โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๐
วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล เป็นวันที่นักศึกษามหิดลช่วยกันจำหน่ายธง หารายได้สมทบทุนกิจการเพื่อคนไข้ผู้ด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช ความคิดและการกระทำช่วยเหลือคนไข้ผู้ยากไร้เช่นนี้ เป็นความคิดที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมนี้เป็นการแปลงคำขวัญของมหิดล “อตฺตานํ อุปมํ กเร” อันมีความหมายโดยรวมว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มาทำให้เป็นรูปธรรมโดยการปฏิบัติที่แสดงความเมตตากรุณาที่จะรักและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากให้ได้พ้นความทุกข์ ให้มีโอกาสหายโรคและสุขสบายได้มากขึ้นวิธีหนึ่ง
การเข้าใจผู้อื่นแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการตระหนักถึงความคิด ความรู้สึก จิตใจและสถานการณ์ของผู้อื่น อาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้การฟังแบบลึกซึ้ง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผู้พูดและผู้ฟังวางใจซึ่งกันและกัน มีเมตตาจิต และปรารถนาดีต่อกัน ที่จะฟังเพื่อเรียนรู้ เป็นวิธีการเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ถ้ายังไม่มีโอกาสพูดและฟังอย่างลึกซึ้ง ก็อาจใช้วิธี จินตนาการอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา (sympathetic imagination) เป็นการคิดนึกเอาว่า ถ้าเราเป็นเขา ได้รับการกระทำหรือคำพูดเช่นนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร จินตนาการเป็นการสร้างสรรค์เริ่มคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น นอกเหนือจากการคิดที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการลดละ ลืมความสำคัญของตน เพื่อเห็นคุณค่าและความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ได้แก่ “passing over” คือการหยุดหรือวางความเชื่อ และเหตุผลของตนไว้ชั่วเวลาหนึ่ง เป็นการละวางตัวตนซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าข้างตนเองว่าถูกที่สุด เหมาะสมที่สุด แล้ว “ก้าวข้าม” ไปทดลองปฏิบัติตามความเชื่อ เหตุผลหรือวิธีการของผู้อื่น เพื่อจะได้เข้าใจเงื่อนไข ปัจจัยที่ทำให้เขาคิดและเชื่อต่างจากตน เมื่อก้าวข้ามไปมีประสบการณ์นั้น จนเข้าใจ “แรงจูงใจ” และ “เงื่อนไขปัจจัย” ของผู้อื่นแล้ว จึง “ก้าวกลับ” (passing back) มายังจุดยืนเดิม และความเชื่อเดิมของตน วิธีนี้เป็นข้อเสนอของ John Dunne นักการศาสนาชาวอังกฤษ ที่แนะนำให้ศาสนิกชนต่างศาสนาได้ทดลอง “วาง” ความเชื่อ และการปฏิบัติของตนไว้ชั่วคราว แล้วลองเชื่อ ปฏิบัติ และทำทุกอย่างที่กำหนดไว้ในความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น ให้มีประสบการณ์ตรงเพื่อเข้าใจแรงจูงใจ อารมณ์ ความรู้สึกหรือเงื่อนไขของผู้อื่นที่เชื่อต่างจากตน การเรียนรู้ด้วยวิธีก้าวข้าม และก้าวกลับมาเช่นนี้ อาจทำให้ศาสนิกชนที่เชื่อต่างกันได้เข้าใจจุดยืนที่ต่างกัน และพัฒนา “ความเข้าอกเข้าใจ” และ “วางใจ” ต่อท่าทีและการปฏิบัติของผู้อื่นมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการเรียนรู้โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยมิเพียงแค่จินตนาการ แต่ได้ทดลองปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงนั่นเอง
