โดย กิติยา โสภณพนิช เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
--------------------------------
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสหนีไอแดดของเมืองกรุงไปพึ่งไอฝนกับชาวปกาเกอะญอ ที่หมู่บ้านสบลาน อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนใช้เวลา ๕ วัน ๕ คืน กินนอนและใช้ชีวิตอยู่กับป่าร่วมกับชาวปกาเกอะญอ ไฮไลต์ของการไปในครั้งนั้นคือการได้มีโอกาสไป "ปลีกวิเวก" คือการที่แต่ละคนจะเข้าไปปักเต็นท์อยู่ในป่าเพียงลำพัง งดการพูดจา และอดอาหาร เป็นเวลา ๑ วัน ๑ คืน เพื่อที่จะเปิดใจเรียนรู้จากธรรมชาติภายนอก และเปิดประตูจิตวิญญาณภายในตนเอง
หลังจากการปลีกวิเวกในครั้งนั้น พวกเราได้มีการตั้งวงสนทนาเพื่อถอดประสบการณ์ของแต่ละคน และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ผู้เขียนจึงอยากจะขอถือโอกาสใช้บทความนี้เป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ซึ่งอาจจะไม่นำเราไปสู่คำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา แต่อาจจะพาเราไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น
ในการปลีกวิเวกคราวนั้นพวกเราปักเต็นท์เรียงรายกันอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำ-แม่ลานเงิน เต็นท์แต่ละหลังตั้งอยู่ใกล้กันพอให้อุ่นใจ แต่ก็ไกลกันพอที่จะไม่รบกวนกัน ผู้เขียนเองเลือกปักเต็นท์อยู่บริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น หน้าเต็นท์หันไปหาแม่ลานเงิน น้ำสีดินแดงขุ่นๆ จากฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนไหลเอื่อยๆ บรรยากาศเงียบสงบ ผู้เขียนแอบภูมิใจกับสถานที่ตั้งเต็นท์นี้อยู่ไม่น้อย และอาจจะภูมิใจเสียจนลืมสังเกตเห็นมดตัวดำๆ ที่เริ่มทยอยกันมาสำรวจเต็นท์สีเหลืองสะท้อนแสงไป
การปลีกวิเวกจึงเริ่มต้นด้วยการไล่ ตบ ตี ปัด เป่า เขี่ย และ(คง)ฆ่า มดดำที่มารบกวนเต็นท์ของผู้เขียน แป้งที่โรยไว้รอบๆ เต็นท์จนเกือบหมดกระป๋องไร้ความหมายไปทันทีเมื่อมดเริ่มไต่เดินมาตามสมอบก และเชือกที่ขึงไว้กับต้นไม้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ดูจะไม่สามารถหยุดยั้งเจ้ามดพวกนี้ได้ ผู้เขียนต่อสู้กับมดได้อยู่พักหนึ่งก็เริ่มถอดใจ และเดินไปหาที่สงบๆ นั่งพักชมสายน้ำไหลให้ใจเย็นลง แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ดูจะมีเจ้ามดไปจับจองไว้แล้วทั้งสิ้น ในใจตอนนั้นคิดเพียงอย่างเดียวว่าทำไมมดพวกนี้จึงต้องมาระรานเราถึงขนาดนี้
