โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒

กลางกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีโอกาสได้แบกเป้ เดินเท้า เข้าป่าที่บ้านสบลาน มหาวิทยาลัยชีวิตของชาวปกากะญอ โดยมีเพื่อนร่วมทางรวมสามสิบชีวิตพอดี มีทั้งที่เคยและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผู้เขียนเริ่มต้นการเดินทางด้วยการตั้งจิตอธิษฐานว่า “ตลอดการเดินทางหกวันข้างหน้านี้จะทดลองเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติป่าเขาไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ที่เราคุ้นเคย ด้วยการเฝ้ามองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกอย่างเนิบช้ามีสติตื่นรู้ และใคร่ครวญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตามที่มันเป็น

ขณะที่รถสองแถวจากเชียงใหม่พาเรามุ่งหน้าตรงดิ่งไปอำเภอสะเมิงนั้น ไอร้อนของแดดยามเที่ยงพัดผ่านปะทะกับใบหน้า เนื้อตัวเป็นวูบๆ เหงื่อเริ่มซึมตามเนื้อตัว (อากาศช่วงนี้กลางวันร้อนจัดแต่กลางคืนกลับยังคงหนาวเหน็บ) รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวเท่าใดนัก โดยปรกติหากเลือกได้เราก็มักเลือกนั่งรถปรับอากาศซึ่งสะดวกสบายกว่ารถสองแถว เหมือนกับชีวิตคนทั่วไปซึ่งมักจะเลือกในสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็นไว้ก่อน หากเลือกไม่ได้เราก็ต้องฝืนยอม แต่ในชุมชนแถบนี้แทบไม่มีสิทธิ์ที่จะได้เลือกในสิ่งที่เขาต้องการเท่าใดนัก อย่างน้อยบนดอยนี้ก็ไม่มีรถปรับอากาศไว้ให้บริการเลย อากาศร้อนภายนอกน่ะไม่เท่าไหร่ แต่ใจที่กำลังร้อนรนนี่สิสำคัญกว่า ในฐานะทีมผู้จัดจึงเริ่มกังวลว่าเพื่อนๆ ร่วมเดินทางจะเป็นอย่างไรบ้างนะ ถนนหนทางจากตัวอำเภอสะเมิงขึ้นดอยสบลานเริ่มทำให้รถโขยกเขยก ฝุ่นแดงฟุ้งกระจายเข้ามาในรถ หลายคนเริ่มนำผ้าเช็ดหน้ามาปิดปากและจมูกกันฝุ่น กว่าจะถึงหมู่บ้านสบลานพวกเราก็เปลี่ยนเป็นคนไทยหัวแดงไปตามๆ กัน

วิถีชีวิตที่ไม่คุ้นเคยเริ่มต้นแล้ว เรามาถึงหมู่บ้านตอนบ่ายแก่ๆ ชาวบ้านออกมารอต้อนรับพาเราเข้าพักที่บ้าน เราแยกย้ายกันพักบ้านละสามคน หมู่บ้านนี้มีเพียงยี่สิบหลังคาเรือนประชากรรวมทั้งหมดประมาณเกือบร้อยคน ลักษณะของบ้านที่นี่จะโปร่งโล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนใหญ่ไม่มีห้องหับอย่างมากก็มีเพียงฟากไม้ไผ่ (ไม้ไผ่ที่ตีแตกออกเป็นแผ่น) ที่ใช้ทำเป็นผนังกั้นห้อง ไม่มีเตียงนอนมีแต่เสื่อ ส่วนไฟฟ้าหรือเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายคงไม่ต้องพูดถึง บางบ้านมีห้องส้วมแต่บางบ้านเจ้าของบ้านบอกกับเราว่า ส้วมมีอยู่ทุกที่ เพื่อนๆ หลายคนมองหน้ากันกึ่งถามในใจว่าเป็นอย่างไรกันบ้างพอไหวไหม??? พวกเราอาบน้ำกันที่ลำธารซึ่งเดินไปเพียงสิบนาทีจากหมู่บ้าน น้ำในลำธารนอกจากจะช่วยชำระร่างกายให้สะอาดแล้วยังช่วยให้ใจที่เหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในเมืองได้กลับมารู้สึกชุ่มชื่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก ถึงแม้ที่นี่จะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเหมือนในเมืองก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตลำบากจนเกินไปนัก แต่กลับทำให้ได้สัมผัสถึงธรรมชาติงดงามที่ห่างหายจากเรามานาน

