โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
คุณแม่ลูกอ่อนกลับมาทักทายกันอีกครั้งบนหน้ากระดาษหลังจากหายหน้าหายตากันไปหลายเดือน ตอนนี้เจ้าตัวน้อยของผู้เขียนก็เริ่มคืบคลานเข้าสู่เดือนที่หก กำลังจ้ำม่ำ น่ารักน่าชัง ในขณะที่ตัวผู้เขียนเองก็กำลังปรับตัวเข้าสู่การเป็นแม่ทำงาน (Working Mom) จัดสรรเวลางาน เวลานอน และเวลาพักผ่อนหย่อนใจให้เข้ากับชีวิตใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทุกวันนี้เวลาขับรถไปทำงาน ผู้เขียนจะเปิดซีดีสอนปฏิบัติธรรมอยู่แผ่นหนึ่ง ฟังวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา โดยแอบหวังลึกๆ ว่า “ธรรมะ” จะค่อยๆ ซึมผ่านเนื้อหนังมังสาหนาๆ ของเราเข้าไปสู่จิต “ภายใน” วิธีการปฏิบัติธรรมในซีดีที่พระอาจารย์ท่านสอนนั้นแสนจะเรียบง่าย คือ ให้เราตามรู้ใจของเราอย่างที่มันเป็น ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องเพ่ง และที่สำคัญคือ ไม่ต้องคิด แค่เพียง “รู้” ใจมันโกรธก็รู้ ดีใจก็รู้ เครียดก็รู้ ฯลฯ ผู้เขียนก็ปฏิบัติตามไปอย่างงูๆ ปลาๆ นึกได้ก็ทำ แต่ส่วนใหญ่ก็จะลืม โดยเฉพาะเวลาอยู่กับลูก เพราะทั้งกาย ใจ และปัญญาทั้งหมดทั้งมวลที่เรามีนั้น มันจดจ่ออยู่ที่ลูก ลูก และลูกคนเดียว จนไม่เหลือสติหรือพลังใดๆ ที่จะมารับรู้ความเป็นไปข้างในจิตใจของตัวเอง
แต่วันก่อนได้ฟังคำสอนที่น่าสนใจจากซีดีแผ่นเดิม (อาจเคยฟังไปแล้วแต่เพิ่งจะได้ยิน) มีคนถามพระอาจารย์ว่า จิตก็เหมือนเด็กใช่ไหม ท่านตอบว่า ใช่ เวลาเราดูจิตก็เหมือนกับว่าเรากำลังเฝ้าดูเด็กคนหนึ่ง และท่านยังเสริมอีกว่า ให้ดูจนรู้ว่าเด็กคนนั้นไม่ใช่เรา
ฟังแล้วก็ลองคิดตามดู จริงๆ การเลี้ยงเด็กกับการปฏิบัติธรรมอาจมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย ในฐานะที่กำลังเป็นแม่ลูกอ่อน ผู้เขียนเลยลองเทียบเคียงเล่นๆ พอให้เห็นถึงความเหมือน (หรือความต่าง) ของสองสิ่งนี้ ไม่ได้อ้างอิงหลักการใดๆ ขออนุญาตคิดเองตามอำเภอใจ อาจไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เผื่อใครที่มีลูกแล้วอาจจะเข้าใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น หรือใครที่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีลูก อาจจะพอเข้าใจการเลี้ยงลูกขึ้นมาบ้าง
รู้ (ทัน) ในสิ่งที่เขาเป็น ณ ปัจจุบันขณะ แล้วเราจะปฏิบัติกับเขาได้อย่างเหมาะสม
เด็กก็เหมือนจิตตรงที่เขาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อยู่เหนือความควบคุมของเรา แม้เราคิดว่าเราได้จัดสรรสิ่งแวดล้อมที่พร้อมสมบูรณ์ที่สุดแล้วก็ตาม เขาก็ยังสามารถแสดงปฏิกิริยาที่เหนือความคาดหมายของเราออกมาได้เสมอ เด็กอาจไม่ไวเท่าจิต แต่ก็ไวพอที่จะทำให้เราไม่อาจละสายตาจากเขาได้ มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า เด็กจะบังคับให้เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ และมีคำพูดของคนจีนที่พูดทำนองว่า เด็กเปลี่ยนวันละ 18 ครั้ง ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดสำหรับลูก คือ รู้ให้ทันในสิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ผู้เขียนพบว่าเมื่อเรามองเห็นลูกอย่างที่เขาเป็นจริงๆ โดยไม่พยายามถามหาสาเหตุเกินจำเป็น หรือวิเคราะห์ให้มากเรื่อง เราจะสามารถตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการของเขาและมีสติในการกระทำมากกว่า
ฝึกและฝืนอย่างมีศิลปะ คือให้ลูกเคยชินกับสิ่งที่ดี (ก่อนที่เขาจะรู้จักสิ่งที่ไม่ดี)
เมื่อธรรมชาติของเด็กเหมือนกับธรรมชาติของจิต คือ ไม่อยู่นิ่ง ไอ้เรื่องจะไปบังคับลูก ฝึกลูกแบบทหารจึงไม่ใช่วิสัย เพราะถ้ายิ่งใช้ไม้แข็งเด็กก็จะยิ่งดื้อด้าน เหมือนจิตเราที่พอไปบังคับมันมากๆ มันก็จะกลายเป็นจิตที่แข็งกระด้าง หนักๆ ทื่อๆ
แต่สิ่งที่เราทำได้คือ สร้างนิสัยที่ดีให้กับเจ้าตัวน้อยตั้งแต่เริ่มต้น ค่อยๆ ทำทีละนิด แต่ทำบ่อยๆ สักวันสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเขาไปจนโต
แต่ต้องสม่ำเสมอในการกระทำ มีความเพียรเป็นกำลังสำคัญ
เด็กชอบอะไรที่ชัดเจน แน่นอน คาดเดาได้ สิ่งแปลกปลอม ความผิดปกติมีแต่จะทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ในทางกลับกันความสม่ำเสมอจะทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ อย่างเช่น ทุกคืน สองแม่ลูกก็จะพากันขึ้นบ้าน อาบน้ำ ใส่ชุดนอน อ่านหนังสือ แล้วก็เข้านอน ทำอย่างนี้ทุกวันๆๆๆ จนกระทั่ง พอเริ่มเปิดหนังสือลูกก็เริ่มขยี้ตาแล้ว การทำซ้ำๆ จึงเป็นอาวุธสำคัญในการฝึกนิสัยที่ดีให้ลูก การตามรู้ตามดูจิตของเราก็ต้องหมั่นทำอยู่ทุกวัน ค่อยๆ สั่งสมพลัง จนแม้จิตขุ่นมัวเพียงเล็กน้อยก็รู้ได้ทันท่วงที แต่อย่าเอาอย่างผู้เขียนที่มักจะปฏิบัติสองวันไม่ปฏิบัติสามวัน ทุกครั้งที่กลับมาตั้งใจปฏิบัติหลังจากว่างเว้นไปนานจะเหมือนต้องมาตั้งต้นใหม่ทุกทีไป
ตั้งใจเลี้ยงมากไม่ได้ ต้องเลี้ยงแบบเล่นๆ (ทิ้งๆ ขว้างๆ บ้างก็ดี)
เคยไหมที่เวลาเราตั้งใจทำอะไรมากๆ อยากจะให้มันสำเร็จ สุดท้ายมันมักจะไม่สำเร็จทุกที เวลาผู้เขียน ตั้งใจ (และร้อนใจ) กล่อมลูก อยากให้เขาหลับเร็วๆ (เราจะได้ไปทำอะไรต่างๆ นานา ที่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการเอาใจใส่ดูแลลูก) ลูกจะยิ่งงอแง นอนยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราทำเป็นไม่สนใจ ชมนกชมไม้ไปด้วย ร้องเพลงคลอเบาๆ ขยับช้าๆ อย่างมีจังหวะจนคล้ายการเต้นรำ ไม่นานลูกก็เคลิ้มหลับแต่โดยดี
ผู้เขียนเพิ่งมาเห็นว่าความอยากนี่ละตัวร้ายที่ต้องคอยระวังให้ดี โดยเฉพาะความอยากดี อยากปฏิบัติ อยากให้ตัวเองเป็นคนดี อยากให้ลูกเป็นคนดี ไม่ว่าเราจะอยากในสิ่งที่ดีแค่ไหน มันก็คือ “ความอยาก” อยู่ดี มันจะมาบดบังทำให้เราไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า (ว่าลูกเราเป็นคนอย่างไร หรือว่าใจเรามันเรรวนแปรปรวนแค่ไหน) การเลี้ยงแบบเล่นๆ จึงไม่ใช่การเลี้ยงแบบไม่เอาใจใส่หรือปล่อยไปตามยถากรรม แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดปริมาณความอยากของคนเป็นแม่ลงไปไม่มากก็น้อย
สุดท้ายต้องรู้ว่าลูกไม่ใช่เรา เราเปรียบเป็นเพียงบ้านเช่า ที่เขามาอาศัยอยู่ด้วยเพียงชั่วคราว เมื่อหมดวาสนาต่อกัน ไม่เขาหรือเราก็ต้องไป
ท้ายสุดที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใด คือ ให้รู้ว่าลูกไม่ได้เป็นของเรา เราให้กำเนิดเขา เลี้ยงดู ประคบประหงบจนเขาเติบใหญ่ แต่ไม่มีเลยสักวันเดียวที่เขาเป็นของเรา (คิดเรื่องนี้ทีไรผู้เขียนต้องมีอาการน้ำตาซึมทุกที) แต่ที่ยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาคือการรู้ว่าจิตไม่ใช่เรา ซึ่งผู้เขียนก็ยังห่างไกลความจริงข้อนี้อยู่มากโข เอาเป็นว่าเราก้าวเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละก้าว โดยตระหนักดีถึงจุดหมายปลายทางที่เราจะไปก็แล้วกัน
เมื่อคิด (และเขียน) ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็เริ่มเห็นว่า ธรรมะก็บอกอะไรเราเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอยู่ไม่น้อย หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงลูกก็สอนธรรมะเราอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เรื่องไกลตัวจึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวได้โดยไม่ยาก หากใครสนใจสามารถเอาข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับลูกตัวเอง หรือแตกหน่อต่อยอดไปสู่ชีวิตการทำงาน การกีฬา ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง สามีหรือภรรยา ก็ยิ่งดีใหญ่ จะว่าไปแล้ว ก็ดูเข้าที เดี๋ยววันนี้ ผู้เขียนว่าจะลองเอาไปใช้กับคนใกล้ตัวดูบ้าง คงจะไม่เลวเลยทีเดียว
Labels: กิติยา โสภณพนิช
1 Comment:
-
- Anonymous said...
1:32 PMเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