ช่วงที่เราไปปลีกวิเวกนั้นเป็นช่วงต้นฤดูฝน ทางคณะผู้จัดจึงได้ตกลงให้อยู่ปลีกวิเวกถึงเพียง ๕ โมงเย็นของวันนั้น เนื่องจากเกรงว่าถ้าฝนตกลงมาอีกน้ำอาจเอ่อล้นอย่างรวดเร็วจนพวกเราที่ไม่ชำนาญป่าอาจหนีไม่ทัน ดังนั้นพอคล้อยบ่ายผู้เขียนจึงเริ่มเก็บข้าวของด้วยความลิงโลด ในใจคิดแต่เพียงว่าอย่างน้อยก็จะได้ไปพ้นๆ จากมดพวกนี้เสียที เมื่อผู้เขียนจับเต็นท์ยัดใส่ถุงเสร็จก็เห็นหญิงสูงอายุร่างเล็กชาวปกาเกอะญอเดินดุ่มๆ มาทางผู้เขียน ในใจตอนนั้นคิดว่าเขาคงจะมาเร่งให้เรารีบไป แต่ที่ไหนได้ กลับมาบอกเพียงสั้นๆ ว่า จะอยู่ต่อก็ได้นะเพราะฝนคงไม่ตกแล้ว ในหัวตอนนั้นวิ่งวุ่นไปด้วยคำถามและปัญหา แต่ใจก็รู้ดีว่าหญิงสูงอายุตรงหน้าไม่ใช่คนที่จะมาตอบคำถามหรือแก้ปัญหาเหล่านี้
ผู้เขียนค่อยๆ ดึงเต็นท์ออกมากางอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นรู้สึกท้อแท้ และอยากร้องไห้เต็มทน แต่ก็ข่มใจสู้ ค่อยๆ ปักสมอบกทีละอันจนครบ พอเต็นท์ตั้งขึ้นเป็นรูปร่าง ใจก็ชื้น ความคิดที่ว่าทำไม่ได้ก็หมดไป ผู้เขียนเดินกลับไปเติมน้ำดื่มที่ศูนย์ ขากลับรู้สึกถึงใจที่เต้นแรง และเป็นครั้งแรกของวันนั้นที่ได้ยินเสียงหัวใจของตนเอง ตอนเย็นพอได้เอาตัวลงไปแช่ในแม่น้ำ ความรู้สึกกลัว และไม่ไว้ใจในน้ำสีดินแดงขุ่นๆ ก็ค่อยๆ หายไปพร้อมกับสายน้ำที่ไหลผ่านตัวเรา ก่อนอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ผู้เขียนนั่งมองพระจันทร์ครึ่งดวงที่ค่อยๆ ลอยขึ้นมาแทนที่ ความงามเหล่านี้ผู้เขียนไม่ได้เห็นและไม่ได้มีแม้แต่ช่องว่างทางสายตาที่จะเหลียวมองดูแม้แต่น้อยขณะที่ทะเลาะต่อสู้อยู่กับมด ความว้าวุ่นใจและความรำคาญใจในตอนนั้นกลับทำให้เรามองข้ามความงามอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ห้อมล้อมเราอยู่
ค่ำนั้นผู้เขียนเตรียมใจไว้พร้อมกับการที่จะต้องนอนกับมด แต่เมื่อเดินกลับมาที่เต็นท์กลับพบว่าไม่มีมดเหลืออยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว คืนนั้นผู้เขียนนอนดูหิ่งห้อยอย่างสบายใจ และเริ่มที่จะเห็นความจริงหลายๆ อย่างได้ชัดขึ้น ตลอดเวลาที่มดมาไต่ตอมอยู่บนเต็นท์นั้น มันแทบจะไม่ได้เข้าไปด้านในของเต็นท์เลย และยิ่งไปกว่านั้น มันแทบจะไม่ได้ทำร้ายเราเลย มีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ตีโพยตีพายอาละวาดทำร้ายมดทั้งฝูง มดมันไม่ได้มาทะเลาะกับผู้เขียน ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ทะเลาะกับตัวเอง