แสงเทียนแห่งค่ำคืนแรกในหมู่บ้านนั้นช่างเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น ความจริงใจและมิตรภาพของชาวปกากะญอซึ่งหาได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน เราได้รับรู้รับฟังเรื่องราวชีวิตที่อ่อนน้อมถ่อมตนและเชื่อมโยงกับธรรมชาติสรรพสิ่งของชาวปกากะญอตั้งแต่เกิดจนตาย จากเรื่องเล่าที่เร้าพลังด้วยสรรพสำเนียงภาษาไทยปนภาษาพื้นถิ่นของพะตี่ตะแยะปราชญ์ชาวปกากะญอ (พะตี่ แปลว่าลุง) สลับเสียงด้วยปกากะญอท่านอื่นๆ และคำถามจากผู้ที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความสุขสนุกสนาน

มีช่วงหนึ่งที่ประทับใจผู้เขียนมาก พะตี่บอกว่า “ดวงดาวที่นี่อยู่บนท้องฟ้าเต็มไปหมด แต่ดาวที่กรุงเทพฯ อยู่บนพื้นดิน” ฟังแล้วเริ่มงงว่าเกิดอะไรขึ้น พะตี่เล่าต่อว่า “ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปกรุงเทพฯ คนที่พาไปก็ใจดีพาขี่เครื่องบินไป พอถึงกรุงเทพฯ เครื่องบินกำลังจะร่อนลง มองลงไปพื้นดินเห็นดาวระยิบระยับเต็มไปหมด พะตี่ก็ตกใจว่าทำไมดาวที่กรุงเทพฯ ไม่เหมือนกับดาวที่บนดอยบ้านเฮา” จริงสินะเราไม่ค่อยได้สังเกตเท่าไรนักว่าดวงไฟมากมายในเมืองมองไปก็คล้ายกับดวงดาวบนท้องฟ้าระยิบระยับเต็มไปหมด จะต่างกันก็เพียงแต่ดวงดาวบนท้องฟ้านั้นธรรมชาติสรรค์สร้างมาให้มีความงดงามเปล่งประกายทุกค่ำคืน อีกทั้งเป็นประโยชน์มากมายต่อสรรพชีวิตในจักรวาลนี้ แต่ดวงไฟในเมืองนั้นสิเป็นสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์เท่านั้น และกว่าจะได้ดวงไฟเหล่านั้นมาส่องสว่างก็ไม่รู้ว่าต้องทำลายสรรพชีวิตและธรรมชาติมากมายไปเท่าไร ยิ่งได้รับฟังเรื่องราวก็ยิ่งทำให้รู้สึกเคารพนับถือวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมิตรและเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งของคนบนดอย ถึงแม้เขาจะไม่มีวัตถุทรัพย์สินสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกมากมาย แต่เขาก็แสดงให้เราเห็นถึงความสุขแท้ที่เกิดจากความมั่นคงภายในเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกพอใจกับสิ่งที่มีที่เป็น เราสัมผัสรับรู้ได้จากแววตาและน้ำเสียงที่บอกเล่าให้เราฟัง

เช้าวันที่สองพอเราเดินเท้ามุ่งเข้าป่า ความสามารถในการสังเกตรายละเอียดรอบตัวก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น เดินผ่านผืนนาขั้นบันไดของชาวบ้านก็รู้สึกได้ถึงความงดงาม หากเป็นฤดูที่ข้าวออกรวงคงเหลืองอร่ามไปทั้งผืน กองขี้วัวสดๆ บนผืนนาที่ถูกเหยียบเป็นรอย คงเป็นรอยเท้าของเพื่อนที่เดินนำหน้าไม่ทันระวัง นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนเมืองที่ไม่ค่อยจะสังเกตสังกาสิ่งรอบกายเท่าใดนัก อาจจะมีผลมาจากการใช้ชีวิตที่รีบเร่งแข่งกับเวลาหรือบางครั้งแข่งกับอะไรก็มิอาจรู้ได้ เราก็ทำจนเป็นความคุ้นชินไปแล้วกระมัง ผู้เขียนเองสังเกตเห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาในแต่ละวันที่เดินออกจากบ้านนั้นแทบจะไม่ได้ใส่ใจมองสองข้างทางหรือสิ่งต่างๆ รอบๆ กายที่ผ่านไปเลย ใจเราจดจ่ออยู่กับที่หมายว่าเราจะไปให้ถึงโดยเร็วที่สุดได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเรื่องหนึ่งสำหรับชีวิตคนในเมือง ที่เราแทบไม่เคยได้ดื่มด่ำกับความงามตามธรรมชาติสองข้างทางที่เราเดินผ่านซึ่งยังคงมีอยู่ถึงแม้จะเหลืออยู่น้อยนิดก็ตามที

ลำน้ำแม่ขานไหลคู่ขนานตลอดเส้นทางที่เราเดิน เสียงน้ำแรงบ้าง เบาบางตามจังหวะเกาะแก่งที่น้ำไหลผ่าน บางช่วงก็ไหลเอื่อยๆ เนิบช้า หากชีวิตเราเป็นอย่างลำน้ำได้บ้างก็จะดีสินะ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ รู้จักแรงบ้าง เบาบ้างตามจังหวะที่ควรจะเป็น เมื่อมองย้อนกลับไปทบทวนชีวิตตัวเองที่วิ่งวุ่นทำโน่นทำนี่แข่งกับเวลา แข่งกับงานที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แสดงออกด้วยพฤติกรรมต่างๆ ที่กดดันทั้งตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอทั้งที่รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง หรือบางครั้งไม่มีอะไรจะต้องแข่งแต่ก็ยังลืมที่จะใช้ชีวิตเนิบช้าหรือลืมผ่อนคลายความตึงเครียดลงบ้าง

