โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
เมื่อไหร่เราพึงเริ่มสนทนากับเสียงด้านใน (Voice Dialogue Work - VDW) ?
ต่างคนต่างมีคำตอบต่อคำถามนี้ต่างๆ กัน บ้างก็อาจจะเริ่มเมื่อรู้สึกขัดข้องหมองใจและหาสาเหตุไม่ได้ บ้างก็อาจจะเริ่มเมื่อรู้สึกว่าสาเหตุนั้นเกิดจากใครต่อใครที่อาศัยอยู่รอบตัวรอบใจ และหากจะสืบค้นต่อด้วยมุมมองของวอยซ์ไดอะล็อกแล้วอาจจะพบว่าใครต่อใครที่ทำให้เราหมองใจหรือกวนใจเรานั้นกำลังทำหน้าที่อย่างซื่อตรงที่จะสะท้อนให้เราได้เห็นได้รู้จักและได้ยินเสียงของตัวตนด้านในของเราที่ถูกหลงลืมละทิ้ง
ยิ่งเรารู้สึกมีใครต่อใครรอบตัวทำให้เราหงุดหงิดรำคาญใจมากเพียงใด แทบจะเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรามีตัวตนด้านในที่รอให้เราสืบค้น และทำความรู้จักคุ้นเคยอีกครั้งหนึ่งมากมายเสมอกันอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
หากการณ์เป็นเช่นที่ว่า ดังนั้นถ้าใครสักคนจะบอกว่า “ผู้คนที่ฉันชื่นชมและปลาบปลื้มใจอยู่ล้อมรอบข้างตัวฉัน และใครๆ ใกล้ตัวก็ปลาบปลื้มฉัน ฉะนั้นฉันคงไม่ต้องสืบค้นสนทนากับตัวตนด้านในของฉันแล้วน่ะ”
อันที่จริงการสืบค้นเดินทางเข้าไปในโลกภายในของเรา เพื่อให้เราตื่นรู้และรู้จักตัวตนของเราได้ดีได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั้น มีหลากหลายวิธีและวอยซ์ไดอะล็อกก็เป็นอีกเพียงวิธีหนึ่งที่อาจชี้แนะเราว่า แม้นเราจะเป็นสุขพึงพอใจกับใครๆ ใกล้ตัวเรา และเขาก็เป็นสุขปลาบปลื้มใจกับเราเช่นที่ว่า ก็นับว่าเป็นเวลาที่น่าสืบค้นตัวตนด้านในของเราเช่นกัน มิใช่เฉพาะเวลาที่หงุดหงิดหมองใจเท่านั้น
ด้วยว่าเวลาที่เราปลาบปลื้มใจกับใครสักคนหรือหลายๆ คน และชื่นชมเขาหรือเธอมากมายเพียงใด ไม่ว่าเขาจะอายุมากหรือน้อย ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก เป็นมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง เป็นนามธรรมตามอุดมคติหรือเป็นข้าวของที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมก็ตาม อาการปลาบปลื้มชื่นชมนั้นก็เป็นกระจกสะท้อนตัวตนด้านในที่ถูกลืมถูกละทิ้ง (disowned self) ของเราเช่นกัน
หากเราได้ใช้พลังของตัวเรามากเพียงไหนที่จะเก็บกักตัวตนที่เราทิ้งไปแล้วแสดงออกมาเป็นอาการหงุดหงิดรำคาญใจ เราก็อาจจะใช้พลังมากมายพอๆ กันที่สะท้อนแสดงตัวตนที่เราทิ้งไปออกมาด้วยอาการร่าเริงยินดีกับผู้คนที่เราปลาบปลื้ม ตราบใดที่พลังเหล่านั้นเกิดจากปัจจัยที่สัมพันธ์กับตัวตนที่เราละทิ้ง และถูกปกป้องไว้อย่างมิดชิดในจิตไร้สำนึกส่วนลึกๆ ของเรา
