โดย วรรณา จารุสมบูรณ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐

ความไม่ชอบ ความรู้สึกไม่พอใจ และความโกรธ มักเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ต่างฝ่ายต่างกำลังเคร่งเครียดอยู่กับงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย บางคนเลือกแสดงออกด้วยความก้าวร้าวรุนแรง พูดโดยไม่คิด บางคนเลือกเก็บกดความรู้สึกเหล่านั้นไว้ ในขณะที่บางคนแอบไปนั่งร้องไห้เพื่อระบายความอึดอัดใจ หากเราปล่อยให้บรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ ในที่ทำงาน ในไม่ช้าความเบื่อหน่าย ความขุ่นมัว ความเกลียดชังก็จะหยั่งรากลึกในใจของเรา จนมองไม่เห็นว่าเราต่างกำลังทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกันอยู่ และคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดก็คือตัวเราเอง

การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจึงเป็นเรื่องที่คนในองค์กรควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่งานจะออกมาดีในขณะที่คนทำงานไม่มีความสุข มีแบบฝึกหัดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากและประยุกต์มาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Judy McAllister เมื่อครั้งเข้าอบรม Transformation Game เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณ Judy ได้ให้บทเรียนที่สำคัญกับผู้เขียน 3 เรื่องใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่ง การรับรู้คุณค่าแห่งตนด้วยการชื่นชมผู้อื่นและชื่นชมตนเองเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน สอง การสร้างสันติในใจด้วยการให้อภัยกับสิ่งที่ไม่ดีหรือความน่าเกลียดในตัวเรา ช่วยให้เรากล้าเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นอย่างคนที่ตื่นรู้ ไม่หลีกหนี และสาม อย่าละเลยที่จะกล่าวแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจกับคนที่เรารักหรือใกล้ชิด เพราะเป็นโอกาสในการปลดปล่อยตนเองและผู้อื่นจากกรงขังแห่งอัตตาตัวตน ไม่ว่าจะเป็นความในใจ การกล่าวคำขอโทษ หรือการกล่าวคำขอบคุณ

น่าแปลกใจที่เรามักจะกระทำสิ่งเหล่านี้กับผู้ที่เป็นอาคันตุกะได้อย่างง่ายดาย แต่มักเขินอายยามต้องแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงกับกับคนที่เรารัก คนที่สัมพันธ์ใกล้ชิด หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เคยมีเรื่องขุ่นเคืองใจ

ผู้เขียนประดิษฐ์ไพ่ปริศนาขึ้นมา 4 ใบ โดยให้แต่ละคนเลือกไพ่เพียง 1 ใบ และกระทำตามคำขอในไพ่ที่เลือกได้ทีละคน ใบที่ 1 Appreciation = การชื่นชม (ให้เลือกชื่นชมคนใดคนหนึ่งในกลุ่มหรือทั้งหมด หลังจากนั้นให้ชื่นชมตัวเอง ) ใบที่ 2 Forgiveness = การให้อภัย (ให้เลือกคนใกล้ชิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1 คน เพื่อกล่าวคำขอโทษหรือขอให้เขาให้อภัย และอีก 1 คน ในกลุ่มหรือทั้งหมด) ใบที่ 3 Thank You = การขอบคุณ ( ให้เลือกคนใกล้ชิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1 คน เพื่อกล่าวแสดงความขอบคุณ และอีก 1 คนในกลุ่มหรือทั้งหมด) และใบที่ 4 Angel = นางฟ้า ( สามารถเลือกที่จะกระทำด้วยตนเองหรือขอให้ผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ 1 อย่าง โดยจะมีผลต่อเนื่องไป 3 เดือน )

ก่อนที่แต่ละคนจะเลือกและกระทำตามที่ไพ่บอก ผู้เขียนได้ขอให้ทุกคนเคารพและร่วมเป็นสักขีพยานในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้เราให้โอกาสผู้อื่นในการทำแบบฝึกหัดนี้ด้วยการรับฟังอย่างมีใส่ใจ ไม่ตัดสิน และให้โอกาสตัวเราเองโดยเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้เป็นเพียงผู้เลือกเท่านั้น ไพ่เหล่านี้ก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน จึงขอให้เราอธิษฐานจิตให้ไพ่ที่จำเป็นสำหรับเราเดินทางมาถึงเราในช่วงที่เหมาะสม ช่วยให้เราได้เติบโตและมีเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง

ผู้เขียนเคยลองนำกิจกรรมนี้ไปใช้ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนาบุคลากร และพบว่าเมื่อไพ่ใบแรกถูกเปิดขึ้นและเดินทางจนถึงใบสุดท้าย ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าทุกคนต่างต้องการไพ่ทั้ง 4 ใบนี้ อยู่ที่ว่าจะเริ่มจากไพ่ใบไหนเท่านั้น

