โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๐

เชื่อหรือไม่ว่ารูปแบบการสัมมนาบุคลากรในหลายๆ องค์กรเดี๋ยวนี้ ได้กลายเป็น “ยาขม” ของคนทำงานจำนวนมาก เพราะถูกทำให้เป็นเวทีแก้ตัวของผู้บริหารที่เรียกร้องให้ลูกน้องทำสิ่งต่างๆ มากมายจนเกินพอดี บ้างเป็นเวทีตะล่อมกล่อมเกลาให้บุคลากรอยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น บ้างก็กลายเป็นเวทีให้เกิดการประจบสอพลอจนออกนอกหน้า ซึ่งหลายองค์กรก็มักทำตามๆ กันมา จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเสียแล้ว ครั้นจะทำอะไรที่แหวกแนวออกไปก็กลัวว่าเจ้านายจะไม่ปลื้ม บางคนเกรงว่าหากเสนอไปแล้วตัวเองจะต้องมาแบกรับ ก็เลยทนๆ กันไป การสัมมนาบุคลากรทุกวันนี้ ถ้าไม่เล่นเกมบ้าบอคอแตก ก็นั่งอุดอู้อยู่แต่ในห้องประชุมทั้งวัน จนไม่รู้ว่าจะไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดให้เมื่อยทำไม

ผู้เขียนเพิ่งกลับมาจากการสัมมนาบุคลากรของโครงการฯ ที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นการสัมมนารูปแบบใหม่ที่อาจจะต่างไปจากขนบเดิมๆ ที่หลายคนคุ้นเคย แต่ก็ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้และรู้จักกันและกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราได้แบ่งปันทุกข์สุขร่วมกัน

แม้บางคนอาจจะรู้สึกแปลกๆ ทว่าการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ก็ช่วยให้เขาเห็นแง่มุมที่ต่างออกไป

ก่อนไปมีน้องๆ แอบบ่นว่าไม่อยากไปเลย เพราะไม่อยากเครียด ไม่อยากนั่งอุดอู้ในห้องประชุม แอบหลับก็ไม่ได้ กินข้าวก็ไม่อร่อยเพราะมีผู้ใหญ่ไปด้วย ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะหย่อนแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ให้คนในองค์กรได้ทดลองชิม ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะถึงไม่เวิร์กก็ยังได้เรียนรู้อยู่ดี

ผู้เขียนเริ่มร่างกำหนดการคร่าวๆ เพื่อเชิญชวนให้น้องๆ อยากไป โดยใส่กิจกรรมหลักๆ ไว้ แล้วให้ทุกคนได้มีโอกาสเพิ่มเติมสิ่งที่ตนเองอยากทำลงไปด้วย จนดูเหมือนโปรแกรมพักผ่อนสุดสัปดาห์เข้าไปทุกที น้องบางคนแอบกระซิบถามว่า “พี่จะทำตามนั้นจริงๆ หรือเปล่า” ผู้เขียนก็ตอบว่า “ทำไมจะไม่ได้ล่ะ” น้องคนเดิมยังขมวดคิ้วไม่แน่ใจ “แล้วเค้า (แหล่งทุน) จะยอมให้เราทำแบบนี้เหรอ” ผู้เขียนหัวเราะพลางตอบไปว่า “ก็ถ้าโปรแกรมใหม่ที่ว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการสัมมนาอย่างที่เราต้องการ มันจะมีปัญหาตรงไหน”

หลังจากที่ส่งเมล์เชิญชวนคณะทำงานและกรรมการทุกท่านไปสัมมนาด้วย กรรมการบางท่านบอกว่า “กิจกรรมน่าสนุกจัง โดยเฉพาะหนังสือทำมือเนี่ย พี่ไม่เคยทำเลย อยากทำบ้างจัง”

“ใครออกแบบกิจกรรมอะ น่าสนุกเนอะ แล้วพวกเราทำกันเองเหรอ” สารพัดคำถามและข้อสงสัย ซึ่งเป็นสัญญาณบวกว่า การได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ช่วยสร้างความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้นได้แบบง่ายๆ

ผู้เขียนแอบยิ้มในใจ “ได้การล่ะ” ถือว่าสิ่งที่ตั้งใจบรรลุไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะกิจกรรมจะวิเศษเลอเลิศขนาดไหน แต่ถ้าคนเข้าร่วมไม่อยากไปล่ะก็เป็นอัน “จบกัน” มาสัมมนาเที่ยวนี้ผู้เขียนตั้งวัตถุประสงค์ไว้เพียง 2 ข้อ ข้อแรก “มาจูนเครื่องให้ตรงกัน” หรือใกล้เคียงกันให้มากที่สุด เพราะบางคนรับผิดชอบเฉพาะส่วนอาจมองไม่เห็นภาพรวม บางคนเห็นภาพรวมแต่ไม่รู้รายละเอียด ก็เลยไม่รู้จะช่วยกันอย่างไร เพราะฉะนั้นการรับรู้เป้าหมาย ทิศทางและแนวทางในการทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการสร้างทีมงานและการบรรลุเป้าหมายของโครงการ วัตถุประสงค์ข้อสอง “มารู้จักกันมากขึ้น” โดยสร้างสัมพันธภาพในแนวราบ เพราะบ่อยครั้งเวลามุ่งผลสำเร็จของงานเราอาจเผลอใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์ที่เป็นทางการในการกำกับดูแลจนละเลยความรู้สึกหรือมิติด้านจิตใจและจิตวิญญาณของคนทำงานโดยไม่รู้ตัว การสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการจะช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ได้ ทำให้ “รู้เขา รู้เรา” มากขึ้น เป็นการเสริมศักยภาพในการทำงานและเพิ่มพลังบวกให้กับคนในองค์กร

จากวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อ ผู้เขียนเอามาออกแบบกิจกรรมสัมมนา 2 วัน แบบชิลชิล คือ กำหนดช่วงเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโครงการด้วยคำถามง่ายๆ เพียง 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย ได้ชื่นชมธรรมชาติ รับประทานอาหารร่วมกัน ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเอง และทำอะไรบางอย่างร่วมกัน เช่น ทำหนังสือทำมือ วาดรูป ระบายสีน้ำบนปกหนังสือด้วยตนเอง ฯลฯ

ผู้เขียนชอบกิจกรรมทำหนังสือทำมือแบบเย็บกี่ ซึ่งทำให้เรารู้จักเพื่อนร่วมงานของเรามากขึ้นแบบไม่รู้ตัวหรือโดยไม่ต้องตั้งใจ กิจกรรมนี้แบ่งให้พวกเราทำกันเป็นกลุ่มๆ ละ 2-3 คน แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทำกันไป แซวกันไป สลับกับเสียงหัวเราะเป็นช่วงๆ

ระหว่างทำบางคนก็นั่งคุยกระหนุงกระหนิง บ้างก็แหย่เพื่อนตลอดเวลา เห็นถึงความละเอียดลออของเพื่อนคนหนึ่งที่ใช้ไม้บรรทัดวัดระยะให้เท่ากัน ในขณะที่เรากะๆ เอา เห็นอีกคนที่ดูตั้งใจมากจะวาดรูประบายสีบนปกก็ต้องทดลองวาดในเศษกระดาษก่อนวาดจริง บางคนบ่นแล้วบ่นอีกว่าวาดไม่สวย เห็นแต่ข้อติอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เพื่อนบอกว่าสวยแล้ว บางคนตวัดพู่กันเพียงไม่กี่ทีดูเรียบง่ายแต่ซ่อนความเท่ห์ไม่เหมือนใคร บางคนละเลงไปดูอารมณ์ตัวเองไปเรื่อยๆ บางคนไม่คิดมากตวัดซ้ายทีขวาทีไปแบบไร้จุดหมายดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร แต่สีสันกลับสะดุดตาชวนมอง บางคนสเก็ตซ์ภาพได้สวยทั้งที่ไม่เคยเรียนศิลปะ ทุกคนล้วนแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลิตหนังสือทำมือเล่มเดียวในโลกขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ได้เห็นบุคลิกท่าทางและอุปนิสัยในการทำงานของแต่ละคน รวมทั้งได้เห็นน้ำใจและความเอื้อเฟื้อของเพื่อนร่วมงานด้วย

ตอนแรกผู้เขียนคิดในใจว่า พอทำเสร็จแล้วทุกคนก็คงเลิกสนใจ ที่ไหนได้ ปรากฏว่าแต่ละคนกลับเจียดเวลามาตกแต่งผลงานของตนเองให้ดูสวย คนที่ทำเสร็จแล้วก็เอามาแสดงให้เพื่อนดู ชื่นชมกันไปมา จนคนที่ไม่คิดว่าจะทำก็ยังอยากมีเป็นของตัวเองบ้าง

ส่วนกิจกรรมสุนทรียสนทนาในช่วงกลางคืนก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบ เรานั่งคุยกันในศาลาริมน้ำท่ามกลางแสงดาวและแสงเดือน แต่ละคนบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในชีวิต ความสุขและความทุกข์ในปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ได้รู้จักที่มาที่ไปของกัน เห็นถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติในชีวิต สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ได้รับรู้ถึงสัมพันธภาพในครอบครัวของบางคนที่ไม่ได้หวานชื่นตลอดเวลา ได้รับรู้ถึงจิตวิญญาณกล้าหาญและพลังใจที่เข้มแข็งยามเมื่อเผชิญความเจ็บป่วย ได้ชื่นชมความดีงามท่ามกลางกองทุกข์ของชีวิต ได้สัมผัสความรู้สึกที่แบกรับแต่ไม่ท้อถอยของคนตัวเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม ได้เห็นถึงความถ่อมตนและศิโรราบให้กับความไม่รู้ ที่สำคัญทำให้เราค้นพบว่า ทุกคนล้วนแต่น่าชื่นชมและเคารพได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว อดคิดไม่ได้ว่าบ่อยครั้งที่เราก็สนใจงานมากกว่าคน คาดหวังให้เขาทำงานให้ดีที่สุดเพื่ออุดมคติที่เราสร้างขึ้น แต่เรากลับทำร้ายจิตใจเขาเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้คือเพื่อนร่วมทุกข์ คือมิตรร่วมทางที่เราควรใส่ใจและดูแล

1 Comment:

  1. อัญชลี อุชชิน said...
    ชอบจัง
    นวลๆ นุ่มๆ กินใจ

    เห็นด้วยกับแนวคิด ไปโดยสมัครใจ และเต็มใจไปประชุม

    สัปดาห์ก่อน ผู้บริหารของ สคส.บอกเลิกการเป็นวิทยากรให้ สำนักงาน ก.พ.ร. เพราะใช้วิธีเกณฑ์กันมาฟัง บทเรียนการจัดการความรู้ในองค์กรต้นแบบ ... เข้าร่วมกันแบบขอไปที มาตามคำสั่งนาย หรือมาตามบทบาทหน้าที่ ... ไม่ได้มาด้วยใจทีต้องการเรียนรู้

Post a Comment



Newer Post Older Post Home