โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒
จริงๆ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองมาซักพักว่าทำไมช่วงหลังๆ จึงมีอารมณ์แปรปรวนและควบคุมได้ยากนัก เรื่องแปรปรวนอาจจะปกติเป็นส่วนหนึ่งของนิสัย แต่เดี๋ยวนี้หงุดหงิดที มีหมาวิ่งออกไปเป็นฝูง ทั้งออกจากปากและสีหน้า อะไรก็ไม่ดี อะไรก็ไม่พอใจ และต้องให้คนๆ นั้น เขารับรู้โดยไม่อ้อมค้อมว่าเราไม่พอใจนะ เหมือนกลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่พัฒนาเรื่องของเหตุและผล และที่สำคัญเรื่องมารยาทในการเข้าสังคม
นึกย้อนไปตอนทำงานที่อาศรมศิลป์ก็มีหงุดหงิดฟาดหัวฟาดหางบ้าง แต่มักไม่ถึงขั้นชั่วร้ายขนาดจงใจประทุษร้ายคนอื่นให้เจ็บช้ำน้ำใจอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทำไมตอนนั้นควบคุมอารมณ์ได้ และทำไมตอนนี้ไม่ได้
นอนคิดอยู่เมื่อคืนหลังผ่านอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าละอายไปเมื่อช่วงเย็น ก็ถึงบางอ้อ
ขอเล่าที่มาที่ไปของตัวเองสักเล็กน้อย
เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว ตามสไตล์ก็คือถูกเลี้ยงดูอย่างดี ตามใจเล็กน้อยถึงมากที่สุด มีคนให้กำลังใจมากมาย โตมาก็ไปเรียนเมืองนอก ซึมซับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่สนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้ และด้วยปัจจัยอื่นอีกมากมาย รวมทั้งนิสัยส่วนตัว (temperament) ทำให้ตัวเองเติบโตมาด้วยความมั่นใจว่า “กูแน่กว่าใคร” ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ ... มันมีผลพลอยได้ที่ตามมาด้วยอย่างไม่รู้ตัว
เพิ่งมาสังเกตตอนเริ่มทำงานว่า การจะก้มหัวให้ใครกลายเป็นเรื่องยาก การน้อมใจไปรับฟังแง่คิด มุมมองของคนหลายๆ คนกลายเป็นเรื่องที่ต้องฝึกและฝืนอย่างมาก จนแม่ยังแซวว่า แม่ไม่กล้าจะแนะนำอะไรเราแล้ว เพราะแนะนำไปเราก็ไม่รับฟัง แต่อยู่ในสังคมไทยไปสักพัก เราก็เริ่มโอนอ่อนผ่อนตาม ค่อยๆ ปรับตัวไปกับวิถีไทยๆ โดนคนรอบข้างสั่งสอนบ้าง และเมื่อรู้จุดอ่อนของตัวเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ตัวเอง เป็นสติเตือนใจกันไป
แต่มาพักหลัง เจ้าวายร้ายตัวเดิมก็เริ่มเผยโฉมให้เห็นบ่อยขึ้น เราห่างเหินจากการดูจิตของเรามากไปหรือเปล่า เราเครียดกับการทำงานมากไปหรือเปล่า มามองดีๆ ก็เริ่มเห็นสาเหตุ เราก้มหัวให้เฉพาะบางคนที่เราเลือกแล้ว คือ คนที่เราเคารพนับถือ คนที่เรามองว่าเป็นครูบาอาจารย์ คนที่มีคุณค่าที่เราชมชอบ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของเรา และเราไม่ก้มหัวให้กับใครอีกหลายๆ คน คือ คนที่เราตัดสินไปแล้วว่าขาดคุณสมบัติที่น่าเคารพ คนที่เราไม่ชอบขี้หน้า คนที่เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ชีวิต มุมมองต่อโลก ฯลฯ เราถือเอาความคิดความรู้สึกตัวเองเป็นใหญ่ ใหญ่จนมันมาบดบังความจริงที่ว่า ทุกคนก็เป็นคนเหมือนเรา
คิดแล้วก็อดนึกถึงคำพูดของ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ไม่ได้ ท่านเคยสอนไว้ว่า “คนเห็นคนเป็นคน นั่นแหละคน” ฟังดูเหมือนปรัชญาลึกล้ำที่ต้องการคำอธิบายอีก 3 หน้ากระดาษ แต่เมื่อได้มาเจอกับตัวเอง มีประสบการณ์ตรงแล้ว คำอธิบายใดๆ ก็หมดความจำเป็นไป (นั่นไงเห็นไหม เวลาอ้างอิงก็ต้องอ้างอิงครูบาอาจารย์ระดับสูง)
เมื่อรู้ความจริงข้อนี้แล้วอย่างไงต่อ?