เป็นไปได้ว่าพลังหงุดหงิดหมองใจกับพลังปลาบปลื้มชื่นชมต่างไหลเวียนขึ้นๆ ลงๆ จนพลังในตัวของเราปั่นป่วน โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม หากเป็นเช่นนั้น การฝึกฝนวอยซ์ไดอะล็อกที่จะรับฟังเสียงตัวตนด้านในของตนอย่างรู้เนื้อรู้ตัวในที่สุดก็เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้ใจตัวเราเองมากขึ้น ดูแลพลังของตัวเราได้ประณีตยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะฝึกฝนฟังเสียงที่นำพาให้เราหงุดหงิดหรือเชื้อเชิญให้เราเพลิดเพลินเจริญใจก็ตาม
ตัวอย่างนี้มีอยู่ว่า นานเหลือเกินตั้งแต่วัยเด็ก คุณ “สุภาพ” ปลาบปลื้มผู้คนที่โดดเด่นอยู่บนเวทีจะเป็นนักร้องบ้าง นักแสดงบ้าง นักปาฐกบ้าง เขาได้แต่มองผู้คนเหล่านั้นด้วยสายตาที่ชื่นชมและยกย่อง แต่หากมีใครสักคนชวนเขาขึ้นเวทีเพื่อร้องเพลงหรือกล่าวต่อสาธารณชนคนกลุ่มใหญ่ เขาจะส่ายหัวปฏิเสธ และถ้าหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เขาก็จะขึ้นเวทีด้วยความประหม่าสุดๆ และหากจะต้องพูดจาต่อหน้าผู้คนจำนวนมากเหล่านั้น เขามักไม่พูดดังเกินไป ก็เบาไปจนจับความไม่ได้
วัยเด็กของ ด.ช. “สุภาพ” เป็นวัยเด็กที่หวาดผวา เมื่อใดที่เขาจะเริ่มชี้แจงคิดเห็นแย้งกับพ่อของเขา พ่อของเขาก็เสียงดังราวฟ้าผ่ากลบเสียงเขาอยู่เสมอๆ และถ้าเขาซุกซนริเริ่มเล่นดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่พี่ๆ ไม่ถนัด แม่ก็มักจะกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเสมอๆ ว่า เขาไม่มีวันทำได้ดีหรอก เหมือนกับที่เขาไม่สามารถเรียนได้ดีเท่าพี่คนโต เล่นกีฬาไม่ได้เก่งเท่าพี่คนรอง และทำงานไม่เร็วเท่าพี่คนเล็ก
เพื่อจะเป็นที่ยอมรับของพ่อ โดยเฉพาะแม่ และพี่ๆ และเพื่อจะอยู่เย็นเป็นสุขในครอบครัว คุณ “สุภาพ” เรียนรู้ที่จะเก็บงำความเชื่อมั่น ความกล้าหาญที่จะกระทำการต่างๆ ไว้ ด้วยความอ่อนโยน เยือกเย็น และยอมอยู่เบื้องหลังมากกว่าจะนำหน้าใครๆ
ในงานเลี้ยงสาธารณะ หากเลือกได้เขาจะแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชน ทำตัวไม่เป็นที่สังเกต และเมื่อใครๆ ชื่นชมเขาที่รู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตน เขายิ่งทำตัวเป็นคนสุภาพให้สมชื่อ สมความคาดหวังของทุกคนยิ่งขึ้น และตัวตนที่จะหาญกล้าออกนอกทางนอกระบบ นอกความคาดหวังของใครๆ รวมทั้งตัวตนที่กล้ายืนยันความเป็น “ฉันเอง” นั้นแทบจะไม่มีพื้นที่ในชีวิตของ “สุภาพ” นัก
