โดย ถั่วอบมะลิหอม เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๙
-------------------------

เพื่อนหลายคนทุกข์ใจ แต่กลับบอกว่า “ฉันโอเคนะ” แล้วความทุกข์ที่ซ่อนไว้ข้างในก็จางหายไป เมื่อได้ออกไปดื่มสุรา เที่ยวบาร์ ร้องเพลงคาราโอเกะ ตีกอล์ฟ ไปชอปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า วุ่นอยู่กับงานบ้าน การเลี้ยงลูก สามี ละครทีวี แมกกาซีน อุปกรณ์ไฮเทค รถยนต์ หรือนำพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางเพื่อนหญิง เพื่อนชาย หรือคนแปลกหน้าเพื่อให้คลายเหงาไปวันๆ หากแต่รู้สึกเดียวดายในฝูงชน สิ่งต่างๆ หรือผู้คนเหล่านี้นะหรือที่ทำให้ความทุกข์จางหายไป จริงหรือที่บอกว่า “ฉันโอเค” หรือ “ฉันแฮปปี้” จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่นะ

หรือว่ามันเป็น สัญญาณจากฟากฟ้าที่มาเป็นลางบอกเหตุบางเรื่อง บอกว่าชีวิตคุณมีความหมายนะลองเปิดประตูออกไปหาผู้คนที่คุณรัก รักคุณและรอคอยคุณอยู่ เมื่อมีคำถามเกิดขึ้นในชีวิต คุณลองตอบคำถาม หรือตอบอย่างเกเร อย่างตามหัวใจของคุณเอง ฟังเสียงและเชื่อในเสียงหัวใจที่คุณได้ยิน ลองทำตามใจคุณเอง มันง่ายๆ ตรงไปตรงมา คุณลองทำดูนะ แล้วบางทีคุณจะพบคำตอบมากมายให้กับคำถามในชีวิต ที่ถาโถม ที่วุ่นวายรบกวนหัวใจ คำถามที่ทำให้กินได้แต่นอนไม่หลับ คุณลองเผชิญหน้าคำถามเหล่านั้น ด้วยคำตอบจากหัวใจของคุณนะ แล้วคุณจะอบอุ่นหัวใจ ไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย แล้วค่อยบอกตัวเองอย่างยอมรับว่า ฉันโอเค ฉันแฮปปี้ จริงๆ นะ

คนเรามักมีกรอบความคิดตัดสินตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เราก็จะพยายามหาคำอธิบาย หาคำตอบให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว แต่เราเคยคิดที่จะเข้าข้างตัวเองบ้างไหมนะ เข้าไปฟังเสียงของหัวใจข้างในตัวเราจริงๆ ที่ต้องการบอกเราบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ออกมาในทางคำพูดหรือความคิด แต่เป็นความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเป็นหทัยปัญญา
สังคมมักสอนให้เราคาดหวังกับตัวเองว่าต้องเป็นคนดี ต้องยอมเสียสละ ต้องไม่เหน็ดเหนื่อย หรือถ้าเหน็ดเหนื่อยก็จงเก็บมันไว้ในใจ ไม่จำเป็นต้องไปบอกกล่าวอะไรกับใคร ต้องอดทนกับความเหนื่อยยากของชีวิตแต่ละวัน หากเราเอ่ยอะไรออกไป เราก็แสดงออกความเป็นคนไม่สู้ชีวิต ทั้งๆ ที่ในทำนองกลับกัน การบอกกล่าวสื่อสารให้คนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานได้รับรู้ถึงความเป็นไปในชีวิตเรานั้นอาจเป็นของขวัญล้ำค่าก็ได้ เช่น เวลาเรามีอารมณ์เหงา เศร้า หรือเหว่ว้า ก็ให้รับรู้ความรู้สึกตรงๆ ตามนั้น ไม่ต้องไปพยายามด่วนวิเคราะห์ หรือไปด่วนตัดสิน ไปต่อว่าตัวเอง เพราะเป็นการยอมรับเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาดูแลเรา เห็นความทุกข์ใจหรือร่วมรับรู้ทุกข์ไปกับเรา เป็นการเปิดโอกาสให้กับมิตรภาพที่จริงแท้งอกงาม

