โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๐
-------------------
การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นก๊วน เป็นแก๊ง ช่างแสนจะมีพลัง คล้ายกับว่าเสียงของเรามันดังขึ้น และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ไม่จำเพาะที่เพศและวัยใด จำได้ว่าคุณตาของฉันท่านเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยมีปากมีเสียงกับใคร แต่พอเข้าก๊วนกับเพื่อนสนิทที่รุ่นราวคราวเดียวกัน คุณตาดูเหมือนนักเลงรุ่นดึกมาก โดยเฉพาะตอนที่วงของแกคุยเรื่องบ้านเมืองด้วยแล้ว ฉันแทบจำคุณตาตัวเองไม่ได้เลยจริงๆ แต่ในมุมกลับกัน บางขณะที่เรามองเข้าไปในกลุ่มแก๊งเหล่านี้ กลับรู้สึกไม่ชอบใจนัก โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นเสียงส่วนน้อยในพื้นที่นั้น รู้สึกอึดอัด และไม่ปลอดภัยที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา ราวกับมีอำนาจบางอย่างกดทับ อาจจะเป็นอำนาจของเสียงข้างมาก ตามแบบเรียนเรื่องประชาธิปไตยที่ให้ค่าเป็นชัยชนะ ก็เป็นได้
เมื่อไม่นานนี้ ประสบการณ์ร่วมจากการเข้าเรียนแบบผู้ใหญ่ เป็นครั้งหนึ่งในหลายการอบรมกระบวนกรของเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ได้ข้อคิดหลายเรื่องจากครั้งนี้ ด้วยกระบวนการที่กำลังเรียนรู้อยู่นั้น ช่างคล้ายกับการเรียนรู้แบบเดิมๆ ในห้องเรียนที่เราต่างเคยเผชิญมา และแตกต่างมากจากกระบวนการทางเลือกในครั้งอื่นๆ ที่เคยจัดและเราเริ่มคุ้นชิน โดยไม่ทันรู้ตัว ฉันก็ได้ยินเสียงของเด็กดื้อที่ดิ้นเร่าอยู่ภายใน และมันเหมือนวงคลื่นที่ส่งสะท้อนสู่กันและกันในกลุ่มผู้เข้าร่วม เราเริ่มทำตัวเหมือนเด็กเกเรในห้องเรียนตลอดการอบรมนั้น การฟังอย่างลึกซึ้งน่ะหรือ ไม่ต้องพูดถึง เพราะเราเริ่มหันไปคุยกันเองกับคนข้างๆ โชคดีที่เราไม่โดนแปรงลบกระดานเคาะหัวเหมือนสมัยเป็นนักเรียน
เนื่องจากสถานที่จัดอบรมอยู่ไม่ไกลตัวเมือง พอเสร็จจากการอบรมในแต่ละวัน ก็มีเสียงชวนเชิญกันไปหาไอศกรีมหรือกาแฟกิน คนไม่มีรถก็ขออาศัยกันไป คันที่ฉันนั่งไปด้วย ดันมีเพื่อนที่ชอบร้องเพลงอยู่หลายคน ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมา ที่เหลือก็ร้องตาม เหลือเชื่อจริงๆ พอเพลงจบเรารู้สึกทึ่งในตัวเองกันมาก มันไพเราะราวกับนักร้องประสานเสียงอาชีพเลยทีเดียว พอถึงร้านสมาชิกที่มาในรถคันเดียวกันนี้ ก็ยืนเรียงหน้าโต๊ะผองเพื่อนอย่างลืมอาย แล้วร้องเพลงที่ร้องกันมาในรถ แต่ไม่รอด เพื่อนที่ฟังบางคนนึกสนุก ร้องขอให้ไปคาราโอเกะต่อ แน่นอนชีวิตเลือกได้เสมอ แต่ฉันก็เลือกไปคาราโอเกะกับกลุ่ม เพราะไม่อยากให้ตนเองพลาดที่จะดำรงอยู่ร่วมกับเพื่อน แต่ก็เพียงคืนแรกเท่านั้น คืนที่สองฉันรู้สึกอยากคุยกับเพื่อนมากกว่า เพราะเราต่างที่อยู่ที่มากัน การได้เรียนรู้จากกันเองก็น่าสนใจไม่น้อย แล้วคลื่นก็กระทบโดยมิได้นัดหมายอีกครั้ง เราแค่ออกไปกินไอศกรีม พูดคุยแลกเปลี่ยนแล้วกลับมานั่งชมจันทร์สืบค้นด้านในกันต่อ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
การได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการร่วมกันอันหลากหลาย แม้ต่างที่มา แต่ก็ทำให้เราสัมผัสและเข้าถึงกันได้มากขึ้นตามวาระ มันเป็นโอกาสในการหลอมรวมกันอย่างแท้จริง เกิดมิตรภาพซึ่งคล้ายกับบทเพลงที่ร้อยรัดเราให้โยกไหวไปในท่วงทำนองเดียวกัน ผลก็คือ ความสุขที่อาบเอมหัวใจนักรบแต่ละคน กลายเป็นพื้นที่ของความรักและความเข้าใจในฐานของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม...เป็นแก๊งเดียวกัน พวกเราส่วนใหญ่ทำงานนำพาผู้คนเข้ามาเรียนรู้ และพัฒนาด้านในของตน บ่อยครั้งที่ฉันรู้สึกว่าพวกเราเป็นดั่งเหล่านักรบของพระผู้เป็นเจ้า แม้ฉันจะเป็นพุทธก็ตาม และในแวดวงนี้มันทำให้เชื่อว่า ศรัทธาในความดีงามนั้น มันกว้างใหญ่มาก ไร้ขีดจำกัดที่จะติดยึดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะที่ยังแลเห็นความสามัญธรรมดาแห่งชีวิตของเราทุกผู้ ที่มิได้เหนือหรือด้อยกว่า การได้เล่นและซนบ้างกลับเปิดมิติให้เรากลับทวีดีกรีของความงามแห่งชีวิต เมื่อได้เปลือยตัวตนอย่างเสรี ไร้ฟอร์ม ไร้กรอบยึด เป็นความเรียบง่ายที่มิได้แต่เพียงฉาบเคลือบไว้ ไม่จำต้องพยายามมุ่งสู้ความดีงามทุกขณะของลมหายใจ เพียงมีสติในการโลดเต้นไปก็กลับดีงามได้อย่างน่าอัศจรรย์
แล้วบทเรียนที่สำคัญยิ่งก็มาถึงในเช้าสุดท้ายของการอบรม เมื่ออาจารย์ผู้สอนเปลือยความในใจแก่ทุกคน ฉันได้ยินเสียงของการตัดพ้อต่อความใส่ใจในการเรียนรู้และการพัฒนาตน เหตุการณ์ของร้านไอศกรีมและคาราโอเกะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ราวกับว่ามันนำพาความสิ้นหวังที่มีระหว่างคนต่างรุ่น ยุคสมัยของอาจารย์นั้นการจะเปลี่ยนแปลงโลก เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและแสวงหา เพราะมีสิ่งท้าทายรอบตัว การเปิดและเปลือยตัวตนของอาจารย์เป็นมิติที่ต่างจากห้องเรียนโดยทั่วไป ไม่ใช่การก่นด่าโดยไม่เปิดพื้นที่แก่ความคิดเห็นอื่น เด็กเกเรจึงได้พูดและบอกเล่าว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรบ้าง เป็นปาฏิหาริย์ของการหันหน้าเข้าหากัน ฉันพบความนุ่มนวลที่รายล้อมรอบๆ ตัวจากเหล่ามิตรเด็กดื้อทั้งหลาย มันไร้ฝั่งฟาก กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน
การให้ภาพต่อถ้อยคำ “เกเร” ดูออกจะลบและร้าย และมักเป็นมุมมองจากอีกฝ่ายที่มองมา มุมมองที่เกิดจากการพยายามควบคุมและจัดการ ฉันไม่คิดว่าจะมีเด็กคนไหน หรือใครที่อยากเป็นคนร้ายแน่ แต่การยอมตนเป็น “คนเกเร” นี้ คล้ายเป็นการประกาศเจตจำนงที่อยู่ภายในของตน ซึ่งเจตจำนงที่แตกต่างจากกระแสหลักหรือเสียงที่มีอำนาจเหนือกว่าจะปลอดภัยมากขึ้น มีน้ำหนักในการคัดค้านมากขึ้น ก็ต่อเมื่อเจตจำนงเหล่านั้นหลอมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นแก๊งขึ้นมา และอย่าถามหา “หัวโจก” ตัวต้นเรื่อง ตัวบงการ หรือผู้นำฝูงเลย เพราะเมื่อสิ่งต่างๆ ถูกเคลื่อนมาอย่างเป็นองค์รวม คุณมิอาจแยกได้ว่านั่นคือความคิดของใคร เฉกเช่นเดียวกับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในวงสุนทรียสนทนา ซึ่งไม่อาจบ่งชี้ผู้นำ ผู้ดำเนินวง หรือจำแนกคลื่นที่หลอมรวมกันนั้นได้เลย
ถ้าคุณกำลังเผชิญหน้ากับเด็กเกเรอยู่ อยากแนะนำวิธีการจัดการกับเด็กเกเรง่ายๆ ให้ คือ เข้าไปรับรู้ความทุกข์และเข้าไปฟังเสียงความสุขของเขาด้วยความรัก เพราะการจะเข้าใจและเข้าถึงเด็กเกเรอย่างแท้จริง คุณอาจต้องเปิดพื้นที่ของมิตรภาพให้กว้างเพื่อจะสามารถยืนอยู่ฟากฝั่งเดียวกันกับพวกเขา ในศาสตร์การต่อสู้แบบไท่จี๋ฉวนนั้น บอกไว้ว่า จะสลายพลังได้ คุณต้องเข้าใจพลังนั้นก่อน และจะเข้าใจพลังนั้นได้ คุณก็ต้องสัมผัสพลังโดยเข้าไปเกาะติดนัวเนียกับพลังนั้น
การเป็นเด็กเกเร เด็กดื้อนั้น น่าจะเป็นอีกวิธีในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งได้เช่นกัน เพราะความไม่เชื่องนี้เองที่ทำให้อยากสืบค้นและต้องการกระบวนการในการเข้าถึงมากขึ้น อาจถือเป็นเรื่องท้าทายความเป็นครูของเราทุกคนที่จะเรียนรู้ร่วมไปกับความไม่ง่ายของเด็กหรือผู้ใหญ่กลุ่มนี้ ทำให้เราได้ใคร่ครวญกระบวนการและการสอนของเราที่เป็นความคุ้นชินเดิมๆ เป็นโอกาสในการได้ลงลึกกับความรู้ที่เรามี เพราะความเกเรอาจจะนำพาสิ่งดีๆ เหนือความคาดหมายมาสู่บ้าน ห้องเรียน หรือแม้แต่ที่ทำงานของเราเอง
Labels: ธนัญธร เปรมใจชื่น
0 Comments:
Subscribe to:
Post Comments (Atom)