ตอนนี้ก็คือ ปรับตัวอีกครั้ง หลายครั้งรู้สึกงี่เง่ามากๆ ที่เหมือนกับต้องมาเริ่มต้นฝึกสติใหม่ มาพัฒนาความไวของสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ (ไวกว่าหมาอารมณ์ร้อนที่พร้อมจะวิ่งกระโจนทันทีเมื่อประตูกรงเปิดออก) มาเริ่มเรียนรู้และยอมรับจิตใจตัวเอง แต่บอกตัวเองว่า การเริ่มต้นใหม่คือเคล็ดลับของนักปฏิบัติที่ดี จริงๆ ทุกวัน ทุกนาที ทุกวินาที เราก็เริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ
หลายครั้งเราล้มเลิกความตั้งใจที่จะเริ่มต้นใหม่ด้วยเหตุผล (ที่ไร้เหตุผล) เพียงแค่ว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งที่เราทำ เราเคยพูดจาร้ายๆ กับคนอื่น ส่งหน้าบึ้งหน้าบูดให้เขาดูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้ววันดีคืนดีจะมาส่งยิ้มให้เขาวันละสามเวลา พูดจาด้วยภาษาดอกไม้ได้อย่างไร เขาคงไม่เชื่อเราหรอก
แต่ความเป็นจริงที่หลายๆ คนอาจเคยเจอมาแล้วคือ คนอื่นเขาไม่ได้รู้สึกอย่างที่เราคิด (ไปเองคนเดียว) เมื่อมีคนทำดีกับเรา เราก็มักจะดีตอบโดยธรรมชาติ ใครๆ ก็อยากเห็นรอยยิ้มมากกว่าหน้าบูดๆ อยากได้ยินคำชื่นชมและคำแนะนำ มากกว่าคำต่อว่าก่นด่า ตำหนิติเตียน (ที่ไร้เหตุผล)
หากจะลองมองให้กว้างขึ้นสู่ระดับสังคม และลึกลงไปถึงระดับจิตสำนึก สิ่งที่ผู้เขียนพยายามทำอยู่นั้น คือ การรู้จักเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีขันติต่อความแตกต่างที่ไม่ถูกใจเรา (ภาษาอังกฤษมักนิยมใช้คำว่า “tolerate” แต่โดยส่วนตัว รู้สึกว่าใกล้เคียงกับคำว่า “ทน” มากกว่า คำว่า “ขันติ” ซึ่งหมายถึง การยอมรับและอยู่ร่วมด้วยอย่างเป็นสุข) ซึ่งก็คือพื้นฐานของการที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างสันติ-สุข สุขทั้งกายและใจ
สังคมไทยเคยเป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยขันติธรรม (ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่) ที่พูดอย่างนี้ได้เต็มปากเต็มคำเพราะผู้เขียนเคยเป็นคนที่ไร้ขันติอย่างมาก แต่เมื่อต้องกลับมาอยู่เมืองไทยก็พบว่าการมีขันติเป็นเสมือนกาวสังคมที่หล่อเลี้ยงให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข (จนฝรั่งต้องอิจฉา) เป็นสิ่งหนึ่งที่คนในสังคมได้สั่งสม เรียนรู้กันมา เป็นวัฒนธรรมไทยๆ ที่ต่างชาติไม่เคยเข้าใจ เราอยู่ได้กับทุกคน เรายอมรับทุกคน แม้บางคนเราจะไม่ชอบขี้หน้า แต่เราก็บอกว่า “ไม่เป็นไร” (“พอทนได้ ลืมเสียเถิด” ดังคำสอนของท่านชยสาโรภิกขุ)
สำหรับผู้เขียนแล้ว ขันติธรรม หรือ การที่เราจะสามารถน้อมใจยอมรับสิ่งที่ขัดกับตัวตนของเราได้นี้ เป็นเครื่องมือชั้นเลิศในการลับเหลี่ยมคนจำพวก “แพ้ไม่เป็น ผิดไม่ได้” อย่างผู้เขียน
เดี๋ยวนี้เวลาผู้เขียนไปไหนก็ระมัดระวังใจของตัวเองมากขึ้น พยายามมองจากมุมที่แตกต่างของคนอื่น และในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมว่าเขาก็มีความคิดความรู้สึก มีสุข มีทุกข์ ไม่ต่างจากเรา จากที่เคยเถียงอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้คนอื่นคิดอย่างเรา ก็เปลี่ยนมานิ่งเฉยบ้าง ยิ้มบ้าง จากที่เคยไม่พอใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องเจอเวลาอยู่กับคนหมู่มาก ก็ปรับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันซีเรียสขนาดนั้นเชียวหรือ เวลาเจอพฤติกรรมของลูกน้องที่ไม่ถูกใจก็จะถามตัวเองก่อนว่า เราเองก็เคยทำอย่างนั้นไม่ใช่หรือ
ในบางครั้งที่ห้ามไม่ทัน คุมไม่อยู่ ระเบิดอารมณ์ออกไปอย่างไม่ละอายแก่ใจ ก็จะสูดหายใจเข้าช้าๆ ผ่อนหายใจออกยาวๆ บอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไร พอทนได้ ลืมเสียเถิด” แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
Labels: กิติยา โสภณพนิช
ผมเป็นเหมือนหมูป่า ที่เวลาอิ่มๆ ก็จะเริงร่า เชื่องไม่ค่อยกัดใคร
ถ้าหิวเมื่อไหร่ แม้แต่ผู้เลี้ยงดูก็จะแว้งกัดแว้งขวิดเอาเสียง่ายๆ
เป็นคำสารภาพที่จริงใจ และมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติของนักปฏิบัติทุกคนมากครับ