โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒

จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทำนองเดียวกับคำว่าการศึกษาและการเรียนรู้ก็มีความหมายที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันจนบางครั้ง บางบริบท คำสองคำนี้ก็ใช้แทนกันได้

บทความนี้เป็นความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย (Meaning) ในลักษณะที่ครอบคลุม ทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างของทั้งสองคำและคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามหลีกเลี่ยงการให้คำจำกัดความ (Definition) ที่ “จำกัด” ความหมายที่กว้างขวางและลุ่มลึกของคำ แต่พยายามจะอธิบายความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจให้รอบด้านกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ยึดติดอยู่กับกรอบความคิดหรือทฤษฎีหนึ่งใดเพียงหนึ่งเดียว

การจำแนกความหมายของคำที่ใกล้เคียงที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะชี้ให้เห็นจุดเน้นของแนวคิดและแนวปฏิบัติของคำเฉพาะเหล่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะบ่งบอกว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติใดดีหรือเหนือกว่ากัน เพราะแต่ละแนวคิดและแนวปฏิบัติต่างก็เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

การศึกษาที่ผ่านมา หากพิจารนาที่จุดเน้นและจุดหมายเป็นตัวตั้ง สามารถแยกออกได้เป็น ๕ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
๑. การศึกษาที่เน้นการถ่ายทอดความรู้หรือแบบครูป้อนให้ (Spoon Feeding)
๒. การศึกษาที่เน้นการคิดเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ (Critical Thinking)
๓. การศึกษาที่เน้นประสบการณ์ (Experiential Learning)
๔. การศึกษาที่เน้นการบูรณาการ (Integrative Education) และ
๕. จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education)

เพื่อให้เห็นความเหมือน ความต่างของการศึกษาทั้ง ๕ แบบ จะขออธิบายแนวคิด และแนวปฏิบัติของการศึกษาทั้ง ๕ แบบโดยสรุปดังต่อไปนี้

๑) การศึกษา/การเรียนรู้แบบครูป้อนให้ จะเน้นการถ่ายทอดความรู้/ทักษะจากครูสู่ลูกศิษย์ เป็นการเรียนรู้จากการท่องจำและการฝึกฝนตามรูปแบบที่ครูสอน ไม่เน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ หรือความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ให้ความสำคัญกับการระดมสมอง อภิปรายหรือโต้แย้งทางความคิดระหว่างครูกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง

๒) การศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ จะมุ่งเน้นที่การตรวจสอบอย่างระมัดระวังรอบด้านเกี่ยวกับข้อมูล/ข่าวสาร/ความรู้ ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumptions) และที่มาของข้อมูล/ข่าวสาร/ความรู้เหล่านั้น มีการพิจารณาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ข้อสรุปและการนำไปประยุกต์ใช้ ผ่านการอภิปรายโต้แย้งด้วยเหตุผล อ้างอิงข้อมูลและทฤษฎีที่หลากหลาย ในประเด็นที่ศึกษา การคิดเชิงวิเคราะห์มีความสำคัญและจำเป็น ทั้งระหว่างครูกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด การศึกษาแบบนี้ให้ความสำคัญกับการคิดที่เป็นระบบ มีข้อมูล เป็นการคิดแบบเส้นตรง (Linear) เป็นส่วนใหญ่ จึงมีลักษณะที่เป็นกลไก (Mechanistic)

การศึกษาทั้งสองแบบเน้นเรื่องการอ่าน แต่แบบแรกอ่านเพื่อท่องจำ แบบที่สองอ่านเพื่อสำรวจตรวจสอบข้อมูล/ข่าวสารเพื่อการอภิปราย (Discussion) โต้แย้ง (Argument) แลกเปลี่ยน (Sharing) เพื่อเปรียบเทียบ (Comparison) เพื่อขัดแย้ง (Contrast) เพื่อหาข้อสรุป

ทั้งสองแบบเน้นเรื่องการฟัง แต่แบบแรกฟังเพื่อเข้าใจและจำตามที่ครูสอน แบบที่สองฟังเพื่อพิจารณา วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นที่ศึกษา แบบแรกไม่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ แบบที่สองให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นแบบแตกขยาย (Divergent Thinking) และเป็นเส้นตรง (Linear)

