โดย สมสิทธิ์ อัสดรนิธี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

คนเราในยุคสมัยปัจจุบันเติบโตและดำเนินชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยวัตถุและการรับรู้เชิงรูปธรรม จึงไม่น่าแปลกใจนักที่คนส่วนใหญ่มักตัดสินและให้คุณค่าจากวิธีการรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเท่านั้น โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นเฉพาะสิ่งที่วัดได้ จับต้องได้ ทำนายและคาดหมายผลได้จึงเป็นโลกทัศน์หลักเพียงโลกทัศน์เดียวของผู้คนเกือบทั้งหมด เปิดที่ว่างให้เพียงน้อยนิดสำหรับแนวคิดและมุมมองอื่นๆ ที่พอจะแทรกตัวขึ้นมาได้บ้าง แม้โลกทัศน์วิทยาศาสตร์จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่โลกมาไม่น้อย แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดแห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งมันยังเป็นตัวขวางกั้นมิให้เราเข้าถึงความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าท้าทายอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถพาตัวเองให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัดของโลกทัศน์เดิมๆ ไปสู่ศักยภาพที่มากขึ้น และอยู่บนฐานแห่งการรับรู้ที่กว้างขึ้น เพื่อความสมบูรณ์กว่าแห่งชีวิตได้หรือไม่

โดยทั่วไป เรามักฝากความหวังเกือบทั้งหมดไว้ที่ก้อนสมอง นั่นก็คือความคิดของเรา ความคิดนั้นโดดเด่นตรงที่เป็นศักยภาพที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันด้วยความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เราใช้ความคิดในการรับรู้ ตัดสินใจ ให้คุณค่า และทำนายผล ทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหาเรามักกลับมาปรึกษาและขอความเห็นจากสมองเสมอ โดยหลงลืมไปว่าเรายังมีเพื่อนอื่นๆ ที่อาจจะให้คำตอบดีๆ ที่คาดไม่ถึงอยู่ก็ได้ สมองนั้นยังดูดีตรงที่มันมักซับซ้อนและไม่ค่อยจะตรงไปตรงมา คนเราตื่นเต้นกับความสามารถแบบนี้ยิ่งนักจนแม้ว่าสมองจะพูดจาวกวนหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง เราก็ยังยินดีที่จะให้อภัย มิหนำซ้ำยังคอยยกย่องความสามารถของสมองด้วยการมอบปริญญาบัตรแบบต่างๆ ให้อย่างมากมายเสมอมา น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าการพึ่งพาสมองที่ฉลาดล้ำอย่างเดียวอาจเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนักก็ได้

ทีนี้เราลองหันมามองเพื่อนอื่นๆ ของเราดูบ้าง นอกเหนือไปจากสมองแล้ว ดูเหมือนว่าเรายังมีส่วนอื่นๆ ที่คอยส่งเสียงเรียกร้อง ทักทาย และตักเตือนอยู่เป็นระยะๆ (แต่อาจไม่ดังนักเพราะเราไม่ค่อยตั้งใจฟัง) ที่สำคัญๆ ก็มี กายกับใจของเรา ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกายเป็นหลัก กายนั้นเป็นช่องทางหนึ่งแห่งการรับรู้ที่มีความกว้างใหญ่และลุ่มลึกไม่น้อย นอกจากนี้กายยังสามารถแปลผลและส่งสารบางอย่างให้แก่เรา แต่ที่เรามักไม่เข้าใจเพราะหลงลืมไปว่า สารที่กายส่งมาให้เรานั้น มันจริงและตรงไปตรงมาเป็นที่สุด เราอาจคุ้นชินกับการบิดเบือนหรือความซับซ้อนเสียจนลืมไปว่ากายนั้นไม่ใช่สมอง กายไม่ได้คิด ฉะนั้นอะไรที่กายส่งมาจึงจริงแท้ ตรงไปตรงมา และมีความสดใหม่ทันทีทันใด จนบางทีเราถึงกับรับมือกับมันไม่ทัน กายมีความสร้างสรรค์ได้ หากแต่ความสร้างสรรค์ของกายไม่ได้เกิดจากการคิด แต่มันคือการเป็น เป็นความสร้างสรรค์ด้วยเนื้อด้วยตัวของมันเอง กายจะสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อ “กล่อง” ที่ครอบงำเราด้วยความคิดความเชื่อต่างๆ ต้องถูกสั่นหรือฉีกทำลายลงก่อน (หรือสักหน่อยก็ยังดี) นอกจากนี้การเบิกบานอยู่กับปัจจุบันขณะ กับความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ต้องกังวลกับมาตรฐาน การตัดสิน หรือการแข่งขันใดๆ ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่เอื้อให้กายนั้นเปล่งประกายฉายแสงออกมาได้