เมื่อครั้งสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานอาสาสมัครกับเพื่อนชาวคริสต์ กลุ่ม Diakonie ทำโครงการ “รถเที่ยงคืน” (midnight bus) เพื่อรวบรวมอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ไปแจกจ่ายกับบุคคลผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย (homeless) อาสาสมัครจะลงชื่อทำงานวันละ ๓ คน อุปกรณ์การทำงานประกอบไปด้วยรถตู้ ๑ คัน ด้านหลังรถจัดเป็นที่วางหม้อต้มน้ำร้อนสำหรับชงน้ำชา กาแฟ และซุปละลายทันทีพร้อมถ้วยกระดาษ เรานัดพบกันประมาณ ๑ ทุ่ม หน้าร้านขายขนมปังและเค้ก เพื่อรับบริจาคขนมที่ร้านต้องการทิ้ง เพราะเหลือจากการขาย แต่ว่ายังสดและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานได้ เนื่องจากร้านต้องการรักษาคุณภาพ จึงผลิตขายวันต่อวัน เมื่อได้ขนมแล้วก็จะขับรถตระเวนไปรอบใจกลางเมือง บริเวณที่มีผู้เที่ยวกลางคืนออกมาหาความสำราญ ผู้ไร้บ้านเหล่านี้จะมายืนรอเพื่อขอเศษเงินจากนักเที่ยวกลางคืนทั้งหลาย จึงเป็นโอกาสให้ได้แจกชา กาแฟ และซุปร้อนๆ เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บยามค่ำคืน
ในคริสต์ศาสนามีความรักแบบ agape ที่เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข สำหรับชาวพุทธอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะพุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องความรักความเมตตาที่ไม่มีขอบเขตและประมาณต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเช่นกัน และผู้เขียนได้เพิ่มพูนการเรียนรู้อย่างยิ่งจากกิจกรรมนี้ เพื่อนชาวคริสต์บอกว่าโครงการรถเที่ยงคืนเป็นเหมือนการแบกกางเขน (carry the cross) เพื่อตัดตัวตน อดทนต่อความลำบาก ความเหนื่อยยากของตนเอง เพื่อบริการและช่วยเหลือผู้อื่น ดังที่พระเยซูเจ้าศาสดาในศาสนาคริสต์ได้ปฏิบัติแล้ว งานอาสาสมัครครั้งนี้ของผู้เขียนจึงเสมือนเป็นการ passing over ได้เรียนรู้การเสียสละ แรงจูงใจ และวิธีปฏิบัติเพื่อแสดงความศรัทธาต่อคำสอนทางศาสนาของอาสาสมัครชาวคริสต์ เพราะงานนี้ อาสาสมัครจะทำทุกวันถึงเที่ยงคืน ขับรถตู้ตระเวนหาผู้ไร้ที่อยู่ ซึ่งเป็นคนยากจน คนจรจัด บางคนก็ติดเหล้าและป่วย บ้างก็นอนหลบลมหนาวซุกตัวอยู่ใต้สะพานหรือมุมตึก อาสาสมัครต้องเดินจากรถลงไปปลุกและยื่นน้ำชาและซุปร้อนๆ ให้มีกำลังและความอบอุ่นเพิ่มขึ้น เป็นงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณตามแนวคริสต์ศาสนา
ข้อสังเกตที่ได้เมื่อผู้เขียน passing back กลับมาอยู่ในเงื่อนไขของตนเอง ได้พบว่าการร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า แบกกางเขน ของเพื่อนชาวคริสต์ได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้นกว่าการอ่านจากหนังสือและการเรียนในชั้นเรียน เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมและได้สัมผัสกับ “ความสุขภายใน” ที่ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย กับทั้งการเป็นอาสาสมัครนี้ไม่มีค่าตอบแทน ต้องทำงานท่ามกลางอากาศหนาว และบางครั้งก็เสี่ยงภัยอันตราย เพราะผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ใช้เศษเงินที่ขอได้ไปซื้อเหล้า เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย คนที่ติดเหล้าเหล่านี้อาจทำอันตรายโดยเฉพาะผู้หญิงอาสาสมัครที่เดินในที่เปลี่ยว
การเรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนต่างศาสนาด้วยการมีส่วนร่วมให้ได้ประสบการณ์ตรงโดยการ passing over เพื่อเข้าใจแรงจูงใจ ความเสียสละและความจงรักภักดี ความเชื่อและศรัทธาของเขา ด้วยวิธีนี้ เป็นตัวอย่างที่อยากเรียกว่า การเรียนรู้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผ่านการทดลองกระทำ อาจนับเป็นการทำสานเสวนาระหว่างศาสนาประเภทหนึ่ง เป็น dialogue of experience ที่ผ่านประสบการณ์ตรง เป็นกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่ต่างกัน แต่ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้
หากบุคคลในสังคมได้ผ่านประสบการณ์ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ คงเป็นที่หวังได้ว่า ความเข้าใจและความสงบสุขจะเกิดอยู่ไม่ไกลจากดวงจิตของเรา และสันติสุขที่พวกเราเรียกร้องจะมาสู่สังคมไทยได้ในที่สุด
Labels: ปาริชาด สุวรรณบุบผา
น้อยค่ะ
poom :)