ผู้เขียนเคยคิดมาเสมอว่าตัวเองไม่ได้รังเกียจสัตว์ร่วมโลกตัวเล็กๆ อย่างมด หรือแมลงต่างๆ และเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นพวก ยุงไม่ตบ มดไม่เหยียบเสียด้วยซ้ำ เป็นถึงขั้นที่ว่าแม้แต่สุนัขที่บ้าน ผู้เขียนก็ยังอุตส่าห์ไปสอนมันไม่ให้แกล้งคางคกที่อาศัยอยู่ในสวนหลังบ้าน ทั้งยังมีมุมมองที่ว่าธรรมชาติกับผู้เขียนนั้นไม่เคยอยู่ไกลกัน ที่บ้านมีสวน มีต้นไม้ ตั้งแต่เล็กจนโตมาก็เดินทางออกต่างจังหวัด นอนกลางดินกินกลางทรายมาตลอด จนอดที่จะคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่าชีวิตเราอยู่ใกล้ธรรมชาติแค่คืบ
แต่เมื่อมองให้ละเอียดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองอย่างผู้เขียนกับธรรมชาติมักจะมีเส้นบางๆ วางกั้นไว้อยู่เสมอ เราแบ่งเมืองออกจากป่าอย่างสิ้นเชิง และวางสองสิ่งนี้ไว้บนขั้วตรงข้าม สวนหรือพันธุ์พืชในเมืองที่เราเรียกว่าธรรมชาติก็มักจะถูกจัดวางไว้อย่างสวยงาม เรียบร้อย เป็นระเบียบ ธรรมชาติที่เรารู้จักคือธรรมชาติ "เชื่องๆ" ที่เราสามารถจัดการ ปรับเปลี่ยนให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ ตอนที่ผู้เขียนไล่มดออกจากเต็นท์นั้น ในหัวคิดอยู่เพียงอย่างเดียวว่า ทำไมมดจะต้องมายุ่งกับเรา ทำไมมันจะต้องเข้ามาก้าวก่ายในสถานที่ที่เราจับจอง แต่ไม่เคยที่จะมองแม้แต่น้อยว่า เราต่างหากที่เป็นผู้บุกรุกเข้าไปในสถานที่ของเขา แถมยังเป็นผู้บุกรุกที่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน และมุ่งหวังเพียงแค่จะเอาชนะธรรมชาติ
ถึงแม้การทะเลาะกับมด (ที่จริงๆ แล้วเป็นการทะเลาะกับตัวเอง) จะห่างไกลจากภาพการปลีกวิเวกอันเงียบสงบที่ผู้เขียนหรือใครหลายๆ คนอาจจะเคยวาดไว้ แต่หากหัวใจของการปลีกวิเวกคือการเรียนรู้ภายในตนเองแล้วละก็ ผู้เขียนก็ต้องบอกว่าโชคดีที่คราวนี้ได้มดเป็นครู
ที่ได้พาผู้เขียนน้อมใจเข้าไปสัมผัสความจริงทั้งที่อยู่ตรงหน้า และเข้าไปยอมรับความจริงในใจของตัวเอง สำหรับผู้เขียนแล้ว การเปิดใจยอมรับธรรมชาติอย่างที่มันเป็นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้ภายใน เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ และต้องอาศัยครูที่จะคอยชี้นำทาง และในหลายๆ ครั้งธรรมชาติก็ยังคงเป็นครูที่ดีที่สุดสำหรับเรา
Labels: กิติยา โสภณพนิช
4 Comments:
-
- ช. อนุกูล said...
5:11 PMยอดเยี่ยม เขียนอีกนะคะ จะรออ่านด้วยใจระทึกพลัน- Anonymous said...
8:19 PMเห็นด้วยค่ะ.. อยากเห็นนักเขียนคนนี้เขียนอีกนะ.. แต่คุณ ช.อนุกูลเอง อย่าทำเฉไฉ.. มีคนรออ่านด้วยใจระลึกยิ่งเช่นกันค่ะ...จ๋า..- Anonymous said...
8:51 PMหมายถึง "ระทึก" อะ..เขียนผิด..- Anonymous said...
11:35 AMอ่านแล้วอยากไปกางเต็นท์นอนวิเวกกลางป่าริมธารบ้างจัง เห็นภาพเลยแหล่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆมานะครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)