โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๒
ปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่เรามักคิดถึงการเริ่มต้นสร้างสรรค์ความดีงามบางอย่างในชีวิต ฉันก็เช่นกัน ปีใหม่นี้ฉันมีเวลาได้ใคร่ครวญตนแทนการสังสรรค์เช่นปีผ่านๆ มา ปีที่แล้วมีเรื่องราวมากมายที่ไหลบ่าเข้ามา หลายเรื่องราวสะกิดเตือนผู้คนถึงความยากที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ก่อเกิดแรงบันดาลใจอันลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ในความรับรู้ที่มี
“จะนำพาผู้คนสู่วิถีแห่งความสุขและการวิวัฒน์ของจิตวิญญาณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยช่องทางที่กว้างขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น” ฉันบอกกับตนเอง
งานแรกของปีเริ่มต้นขึ้นด้วยความตื่นเต้น แม้จะทำกระบวนการมามากเท่าไรก็ตาม ฉันกลับรู้สึกว่าแต่ละงานนับแต่นี้ จะพิเศษกว่าที่ทำผ่านมาและมีบางอย่างคอยท่าฉันอยู่ บางอย่างที่เป็นการเติมเต็มแก่จิตวิญญาณฉันเอง มิตรที่ฝึกตนมาด้วยกันยังแซวบ่อยๆ ว่า ... “โดนแน่ เตรียมใจไว้ได้เลย” ... แล้วก็โดนจริงๆ
ประเดิมกับงานแรก เป็นการจัดกระบวนการให้กับครูอาจารย์จากทั่วประเทศเกือบสองร้อยคน งานนี้หินทั้งในมุมของปริมาณผู้เข้าร่วมที่จำนวนมากยากแก่การเข้าถึงถ้วนทั่วแล้ว การทำกระบวนการเรียนรู้ให้คนอาชีพครูนี่ไม่ง่ายเลย คนจัดงานถึงกับออกตัวบอกกล่าวไว้ก่อนงานเริ่มว่า ... “พวกครูอาจเข้าร่วมไม่ครบนะ” เพราะเป็นอย่างนี้ทุกปีที่จัดงาน ฉันรับทราบพร้อมบอกกับตนเองว่า เราจะดูแลคนที่เข้าร่วมให้ดีที่สุด บอกทีมและตนเองให้เตรียมชุดที่เรียบร้อยที่สุด และสุภาพที่สุดสำหรับงานนี้ ฉันอยากให้เราช่วยกันดูแลผู้คน งานนี้ฉันขุดกระโปรงที่ดูมีอายุ สีขรึมออกงานทุกวันเลย แต่แค่เริ่มวันแรก พอพิธีเปิดงานจบลง เราก็เหลือครูอยู่เข้าร่วมประมาณร้อยกว่าคนนิดๆ ส่วนตัวแล้วฉันไม่ได้คิดเรื่องนี้เลยในตอนแรก เพราะพยายามหล่อเลี้ยงตนเองให้เป็นปกติในการดำเนินกิจกรรม
แม้จะสังเกตเห็นอยู่ว่า มีครูแวบหายเป็นช่วงๆ แต่ฉันและทีมงานก็เห็นพ้องกันว่า กิจกรรมได้รับความสนใจดีจากผู้ที่อยู่ร่วม มีครูหลายคนเข้ามาสอบถามเพิ่มเติม วันที่สองเนื้อหาเข้มข้นขึ้น เริ่มมีเรื่องที่ไปสะกิดตัวตนของผู้คน ฉันเริ่มเห็นว่าคล้ายเป็นราวกระแสน้ำใต้ดินที่รอโอกาสปะทุ ฉันจึงเตรียมไว้ว่า คืนนี้จะเปิดพื้นที่สำหรับคำถามเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ตลอดจนความติดขัดใดๆ ถ้ามี
