โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑
จากหนังสือ Mastery; The Keys to Success and Long-Term Fulfillment โดย George Leonard เขาได้กล่าวไว้ว่า “We fail to realize that mastery is not about perfection. It’s about a process, a journey. The master is the one who stays on the path day after day, year after year. The master is the one who is willing to try, and fail, and try again, for as long as he or she lives.”
“เราล้มเหลวที่จะประจักษ์ว่า การเป็นเซียนไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ แต่มันเป็นกระบวนการ เป็นการเดินทาง เซียนเป็นคนๆ หนึ่ง ที่พยายามดำรงอยู่ในเส้นทาง วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า เซียนคือ คนๆ นั้นที่เต็มใจจะลอง จะล้ม และลองแล้วลองอีก ตราบใดที่เขาหรือเธอยังมีชีวิตอยู่”
ผมพบว่า งานกระบวนกรหรือวิทยากรกระบวนการ เป็นอะไรที่เรียกร้องต้องการให้กระบวนกรและผู้ฝึกเป็นกระบวนกรขวนขวายที่จะดำเนินในเส้นทางของการก้าวสู่ความเป็นนาย ซึ่งหมายถึง นายงานของตัวเอง คืองานกิจกรรมการเรียนรู้ในแนวทางของจิตวิวัฒน์หรือแนวทางการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ
จอร์จ เลียวนาร์ด ได้เสนอแนวทางการฝึกฝนตัวเองเพื่อความเป็นเซียน ผมเห็นว่าเราจะเรียนจากเลียวนาร์ดได้ ผมจะลองเล่าบางประเด็นที่เขาสื่อดูนะครับ
เขาว่า มันมีอุปสรรคหรือหลุมพรางที่ขัดขวางการพัฒนาไปสู่ความเป็นนายหรือเป็นเซียน ในเรื่องใดๆ ก็ตามที่เราปรารถนา เขากล่าวถึงอุปสรรคสามประการด้วยกัน
หนึ่ง ก็คือ การเข้าไปเพียงสัมผัสอะไรอย่างฉาบฉวย ทำนองช้อปปิ้ง มากกว่าที่จะจริงจังกับอะไร เชอเกียม ตรุงปะ จะใช้คำว่า spiritual materialism หรือวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ คือเราพากันเสพย์เรื่องราวทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เหมือนเสพย์ซื้อวัตถุ เดินช้อปปิ้งเลือกซื้อของตามห้างสรรพสินค้า มากกว่าที่จะเข้าไปดำรงอยู่ในประสบการณ์นั้นๆ อย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง คนไปสำนักปฏิบัติธรรมมา ก็จะเอารูปมาอวดกัน เอาหนังสือมาอวดกัน ที่บ้านก็มีร่องรอยของอาจารย์คนโน้นคนนี้เต็มไปหมด แต่ปราศจากซึ่งการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เข้าไปสัมผัสให้ลึกถึงความหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติธรรม แต่ยึดถือเพียงรูปวัตถุของการปฏิบัติ
สอง หลุมพรางก็คือคนประเภทต้องการผลได้แบบเร็วๆ แบบบะหมี่สำเร็จรูป พอทำอะไรสักพัก ตนเองไม่ได้เห็นผลทันใจก็เลิกเลย สรุปเอาว่าไม่ได้เรื่อง ขาดความอดทน ไม่เคยมีแม่แบบอยู่ในใจว่า การได้มาซึ่งของดีหรือของวิเศษนั้น ต้องใช้ความอดทน ต้องอยู่กับการเดินทาง อยู่กับกระบวนการ ชั่วระยะเวลาหนึ่งอย่างแท้จริง จึงจะได้สิ่งดีๆ นั้นมา
สาม ประมาณว่า “แค่นี้ก็ดีแล้ว พอแล้ว จะเอาอะไรไปมากกว่านี้” คือ อาจจะผ่านการฝึกฝนมาระดับหนึ่ง แล้วมาติดเพดาน คือไปกว่านี้ยังไม่ได้ มันหยุดชะงัก มันไปได้แค่นี้เอง ทำเท่าไร มันก็ไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว ณ ขณะนั้นๆ คือ ไปได้ในระดับพื้นฐานเท่านั้น คนประเภทนี้ถ้าเล่นกีฬาก็ทำแบบเล่นๆ อาจจะมีเหตุผลว่า ก็เราไม่ใช่นักกีฬานี่ จะเอาอะไรกันมากมาย เราไม่ใช่มืออาชีพนี่ แค่นี้พอแล้วล่ะ ครับพอแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ต้องการมากกว่านี้แล้ว
