โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
---------------------------------
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน หลายครั้งจบลงได้ง่ายๆ แค่การ “คุยกันอย่างเปิดอก” ทำความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วก็จบ มีกรณีศึกษาให้เห็นมากมาย ตั้งแต่การขัดแย้งระหว่างคนสองคน ไปจนถึงการขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีขนาดใหญ่ หลักการจัดการดูเหมือนจะละม้ายกันไม่น้อย เพียงแต่เปิดข้อมูลข้อเท็จจริง (แท้ๆ) มาคุยกัน รับฟังกันอย่างลึกซึ้งแท้จริง และลดการใช้อารมณ์ส่วนเกินทั้งหลาย
คำถามอยู่ที่ว่า “แล้วทำไมคนจึงขัดแย้งกัน” บ้างก็อาจบอกว่าเพราะความเห็นไม่ตรงกัน เพราะมีกรอบคิดแนวคิดไม่เหมือนกัน เพราะไม่ชอบหน้ากัน เพราะผลประโยชน์ขัดกัน เพราะพอดีวันนั้นหงุดหงิดจากเรื่องอื่นมาอารมณ์ไม่ดี ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งที่เห็นได้ชัดหรือแฝงอยู่ก็ตาม ล้วนมีความไม่เหมือนกันของสองฝ่ายเป็นอย่างน้อย จึงได้ “ขัดกัน” บนความไม่เหมือนกัน ซึ่งแก้ได้ง่ายมากๆ ถ้าทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนและยอมรับความแตกต่างกันได้จริงๆ หรือที่คำฮิตคือ “หันหน้าเข้าหากัน”
บางครั้งเราก็นึกไม่ถึงว่าคนดีๆ ด้วยกันทั้งนั้น ก็ไม่เห็นมีผู้ร้ายที่ไหน แต่ทำไมจึงขัดแย้งกัน ไหนบอกว่าหันหน้าเข้าหากันคุยกันแล้วก็จบ ปัญหามีในหลายขั้นตอน เป็นต้นว่าตั้งแต่ไม่ยอมมาคุยกัน จะด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัวอยู่ หรือมาคุยกันแต่ยังพกความเชื่อเดิมของตนอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ได้เปิดใจรับของใหม่ หรือแนวคิดของผู้อื่นอย่างแท้จริง หรือรับข้อมูลเข้ามาเหมือนกัน แต่ข้อมูลนั้นๆ ถูกแต่งแต้มสีสันจากตัวเราเข้าไปอีก หรือที่เราอาจเรียกว่า “คิดเกิน”
เราอาจพบว่าเรามักจะคิดเกินจากประสาทรับรู้ของเราอยู่บ่อยๆ บางท่านก็เรียกว่าปรุงแต่ง (สังขาร) แต่ภาษาเรากันเองง่ายๆ น่าจะเรียกว่าคิดเกินที่ปรากฏอยู่จริง ก็น่าจะพอถูไถได้ เห็นแค่นี้ แต่ตีความออกไปอีกมาก ซึ่งก็อาจเกิดจากข้อมูลเก่าๆ ที่เคยเห็นมา (และอาจเติมแต่งไปตั้งแต่ตอนที่เคยเห็น) หรือเกิดจากการแต่งแต้มสีสันให้ฉูดฉาดขึ้นด้วยจิตใจของเราเองตอนนี้ การแต่งเรื่องให้เปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลจริงนั้น อาจเกิดขึ้นได้หลายทาง ทั้งที่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัวหรือที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก
ส่วนที่รู้ตัวเห็นได้ไม่ยาก จำได้ก็หยุดเสีย แต่ส่วนที่เรามักไม่ทันคือส่วนที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจำเป็นต้องกลับไปพิจารณาอีกทีหลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไปแล้วอย่างใจเป็นกลาง เพื่อจะได้ค้นหาสิ่งครอบงำจิตใจ (กิเลส) ตัวที่ยังเหลืออยู่ในใจเรา บางคนอาจหมั่นไส้อิจฉาใครมานานแล้ว (ฐานโทสะ) ทำไมชีวิตฉันจึงไม่เป็นแบบเขา ฯลฯ ฝังลึกลงไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ตัว พอมีเหตุการณ์อะไรมากระทบทำให้ใครคนนั้นดูไม่ดีหน่อย จิตใต้สำนึกอาจกระโจนใส่สีตีความให้โดยไม่ทันรู้ตัว ยิ่งใครสมองฉลาดๆ อาจหาข้อมูลสนับสนุนมากมายดูน่าเชื่อถือจากข้อมูลจริงที่มีอยู่นิดเดียวก็ได้ ตัวอย่างในสังคมก็มี เช่น กรณีที่ดารายอดนิยมมีข่าวฉาว นักการเมืองมือสะอาดมีเรื่องต้องสงสัย ลองแอบดูใจเรา ว่าแอบสะใจหรือเปล่าที่สีขาวมีแต้มดำ “โธ่ ที่แท้ก็ไม่ดีไปกว่าเรา” แล้วก็สบายใจไป อาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่าสุดท้ายข้อเท็จจริงจะออกมาเป็นอย่างไร
