โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๐
----------------------
เพื่อนๆ บางคนบอกว่าผมมักมีของขวัญปีใหม่หรือพรปีใหม่ “แปลกๆ” อยู่เสมอ ไม่ทราบว่าจริงแค่ไหน และถ้าเป็นจริงจะเป็นเพราะเหตุใด หรือเป็นเพราะว่าผมเป็นคนแปลกๆ จริง?
หากจะบอกว่าผมเป็นคนที่แปลกกว่าชาวบ้านชาวช่องประชาชนคนทั่วไปตรงไหนมากที่สุด ก็อาจจะเป็นตรงที่ผม “ชอบป่วย” ไม่ใช่ชอบที่ร่างกายเจ็บป่วยนะครับ แต่ชอบความรู้สึก ชอบความรู้เนื้อรู้ตัวขณะป่วย จะป่วยเป็นอะไรก็ได้ จะปวดหัวตัวร้อน หรือเคล็ดขัดยอก หกล้ม กระดูกร้าวหรือเป็นแผลแค่นิดๆหน่อยๆ ถ้าจะไม่นับก็อาจมีแค่ตอนป่วยการเมืองเท่านั้น (ฮา)
ที่ผมชอบตอนป่วยนั้นใช่ว่าเพื่อจะได้หยุดงานอะไรหรอก แต่เพราะการป่วยเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีเกี่ยวกับตนเองและของตนเองมากๆ ด้วยสาเหตุหลายประการ
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราป่วยนั่นคือ ร่างกายเราจะทำงานต่างจากเวลาปกติอย่างมากครับ ตัวอย่างเช่น หากเราติดเชื้อหวัด พวกเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันที่ปรกติอยู่กันเฉยๆ ก็ตื่นเต้นกันขึ้นมา พยายามวิ่งมาจับและทำลายเชื้อเหล่านี้ หากมีมากไปหรือทำลายไม่ได้ก็จะหลั่งสารพวกไซโตไคน์ทำให้เปิดวงจรอื่นๆอีก อาจยาวไปถึงสมองส่วนไฮโปทาลามัส ส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ที่เมื่อรับสัญญาณแล้วสั่งให้ร่างกายแสดงอาการ “เป็นไข้” ออกมา
แต่เอาละ ข้างในจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ข้างนอกที่เราเห็นหรือรู้สึกเป็นไข้ ก็เช่น ตัวร้อน หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ขึ้นสูงหน่อยก็อาจมีหนาวจนกล้ามเนื้อกระตุก บางทีนั่งๆ นอนๆ ก็หนาวขึ้นมาซะงั้น ต้องเอาผ้ามาห่ม ซักพักก็อาจเหงื่อแตกพลั่กๆ กลับไปร้อนเสียนั่น เราไม่สามารถควบคุมสั่งการอะไรร่างกายของตัวเราเองได้เลย
โถ ... ร่างกายของเราเองแท้ๆ ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ บัดเดี๋ยวหนาว บัดเดี๋ยวร้อน ตัวเราไม่ใช่ของเรา เพราะเราสั่งมันไม่ได้จริงๆ บางทีก็ปวดเมื่อย ขยับนิดขยับหน่อยก็ปวดตุบๆ ให้ได้รู้สึก
ไม่ต้องทำอะไร แค่นั่งเฉยๆดูอาการร่างกาย ผมว่าก็สนุกแล้ว
เหตุประการแรกที่การป่วยเป็นการเรียนรู้ที่ดี คือทำให้ได้มีสติรู้ตัว เวลาป่วยนี้ความรู้สึกต่างๆ มันจะชัด มันจะสูงขึ้นอย่างมาก ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็รู้ไปหมด บางทีแค่เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำก็ยังรู้สึกตัว (เพราะเกิดอาการเจ็บ) นี่ก็แปลก ก็สนุก ก็น่าตามดูไปอีกแบบ
ต่างจากชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของเราที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว อย่างที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บอกว่าเป็น “อัตโนมัติที่หลับใหล” ตัวอย่างเช่น ขณะเราเก็บของใส่กระเป๋ากลับบ้านจนแล้วเสร็จ แต่กลับจำไม่ได้เลยว่าใส่อะไรลงไปบ้าง บางทีกินข้าวจนหมดจาน แต่จำท่าทางการนั่งขณะกินว่าเป็นอย่างไรไม่ได้เลย รสชาติอาหารเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับความเซ็งที่ต้องเดินกลับไปที่รถที่เพิ่งจอดไปแล้ว เพราะไม่แน่ใจต้องไปตรวจดูอีกทีว่าปิดล็อคประตูรถหรือยัง
ประการที่สอง การป่วยทำให้ได้ลองมีชีวิตที่เนิบช้า ด้วยว่าขณะป่วยทำให้เราต้องทำอะไรช้าๆ อย่าว่าแต่วิ่งขึ้นลงบันไดไม่ได้เลย บางทีเดินก็ยังจะไม่ไหว คิดก็ไม่ค่อยทัน กินยังต้องกินช้าๆ ไม่สามารถ “เอา” แต่ใจตัวเองได้ เพราะร่างกายเขาไม่ “เอา” กับเราด้วย แค่คิดได้ วางใจ ไม่คิดจะ “เอา” มันก็สุขแล้วละครับ
ถ้าเราทำใจไม่ได้ ไม่รับฟังร่างกายของเรา ทั้งที่พยายามบอกเราว่าให้ทำอะไรช้าลงบ้างนะ มันทำจะไม่ไหวแล้ว (โว้ย) เราก็อาจจะต้องกลุ้มใจลนลานไปมีชีวิตอยู่กับอดีต (เช่น แหมไม่น่าไปเที่ยวเลย ดูซิติดหวัดมาจนได้) หรือมีชีวิตอยู่ในอนาคต (เช่น ตายละวา มีนัดสำคัญด้วยจะทำไงดี)
