โดย ณัฐฬส วังวิญญู เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐
-------------

เมื่อวันที่ ๒๑-๒๔ ต.ค. ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ผมและนพ.วิธาน ฐานะวุฒฑ์ ได้มีโอกาสไปช่วยดำเนินกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “การสื่อสารอย่างกรุณา” ให้กับบุคลากรของทีมงาน ชีวันตาภิบาล (Palliative care) โดยมีผู้จัดคือ นพ.สกล สิงหะ ประธานหน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงจัดการเรียนการสอนสำหรับแพทย์ระดับก่อนและหลังปริญญา และพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย palliative care ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้และใคร่ครวญถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างมีจิตวิญญาณอีกครั้งหนึ่ง

โดยได้ใคร่ครวญกับคำถามง่ายๆ ว่า “ความกรุณา” นั้นจะเป็นผลจากการศึกษาได้อย่างไร การศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้แบบไหนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดจิตเมตตากรุณาได้ ครูบาอาจารย์จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในระดับลึกนี้ได้อย่างไร เพราะ “ความกรุณา” ไม่ใช่เป็นเพียง “ความคิด” ไม่ใช่สิ่งที่จะสอน บรรยายหรือเทศนาแล้วหวังว่าผู้เรียนจะมี “หัวใจแห่งความกรุณา” ได้อย่างถ้วนหน้าและถาวร การเรียนรู้อะไรที่จะประทับใจตราตรึงจิตให้อ่อนโยนและเคารพเพื่อนร่วมชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ทุกวันนี้ คำว่า “ผู้มีการศึกษา” มักจะมีความหมายว่าเป็น “ผู้มีความรู้ ความคิดหรือประสบการณ์ในความรู้แขนงต่างๆ” และดูเหมือนว่าศาสตร์แขนงต่างๆ จะพัฒนาไปข้างหน้าพร้อมกับเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ เหลือเพียงศาสตร์เดียวที่ยังไม่ได้บรรจุไว้ในระบบการศึกษา นั่นคือ “ศาสตร์และศิลป์แห่งการมองตน” ทั้งๆ ที่คำว่า “ศึกษา” มีรากศัพท์มาจากคำว่า สิกขา (สะ+ติกกะ) หมายถึง “การมองตน”
เวลาเราเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เรามองออกไปนอกตัวเองจนชำนาญ ปราดเปรื่องและคุ้นชิน และไม่ว่าโลกหรือจักรวาลใบนี้จะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน ก็ไม่พ้นสายตาของเรา แม้สิ่งที่เล็กๆ ลงไปเป็นจุล เราก็ยังสามารถใช้กล้องไมโครสโคปกำลังสูงส่องเห็นจนทะลุปรุโปร่งไปถึงระดับโมเลกุล ระดับอะตอมกันเลย แล้วอะไรเล่าที่จะช่วยให้เรามองเห็นตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ให้เห็นภูมิทัศน์ด้านใน (Inner landscape) ว่าตัวเรานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร งดงามหรือไม่ปานใด

“จิตตปัญญาศึกษา” ที่ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ได้กรุณาคิดขึ้นมาให้คงมีความหมายไปตามนี้กระมัง คือการศึกษาที่เริ่มต้นที่หัวใจ ไม่ใช่แค่คิด เพราะหัวใจนั้นมีอารมณ์ ความรู้สึก และที่สำคัญมีตัวรู้ที่เรียกว่าสติ ที่ใหญ่กว่าตัวความคิดที่เป็นเพียงวัตถุของการรับรู้หรือเรียนรู้ นั่นหมายความว่า จิตจำต้องได้รับการฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพและกำลังพอที่จะ “มองเห็น” สิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น และเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตัวเราเองและสังคม ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ กายและจิต

หากเรามองว่าเป้าหมายที่แท้จริงทางการศึกษาคือการพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์สู่ความเป็นไทและอย่างเป็นมนุษย์ที่แท้แล้ว เราก็คงจะไม่มองว่าการศึกษาเป็นเพียงทางผ่าน แต่เป็นหนทางแห่งการดำรงอยู่ วัฒนาการ แปรเปลี่ยนและเติบโต แทนที่จะเรียนเพราะรู้สึกว่าต้องเรียน เราอาจทำให้เชื่อว่าชีวิตนั้นต้องเป็นไปตามที่สังคมเลือกให้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วมนุษย์เกิดมา พร้อมกับโอกาสที่จะเลือก คือเลือกที่จะนำพาและสร้างสรรค์ชีวิตตัวเองไปอย่างที่คิดฝันหรือปรารถนา

จิตตปัญญาศีกษาน่าจะเป็นหนทางฝึกฝนเพื่อการตื่นรู้และการดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม รับรู้ทั้งโลกภายนอกและโลกภายในตัวเราในแต่ละปัจจุบันขณะ โดยเอาทั้งหมดของตัวเราเข้าเรียนรู้ เอาชีวิตของเราเข้าแลกกับการรับรู้ปัจจุบันขณะ อันถือเป็นประตูหรือทางเข้าสู่การมองเห็นความงามอันวิจิตร และความดีอันประเสริฐ และความจริงอย่างที่เป็นในชีวิตและโลก

