โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒


ก่อนอ่านข้อเขียนนี้ ถ้าท่านไม่ศรัทธาว่ามนุษย์สามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ท่านจะอ่านงานนี้ด้วยความตะขิดตะขวงใจ

ขณะเดียวกัน ถ้าท่านได้มีข้อตัดสินไว้แล้วว่า ความเคลื่อนไหวและวิกฤตการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา เป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ท่านอาจกำลังจะตัดสินต่อไปว่า ผู้เขียนบทความนี้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เสื้อเหลือง หรือ เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน หรือฝ่ายรัฐบาล

ต่อไป ถ้าท่านไม่ชื่นชม วิธีการ “ฟัง” เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ท่านอาจตั้งคำถามสงสัยวิธีการของนักสันติวิธี ว่าใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้จริงหรือไม่

การอารัมภบทข้างต้นเหล่านี้ มิได้มีความปรารถนาจะเล่นสำนวนภาษาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะได้ตระหนักถึงสถานการณ์และสภาวะจิตของคนทั้งหลายหลังเหตุการณ์ “สงกรานต์แห่งความเสียใจ” ไม่ว่าผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นในทางใดก็จะถูกวิจารณ์ในทางลบจากฝ่ายที่ไม่ได้คิดอย่างเดียวกันทั้งสิ้น

ในความเป็นจริง เหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมาไม่มากก็น้อยเป็นความไม่สงบ ที่ “เขาว่า” ยังดำเนินอยู่ “ใต้ดิน” นั้น ได้ให้บทเรียนและย้ำเตือนความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงประเภทต่างๆ กล่าวคือ คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ความขัดแย้งและแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามระบอบประชาธิปไตย หลายกรณีของความขัดแย้งที่แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงนั้น มีสาเหตุจากความรู้สึก “ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความอยุติธรรม” กรณีความขัดแย้งของพี่น้องชาวเสื้อแดงก็เช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจ “การปฏิบัติสองมาตรฐาน” ตามเหตุผลและสถานการณ์ที่เราท่านได้ยินตลอดระยะเวลานี้ ประเด็นของการเรียนรู้คือ ความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน อคติ ความเห็นแก่ตัว และความรุนแรง ตลอดจนถึงการแก้แค้นติดตามมาได้ นั่นคือความรุนแรงชนิดหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม ได้แก่ ความรุนแรงที่ต้องการปลดปล่อยความทุกข์จากการถูกเอาเปรียบ (Liberative Violence)

ความรุนแรงชนิดนี้ เรามักพบเห็นได้ในองค์กร ในที่ทำงาน ในครอบครัว ถ้ามีคนใดคนหนึ่งในที่ที่นั้น “มีความรู้สึก” ว่าตัวเองถูกเลือกปฎิบัติ ถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่ ถูกทำร้ายบางครั้งทางกาย ในหลายๆ ครั้ง ทั้งทางกายและทางใจ ติดต่อสืบเนื่องจนทนไม่ได้อีกต่อไป ความรุนแรงซึ่งตนเองอาจไม่ได้เป็นต้นเหตุโดยตรง แต่เป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์นั้นๆ เหยื่อนั้นเองก็สามารถตอบโต้ทำความรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากความไม่ไว้วางใจ อคติ และความโกรธ ได้ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นกรณีเด็กในสถานพินิจผู้อ่อนแอกว่าจะไม่ทนอีกต่อไป เมื่อถูกรุมทำร้ายจากเด็ก “ขาใหญ่” ลุกฮือขึ้นมารวมพวกกันต่อสู้กับกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่า

ในกรณีความขัดแย้งเสื้อแดง และเสื้อเหลืองก็เช่นกัน ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ควรเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิด

แต่เมื่อความรุนแรงได้ปรากฏขึ้นแล้ว ต่างฝ่ายก็จะมีเหตุผลสนับสนุนว่าฝ่ายตรงกันข้ามได้ใช้ความรุนแรง ทั้งฝ่ายเสื้อแดง และฝ่ายรัฐบาลโดยผ่านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร บทความนี้ไม่ได้มีหน้าที่จะชี้ หรือตัดสินความถูกผิดของฝ่ายใด แต่อยากนำเสนอ อารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะที่สืบเนื่องมาจากความรู้สึก “ไม่ได้รับความยุติธรรม” ที่อาจได้รับการมองอย่าง “ผู้ผิด” ในสายตาของคนทั่วไป

อย่างไรก็ตามอยากให้สังคมได้ตระหนักถึงความจริงประการหนึ่งของสันติวัฒนธรรม (Culture of Peace) ที่ว่าในการชุมนุมเรียกร้องแต่ละครั้ง ถึงแม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำผิด ทุกฝ่ายรับไม่ได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ทุกฝ่ายสามารถตำหนิ ความชั่วร้าย ความรุนแรง ที่เกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่าเราต้องคำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ของเขาเหล่านั้น ที่ไม่มีผู้ใดสมบูรณ์แบบในตัว แต่ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบนั้นก็ยังคงมีความดี มีความปราถนาดี ความตั้งใจดีปะปนอยู่ในความคิดของกลุ่มคนเหล่านั้นได้