บางคนก็ชอบคนนี้มาก อยากรู้จักสนิทสนมมากกว่านี้ (ฐานโลภะ) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เสียที พอมีโอกาสก็เรียกร้องความสนใจกันโดยการก่อเรื่อง เหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจ สร้างพันธะผูกพันกันขึ้นมาได้มากกว่ารู้จักเพียงผิวเผินหรือไม่รู้จักกันเลย ดีกรีที่แรงๆ ก็มีให้เห็นได้ตามข่าวหนังสือพิมพ์จำพวกทำร้ายเพราะรัก เป็นต้น บางคนก็มองอะไรไม่เห็นมากนักนอกจากตัวเอง (ฐานโมหะ) อาจมีทิฐิมานะสูงหน่อย มักจะเห็นว่าอะไรใช่ไม่ใช่ ลึกๆ คือฉันเหนือกว่าพวกเธอทั้งหลาย ที่พวกเธอทำนั้นไม่ได้เรื่องไม่ถูกไม่ควร ฯลฯ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า อีโก้แรง นี่ก็เป็นอีกเหตุที่พบบ่อยในความขัดแย้งโดยทั่วไป และยังมีอีกหลายแนว แต่ไม่ว่าจะแนวไหน ก็ก่อเหตุความขัดแย้งให้เกิดได้ ...โดยที่คนก่อเหตุเองก็อาจรู้ไม่ทันสิ่งลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวด้วยซ้ำ
จากฐานสิ่งเคลือบแฝงเหล่านี้ บางครั้งเราอาจเผลอให้มาครอบงำจิตใจเราได้ ทำให้การรับรู้ต่างๆของเราบิดเบือนไป เมื่อถามหาจริงๆ ว่ามีเรื่องอะไรกันหรือ หลังจากพายุสงบไปแล้ว มาดูกันอีกที อาจพบว่า “เรื่องแค่นี้เองนะหรือ” ส่วนเกินที่จิตเราปรุง สร้าง เติม แต่ง ขึ้นมานั้นมากมายเหลือเกิน พอเรารู้ไม่ทัน เราก็อาจพลอยหลงเชื่อไปกับภาพมายาเหล่านั้น นึกว่าเป็นเรื่องจริงไปด้วย
การมีจินตภาพเป็นสิ่งงดงามสำหรับหลายกรณี แต่สำหรับการมีชีวิตอยู่แบบไร้ทุกข์นั้น มีข้อควรระวังในการมีอยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่า เรารู้ทันกับมายาเหล่านั้นแค่ไหน ถ้าเราแต่ละคนจินตนาการหรือสร้างภาพให้เกิดขึ้นในใจอยู่เป็นประจำ บ่อยครั้งขึ้นจนเป็นอุปนิสัย สิ่งที่เห็นสิ่งที่สัมผัสก็อาจบิดเบือนไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่ง อาจไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส ไม่ได้สัมผัสต่างๆ อย่างที่เกิดขึ้นจริง โอกาสที่ใจเราจะแปลงสารที่มากระทบกับเราทั้งหลายเหล่านี้ให้ออกไปในรูปที่เราต้องการ (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ได้ก็สูงขึ้น กลายเป็นพฤติกรรมประจำ เหมือนเราใส่แว่นสีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เห็นโลกนี้สีไม่เหมือนของจริง จนถึงขนาดคิดว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นไม่รู้เรื่องนี้เหมือนฉันหรอก ฯลฯ ตามที่ใจเราสร้างมายาขึ้นมา
ที่เขียนมานี่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนเห็นความเป็นจริงได้ตลอดเวลานะคะ ยังพลาดอยู่เหมือนกันจึงเขียนขึ้นมาอย่างน้อยก็ใช้เตือนตัวเอง ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่แล้วก็มีเผลอมีพลั้งกันได้ เห็นกันได้ในแต่ละวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการที่เน้นเรื่องพัฒนาจิตใจหรือวงการศาสนา แต่ไม่ว่าใครจะพลาดจะพลั้งกันอย่างไร ถ้าเขาเหล่านั้นมุ่งมั่นที่จะพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ขึ้น ก็น่าชื่นชมยินดีแล้วหรือเปล่า ที่พลาดกันอยู่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร เหมือนที่ครูบาอาจารย์บางท่านเคยบอกผู้เขียนในงานประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งซึ่งมีคนพูดสร้างความหงุดหงิดให้กับคนฟังหลายร้อยคน ว่า “ก็อย่างนี้แหละลูก คนส่วนใหญ่ที่เราเจอก็ไม่ใช่พระอรหันต์” จริงซินะคะ ขอบพระคุณค่ะ
Labels: มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
0 Comments:
Subscribe to:
Post Comments (Atom)