แบบแรกเน้นความร่วมมือ (Cooperative) ในลักษณะผู้เรียนให้ความร่วมมือกับผู้สอน แบบสองเน้นความร่วมมือแบบให้ความเห็นที่หลากหลาย

๓) การศึกษาที่เน้นประสบการณ์ (Experiential Learning) เป็นการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ผู้สอนเป็นผู้จัดประสบการณ์และทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่เรียนโดยเชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน ประสบการณ์ตรงจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งในแง่อารมณ์ ความคิด จิตใจ และความรู้

แบบที่สามต่างจากแบบแรกและแบบที่สอง ที่การให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรง การเผชิญกับสถานการณ์จริงหรือสถานการณ์จำลองที่เหมือนจริง จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบองค์รวมได้มากกว่า

๔) การศึกษาที่เน้นการบูรณาการ เป็นการศึกษาที่ผสานศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่แยกเป็นศาสตร์เฉพาะหรือรายวิชาเดี่ยวๆ แนวปฏิบัติหนึ่งที่ใช้กันอยู่คือการศึกษาที่เน้นปัญหาเป็นฐาน (Problem Based) คือมีโจทย์ปัญหา โครงการหรือกิจกรรมเป็นตัวตั้ง แล้วนำความรู้และทักษะจากศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน

๕) จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้และการเรียนรู้มิติ/โลกด้านใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิตและโลก) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย (การนิ่งสงบอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา self and group reflection, Dialogue, deep listening, journaling, กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี...ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนา) มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental) อย่างลึกซึ้ง (Profound) ทางความคิดและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเองและโลก ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

จิตตปัญญาศึกษาเหมือนกับการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ ตรงที่ต่างก็เน้นประสบการณ์ตรง แต่จิตตปัญญาศึกษาเน้นประสบการณ์ตรงภายในเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก

จิตตปัญญาศึกษาเหมือนกับการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ตรงที่มีการให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ระหว่างกัน เพียงแต่จิตตปัญญาศึกษาเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายใน (tacit knowledge) ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพ ยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยตนเอง (self disclosure)

จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ภายในตน (Self Transformation) ภายในองค์กร (Organizational Transformation) และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Social Transformation) โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ แต่ เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง

โดยนัยนี้ จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ส่วนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เป็นเป้าหมาย

การพิจารณาว่า Transformative Learning เป็นเป้าหมาย หรือผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น มิใช่เป็นการจำกัดความหมายของ Transformative Learning แต่เป็นการเน้นความสัมพันธ์และความสำคัญของทั้งสองคำ เพราะจากการสำรวจวรรณคดีที่เกี่ยวข้อง พบว่าทั้งสองคำมีการอธิบายความหมายทั้งที่เป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ และเป้าหมาย โดยเฉพาะที่ประเทศไทย มีการใช้คำว่าจิตตปัญญาศึกษาในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกโดยเป็นชื่อศูนย์แห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล คือศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และต่อมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์

ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง และกำลังพัฒนาหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชาเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองคำคือ จิตตปัญญาศึกษา และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เริ่มใช้อย่างเป็นทางครั้งแรกในระบบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล การให้ความหมายในลักษณะที่กล่าวไว้ในตอนต้นจึงเป็นความพยายามจะสร้างความชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยไม่ต้องทิ้งคำหนึ่งคำใดไป เพราะทั้งสองคำต่างก็มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กัน จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพรักพี่เสียดายน้องหรือหนีเสือปะจระเข้

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความมุ่งมั่นต่อการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ ซึ่งอาจเรียกว่า “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบมหิดล” (Mahidol Learning Culture) ด้วยการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาที่มีเป้าหมายให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมาพัฒนาและใช้ภายใต้บริบทของมหิดล โดยได้กำหนดให้เรื่อง Transformative Learning เป็นนโยบายหลักประการหนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) ด้าน Teaching and Learning Excellence ของมหาวิทยาลัย และหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบแรกของไทย เป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน (Wisdom of the Land) เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอ้างอิง ด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home