โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒
หลังจากโปรแกรมเมอร์หนุ่มอายุสามสิบเจ็ดปีทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันมาหลายเดือน เขาก็เขียนโค้ดบรรทัดสุดท้ายเสร็จ ลุกออกจากโต๊ะทำงานเพื่อพักสายตา เดินผ่อนคลายไปมา ร่างก็ล้มลง แน่นิ่ง หัวใจวาย เวลาที่เขาเสียชีวิตห่างจากเวลาเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไม่ถึงสิบนาที
โปรแกรมเมอร์อีกคน อายุสามสิบแปด วิถีชีวิตในการทำงานไม่ต่างจากคนแรก เพิ่งเดินออกมาจากห้องประชุม แน่นหน้าอก อาเจียน ถูกนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตหลังจากนั้น
ที่ปรึกษาวัยสามสิบเก้า หลังจากปิดโครงการที่ทำติดต่อกันมาหลายปี เขากะจะพักยาวสักครึ่งปี หลังจากโทรศัพท์มาลางานเพราะรู้สึกไม่สบาย ก่อนเที่ยงวันนั้นที่ทำงานได้รับโทรศัพท์จากแม่ของชายหนุ่ม เขาหลับไม่ตื่น แม่ขึ้นไปปลุกก็พบว่าลูกชายมือเขียว ตัวเขียว คาดว่าเส้นเลือดตีบขณะนอน
เชื่อไหม ทั้งสามคนอยู่ในองค์กรเดียวกัน?
แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในที่ทำงานแห่งเดียวเท่านั้น
บริษัทด้านโทรคมนาคมอีกแห่ง หญิงสาววัยสามสิบห้ากำลังจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสร้างผลงาน เพื่อนฝูงไม่ค่อยได้เจอหน้าเหมือนเคย ทราบข่าวทีไร เธอเพิ่งออกจากโรงพยาบาลทุกที ทำงานจนป่วย ป่วยแล้วเข้าโรงพยาบาล เข้าโรงพยาบาลก็ไม่กล้าบอกเพื่อน เพราะกลัวถูกตำหนิ ถูกห้ามไม่ให้ทำงานหนัก
ที่โรงงานอีกแห่ง วิศวกรหนุ่มผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงงานมาแต่แรกหลังจากเรียนจบหมาดๆ จนกระทั่งเป็นพ่อของลูกสามคน และจากโรงงานแห่งเดียวขยายเป็นสามแห่ง ขณะนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ อายุยังไม่ถึงสี่สิบปี หมดสิทธิ์ทำงานหนัก และต้องงดทั้งชา กาแฟ และน้ำอมฤตทั้งหลาย
เอ็นจีโอสาวอายุเลยเบญจเพสไม่เท่าไหร่ มีโอกาสไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศสองสัปดาห์ เธอได้อยู่นานกว่ากำหนด เพราะล้มป่วยเนื่องจากการหักโหมงานหนักก่อนเดินทาง และต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง
คนหนุ่มคนสาวในวัยทำงานยุคนี้ กำลังทำงานหรือฆ่าตัวตาย?
กัลยาณมิตรท่านหนึ่งขยายความว่า ผู้คนทำงานหนักก็เพราะต้องการประสบความสำเร็จ และเข้าใจว่าความสำเร็จเป็นความสุข
แต่ในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ความสุขอันเกิดจากการประสบความสำเร็จมันจะมีได้สักกี่ครั้งกัน? เรียนจบ รับปริญญา แต่งงาน เลื่อนตำแหน่ง ปิดโครงการ – ความสุขที่เกิดจากความสำเร็จใหญ่-ใหญ่ เหล่านี้ จะมีได้สักกี่หนในชีวิต?
กัลยาณมิตรท่านเดิมตั้งคำถามว่า แล้วถ้าเราตาย เนื่องจากทำงานหนัก อุทิศชีวิตเพื่องานจนตาย เราได้รับอะไรตอบแทนบ้าง?
