โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
หากเราดูภาพรวมเผินๆ ของวิธีคิดและการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ เรามักจะมีภาพคุ้นตาของคนรุ่นใหม่ว่า คิดถึงเฉพาะเรื่องตัวเองเป็นหลัก และคิดเฉพาะว่าตัวเองอยากจะได้จะเป็นอะไร ความสัมพันธ์กับคนอื่นเปราะบางมาก หากจะคิดแก้ปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ก็มักติดตันได้ง่ายจะเรียกว่าแก้ปัญหาเองไม่เป็นก็ดูจะไม่ผิดไปนัก มิจำต้องถามถึงสำนึกทางสังคมหรอก เพราะแค่นึกภาพก็อาจรู้สึกหมดหวังไปเลย เป็นต้น
สภาพที่ว่านี้มีส่วนจริงอยู่มาก แต่ก็มีคนรุ่นใหม่อีกไม่น้อยเลยที่เขาคิดและแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อตัวเอง มีสำนึกในการเอื้ออาทรต่อคนอื่นซึ่งเป็นสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ แม้จะไม่ปรากฏเด่นชัดว่าเป็นสำนึกการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังคนรุ่นเดือนตุลา เป็นต้น ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ยอมเจ็บปวด ยอมเสียสละเพื่อคนอื่นมีเยอะแยะมากมาย แต่ไม่เป็นข่าวดังเมื่อเทียบกับข่าวนักศึกษาตีกันทำร้ายกัน ดังนั้น สิ่งที่เรารับรู้อย่างเผินๆ จึงทำให้ความหวังต่อคนรุ่นใหม่ถูกปิดตายลง
ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ขาดสำนึกที่ดีงามนั้นมาจากปัจจัยหลายตัว ที่พูดถึงกันมากที่สุดคือ บริบทของสังคมสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นให้คนอยากเสพอยากบริโภค อีกด้านหนึ่งก็ยั่วยุปลุกปั่นให้อยากใช้ความรุนแรง แต่มีปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็คือ ความผิดพลาดบกพร่องของระบบการเรียนรู้ของคน กล่าวคือ สังคมหรือองค์กรทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะระบบการศึกษาไม่สามารถฝึกฝนให้คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างแยบคาย ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่รู้เท่าทันตัวเองหรือเข้าใจตัวเอง รู้เท่าทันสภาพสังคมหลายด้านหลายระดับที่สัมพันธ์กัน รู้จักสิ่งรอบตัวว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ รู้ว่าทางออกหรือการวางท่าทีที่แยบคายต่อสิ่งต่างๆ ควรเป็นอย่างไร เป็นต้น
เหตุปัจจัยนี้เปรียบไปก็คล้ายกับระบบภูมิต้านทานโรคบกพร่อง ดังนั้นเมื่อต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรอบตัว เช่น เมื่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมหรืออาการคลั่งวัตถุโหมซัดเข้ามาจึงไม่สามารถปรับตัวให้หลุดรอดจากการตกเป็นเหยื่อได้
อีกประการหนึ่งของระบบการเรียนรู้ที่บกพร่อง ก็คือ การรับรู้และเรียนรู้ขาดแง่มุมความจริงบางด้านของสังคมไป กล่าวคือ เรามุ่งจัดให้คนเรียนรู้เฉพาะเรื่องที่จะเข้าไปทำงานทำอาชีพโดยแยกขาดจากการเรียนรู้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาเอง ครอบครัว โครงสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่สามารถมองเห็นผลกระทบของปัญหาทางสังคมที่กระทบต่อตนเอง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องอื่นนอกจากเรื่องที่ตัวเองจะไต่เต้าเอาดีกัน ด้วยเหตุนี้แล เราจะกล่าวโทษเฉพาะตัวคนรุ่นใหม่ว่า พวกเขาไม่ได้เรื่อง ก็คงดูไม่ยุติธรรมกระมัง
อย่างไรก็ตาม เราควรมีความหวังอยู่เสมอที่จะเห็นคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณค่า มีสำนึกที่ดีงามทั้งต่อตัวเองและสังคม การมุ่งแตะเบรกเพื่อลดทอนอำนาจของวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่หลั่งไหลและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่เราคงต้องช่วยกันทำต่อไปอย่างไม่ลดละ ในขณะเดียวกันผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อกระบวนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ก็คงต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยทำให้เขาเปลี่ยนแปลงสำนึก