โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
-----------------------------
“บ้าจัง ทำไมต้องให้แลกของขวัญอะไรอย่างนี้ด้วย”
“บ้าจัง ทำไมต้องให้แลกของขวัญอะไรอย่างนี้ด้วย”
“ของที่เรารักก็ต้องหมายถึงของที่เราทะนุถนอม หวงแหน ให้ตายเถอะ แล้วใครจะอยากเอามาให้คนอื่น ของบางอย่างที่เรารักมันอาจไม่มีค่า ดูไร้ประโยชน์ถ้าคนอื่นได้ไป ของรักของเราอาจเป็นขยะสำหรับเค้าก็ได้นี่”
นักศึกษาชายคนหนึ่งเขียนสะท้อนกิจกรรมที่เราทำ เขาพูดถึงหนังสือ “ไม่ธรรมดา” ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนังสือเล่มโปรดของเขา สภาพเงาวับใหม่เอี่ยม ปกหลังในมีลายเซ็นอันงดงามของผู้เขียน ที่เขาอุตส่าห์ไปต่อแถวยาวเหยียดในงานสัปดาห์หนังสือกว่าจะได้มา
เขาเล่าว่าก่อนมาเรียนได้ตื่นแต่เช้า บรรจงละเลียดตัวอักษรอันงามงดเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะห่อด้วยใจสุดแสนเสียดายที่ต้องยกให้คนอื่นเสียแล้ว โธ่ ... ของชิ้นโปรดของเรา ต้องถึงคราบ๋ายบายแล้วหรือ
แต่ไม่ใช่เขาคนเดียวนะครับ ที่ได้ประสบการณ์เช่นนี้ ปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าของชั้นเรียนวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีนี้ เราอยากแลกของขวัญกัน ผมเลยเสนอไอเดียกิจกรรม “สละของรัก” ข้อตกลงของเราทั้งอาจารย์และศิษย์คือ พวกเราจะกลับไปค้นของในบ้านที่เราอาศัย หาของในเรือนใจ ที่จัดเป็น “ของรักของหวง” ที่สำคัญที่สุด (หรือเกือบที่สุด) มาแลกกัน โดยที่ผมอุบวิธีแลกกันเอาไว้ก่อน บอกแต่ว่านี่เป็นแบบฝึกหัดให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ยิ่งเขาเปิดใจ ยิ่งเขาจริงใจและจริงจังกับการเลือกเฟ้นเท่าไหร่ ผลของมันก็ยิ่งน่าสนใจมากเท่านั้น
พอถึงวันงาน แต่ละคนถือของที่ตนเตรียมมาด้วยท่าทีปะปนกันไป มีทั้งหน้าตางงๆ สงสัยว่าจะมาทำอะไร อย่างไรกัน และพวกแววตาละห้อย ชักไม่แน่ใจกับการตัดสินใจของตนเองว่าทุ่มทุนสร้างมากเกินไปหรือเปล่า
นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเอาตุ๊กตาหมีน้อยที่ตัวเองพาเข้านอนด้วยกัน กอดฝันอยู่ทุกคืนมาแลก แม้เธอจะบอกว่ามันดู “เน่า” หรือ “เยิน” จนใกล้หมดสภาพ แต่ด้วยร่วมทุกข์ร่วมสุขมานาน จึงรู้สึกใกล้ใจเสียเหลือเกิน ตอนเช้าก็เอามาลูบแล้วลูบอีก คุณแม่เห็นเข้าถามว่าจะเอาไปไหน พอบอกว่าจะเอาไปแลกกับเพื่อน คุณแม่ถึงขนาดถามว่าจะกล้าตัดใจได้ลงหรือลูก ที่พูดอยู่นี่ก็ยังกอดไม่ปล่อยเลยนะ
พวกเราเดินแลกของกันแบบเชื่อมั่นในการจัดสรรของจักรวาล เชื่อในปัญญากายของเรา ไม่ต้องคิดคาดเดา หรือพยายามให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้ยินเสียงระฆัง พวกเราหยุดจับคู่แลกของสลับกับคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับกล่าวชื่นชมความดีของอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ ได้ฝึกสืบค้นและแบ่งปันด้านบวกของกันและกัน
รอบที่สองที่เราหยุดเดินและสลับแลกของกันอีกครั้ง พวกเราได้มีโอกาสกล่าวขอโทษ และให้อโหสิกรรมกับคู่ของเรา ได้เดินทางเข้าไปยังส่วนที่หลายๆ คนไม่ค่อยคุ้นเคย และยากจะเอ่ยเหลือเกิน
รอบที่สองที่เราหยุดเดินและสลับแลกของกันอีกครั้ง พวกเราได้มีโอกาสกล่าวขอโทษ และให้อโหสิกรรมกับคู่ของเรา ได้เดินทางเข้าไปยังส่วนที่หลายๆ คนไม่ค่อยคุ้นเคย และยากจะเอ่ยเหลือเกิน
