียนเคยถามหลายคนว่า เป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคืออะไร มักจะได้คำตอบว่าคือ “ความสุข” ซึ่งก็ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน และผู้เขียนก็ดีใจที่ได้ยินเช่นนั้น เพราะอันที่จริงเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงความสุข หากลองหยุดคิดและออกแบบชีวิตให้มีความสุขจริงๆ โดยไม่ต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ในวงจรหายนะที่โลกเป็นในขณะนี้ เป็นเรื่องของวิธีคิด วิธีการมองโลกและชีวิต
ผู้อ่านคงคุ้นเคยที่ปราชญ์ฝรั่งเขานิยามถึงความสุขว่ามีหลายระดับ เช่น การมีปัจจัยสี่ ความปลอดภัย การมีสังคมที่ดี มีความภูมิใจตนเอง เป็นต้น ความสุขที่กล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศในการออกแบบให้ผู้คนมีความสุขเช่นนี้ให้ได้ ไม่ใช่ให้ประชาชนดิ้นรนกันเองไปวันๆ อย่างไม่มีวันเข้าถึงได้ ผู้นำประเทศมีศักยภาพในการหาคนที่มีความสามารถมาคิดว่าทำอย่างไร จะสร้างความสุขให้คนในประเทศได้อย่างพอเพียง รัฐบาลต้องทำงานในเรื่องการออกแบบประเด็นนี้ให้มาก ค้นหาศักยภาพจริงๆ ของคนในประเทศให้เจอ และเดินต่อให้ถูกทาง สนับสนุนให้คนมีอาชีพในสิ่งที่ตนถนัด ไม่ใช่สะเปะสะปะตามก้นประเทศอื่นเหมือนทุกวันนี้ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า จะช่วยลดวงจรความอับจนได้ในที่สุด และลดปัญหาทั้งปวงได้อีกมากมาย เพียงแต่ยอมนับหนึ่งใหม่ เป็นหนึ่งที่เข้มแข็ง ไม่ใช่หนึ่งที่แผ่วไร้ความหมาย
ข้างต้นเป็นการมองเป้าหมายชีวิตโดยใช้ความคิดเป็นตัวตั้ง และแก้ไขวิกฤตการณ์โดยใช้ศักยภาพของความคิด แต่การเข้าถึงความสุขอีกแบบที่ปราชญ์ฝรั่งเขาไม่ได้พูดถึง และไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิด หากคนไทยรู้จักดี คือ ความรักความเมตตา คนที่มีความรักจะมีความสุข อย่างไรก็ตามเรามักได้ยินว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ผู้เขียนเห็นว่า นั่นเป็นความรักที่ไม่ใช่ “ความรักที่แท้จริง” หากคนมีความรักที่แท้จริง จะไม่มีทุกข์ แต่จะเกิดอิสรภาพ คนเราควรฝึกรักตัวเองและรักคนอื่นให้เป็น ความรักความเมตตา จะทำให้เกิดความสุขได้อย่างฉับพลัน คนหนุ่มสาวในสังคมควรเรียนรู้เรื่องความรักที่แท้ ไม่ให้ปะปนกับความใคร่ การใช้อำนาจ หรือการประลองอารมณ์ จะได้ไม่เกิดปัญหาโศกนาฏกรรมต่างๆ ที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ความรักที่แท้
ความรักที่แท้เป็นเรื่องของดุลยภาพที่สามารถก้าวข้ามมิติทั้งสี่ เหนือขอบเขตของระนาบเวลา ดังนั้น คนจะหลุดออกจากความเป็นตัวเป็นตน เกิดอิสรภาพ หมดความเห็นแก่ตัวและการเอาเปรียบ เกิดการให้อภัยกันและกัน และประจักษ์ต่อความงาม เกิดความสุขอย่างมหาศาล สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการคิดให้มาก
อันที่จริง กระบวนการคิดไม่ใช่เรื่องเสียหาย คนทุกคนต้องใช้ความคิดในการทำงาน ต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีความคิดที่ถูกต้องในการทำงานการใดๆ ต้องมีจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องเสียก่อน และจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องคือการมีความรักความเมตตา ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยความโกรธ ความกลัว ความเกลียด อันจะส่งผลให้เกิดพลังในด้านลบ และการกระทำในด้านลบ หากตั้งต้นด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ตั้งต้นด้วยความรักความเมตตา ที่ไม่ปะปนกับราคะ ก็จะส่งผลให้เกิดพลังและงานที่เปี่ยมไปด้วยความงาม ความสมดุล ไม่ว่าจะคิด หรือรู้สึกต่อสิ่งใด ก็จะเป็นความงดงามและเป็นกลาง
ท่านกฤษณมูรติ กล่าวว่า “คุณคงเห็นกิจกรรมของมันสมองที่เกิดขึ้นในโลกนี้ สงคราม การต่อสู้ชิงดีชิงเด่น ความบ้าอำนาจ และบางทีคุณก็สะดุ้งกลัวอยู่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป สะดุ้งกลัวในความสิ้นหวังและสิ้นศรัทธาในมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีการแบ่งแยกระหว่างความรู้สึกและความนึกคิดอยู่ ตราบใดสิ่งหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกสิ่งหนึ่ง สิ่งที่มีอำนาจเหนือนั้นจะทำลายอีกสิ่งหนึ่ง ความรักมิได้อยู่ในทั้งสองสิ่งนี้ เพราะความรักไม่มีคุณลักษณะของการครอบงำ ความรักมิได้ก่อเกิดขึ้นมาด้วยความคิดหรือความรู้สึก หากเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่ผลของสิ่งใด ความรักปราศจากจากความกลัว ความกังวล และความโกรธที่พยายามครอบงำจิตใจของคุณตลอดเวลา”
คนเราควรบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรักความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจทุกวัน เริ่มชะลอความคิดความรู้สึกในด้านลบ โดยเติมความรักความเมตตาเข้าไปแทนที่ ไม่ช้าความกลัว ความโกรธ ความเกลียดก็จะไม่สามารถครอบงำเราได้ และจะไม่เกิดการกระทำอันรุ่มร้อน ผู้เขียนเชื่อว่าจะลดปัญหาโลกร้อนภัยพิบัติได้อย่างน่าประหลาดใจเลยทีเดียว
Labels: จารุพรรณ กุลดิลก