อย่างน้อยก็สร้างเสริมให้เขาค้นพบวิธีคิดอันแยบคายด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรู้จักตัวเองได้ชัดเจนลึกซึ้ง ให้เข้าใจชีวิตด้านในตนเองว่า สุขทุกข์ของตนในแต่ละช่วงชีวิตคืออะไร ปมปัญหาของชีวิตมาจากเหตุปัจจัยอะไร ให้มองเห็นว่าชีวิตที่ถูกต้องดีงามในสังคมสมัยใหม่ควรเป็นอย่างไรและจะดำเนินชีวิตอย่างไร รวมถึงเกิดวิธีคิดที่ทำให้เขาเข้าใจสภาพสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคมวงกว้างตามที่เป็นจริง โดยรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้สังคมมันสลับซับซ้อนและมีความรุนแรง รู้เท่าทันว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ และจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น ที่กล่าวเน้นวิธีคิดก็เพราะวิธีคิดหรือการคิดเป็นนั้นถือเป็นภูมิคุ้มกันภายในของบุคคลที่จะทำให้อยู่รอดได้ไม่ว่าจะประสบปัญหาหรือสถานการณ์ใดก็ตาม
ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสำนึกของคนจึงจำต้องเป็นกระบวนการที่หลากหลาย สามารถทำให้เปิดการรับรู้ได้ทุกทาง นั่นคือ ไม่ควรจำกัดเฉพาะการเรียนรู้ผ่านการฟังและจดจำเท่านั้น แต่ควรเปิดโอกาสหรือสร้างเงื่อนไขให้เขาได้ฉุกคิดและรู้จักตั้งคำถาม ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์หรือสถานการณ์จริง หรือแม้แต่การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลองแล้วเชื่อมโยงบทเรียนไปสู่ชีวิตจริง กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ย่อมทำให้เขาเกิดความรู้สึกภายในควบคู่ไปกับการใคร่ครวญไตร่ตรองต่อสิ่งที่รับรู้ตรงหน้า เช่น เมื่อเราพาเขาไปดูการทำลายล้างป่าสมบูรณ์และสัมผัสกับความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านเพื่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เขาก็มักจะเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้ง่าย และเกิดสำนึกที่จะร่วมรับผิดชอบมากขึ้น เป็นต้น
กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้สัมผัสกับความจริงหรือข้อเท็จจริงอย่างลึกซึ้ง แล้วตามด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนแบ่งปันบทเรียนร่วมกันเพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อความรู้ความจริงนี้ มักมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แตะไปถึงก้นบึ้งของความรู้สึกนึกคิดได้ แล้วก่อรูปเป็นกระบวนการคิดอันแยบคายซึ่งสามารถคิดหาทางออกจากปัญหาได้ และย่อมเปลี่ยนแปลงไปสู่สำนึกที่ดีงามได้ในที่สุด
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกข้อหนึ่งก็คือ กระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นนี้อย่างน้อยต้องทำให้เขาประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองว่า วิธีการเรียนรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ใดที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่จะทำให้เขาเกิดสำนึกของการใฝ่เรียนรู้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เกิดความสุขที่ได้เรียนรู้ ดังนั้น การร่วมมือกันกับคนรุ่นใหม่อย่างเข้าใจเขาเพื่อช่วยทำให้เขามองเห็นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเขาเองจึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้รับผิดชอบเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของคน เพราะเมื่อเขาเกิดสำนึกของการใฝ่เรียนรู้เองแล้ว ภาระในผลักดันหรือกดขี่บังคับให้คนเรียนนั้นย่อมลดน้อยถอยลง
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ การสร้างสรรค์สำนึกของคนรุ่นใหม่น่าจะมีความหวังไม่มากก็น้อย หากเราช่วยกันคิดสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านในของมนุษย์
Labels: ปรีดา เรืองวิชาธร