แต่ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่เตรียมไว้ ระเบิดก็แตกก่อนเวลาที่คิด นั่นแปลว่ามันไม่ใช่ระเบิดที่เราเตรียม มีการติดต่อขอใช้เวลาประชุมครูครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มกระบวนการเรียนรู้โดยครูในกลุ่มนั่นเอง ผ่านไปห้าสิบนาที คนจัดงานเริ่มกระสับกระส่ายมาถามฉันว่า จะเอาอย่างไรดีดูท่าจะไม่จบง่ายๆ และดูรุนแรงกันขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
ฉันขอเข้าไปดูก่อนจะตัดสินใจ พอเข้าไป ภาพแรกที่เห็นทำให้ฉันไม่แปลกใจเลยที่การประชุมนี้ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงง่ายๆ คนบนเวทีก็พูดไปเรื่อย เธอพยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งประธานครูและคณะทำงาน ผ่านการเล่าว่าโปรเจ็คห้าสิบล้านที่ได้เงินมาบอกให้ทำอะไรบ้าง ส่วนคนฟังก็จับกลุ่มหันมาคุยกันเองราวสิบกลุ่ม ทุกกลุ่มเสียงดังแข่งกับไมค์บนเวที มีคนลุกออกเดินผ่านที่ฉันยืนอยู่ ส่ายหัวให้ บ่นปวดหัว บ้างถึงกับเดินมายุฉันให้ยึดเวทีเลย การฟังอย่างลึกซึ้งที่จัดกระบวนการไปแสดงผลชัดแจ้งอย่างน่าใจหาย หลายคนที่ไม่คุ้นหน้าในกระบวนการอบรม ก็มาปรากฏตัวตอนนี้ด้วย แปลกไหมล่ะ ทีมจัดการเข้าไปกระซิบคนบนเวทีขอให้ยุติชั่วคราว คนบนเวทีเลยหันมาถามคนฟังว่า เราจะเลือกกันเลยดีไหม มีคนยกมือขอพูด เขาชี้แจงว่า ในเมื่อยังไม่เข้าใจบทบาทที่มานี่เลยว่าต้องทำอะไร เพราะมีครูใหม่ที่ไม่เคยมาร่วมเยอะ แล้วจะให้เลือกได้อย่างไร มีคนยกมือพูดสนับสนุนคนที่เพิ่งพูดไปอีกสองคนด้วยสำนวนเผ็ดร้อนราวกับอยู่ในสภาก็ไม่ปาน นี่ยังไม่รวมพวกที่ไม่รอไมค์ ที่ตะโกนพูดใส่ ประชดประชันกัน สุดท้ายผู้จัดก็ยึดไมค์ได้สำเร็จ แล้วเชิญให้ฉันดำเนินกระบวนการต่อ
ถึงตอนนี้ฉันขอให้ทุกคนมารวมกัน และเงียบรอเสียงสุดท้ายที่คุยกับคนข้างๆ จะเงียบลง มีหลายคนออกไปโจ้กันต่อนอกห้องประชุม ความเงียบกลับมาปกคลุมห้องอีกครั้ง ฉันแสดงความคิดเห็น ชวนให้สังเกตว่าเมื่อครู่เราพูดคุยกันอย่างไร การสนทนาที่ล้มเหลวเกิดเพราะอะไร จากนั้นก็บอกเล่าว่า ฉันเตรียมอะไรไว้สำหรับคืนนี้ “คำถาม” ที่ไม่เกี่ยวกับการประชุมเมื่อครู่ แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ แต่น้ำก็เชี่ยวเกินจะขวางกั้น คำถามที่ฉันรอฟังมีเพียงการแสดงความคิดเห็นต่องาน คำตำหนิ ตัดพ้อ วิจารณ์ คนจัดงาน ตัวฉันและกระบวนการเรียนรู้โดยคนที่คุกรุ่นจากการประชุมเมื่อครู่