“ต้น” เปิดได้ไพ่ที่ให้กล่าวคำขอโทษหรือขอให้คนใดคนหนึ่งให้อภัย เขากลับเริ่มต้นจากคำกล่าวขอบคุณก่อนเพราะเพิ่งตระหนักว่าเขาได้รับสิ่งดีๆ จากเพื่อนร่วมงานคนนี้มากมาย แต่เขากลับไม่ค่อยใส่ใจ จนบางครั้งก็อาจพูดจาออกไปไม่คิด เขาขอโทษและหวังว่าเพื่อนจะให้อภัยและตักเตือนเขาด้วยเวลาที่เขาทำอะไรไม่ดีโดยไม่รู้ตัว ส่วนคนใกล้ชิดเขาเลือกขอโทษคุณแม่ที่เขามักจะใช้อารมณ์และวาจาไม่น่ารักกับท่านเสมอๆ จนกลายเป็นอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ในใจรักคุณแม่มาก ผู้เขียนถามว่า หากคุณแม่อยู่ตรงหน้าเขาในขณะนี้เขาอยากพูดอะไร เขานิ่งเงียบอยู่กับตนเองชั่วขณะ ก่อนที่จะพูดประโยคสั้นๆ แต่กินใจว่า “ผมรักแม่”

“เก๋” เปิดได้ไพ่ “ขอบคุณ” เธอเลือกกล่าวขอบคุณพี่คนหนึ่งที่อาวุโสกว่าเธอมาก เธออยากขอบคุณที่พี่คนนี้ให้เกียรติเธอ ด้วยการขอโทษเธอในที่ประชุมเมื่อรับรู้ว่าได้มอบหมายงานบางอย่างที่ทำให้เธอต้องเป็นทุกข์ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกดีมาก รู้สึกว่าตนเองมีค่าขึ้นมา ส่วนคนใกล้ชิดเธอเลือกขอบคุณเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ถือสาเธอ ไม่โต้ตอบเวลาที่เธออารมณ์ไม่ดี ขุ่นมัว และชอบโวยวายใส่

“อ้อม” เปิดได้ไพ่ “การชื่นชม” เธอใช้เวลาไม่นานเมื่อเริ่มกล่าวชื่นชมเพื่อนร่วมงานทุกคนที่มีน้ำใจและช่วยเหลือเธออย่างจริงใจ แต่เธอใช้เวลาครู่ใหญ่ก่อนจะบอกว่าเธอนึกไม่ออกว่าจะชื่นชมอะไรในตัวเอง ผู้เขียนและทุกคนให้เวลาเธอได้ขบคิดใคร่ครวญอย่างเงียบๆ ในที่สุดเธอก็พบว่า เธออยากชื่นชมตัวเองที่เธอสามารถก้าวข้ามความรู้สึกว่าแม่ไม่รักได้ เธอเล่าว่าความรู้สึกนี้มันเกาะกุมจิตใจเธอมานานตั้งแต่เล็กๆ และเธอเพิ่งเข้าใจว่าคนเป็นแม่มีวิธีแสดงความรักไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า แม่ไม่รักเธอ ซึ่งมันทำให้เธอได้ใช้เวลาอยู่กับแม่อย่างมีความสุขขึ้น

“ปาน” เปิดได้ไพ่ “นางฟ้า” เธอขอให้น้องคนหนึ่งในทีมเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงที่มีงานฝึกอบรมแทนการขลุกอยู่กับงานเอกสารและนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง เพราะอยากให้น้องได้ให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้และค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งคำขอของเธอก็ได้รับการตอบรับ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่เราทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าเหลือเกินในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะทุกคนได้ถ่ายทอดความรู้สึกอย่างจริงใจ ได้เห็นประกายตาที่อ่อนโยน ชื่นชม ยอมรับ และกล้าเผชิญกับบางเรื่องราวที่อยู่ในใจ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในความดีงามของกันและกัน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ ที่ไม่มีเจ้านายและลูกน้อง ไม่มีผู้ผิดและผู้ถูก มีแต่เพื่อนที่ยอมรับ เข้าใจ และพร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกัน

1 Comment:

  1. Anonymous said...
    สวยงามเหมือนคนเขียนเลยค่ะ

    น้อย

    ป.ล. คนโพสต์ก็หล่อนะ.. แถมใจดีด้วย.. ขอบคุณที่เฝ้าโพสต์บทความดีๆ ให้อ่านกันได้แบบปรับทันการณ์ตลอดนะจ๊ะ.. คุณหนุ่ม

Post a Comment



Newer Post Older Post Home