สำหรับคุณ “สุภาพ” เครื่องมือที่จะช่วยให้เขา “อยู่รอดร่วมกัน” กับใครต่อใคร เริ่มต้นจากพ่อแม่พี่ๆ ตลอดจนเพื่อนๆ และครูหรือเจ้านาย รวมทั้งคนรักหากจะมีใครเดินเข้ามาในชีวิตในฐานะคนใกล้ชิด เครื่องมือนั้นคืออาการ “สุภาพ” อ่อนโยน ตัวตนตัวเอก (primary self) ที่เป็นตัวหลักให้เขาปรับตัว และปกป้องตัวเขาจากความอับอายบ้างหรือ ความเจ็บใจบ้าง และกลายเป็นยามประจำตัวมักจะบอกให้เขาให้เกียรติคนอื่น ให้ทางคนอื่นเสมอ
หากเขากระทำตรงกันข้ามและอาจหาญที่จะยืนยันว่าตัวเขาต้องได้อะไรๆ เสมอคนอื่น คุณ “วิจารณ์” ในตัวเขาจะคอยสะกิดเขาว่า เขา “ดูก้าวร้าว” ไปแล้วนะ เขาจะดูเหมือน “พ่อ” ของเขาอีกแล้วนะ แล้วเสียงของคุณ “วิจารณ์” อาจจะสะท้อนเสียงของ “แม่” ของเขาที่คอยเตือนให้เขาอย่าล้ำเส้น อย่านึกว่าตัวเองแน่ และคุณ “สุภาพ” ก็อยู่รอดปลอดภัยในพื้นที่เล็กๆ ที่ตัวเอกของเขาจัดหาให้
เมื่อคุณ “สุภาพ” ละทิ้งคุณ “กล้าก้าว” และ “ยืนหยัด” ในตัวเองไป หากวันหนึ่งคุณ “สุภาพ” ตกสภาพที่จะต้องลุกขึ้นมา “กล้า” ปกป้องผลประโยชน์ของตน หรือยืนยันความคิดความรู้สึก รวมทั้งอุดมคติของตนก็ตาม คุณ “สุภาพ” ก็อาจจะลุกขึ้นมาทำอย่าง “ก้าวร้าว” และ “ดื้อรั้น” เกินกว่าที่คุณ “กล้าก้าว” และ “ยืนหยัด” จะร้องขอให้ทำ และเมื่อได้ทำไปแล้วก็อดจะรู้สึกผิดในใจลึก ๆ เพราะคุณ “สุภาพ” ไม่รู้จักวิถีและวิธีของความกล้ายืนหยัดอะไรต่อมิอะไรเพื่อตัวเองมาก่อนอย่างเพียงพอที่จะดูแลวิถีเหล่านั้น
ตราบต่อเมื่อ “คุณสุภาพ” ตระหนักดีว่า ตัวเองไม่จำต้องสุภาพนักก็ได้ ไม่จำต้องปักใจว่า ความอ่อนโยนหรือผ่อนตามเป็นวิถีเดียวที่จะอยู่รอดร่วมกับคนอื่นๆ เมื่อนั้น “คุณสุภาพ” ก็อาจสามารถต้อนรับคุณ “กล้าก้าว” หรือ คุณ “ยืนหยัด” เข้ามาในชีวิตของเขา เข้ามาดูแลเขาในบางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องปกปักรักษาจุดยืนของเขาอย่างเข้มแข็งโดยไม่ปล่อยให้อาการกล้าก้าวนั้นกลายเป็นอาการก้าวร้าว และเขายังสามารถที่จะอ่อนโยนต่อผู้คนและเหตุการณ์ที่ต้องการได้ไปพร้อมๆ กัน ด้วยอาการตื่นรู้และเลือกได้ด้วยตัวเขาเอง มิใช่เป็นเพียงเลือกไปตามอิทธิพลของตัวเอกตัวหลักที่ปักใจเขาไว้ว่า เขาเป็นได้เพียงคุณ “สุภาพ”เท่านั้น
และเมื่อนั้นอีกหรือเปล่า ที่เราได้อาศัยสัมพันธภาพของเรากับใครต่อใครช่วยให้เราเจริญสติ รู้เนื้อรู้ตัวรู้ใจเราบ้าง มากขึ้น บ่อยขึ้นได้บ้างในชีวิตกิจวัตรประจำวันของคนเดินดินกินเงินเดือน
เมื่อนั้นกระมังที่เราจะอาจจะตอบตัวเองว่า เราจะสนใจหรือริเริ่มสนทนากับเสียงด้านในหรือทำวอยซ์ไดอะล็อกได้เมื่อไหร่
Labels: สมพล ชัยสิริโรจน์