แต่เซียนหยุดตรงนั้นไม่ได้ เซียนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพดานแล้วก็ยังมีศรัทธาเชื่อมั่น บุกบั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมออย่างไม่หยุดยั้ง วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ก็คือ แม้ว่าจะไปเจอชานพักของบันได หลายๆ ชานพักข้างหน้า และบางทีมันก็เป็นชานพักของบันไดที่ยาวเอามากๆ ไม่รู้ว่า จะได้ไต่ระดับขึ้นไปอีกเมื่อไรกัน เขาหรือเธอก็จะไม่ยอมหยุดยั้งอยู่ จะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องรัก “การเดินทาง” ละวางผลได้ไว้ก่อน ละวางเป้าหมายไว้ก่อน หากมีความสุขดื่มด่ำกับการเดินทาง ดื่มด่ำกับตัวกระบวนการ มากกว่าที่จะหวังผลได้ หวังจะไปถึงเป้าหมาย อันอาจคล้ายคำว่า “มรรคา” หรือ “ทางเดิน” ในความหมายของเต๋า ที่แปลว่า “ทาง”
จอร์จ เลียวนาร์ด นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการของอีซาเลนแล้ว ยังฝึกฝน ไอคิโด ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่ง อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องเป็นราว สิ่งที่เขาเขียนมาจากสัมผัสจริง ประสบการณ์จริง ส่วนอีซาเลน ก็เป็นคล้ายอาศรมทางเลือกในอเมริกา ที่อีซาเลนนี้ เป็นที่พบปะของนักคิดและคนทำงานกระบวนการทางกระบวนทัศน์ใหม่ หรือเพื่อจิตวิวัฒน์หลายคน
เวลานี้ ผมพบว่ากระบวนการสุนทรียสนทนา กระบวนการที่ใช้แนวทางของจิตตปัญญาศึกษา หรือ contemplative education ได้เริ่มนิยมนำไปปฏิบัติใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเรียนรู้ฝึกฝนปฏิบัติเพื่อให้เกิดกระบวนกร อันหมายถึงผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการเป็นครูผู้สอนอย่างมากมาย
บางครั้งผมก็เกิดความห่วงใยว่า หากไม่ได้ฝึกฝนกันอย่างแท้จริงของแก่นการเป็นกระบวนกร ก็จะเพียงไปจับเฉพาะเนื้อหาทางความคิด ไปจับเฉพาะเนื้อหาทางองค์ความรู้ แต่ที่จริง ความรู้แขนงนี้ ต้องเป็นปัญญาปฏิบัติ ต้องเป็นศิลปะด้วย ต้องเป็น “การเดินทาง” ที่เราต้องผ่านให้เกิดเป็นประสบการณ์ตรงของตัวเราเอง เพราะสิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วม หรือผู้เข้ารับการอบรมจะมาสัมผัสจากกระบวนกรนั้นก็คือ ประสบการณ์ของสิ่งที่มาเรียนรู้ คือเข้ามาเรียนรู้และส่งผ่านประสบการณ์ที่ต่อยอดกันจริงๆ หากมาเรียนรู้เรื่องภาวนา ก็คงต้องเรียนจากคนที่ผ่านประสบการณ์การภาวนาจริงๆ
เกอเธ่พูดถึงประโยคหนึ่งว่า “ให้เราจ้องมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเนิ่นนานเพียงพอ จนมีอวัยวะใหม่งอกขึ้นมา” จริงๆ แล้วการอยู่กับเรื่องๆ หนึ่งอย่างเนิ่นนานเพียงพอก็เป็นเรื่องสำคัญ และควรระลึกรู้ไว้ว่าเราอาจจะไปติดหล่มสามประการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้ หากเราไม่มีโอกาสได้ใคร่ครวญอย่างลุ่มลึก หากเรายังต้องการเพียงบะหมี่สำเร็จรูป หรือคิดว่าเรารู้แล้วเพียงแต่ทางพุทธิปัญญา (intellect) โดยไม่ได้สัมผัสบางอย่างอย่างแท้จริง
ทำอย่างไร เราจะช่วยกันและกัน ให้ไปพ้นหล่มหรือหลุมพรางต่างๆ ดังกล่าวมาได้
Labels: วิศิษฐ์ วังวิญญู