แต่ถ้าเราไม่ “วางจิตผิดที่” อยู่กับปัจจุบัน ลองฟังสิ่งที่ร่างกายเขาพยายามบอกกับเรา เราจะได้รู้อะไรดีๆ เยอะเลย หากเป็นโรคที่ไม่รุนแรงบางทีก็ลองไม่กินยาดูบ้าง ให้เราหายเอง เชื่อในศักยภาพของชีวิตเรา พักผ่อนเพียงพอ เป็นกำลังใจให้ร่างกายหายป่วย เฝ้าดูใจเราที่เดินทางไปกับร่างกายเราที่ค่อยๆ บรรเทาขึ้นมาตามลำดับ แต่เดี๋ยวนี้คนกินยากันเยอะแยะ แถมต้องกินประเภทที่แรงๆ จะได้หายไวๆ เลยไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเสียเท่าไหร่
เวลาป่วย ไหนๆ ก็ไปทำงานไม่ได้ ต้องนั่งๆ นอนๆ ก็ลองเฝ้าดูตัวเรา ดูใจเราก็สนุกดีครับ เวลาถูกขัดใจ ที่ทำอะไรไม่ได้ดังใจ นึกถึงคำของท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ที่กล่าวไว้อย่างเรียบง่ายและงดงามว่า “เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ” นอนอยู่ไม่มีอะไรทำก็ดูจิตทำความสะอาจใจไปเรื่อยๆ ก็ดีนะครับ
ช่วงหลังแวดวงหนังสือก็มีผลงานที่น่าสนใจหลายเล่มเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างประณีตอย่างเช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา (Timeless Simplicity)ที่จอห์น เลน ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยชูมาร์กเกอร์ (ตามชื่อผู้เขียน Small Is Beautiful ซึ่งแปลเป็นไทยว่า จิ๋วแต่แจ๋ว หรือ เล็กนั้นงาม) เขียนถึงการมีชีวิตที่สร้างสรรค์ได้ง่ายๆ ด้วยการลงมือทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยตนเอง ลดการพึ่งพา แสวงหาสารัตถะในชีวิตที่เรียบง่ายแต่รุ่มรวย, หนังสือ เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น (In Praise of Slowness) ที่แบ่งปันเรื่องเล่า ข้อมูลงานวิจัยที่ชวนตั้งคำถามกับคุณค่าของการเร่งรีบทำกิจกรรมที่เป็นสุนทรียภาพแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงาน การกิน พักผ่อน ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งเซ็กซ์, หรือ เงินหรือชีวิต (Your Money or Your Life) หนังสือขายดิบขายดีในหมู่ผู้บริหารที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และอีกหลายเล่ม หนังสือเหล่านี้ช่วยให้เราได้ปรับลดเกียร์ให้ต่ำลง แวะชมความงามของชีวิตและธรรมชาติบ้าง ไม่ใช่ใส่เกียร์ห้าวิ่งตะบึงไปข้างหน้าแต่อย่างเดียว
ประการที่สาม การป่วยได้ให้ข้อสรุปที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ การ “ยอม” ยอมรับว่าเราก็ไม่ใช่ (และไม่จำเป็นต้องใช่) คนแข็งแรงเสมอไป ยอมรับว่าโลกนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ เราไม่ได้อยู่คนเดียวและไม่สามารถอยู่คนเดียว ยอมรับที่จะรับความปรารถนาดีของผู้อื่น ยอมรับว่าเงินนั้นแม้จะซื้ออะไรหลายๆ อย่างได้ แต่ก็ไม่ได้ซื้อได้ซะทุกอย่าง บางทีพอได้นึกอย่างนี้ก็สบายใจอย่างยิ่ง
ประการสุดท้าย การป่วยไม่ว่าเล็กน้อยหรือใหญ่โตก็ถือเป็นแบบฝึกหัดสำคัญระหว่างการเดินทางของชีวิต ให้เราได้เตรียมพร้อมกับการสอบไล่ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อยามต้องทิ้งร่างนี้ไป การสอบที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะอยากหรือไม่ จะพร้อมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเรารู้ว่าเราอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าเราควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร
การป่วยที่ทำให้เราได้เข้าใจและยอมรับความจริงของชีวิตตามธรรมดาธรรมชาติ ได้มีสติรู้ตัว อยู่กับปัจจุบัน ทำอะไรให้ช้าลง ทำแต่ละอย่างก็รู้เนื้อรู้ตัวไปด้วยแบบเป็นธรรมชาติ นี้ถือเป็นของขวัญชิ้นงามจากธรรมชาตินะครับ บางคนต้องไปฝึกตั้งนานสองนาน บางคนต้องไปสมัครเข้าเรียนในคอร์สฝึกอบรมต่างๆ หลายๆ ครั้งละหลายๆ วัน กลับมาแล้วก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ว่านี่ป่วยอยู่เฉยๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เรียกว่า Blessing in disguise (พรจำแลง) จะเรียกว่าอะไร?
Labels: สรยุทธ รัตนพจนารถ
0 Comments:
Subscribe to:
Post Comments (Atom)