ทำไมไม่มีการชี้แจงเรื่องบทบาทหน้าที่ของครูที่มา ไม่ให้รายละเอียดกระบวนการก่อน วิทยากรแต่งตัวไม่ให้เกียรติไม่เรียบร้อย กิจกรรมเหมาะกับคนเข้าวัดไม่เหมาะกับงาน ให้นอนกลางวันเป็นเด็กอนุบาล ฯลฯ ฉันพยายามฟังทั้งหมด อธิบายกลับไปได้บ้าง แต่ประโยคเก่าก็ยังถูกวนพูดซ้ำ มีอีกกลุ่มที่พยายามยกมือพูดด้วยอาการโกรธเคืองคนที่ต่อว่าฉัน ก่อนที่จะเกิดจลาจลไปมากกว่านี้ ฉันจึงกล่าวขอโทษ และขอจบ รวมทั้งขอตัวด้วย มีคนตะโกนขอร้องฉัน พยายามบอกว่าฉันไม่ผิด อย่าไปฟังพวกนั้น ฉันขอบคุณพวกเขา แต่เลือกที่จะออกไปก่อน คืนนั้นมีคนห่วงความรู้สึกฉันมาก หลายคนพยายามเข้ามาดูแล แต่ฉันอยากอยู่คนเดียว
ฉันยอมรับกับตนเองที่หน้ากระจก บอกกับภาพสะท้อนของตัวเองว่า ฉันโกรธ เสียใจ และรู้สึกดีที่มีคนเข้าข้างฉัน คนสองคนนั้นพูดคำว่าเคารพชื่นชมบางเรื่องของฉัน ก่อนการวิจารณ์ที่ดูเป็นถ้อยคำที่รู้สึกถึงการดูแคลน แทนการจมจ่อมกับความเศร้า ฉันถามตัวเองว่า ในเมื่ออะไรเกิดขึ้นแปลว่าดีเสมอ แล้วครั้งนี้ล่ะ อะไรที่ดีสำหรับฉัน ฉันหยิบหินที่ครูของฉันมอบให้แทนพลังแห่งคุรุมากำไว้ เสียงจากห้วงคำนึงสะท้อนขึ้นภายใน “แรงเสียดทานแค่นี้รับไม่ไหว แล้วจะทำการใหญ่ได้อย่างไร” ฉันยิ้มกับตัวเอง น้ำตาร่วง พูดกับตัวเองซ้ำๆ “เข้าใจแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ... เข้าใจแล้ว” ช่วงนั้นเองที่ความสงบประหลาดแล่นผ่านตัว
เช้าวันต่อมา มีเพียงคำว่าพร้อมในหัวใจ คนจัดถามว่าฉันจะทำต่อไหม ฉันตอบรับ และขอให้เขาเปิดการชี้แจงเรื่องบทบาทหน้าที่ของครูกับงานเอกสารที่ครูกังวลก่อน จากนั้นฉันเปิดวงถาม-ตอบอีกครั้ง หลายคำถามโยงสู่ความต่างระหว่างพวกเขากับเด็ก หรือครูด้วยกัน
ฉันบอกพวกเขาว่า “เราไม่อาจสร้างกฎกติกาใดมาควบคุมให้เราเหมือนกัน มันเป็นธรรมชาติของเราเอง หากเราไม่ทำงานกับการเปิดกว้างภายในของเราเอง ที่จะยอมรับกับความต่างที่เกิดขึ้น จะมีใครเชื่อบ้างว่าชุดแต่ละชุดที่ใส่ตลอดงานนี้ ดิฉันได้เตรียมมาอย่างดี ให้ดูเรียบร้อยที่สุด ดูสิแค่คำว่าเรียบร้อยของเราก็ต่างกันแล้ว และไม่ใช่เรื่องถูกผิด เพียงแต่เราจะอนุญาตให้เราอยู่ร่วมกับความแตกต่างได้อย่างไร เรื่องเสื้อผ้านี่ยังเล็กนะคะ ต่างทางความคิดความรู้สึกยิ่งซับซ้อน นี่เรากำลังพูดถึงสังคม การเมือง โลกเลยนะคะ ความขัดแย้งมากมายเพียงเพราะเราต่างกัน”
ฉันยังขอบคุณเรื่องเมื่อคืนที่ช่วยให้ฉันได้ทำงานกับตนเอง ฉันเล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังว่าฉันคุยกับตัวเองอย่างไร
ในเวลาสั้นๆ กลับผูกพันคนในทีมงานได้เท่านี้ ปัญหามันดีตรงนี้แหละ มันทำให้เราใกล้กันมากขึ้น ความกลัว ความกังวล ช่วยให้เราได้สัมผัสความเปราะบางในกันและกัน เพราะยิ่งเห็นความเปราะบางของเพื่อนมากเท่าไร ยิ่งพบความแกร่งในเขามากเท่านั้น
Labels: ธนัญธร เปรมใจชื่น