รอบสุดท้าย พวกเราแลกของที่เราถือในมือ พร้อมมอบพรปีใหม่ให้แก่กัน เป็นความปรารถนาดีที่สื่อสารด้วยทั้งวาจาและใจ
เรากลับมานั่งกันเป็นวงใหญ่ และแกะห่อเฉลยว่าใครได้ของรักจากใคร แต่ละคนต่างเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งของอันเป็นที่รัก ผมเองแม้เคยทำกิจกรรมนี้มาแล้ว แต่ทุกๆ ครั้งก็มีสิ่งน่าทึ่ง น่าประทับใจเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญของบางคนที่เลือกสละของรักอันมีตำแหน่งแห่งที่สำคัญในชีวิต ในใจของตน หรือความไว้วางใจกลุ่มจนเปิดเผยถึงชีวิตและการเดินทางที่ส่วนตัวมากๆ กับของรักของตน
รวมทั้งความ “บังเอิญ” ที่ดูเหมือนของนั้น “เลือก” คนที่จะรับ ไม่เพียงแต่คนให้มีโอกาสเลือกของเท่านั้น อย่างนักศึกษาหญิงนำตุ๊กตาหมีแสนรักมา เธอก็ได้ตุ๊กตาหมาที่เพื่อนรักของตนนอนด้วยทุกคืนไปกอดนอนแทน
หลังกิจกรรมหลายคนได้บันทึกเรื่องราวประสบการณ์การเดินทางด้านในของตนจากการละวางของรักสุดชีวิต อย่างเจ้าของหนังสือ “ไม่ธรรมดา” เล่าว่า “ด้วยความอยากให้กิจกรรมครั้งนี้ได้ประโยชน์กับเราจริงๆ ได้รู้จักการจากของที่เรารักบ้าง ... จึงไม่เอาของที่รักรองลงมา มาแทนของที่รักจริงๆ”
ไม่เพียงแต่พวกเขาได้สะท้อนถึงการเลือกสละของรัก แต่ยังได้เรียนรู้ถึงใจตนเองขณะที่แลกของกันว่า “เลือกของที่เรารักจริงๆ ได้ ก็พบกับความรู้สึกเสียดาย ต้องสู้กับความคิดข้ออ้างร้อยแปดที่จะไม่อยากเสียของที่รักไป”
สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้สิ่งใด คือ การที่เขาได้เรียนรู้ว่าความคิดถึง ความห่วงหา ความรู้สึกเป็นจ้าวข้าวเจ้าของในสิ่งที่ดูว่ายิ่งใหญ่เสียจนปิ่มว่าจะขาดใจนั้น พอผ่านไปสักอาทิตย์สองอาทิตย์ความรู้สึกก็ซาๆไป เหมือนอาทิตย์ยามเที่ยง พอคล้อยยามบ่าย ย้ายเข้ายามอัสดง ย่อมอ่อนแรงลงตามลำดับ ฉันใดก็ฉันนั้น
“ความรู้สึกของวันนั้นที่ได้ ยังคงจำได้ดีว่ารู้สึกเสียดาย ... ตอนนั้นพยายามเอาข้ออ้างดีๆ มาปลอบใจ ... ถึงตอนที่เขียนอยู่นี้ไม่รู้สึกเสียดายแล้ว” นักศึกษาคนเดียวกันบันทึกไว้
“ความรู้สึกของวันนั้นที่ได้ ยังคงจำได้ดีว่ารู้สึกเสียดาย ... ตอนนั้นพยายามเอาข้ออ้างดีๆ มาปลอบใจ ... ถึงตอนที่เขียนอยู่นี้ไม่รู้สึกเสียดายแล้ว” นักศึกษาคนเดียวกันบันทึกไว้
นี่อาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักศึกษาประทับใจที่สุดในวิชานี้ก็ได้ ประสบการณ์การมีสติ ตั้งใจที่จะละวางของหวง ปลดบ่วงของรักที่รัดรึงเราไว้ รู้จักทิ้งสัมภาระที่เราเที่ยวแบกไปไหนต่อไหนบ้างเสียที แบบฝึกหัดง่ายๆ แค่นี้ แต่หากคนที่ทำตั้งใจ ก็จะได้เรียนรู้มหาศาล ทำบ่อยๆ ชีวิตยิ่งเบาสบายขึ้น มีความพร้อมในการสละของที่สำคัญหรือคิดว่าสำคัญต่อเรามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
สิ่งนี้ก็เหมือนกับการเรียนรู้สำคัญๆ ในชีวิตที่ใครทำใครได้ เหมือนอาหารที่ว่าอร่อยวิเศษเพียงใด นั่งพูด นั่งพิจารณาเท่าใด ก็รับรู้ได้ไม่เท่ากับการลงมือชิมด้วยตนเอง ไม่มีใครกินหรือเรียนแทนใครได้
ของแบบนี้ใครสละของหวงได้ก่อน ก็หมดห่วงได้ก่อนเช่นกันจริงๆ
Labels: สรยุทธ รัตนพจนารถ
0 Comments:
Subscribe to:
Post Comments (Atom)