โดย สุนทรี กุลนานันท์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑

ข้าพเจ้าเคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เรื่อง “การเผชิญความตายอย่างสงบ” ในการอบรมครั้งนั้นพวกเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตทั้งเรื่องเฉียดตายของตัวเองและความตายคนในครอบครัว ข้าพเจ้าบอกเล่ากับกลุ่มเพื่อนผู้เข้าร่วมว่าตนเองได้ตระหนักถึงเรื่อง “ความตาย” เป็นครั้งแรกเมื่อได้เห็นคุณยายวัยเกือบ ๘๐ ปีต้องเผชิญความตาย

คุณยายของข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป ท่านเคยบวชชีและท่านมีชีวิตในสังฆะซึ่งเป็นชุมชนของคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณมาตั้งแต่อายุได้ ๔๐ กว่าปี แม้จะอายุมากแล้วแต่ท่านยังมีความคิดอ่านที่แลกเปลี่ยนกับข้าพเจ้าได้ในช่วงวัยรุ่น ท่านสามารถไปโน่นมานี่เองอย่างอิสระ จนถึงวัยที่ชรามากจึงได้กลับมาอยู่กับลูกหลาน แต่ดูเหมือนว่าท่านจะมีความสุขน้อยกว่าการใช้ชีวิตร่วมกับกัลยาณมิตรในสังฆะ ท่านจึงดูเหี่ยวเฉาลงและตายจากไปในโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับการดูแลทางจิตวิญญาณเพื่อให้เป็นการเผชิญความตายอย่างสงบ

น่าเสียดายที่ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็กเกินไปและยังไม่เข้าใจคำว่า “การเผชิญความตายอย่างสงบ” นั้นสำคัญอย่างไร แต่ประสบการณ์นี้ก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเดินทางเข้าสู่โลกทางศาสนา และแสวงหาความเข้าใจในเรื่องนี้ นอกจากเพื่อตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะได้มีโอกาสถึงวันที่ได้ดูแลจิตวิญญาณของคุณพ่อและคุณแม่ในวาระของท่าน ... แล้ววันนั้นก็มาถึง

เป็นวันที่คุณแม่ของข้าพเจ้าต้องเข้าผ่าตัด

เหตุการณ์เริ่มต้นมาก่อนหน้าตั้งแต่เมื่อ ๖ เดือนก่อน ขณะที่ครอบครัวของเรากำลังเตรียมตัวจะไปเที่ยวเวียดนามกันในวันรุ่งขึ้น คุณแม่ก็มีอาการปวดศีรษะจนหมดสติไป เราไปถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. อย่างงวยงง เพราะที่บ้านไม่เคยมีใครป่วยหนักหรือมีโรคประจำตัวร้ายแรง จนล่วงเลยถึง ๑๘.๐๐ น. หมอบอกว่าต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน แล้วก็ทำสแกนสมอง ผลคือสมองบวมจนเบียดแกนสมองที่ควบคุมระบบสำคัญของร่างกาย เช่น การหายใจและการเคลื่อนไหว คุณแม่จึงอ่อนแรงและไม่รู้สึกตัวในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ... เราตัดสินใจให้คุณหมอผ่าตัดด่วนในคืนนั้น

คุณแม่เป็นคนทันสมัย รักสวยรักงาม ชอบท่องเที่ยว และเชื่อมั่นในความแข็งแรงของตัวเอง เพราะเข้าฟิตเนสทุกวันแม้จะอายุ ๖๓ ปีแล้ว แต่ในห้องไอซียูคืนนั้น เมื่อพยาบาลโกนผมของท่านออกจนหมดเพื่อเตรียมผ่าตัด มันเป็นการเปลี่ยนแปลงราวกับพลิกฝ่ามือ เราเชื่อมั่นในความชำนาญของคุณหมอว่าจะช่วยชีวิตคุณแม่ได้แน่ แต่ที่คุณหมอเองก็ไม่รับประกันคือ หลังผ่าตัดแล้วท่านจะยังพูดจาหรือเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิมหรือไม่ และนั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าห่วงที่สุด เพราะเกรงว่าคุณแม่จะทำใจรับกับสภาพชีวิตใหม่ไม่ได้

คืนนั้นสิ่งที่ลูกหลานพอจะทำได้ก็เป็นเพียงการมารวมตัวกันหน้าห้อง ICU ครั้นวันรุ่งขึ้นคุณแม่ก็ฟื้นขึ้นมา อาการดีขึ้นเป็นลำดับ ท่านฟื้นตัวเร็วมาก เคลื่อนไหวและพูดจาได้เกือบ ๘๐ % ภายใน ๗ วัน

สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือท่านจะรับสภาพไม่ได้ กลับกลายเป็นว่าไม่มีเลย ท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนที่โกรธง่ายกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ท่านจะแซวหมอและพยาบาลที่ดูแลจนเป็นที่รู้จักรักใคร่ของทั้งห้องไอซียูและหอผู้ป่วยในที่พักฟื้น

ข้าพเจ้าคิดว่าท่านรักษาใจได้ดีมาก โดยที่ตัวข้าพเจ้าเองยังไม่ทันได้ทำอะไรที่ช่วยท่านเลย แต่ท่านบอกว่าข้าพเจ้าได้ทำแล้ว เพราะก่อนหน้าที่ท่านจะป่วย ท่านขอให้ข้าพเจ้าพาไปปฏิบัติธรรมพักค้างที่เสถียรธรรมสถานซึ่งข้าพเจ้าเป็นอาสาสมัครอยู่นั้น เราได้ร่วมเข้าคอร์สที่ชื่อว่า “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา” สิ่งที่ได้คือเราคุยกันเรื่องใจได้ลึกซึ้งขึ้น เรื่องทุกข์เรื่องอารมณ์เรื่องความตาย มันเหมือน “ทุนชีวิต” ที่ท่านสะสมไว้ ด้วยการเรียนรู้เรื่องชีวิตเรื่องจิตใจทำให้ท่านมี “ดวงตาเห็นธรรม” ด้วยตนเอง คำว่า “ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่มีไว้ให้เป็น” มันกระจ่างชัดเป็นรูปธรรมขึ้นมาเอง และท่านรู้เรื่อง “ลมหายใจแห่งสติ” จะช่วยกายให้คลายความเจ็บ ช่วยใจให้คลายความกลัวได้อย่างไร

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ลงมือทำจริงๆ แล้วมีเพียง ๓ อย่างคือ

๑) รักษา “ทุนของชีวิตคือจิตที่ไม่ขุ่นมัว” ดูแลใจตัวเองให้มั่นคง เพื่อที่จะได้ดูแลท่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด ระวังการกระทำที่จะไปกระทบใจให้ท่านต้องทุกข์เพราะเรา

๒) “รักษาคลื่นแห่งความสงบ” ด้วยการรักษาบรรยากาศในห้องพักฟื้น ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล ให้เกื้อกูลต่อการให้ท่านกลับมาอยู่กับกายและใจของตัวเอง เปิดเทปธรรมแทนการเปิดทีวี แล้วคำสอนของพระอาจารย์ต่างๆ ก็สะกิดใจท่าน ท่านเรียนรู้เองจากจิตใต้สำนึกที่ปรากฏขึ้นว่าท่านใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไรและควรจะใช้ชีวิตที่ได้มาใหม่อย่างไร โดยเฉพาะ “การให้อภัยกับคนที่ผูกโกรธอยู่” (ภายหลังจากออกจากโรงพยาบาล ข้าพเจ้าก็พาท่านก็ไปขอขมาบุคคลเหล่านั้น)

๓) “ฟังกันด้วยหัวใจ” ในระหว่างที่ท่านเรียนรู้และระลึกสิ่งใดขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าก็เพียงแต่ฟัง ให้ท่านได้เปิดใจเล่าถึงเรื่องราวความรู้สึกต่างๆ และสนับสนุนท่านในสิ่งที่ท่านตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

พรุ่งนี้คุณแม่ของข้าพเจ้าจะเข้าไปผ่าตัดอีกครั้งเพื่อใส่กะโหลกเทียม ศีรษะที่บุ๋มอยู่ก็จะสวยเหมือนเดิม ท่านจะเดินเหินไปไหนได้โดยไม่วิงเวียนเพราะเนื้อสมองโคลงเคลงไปมา ท่านจะก้มๆ เงยๆ ทำอาหารอร่อยสุดฝีมือ และไปเที่ยวไกลๆ กับลูกหลานได้อีก

ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณความเจ็บป่วย “เฉียดตาย” ครั้งนี้ของคุณแม่ ที่ทำให้ครอบครัวของเราได้ “เกิดใหม่” เพราะเราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งคุณแม่ผู้มีปัญญาได้เป็นครูให้เราเห็นอย่างสง่างาม

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home