โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๙
---------------------------------
หากเรามองไปรอบๆ ตัวอย่างใคร่ครวญพินิจ เราจะเห็นความเชี่อมโยงของแต่ละสิ่งอัน ร้อยเรียงกันไปไม่รู้จบสิ้น ดังที่ ท่านติช นัท ฮันห์ เรียกว่า “Interbeing” ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยไว้ว่า “การเป็นดั่งกันและกัน” เสมือนผ้าทอผืนใหญ่ ที่แต่ละใยเหนี่ยวร้อยยึดให้อีกใยหนึ่งนั้นยังดำรงอยู่ มีแสงแดดที่อบอุ่นอยู่ในเมล็ดข้าวที่เรารับประทาน ถักทอกับสายใยของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นข้าวนั้น
ในวิถีชีวิตในเมืองในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าเงินจะซื้อหาได้ทุกสิ่งที่จำเป็นของชีวิต เราอาจเห็นว่า ตนเองสามารถอยู่ลำพังโดยอิสระได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สิ่งใดที่ต้องการ เราก็ใช้เงินไปซื้อหามาได้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา จึงอาจจะมีแต่งานของเรา และเงินของเราเท่านั้น บ่อยครั้ง ในวิถีชีวิตประจำวัน เราจึงเห็นแต่ผู้คนที่เร่งรีบ มีธุระมากมาย ตารางนัดหมายเต็มทุกชั่วโมง มีประชุมทั้งวัน ปิดโทรศัพท์มือถือเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปิดโอกาสสำหรับการคุยส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน เราไม่มีเวลารับฟังปัญหาของเพื่อนสนิทและครอบครัว เพราะเวลาของเราหมดไปกับงานในทุกขณะวินาที
หลายคนอาจจะแย้งได้ว่า ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่ทำด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น ด้วยปัญหาสังคมที่มีมากหลาย ผู้ที่อุทิศตนเพื่อทำงานสังคม ยิ่งมีเวลาน้อยลงไปสำหรับความสัมพันธ์ส่วนตัว สังคมกำลังต้องการผู้ที่เสียสละตนยิ่งเช่นนั้น
สิ่งที่เราละเลยไปในการมุ่งมั่นทำงานของเรา อาจจะเป็นความจริงพื้นฐานที่ว่า เรานั้นแท้ที่จริงแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ในเกลียวของความสัมพันธ์ที่ไม่รู้จบสิ้นของจักรวาล ดังที่ เดวิด โบห์ม ว่าไว้ หากเราหยิกเล็บ ก็จะต้องเจ็บเนื้อ การที่เราไม่มีเวลาให้กับผู้คน เพราะเวลาของเรา หมดไปกับงานเสียหมดแล้ว
ท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับอย่างแน่นอน คือ สังคมที่ไม่มีใครมีเวลาให้แก่กันและกัน ในสังคมเช่นนี้ เราจึงได้เห็นสุนัขจรจัดอยู่ข้างทาง และคนจรจัดผอมโซ ภาพเช่นนี้ไม่มีให้เห็นในสังคมชนบทหลายแห่งซึ่งทุรกันดารและห่างไกล เพราะที่นั่นผู้คนยังมีเวลาที่จะมองเห็นกันและกัน และเยียวยาดูแลทุกบาดแผลที่เกิดขึ้นให้แก่กัน
การที่เราไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แก่การดำรงอยู่รอดของผู้อื่นด้วย โดยเริ่มต้นที่คนใกล้ตัว ท้ายที่สุด เราอาจปิดโอกาสการดำรงอยู่รอดของเราเองไปพร้อมๆ กัน เพราะโลกของเรา โดยธรรมชาติพื้นฐาน เป็นโลกของความสัมพันธ์ เป็นโยงใยที่ไม่สามารถจะตัดขาดออกจากกันได้
เราอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ลองมีเวลาให้กับความสัมพันธ์ก่อนเรื่องของงาน ให้ความสัมพันธ์ที่มีดุลยภาพของเรากับสรรพสิ่ง เป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง ละเอียดอ่อนกับคำขอโทษและการขอบคุณมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคำถามว่า “สบายดีหรือเปล่า” ที่ออกมาจากหัวใจ โทรศัพท์หรืออีเมลหาผู้คนในเรื่องส่วนตัว แบ่งปันความสุขทุกข์
เติมวัตถุประสงค์ของการทำงานเข้าไปอีกข้อหนึ่งเสมอว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในงานนี้ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ อย่าลืมใช้กระดาษให้ครบทั้ง ๒ หน้า เพื่อขอบคุณต้นไม้
ใช้เวลานั่งมองดูวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งนกตัวเล็กๆ ให้นานกว่าเดิมโดยไม่รู้สึกผิด การใช้เวลาวันๆ หมดไปเช่นนี้ เราอาจจะพบว่า ท้ายที่สุด เราไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จสร้างผลงานที่สูงส่งแม้แต่สักชิ้นหนึ่ง แต่ว่า ในทุกขณะของชีวิต เราไม่ได้ละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่วันหนึ่งจะย้อนกลับมาหาเราเสมอ นั่นคือ ความสัมพันธ์และการให้คุณค่าความหมายของเราต่อสิ่งต่างๆ
เป็นที่น่ายินดีว่า ในสังคมเมืองในปัจจุบัน ในช่วงหลังๆ มานี้ มีการตั้งกลุ่ม หรือ “สังฆะ” ต่างๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นชุมชนเสมือนจริง เป็นชุมชนออนไลน์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และที่เป็นชุมชนจริงๆ ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า มีบ้านเรือนอยู่ติดกันเหมือนในอดีต แต่หมายถึงว่า เป็นกลุ่มของคนที่มีเยื่อใยความสัมพันธ์กัน และนัดพบเจอกันเป็นระยะๆ เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน แม้ว่า บ้านและที่ทำงานจะอยู่คนละมุมเมือง บางสังฆะก็เป็นสังฆะภาวนาร่วมกัน เช่น สังฆะแห่งสติ (http://sanghaofmindfulness.blogspot.com/) บางกลุ่ม ก็เป็นสังฆะที่ไปร่วมกันทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น เช่น กลุ่มอาสาสมัครของ Budpage (http://www.budpage.com/) และบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มสนทนา (Dialogue) ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในสังคมมากยิ่งขึ้น
มีผู้กล่าวว่า คนที่ร่ำรวยที่สุด คือคนที่มีเวลามากที่สุด
และหากเราได้รับพรประการหนึ่งเท่าๆ กัน คือเวลาอันล้ำค่าอันนั้น.. การจะเหลือมันไว้บ้าง เพื่อใช้ในความสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ จะยิ่งเติมเต็มให้วันเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตของเราเปี่ยมคุณค่ายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับสรรพสิ่ง จะผดุงโอบอุ้มให้การดำรงอยู่ของเราในโลกและจักรวาลนี้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ขณะที่การมุ่งหวังที่ผลของงาน หากแลกมาด้วยการทำลายความสัมพันธ์มากหลาย ท้ายที่สุด อาจทำให้เราต้องแบกมันไว้อย่างเดียวดายและหนักอึ้งในวันเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต ก็เป็นได้
Labels: ชลลดา ทองทวี