ด้วยการรับรู้หรือเรียนรู้เช่นนี้ เราอาจจะมองเห็นโลกที่ซ้อนๆ กันหลายๆ ใบ เป็นข่ายใยชีวิตที่ซับซ้อนในความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เห็นน้ำค้างเกาะตามยอดหญ้า และกิ่งไม้ยามเช้า เห็นแสงสาดส่องผ่านม่านหมอกและไอดิน เห็นสิ่งต่างๆ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นอิทัปปัจจยตา

เราสามารถ ชื่นชมความแตกต่างหลากหลาย โดยเห็นความคิดของคนอื่นสอดร้อยเชื่อมโยงกับความคิดเรา และทำให้เกิดปัญญาร่วม เป็นระบบนิเวศแห่งความรู้ที่มั่งคั่งและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กันและกัน เมื่อนั้นเราก็จะดำรงอยู่ใน ความไม่แยกส่วนและไม่แบ่งแยก

โดยปกติเรามีสิ่งที่เราชอบ และไม่ชอบ มีสิ่งที่เรากลัว และรักใคร่ เรามักจะเลือกเรียนรู้หรือรับรู้เฉพาะสิ่งที่เราชอบหรือพึงพอใจ และปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย เป็นทวิภาพ เป็นหัวใจที่แบ่งขั้ว จึงเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นเสี่ยงๆ เราไม่อาจเข้าใจทั้งหมดของตัวเองหรือโลกได้หากเรายังเลือกที่จะเบือนหน้าหนีอะไรก็ตามที่เป็นความจริงของชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเงามืดทะมึน เป็นสิ่งที่เรากลัวหรือไม่รู้ โดยที่เรามักปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หรืออาจไปโยนความผิดให้กรรม หรือเจ้ากรรมนายเวรไป

เมื่อเราสามารถน้อมรับสิ่งที่เราไม่พึงพอใจได้ เราก็จะสามารถสร้างสันติภาพภายในตัวเราเอง ดำรงอยู่และเรียนรู้จากความแตกต่างได้ และช่วยหล่อเลี้ยงให้เกิดความเข้มแข็งของความเป็นชุมชน และสังคมแนวราบที่ยิ่งนับวันจะขาดหายไปจากสังคมไทยที่สังคมแนวดิ่งกดทับอยู่ จนอิสรภาพของการเป็นมนุษย์ธรรมดาและปกติถูกลดทอนลงทุกที และเมื่อความเป็นชุมชนหรือเผ่าพันธุ์ของกัลยาณมิตรงอกงามในสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็จะเป็นดั่งผืนพรมอันอุดม ที่เมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ของทุกๆ คนจะงอกงาม

และทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้นพบความรักและมิติแห่งจิตวิญญาณภายในตน เป็นการเรียนรู้ที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เรียนรู้จักโลกและชีวิตผ่านตัวตนของเราเอง ที่อาจมีหลากหลายหน้าตา หลายตัวตน และที่สำคัญ ความรู้หรือความเข้าใจที่ลุ่มลึกจะบังเกิดขึ้นได้เมื่อเรายอมให้ความคิดหรือความรู้ชุดเดิมล่มสลายลง เช่น เราอาจเคยคิดว่าเราเป็นคนดี แต่เมื่อเราสืบค้นเข้าไปในตัวเองแล้วค้นพบ “ความเกเร” หรือ “ความร้ายกาจ” บางอย่างของตัวเอง และเมื่อรับรู้และยอมรับได้ “ความไม่ดี” นั้นก็ได้เริ่มคลายกำลังลง และอาจหมดความหมายไปเลยก็ได้ แต่การที่เราจะสามารถยอมรับว่าเราก็ไม่ได้ดีเด่อย่างที่เราคิด บางครั้งก็เจ็บปวดได้เช่นกัน ภาพลักษณ์ของเราถูกบีบคั้นให้ล่มสลายลงราวกับปราสาททรายที่ถูกคลื่นทะเลโถมซัดให้พังลงมา

ความกล้าเผชิญความจริงแห่งตัวตนจะช่วยทำให้เราเห็นและอาจค้นพบอิสระจากกรอบกรงขังเดิมๆ ได้ทีละเปลาะ เหมือนการปลอกหัวหอม เป็นการเดินทางเข้าสู่ด้านในเพื่อขัดเกลาตัวเอง ให้สิ่งที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกนั้นหลุดออกไปจนเหลือเพียงความเปลือยเปล่าที่จริงแท้ เรียบง่ายและอิสระ

แนวทางการศึกษาเช่นนี้หรือเปล่า ที่สังคมใฝ่สันติภาพและแสวงหาความสุขสมานฉันท์อย่างสังคมไทยพึงปรารถนา ดังที่ได้มีการริเริ่มคิดและจัดกระบวนการเรียนรู้แนวนี้ขึ้นมาบ้างแล้วในหลายๆ ส่วนของสังคม โดยมีการพัฒนาและสร้างสรรค์แนวทางปฏิบัติหรือเครื่องไม้เครื่องมือที่หลากหลาย ผู้ที่สนใจเรียนรู้หรือร่วมคิดร่วมทำก็คงจะได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยต่อเติมมิติของการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาของสังคมไทยเติบใหญ่ให้ขยายตัวอย่างมีพลังยิ่งๆ ขึ้นไป

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home