ที่เห็นกันชัด-ชัด ที่ทำงานเป็นเจ้าภาพงานศพให้อย่างน้อยหนึ่งคืน ได้พวงหรีด ผู้คนกล่าวคำไว้อาลัย – มันก็เท่านั้นเอง
ครูบาอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า “ปรกติแล้ว มนุษย์ย่อมไม่ปรารถนาความทุกข์ เขาหรือเธอย่อมปรารถนาความสุข”
หากเราต้องการความสุขแล้ว การประสบความสำเร็จและหรือการทำงานหนักอาจจะไม่ใช่หนทางก็ได้ ความสุขเล็ก-เล็ก น้อย-น้อย ย่อมเป็นสิ่งที่ประสบพบเจอได้ง่ายกว่า และมีปริมาณมากกว่า - ไม่ใช่ล่ะหรือ?
ความสุขจากการได้ประกอบสัมมาชีพ การเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมงาน การดูแลครอบครัวทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กน้อย วัยรุ่นที่กำลังโต การอยู่ในที่ที่มีอากาศดี การที่สามารถมองเห็นต้นไม้ดอกไม้และธรรมชาติรอบตัว การที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และ – เชื่อว่าพวกเราแต่ละคนคงเขียนรายการความสุขเล็ก-เล็ก น้อย-น้อยในชีวิตได้มากกว่าหนึ่งหน้ากระดาษอย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่ทำงานหนัก เอาจริงเอาจังกับการงานนั้น จำเป็นต้องหยุดพักหาเวลาคิดใคร่ครวญตั้งคำถามกับตนเอง ว่าความสุขของตนเองคืออะไร? การอุทิศตนเพื่อการงานนั้นเป็นไปเพื่ออะไร? ทำงานสำเร็จแต่ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานเกือบทุกคนเรียกว่าประสบความสำเร็จไหม? การทำงานของเรานั้นแท้จริงแล้วรับใช้ใครหรืออะไร? เป้าหมายของชีวิตคืออะไร? เรากำลังอยู่บนหนทางหรือไม่?
บางคนมีโลภะมาก เห็นงานโน้นงานนี้น่าทำไปหมด และอยากจะทำไปเสียทุกอย่าง หากนั่งจิบชานิ่ง-นิ่ง พิจารณาให้ดี งานดี-ดีเดี๋ยวก็จะมีคนมาทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเราก็ได้ และต้องมีมุทิตาจิตให้มากเมื่อเห็นคนอื่นทำดีหรือความดี เพราะโลกหรือสังคมจะดีขึ้นได้ก็เพราะมีคนทำดีหรือความดีมากขึ้น ไม่ใช่เราเก่งและดีอยู่คนเดียว
นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ “เวลาเห็นคนอื่นทำงาน มันก็มีผลอยู่สามประการเท่านั้นเอง คือ เลวกว่าเรา ดีเท่าเรา และดีกว่าเรา” – ไม่เห็นจะต้องคิดวุ่นวาย และตะเกียกตะกายพาตนเองไปสู่การทำงานหนักจนตาย
ครูบาอาจารย์ท่านเดิมนี้แหละที่กล่าวว่า “เป้าหมายชีวิตของผมก็คือการทำให้ผู้คนเป็นกัลยาณมิตรกัน”
สอดคล้องกับครูบาอาจารย์อีกท่าน “เราไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด หากเห็นใครทำดี ควรเข้าไปสนับสนุน สิ่งดี-ดีจึงจะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน เราก็ไม่ต้องทำงานมาก แต่ทำงานน้อย-น้อย ให้ได้ผลเยอะ-เยอะ”
ชีวิตเป็นสนามจริงเสมอ หากนำกระบวนการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเข้ามาสู่วิถีแห่งการงานได้ ความหมายแห่งการทำงานหนักจะเปลี่ยนแปลงไปในทันที
Labels: ชลนภา อนุกูล