ศักยภาพของกายมีมากกว่าที่เราคิดไว้นัก บางครั้งแค่ความเชื่อมั่นว่าเราจะทำได้ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างความอัศจรรย์ใจได้ไม่น้อย ขอให้เริ่มลงมือทำมันทันทีโดยไม่ต้องคิดวางแผน (เพราะกายไม่ต้องอาศัยการคิด แต่อาศัยการลงมือทำ) แล้วการกระทำแรกนั้นจะกรุยทางไปสู่แนวทางและคำตอบอื่นๆ ให้ตามมาเอง ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเต้นรำหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสุนทรียภาพนั้น ที่ยากที่สุดอาจเป็นการเคลื่อนไหวกายในชั่วขณะแรกๆ ด้วยเราอาจกังวลว่าไม่รู้จะเริ่มด้วยท่าทางอย่างไรก่อน (เพื่อให้ดูดี) แต่ครั้นเมื่อเราเริ่มเคลื่อนกายไปแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะช่วยคลี่คลายให้ท่าทางอื่นๆ ตามๆ กันออกมาได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้กายของเราได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องแคร์กับการถูกมองหรือถูกตัดสิน และปล่อยให้เป็นปัจจุบันอย่างแท้จริง ความอัศจรรย์ของภาษากายจะเริ่มร้อยเรียงและบรรเลงตัวของมันเองออกมาได้อย่างไม่อับจน

กายยังส่งสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเราอีกไม่น้อย ความสบายของเนื้อตัว ตลอดจนความเมื่อยและเจ็บก็เป็นสารที่กายของเราพยายามสื่อบอกให้เราตระหนักรู้ถึงสภาวะที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา กายไม่จำเป็นต้องดัดแปลงสารให้ดูดีหรือดูร้ายกว่าความเป็นจริงด้วยเหตุผลใดๆ สารที่กายสื่อจึงอาจดูดิบหรือไร้การขัดเกลาไปบ้างจนแม้เราเองอาจรับมันไม่ค่อยได้ในสถานการณ์ทั่วไป จนกว่าเมื่อถึงวันที่สมองหรือใจของเราไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของเราได้อีกแล้ว เมื่อนั้นเราจึงจะยอมหันมารับฟังในสิ่งที่กายพูด (ซึ่งหลายครั้งนั่นเป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด) ไม่น่าแปลกใจเลยที่ภูมิปัญญาแห่งกายถูกละเลยจนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีผู้คนในสังคมดั้งเดิมบางสังคมที่ยังคงให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญาส่วนนี้ จนถึงขนาดที่ว่าพวกเขาสามารถใช้กายเป็นฐานแห่งการรับรู้ความเป็นไปของผู้คนหรือเพื่อนฝูงที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรได้

กายมีมิติให้เราเข้าไปค้นหาและผจญภัยได้ไม่รู้จบ ขอเพียงเรายอมให้กายและใจเป็นผู้นำทาง แล้วเราจะได้รับประสบการณ์ต่างๆ ที่มีคุณค่า อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กายนั้นคิดเหมือนสมองไม่ได้ แต่หลายครั้งเราก็เคยคาดหวังจะให้กายทำอะไรดีๆ หรู ๆ เหมือนสมอง ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม กายมีภูมิปัญญาของตนเองพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ หากเพียงเราไว้วางใจกายอย่างเต็มที่ ขอเพียงให้เราเปิดโอกาสให้กายได้พูดและแสดงบทบาทของมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา ในระยะยาว เราสามารถสร้างเสริมบุคลิกภาพของเราเองด้วยสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ ใช้ท่าทีทั้งด้านกาย ใจ และความคิดได้อย่างเหมาะสมและสมดุล เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ดีขึ้นได้ และนี่เองคือการเรียนรู้ที่เราได้เปิดพื้นที่ออกไปให้กว้างกว่าพื้นที่ของการคิด กลายเป็นการเรียนรู้ด้วยกายและใจอย่างใคร่ครวญ ลุ่มลึกและรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่นำไปสู่การสืบค้นมิติด้านในของตนเอง และเป็นการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและเชื่อมโยงมิติต่างๆ ในความเป็นจริงของธรรมชาติ อันนำไปสู่การเกิดปัญญาแห่งการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือแนวคิดของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษานั่นเอง

สุดท้าย ขอขอบคุณกายนี้ของเราที่มักให้อะไรดีๆ แก่เราเสมอ ขอบคุณแขนขาและเนื้อตัว ขอบคุณที่พวกเขายังพูดด้วยภาษาที่ไพเราะ ไม่ทำให้เราเจ็บปวด และเป็นภาษาที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ขอบคุณที่พวกเขาทำให้เราสามารถมีการเคลื่อนไหวที่งามสง่าและสนุก นี่เป็นความหฤหรรษ์ยิ่งในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ขอบคุณที่พวกเขาพูดจาด้วยภาษาประดุจวงมโหรีที่บรรเลงอย่างมีสุนทรียภาพ ขอขอบคุณที่พวกเขายังเมตตาให้เรายังมีความสุขสบายอยู่ได้

2 Comments:

  1. อัญชลี อุชชิน said...
    ตามมาอ่านค่ะ

    และรออ่านชิ้นงานต่อๆ ไปอยู่นะ
    Anonymous said...
    ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล

Post a Comment



Newer Post Older Post Home