ลึกๆ แล้วคนเรากลัวว่าตัวเองจะกลายเป็น “คนมีปัญหา” มากกว่า “คนมีปัญญา” เราพยายามหลีกเลี่ยงอาการของ “คนมีปัญหา” ด้วยการหลบหลีกที่จะยอมรับความรู้สึกด้านลบ เพราะเกรงจะถูกประณามว่าเป็น “ปัญหา” เช่น ความรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เหนื่อย ท้อ เบื่อหน่าย หงุดหงิด น้อยใจ และอีกหมื่นพันความรู้สึก บางคนบอกว่าวัฒนธรรมไทยไม่ชอบสื่อสารอารมณ์เหล่านี้ออกมาอย่างเปิดเผย มักจะใช้วิธีหาทางออกแบบอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าการเผชิญหน้าและสื่อสารตรง เช่น การบอกเล่าให้คนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีได้รับรู้ พออารมณ์ดีขึ้นก็กลับไปร่วมงานกับคู่กรณีต่อ โดยทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างเรากับคู่กรณีของเรา โดยเราลืมนึกไปว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้รับการแก้ไข หรือว่าเพื่อนร่วมงานเราไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เราก็มักพบเจอเหตุการณ์เดิมๆ เหมือนขับรถวนกลับมาที่เดิมอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สังเกตว่า “คนมีปัญญา” ยิ่งเรียนสูง รู้มาก ก็ยิ่งใช้ความคิดได้อย่างรวดเร็ว มีเหตุมีผล มีหลักการ มีทักษะ มีปัญญาเป็นอาวุธ ที่ช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ ได้ แต่แล้วอาวุธเหล่านี้กลับกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้าถึง “เหตุและผลเชิงประสบการณ์” ที่ไม่ใช่ “เหตุผล” ที่เป็นเพียงความคิด

ผู้เขียนคิดว่าเวลาเราพูดถึงพฤติกรรมแห่งการบริโภคในระดับต่างๆ รวมทั้งระดับของการเสพติดต่างๆ ในสังคมบริโภคนั้นมีเหตุมาจากความไม่สามารถรับรู้และยอมรับภาวะอารมณ์ทุกข์ในตัวเอง ที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา และอย่างอ่อนโยน ทำให้ต้องค้นหาทางออกหรือทางหนีออกจากอารมณ์เหล่านี้ตามสติปัญญาหรือกำลังที่มี โดยอาศัยเครื่องมือเปลี่ยนอารมณ์ที่มีมากมาย หลายอย่าง หลายสถานที่ เช่น โรงภาพยนตร์ ดีวีดี ทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้าบาร์ คาราโอเกะ แมกกาซีน หนังสือ และอื่นๆ ในความเห็นของฉัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นลบในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ที่จะทำให้เรายังรู้สึกถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ รู้สึกได้ถึงพลังของชีวิตที่จะไม่ถูกบั่นทอนไปง่ายๆ จากกิจกรรมชีวิตในสังคม

นักนิเวศแนวลึกชาวพุทธคนหนึ่ง คือโจแอนนา เมซี่ บอกว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถยอมรับภาวะสิ้นหวัง ความแตกสลายและความเป็นอนิจจังแห่งการดำรงอยู่ได้ เวลาเราหนีหรือเบือนหน้าหนี ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะเหล่านี้จะหายไป แต่อาจกลับทำให้เรากลายเป็นคนที่เฉยชา จนอาจถึงขั้นเย็นชากับความรู้สึกของตัวเอง และคนรอบข้าง และมักมีคำพูดบอกตัวเองและคนรอบข้างว่า “ช่างมันเถอะ” หรือ “ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ ยอมรับมันเถอะ” เรียกว่ากลบอารมณ์ด้วยการคิดแบบยอมรับสภาพ ยอมๆ มัน “คิดมากไปก็เท่านั้น” การกลบเกลื่อนร่องรอยของอารมณ์ลบ ภาวะไร้พลัง เบื่อหน่าย ท้อแท้นั้นอาจรู้สึกอยู่ได้สักชั่วเวลาหนึ่ง แล้วความรู้สึกเหล่านี้ก็หาหนทางของมันเองที่จะวนกลับเข้ามาอีก จนความเบื่อหน่ายเติบโตเป็นความ “โคตรเบื่อ” คือความเบื่อทั้งตระกูลรวมใจ พากันมาทักทายเรา

แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราสามารถน้อมรับภาวะอารมณ์เหล่านี้ได้ พลังลบๆ ก็จะกลายร่างเปลี่ยนสภาพเป็นพลังที่ค่อยๆ อ่อนโยนลง เป็นพลังที่ไม่ระรานตัวเองหรือคนรอบข้าง แล้วเราก็ค่อยๆ นำพาตัวเองเดินเข้าสู่พื้นที่แห่งความผ่อนคลาย วางใจและตื่นรู้ เป็นหทัยปัญญาแห่งการยอมรับทุกข์ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การยอมแพ้ หรือศิโรราบให้กับความสิ้นหวัง หากเป็นการรับรู้ถึงพลังชีวิตและศักยภาพอันยิ่งใหญ่ใน ในอันที่จะ “เลือก” ทางเดินชีวิตและสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ดังใจประสงค์ได้ เป็นการเอื้อให้พลังชีวิตด้านบวกผลักดันนำพาเราให้ก้าวเดินต่อไป โดยที่ทุกๆ จุดที่คุณยืนอยู่คือโอกาสแห่งการเริ่มต้นใหม่

ขอให้คุณเดินทางโดยสวัสดิภาพ และขอให้โชคดี!

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home