สิ่งแรกที่เห็นพะตี่ตะแยะทำเมื่อเราเดินถึงแม่ขานบริเวณที่เราจะใช้เป็นสถานที่พักค้างในอีกสี่คืนข้างหน้าก็คือ การนำอาหารบางส่วนใส่ใบไม้นำไปวางไว้บริเวณโคนไม้ใหญ่และพนมมือไหว้หลับตาสวดมนต์ พะตี่บอกว่า “เราจะมาอาศัยป่าอยู่ ต้องขอเจ้าป่าเจ้าเขาก่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะได้คุ้มครองให้พวกเราปลอดภัย” และทุกครั้งที่พะตี่หรือปกากะญอท่านอื่นๆ จะทำอะไรขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ในป่า เช่น จะตัดกระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำดื่ม จะถากเปลือกไม้ที่เป็นยาสมุนไพรมาต้มให้พวกเรากิน ออกไปหาปลาในลำน้ำ ฯลฯ เขาจะยกมือขึ้นไหว้ด้วยความเคารพทุกครั้ง การกระทำเหล่านี้แหละที่ตอกย้ำให้รู้สึกและสัมผัสได้ถึงจิตใจที่นุ่มนวลอ่อนน้อมถ่อมตนเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบๆ กายของชาวปกากะญอ

ระหว่างการใช้ชีวิตในป่ามีช่วงเวลาหนึ่ง (สองคืนกับหนึ่งวันเต็มๆ) ที่ต่างคนต่างออกไปแสวงหาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองเพื่อที่จะอยู่คนเดียวพร้อมกับอดอาหาร ขณะที่ธรรมชาติรอบกายภายนอกสงบนิ่งแต่ในใจผู้เขียนกลับปั่นป่วนวุ่นวาย บางครั้งก็รู้สึกเบื่อ เซ็ง เหงา ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่ก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าเฝ้าดูการกระเพื่อมขึ้นลงของจิตใจ จึงเห็นจิตใจปั่นป่วนจนแทบบ้าคลั่ง ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานซะเหลือเกิน บางขณะก็สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าลึกๆ แล้วเราเป็นคนขี้เหงาหรืออยู่กับตัวเองได้ยากใช่ไหม ซึ่งคงจะจริงและคงเป็นเพราะชีวิตที่ผ่านมาบ่อยครั้งพอมีเวลาว่างก็ต้องทำโน่นทำนี่จนรู้สึกว่ามีเรื่องที่ยุ่งๆ ตลอดเวลา บ่อยครั้งที่อยู่ท่ามกลางผู้คนที่ผ่านไปผ่านมามากมายในเมืองแต่ในใจกลับรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวอย่างบอกไม่ถูก บางครั้งพอกลับถึงห้องพักสิ่งแรกที่ทำก็คือเปิดทีวีหรือเปิดเพลงใช้เสียงเป็นเพื่อนหรือคุยโทรศัพท์ ทนอยู่กับความเงียบคนเดียวนานๆ ไม่ได้จิตใจมันร้อนรน การได้มาทดลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองครั้งนี้ก็เป็นเครื่องตอกย้ำอีกครั้งว่าที่ผ่านมาเราฝึกฝนที่จะอยู่กับตัวเองน้อยเกินไป เพียงแค่สองคืนกับหนึ่งวันเรายังทุรนทุรายได้ถึงขนาดนี้

ก่อนออกจากป่ากลับสู่เมืองตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้งว่า “เราจะเริ่มต้นเดินทางเรียนรู้ที่จะเฝ้ามองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ฝึกฝนที่จะอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ทดลองการใช้ชีวิตเนิบช้าท่ามกลางความเร่งรีบแข่งขันบนวิถีของคนเมือง การใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เราคุ้นเคยอย่างมีสติตื่นรู้” ระหว่างทางเดินกลับออกจากป่าแต่ละย่างก้าวที่รู้ตัวก็ตอกย้ำกับตัวเองอีกครั้งว่า “เส้นทางข้างหน้าคงไม่ราบเรียบนัก เมื่อใดก็ตามที่ผิดพลาดพลั้งเผลอจะขอน้อมรับ และจะขอเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่รู้ตัว”

หมายเหตุ : ประสบการณ์จากการเข้าร่วมเรียนรู้นิเวศภาวนา ระหว่างวันที่ ๑๗–๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย เสมสิกขาลัย

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home