กล่าวคือ กลุ่มคนที่ร่วมชุมนุมทั้งในเสื้อเหลืองและเสื้อแดง และฝ่ายรัฐบาลมองในภาพรวมอาจมีจุดหมายเดียวกัน คือทำเพื่อประเทศชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ในกลุ่มผู้ชุมนุมสีเดียวกันนั่นเอง ก็อาจมีเหตุผล หรือจุดหมายหรืออุดมการณ์และวิธีปฎิบัติต่างกันด้วย นั่นคือ การไม่ตัดสินการกระทำทั้งของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดแบบ “เหมารวม” พร้อมๆ กับ ไม่ตัดสินกฎกติกาและการกระทำของฝ่ายรัฐบาล แบบ “เหมารวม” ทั้งหมดว่า “ปฏิบัติสองมาตรฐาน” แต่พร้อมที่จะแยกส่วนดี ส่วนร้าย และสถานการณ์ บริบท และเหตุผลให้สอดคล้องกับความเป็นจริง การไม่เหมารวมเท่ากับมิได้ผลักให้ “ผู้บริสุทธิ์” บางคน บางกลุ่มที่รวมในกลุ่มใหญ่นั้น ให้กลายเป็นเหยื่อที่ได้รับความกดดัน และพร้อมที่จะระเบิดความรุนแรงออกมาอีกครั้งหนึ่ง

ที่กล่าวทั้งหมดนี้ นำไปสู่คำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ข้อสงสัยความไม่ไว้วางใจได้รับการอธิบายให้กระจ่างแจ้ง ในทุกกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กำลังสงสัยอยู่ “การทำความจริงให้ปรากฏ” เป็นอีกองค์ประกอบของการนำสันติวัฒนธรรมมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนั้น การสื่อสารโดยผ่านการฟังด้วยใจ ที่พร้อมจะเรียนรู้ถึงสาเหตุ เงื่อนไข ปัจจัย และความต้องการอย่างแท้จริงของทุกฝ่าย ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันและการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ความรู้สึกที่ตัดสินไว้ก่อนว่า “ช้าเกินไปแล้วที่จะพุดคุยกัน” หรือ “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูด และฟังกับผู้กระทำความรุนแรง” หรือ แม้แต่คำพุดที่ได้ยินว่า “เปล่าประโยชน์ ที่จะพูดคุยกับกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำคล้ายโจร” เหล่านี้เป็นท่าทีที่ไม่สร้างสรรค์ที่จะก่อให้เกิดการกลับคืนมาแก้ปัญหาร่วมกัน

ถึงแม้ว่าคำว่า “สมานฉันท์” “การประนีประนอม” และ “สันติวิธี” อาจแสลงหู หรือ “จึ๊ก”ในใจของใครหลายๆ คน แต่ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนาของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในหัวใจของผู้คนจึงจำเป็นต้องคิดต่อไปถึงคำว่า “ให้อภัย”

เช่นกัน การเรียกร้องให้อภัยซึ่งกันและกัน ดูเหมือนเป็นคำที่ขบขัน และดูว่าเป็นไปไม่ได้ ในสภาพความรุนแรงที่เพิ่งผ่านมา

มิใยที่จะรู้สึกขัดเขินที่จะเรียกร้องการให้อภัยทางการเมืองเท่านั้น สำหรับความขัดแย้งระหว่างบุคคล ก็ยากไม่น้อยที่จะหลุดปาก คำว่า ให้อภัยกันได้อย่างจริงใจ

ตามความเข้าใจ การให้อภัยก็มีพื้นฐานใกล้เคียงกับความพยายามที่ไม่ใช้ความรุนแรง กล่าวคือ การให้อภัยและสันติวิธี มิใช่เป็นเรื่องอุดมคติหรือความสมบูรณ์เลิศเลอของแต่ละบุคคล หากแต่เป็นกระบวนการที่เราสามารถสร้างให้เติบโต และฟูมฟักให้ค่อยๆ เกิดขึ้นในใจเราได้

อาจเริ่มจากการให้อภัยตัวเอง หรือกลุ่มของตัวเองให้ได้ก่อน นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เอ็ม ฮัลโลเวลส์ ได้กล่าวไว้ ในหนังสือ “กล้าให้อภัย” ที่แปลโดยคุณ วิรงรอง นิกูลกาญจน์ ว่า “การให้อภัยตนเองหมายถึงการที่คุณเลิกหวังว่าอดีตจะเปลี่ยนแปลงได้” เมื่อให้อภัยตนเองและกลุ่มของตนเองได้แล้ว ค่อยๆ คืบคลานไปเริ่มให้อภัยผู้อื่น ซึ่งหมายถึงเราต้องเลิกความไม่พอใจหรือความโกรธ และเราต้องไม่พยายามที่จะลืม หรือแก้ตัวให้กับคนใด หรือสิ่งใดที่เลวร้าย เราเพียงแต่ละทิ้งความโกรธและความไม่พอใจของตัวเราเอง (เท่านั้น)

ในท่ามกลางอารมณ์ ผิดหวัง เสียใจ ไม่สมประสงค์ของพี่น้องทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง (บางครั้งของบางคน) ความรู้สึกยอมรับต่อเสียงเรียกร้องให้อภัยซึ่งกันและกันก็คงทำได้ แต่ถ้าได้เข้าใจคำศัพท์ “อภัย” คือ การให้สิ่งที่ไม่เป็นภัย สิ่งนั้นอาจเป็นความเข้าใจ การให้กำลังใจ ความเห็นใจ การให้อภัยก็จะเกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่ การให้อภัยอาจไม่ใช่การยกโทษให้ (ดังนั้นจึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม) ความเข้าใจเหล่านี้อาจทำให้พวกเราผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางการให้อภัยได้บ้างไม่มากก็น้อย

ขอสติ ความสงบ และไม่ท้อแท้ใจกลับคืนมาสู่คนไทยที่รักทุกคน

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home