โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๑
ในหนังเชิงสารคดีเรื่อง “From Mao to Mozart: Isaac Stern in China” นักไวโอลิน Isaac Stern ได้เดินทางเข้าไปสอนดนตรีคลาสสิกให้เหล่านักเรียนจีนเพื่อให้พวกเขาสามารถเล่นดนตรีได้อย่างเข้าถึงแก่นแท้และแง่งามของดนตรี ซึ่งไม่ใช่ฝึกฝนให้เกิดเพียงทักษะการเล่นเท่านั้น แต่สามารถเล่นออกมาจากแรงขับของอารมณ์ความรู้สึกภายใน สามารถอ่านและเล่นตามตัวโน้ตได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ประพันธ์ เทคนิคในการโค้ชของ Stern น่าสนใจหลายอย่าง ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ เขาจะคอยให้กำลังใจนักเรียนได้ลองเล่นออกมาให้เห็นเพื่อที่เขาจะได้ช่วยชี้จุดบกพร่องและปรับแก้ให้ หลายครั้งนักเรียนจะทั้งกลัว เกร็ง และเขินอายที่จะเล่นออกมาต่อหน้าครูซึ่งเป็นนักไวโอลินระดับพระกาฬ แต่เขาจะใช้อารมณ์ขันและความตั้งใจจริงกระตุ้นให้นักเรียนของเขาปลดปล่อยความสามารถที่แท้จริงออกมา ช่วงไหนเล่นได้ดีก็ชม ช่วงที่ควรปรับก็บอกตามตรง แรกๆ ก็ฝืดอยู่บ้างแต่ภายหลังที่เหล่านักเรียนเริ่มข้ามพ้นพรมแดนแห่งความกลัวภายในบางอย่าง ศักยภาพที่แท้จริงก็ปรากฏออกมาอย่างน่าทึ่ง
จากหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์การเรียนในระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ประถมจนถึงอุดมศึกษา เพื่อนๆ กับผมเรียนหนังสือภายใต้เงาของความกลัวภายในบางอย่าง ไล่เรียงตั้งแต่เวลาครูถามในห้องก็กลัวจะตอบคำถามได้ไม่ถูกต้องหรือดูไม่ฉลาด ซึ่งจะเป็นการแสดงความโง่ออกมาให้เห็น กลัวเลยไปถึงว่าคำตอบหรือการแสดงความรู้ความสามารถออกมาจะถูกตีตราว่าตัวเรามีราคาค่างวดทางความรู้ความสามารถต่ำ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังรอบข้างจากครูกับเพื่อนบางคนมักทำให้ผมกับเพื่อนหลายคนไม่อยากตอบคำถาม ไม่อยากแสดงออกใดๆ ไม่อยากคิดสร้างสรรค์ออกมาดังๆ ให้ตัวเองและคนอื่นได้ประจักษ์รับรู้ เพราะอายที่จะต้องแสดงความหน้าโง่ออกมา
ผลของการเรียนรู้ภายใต้ความกลัวแบบนี้มักจะทำให้ศักยภาพที่แท้จริงถูกกักขังให้กระจุกตัวอยู่ภายใน ปลดปล่อยออกมาให้เห็นได้ยาก ขณะเดียวกันหากบางครั้งบางคราวมีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกับครูอาจารย์ที่ต้องการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างแท้จริง เราก็จะพลาดโอกาสอันสำคัญนั้นไป เพราะไม่กล้าที่จะแสดงออกมาให้ครูอาจารย์ได้รู้ได้เห็นเพื่อที่ท่านจะได้ช่วยชี้ช่องทางพัฒนาการเรียนรู้ได้เหมาะสมสอดคล้องกับเรา เพื่อนรอบข้างที่ต้องการให้กำลังใจและช่วยเหลือก็พลอยเข้ามาได้ไม่ถนัดตามที่ควรจะเป็น หรือแม้ตัวเราเองก็ไม่รู้จะปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะเยียวยาความรู้สึกด้อยให้คลี่คลายบรรเทาได้อย่างไร
ปัจจัยที่ทำให้เราสร้างกรงขังอิสรภาพแห่งความรู้ความสามารถมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในของบุคคลได้แก่ การไม่เปิดโอกาสรวมถึงไม่ขวนขวายผลักดันให้ตัวเองได้คิดได้ทำได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ ไม่อยากเรียนรู้ชนิดที่ท้าทายความสามารถและตรงกับใจรัก หรือเรียนแบบไม่ใฝ่สัมฤทธิ์จึงชอบเรียนแบบเซื่องๆ ไปตามกระแสกล่าวคือ เอาแค่พอสอบผ่านหรือแค่จบมีดีกรีสูงๆ เป็นใบผ่านทางเพื่อประกอบอาชีพพอที่จะเรียกค่าตัวได้สูง ปัจจัยภายในอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การติดเปรียบเทียบแข่งขัน ชอบเปรียบเขาเปรียบเราว่าใครจะเก่งหรือเหนือกว่ากัน ดังเช่นหากเรียนรู้แล้วถูกเปรียบเทียบตัดสินว่าเราไม่เก่งไม่ฉลาดก็มักจะผูกเป็นปมด้อยในใจ หรือเคยเรียนเป็นที่หนึ่งมาหลายครั้งแต่หากพลาดพลั้งไม่เหมือนเดิมก็มักสูญเสียความมั่นใจไปเลย เป็นต้น ดังนั้นการเรียนรู้ด้วยบรรยากาศเปรียบเทียบแข่งขันว่า เรากับเพื่อนร่วมห้องใครจะเหนือกว่ากันจึงมีโทษมากกว่าคุณ แทนที่จะมุ่งเรียนรู้เพื่อร่วมกันเข้าถึงแก่นของเรื่องที่เราเรียน เรียนเพื่อที่จะรู้และพัฒนาความสามารถรวมถึงด้านในของชีวิตให้งอกงาม สามารถประยุกต์มาใช้แก้ปัญหาในระดับต่างๆ ของชีวิตและสังคมรวมถึงสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดีในสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนยุ่งเหยิง
ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมให้เรากักขังอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ก็คือระบบและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ลดทอนความสามารถของมนุษย์ซึ่งมีหลายตัวอย่างดังเช่น การเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนคิดเป็นทางเดียว มีคำตอบเดียวที่ตายตัวซึ่งต้องตอบให้เหมือนกับคำตอบเดียวในใจของครู รวมถึงการค้นคว้าเรียนรู้ที่เร่งรีบเกินไปจนไม่มีเวลามากพอที่จะใคร่ครวญหรือคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกมา เวลาที่จำกัดเร่งรีบเกินไปจึงมักทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นจนลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าเสียดาย
อีกประการหนึ่งที่พบเสมอก็คือ บรรยากาศที่ด่วนสรุปตัดสินเร็วเกินไปต่อชุดความรู้ความเชื่อที่ผิดแผกแตกต่างไปจากบทเรียนที่อยู่ในคู่มือการสอนของครู ทั้งยังรวมถึงการแสดงความดูถูกดูแคลนคำตอบกับการแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากความรักความเมตตาที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกัน การดูถูกดูแคลนมักจะนำไปสู่การแบ่งแยกเปรียบเทียบให้เกิดชนชั้นแห่งความสามารถ ซึ่งมักจะทำให้บางคนมีทิฏฐิมานะเข้มข้นขึ้นขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าลง ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในแง่นี้ก็คือ เวลาที่อยู่ร่วมกับคนบางกลุ่มที่เรารู้สึกว่าเขาเหนือกว่า เราจะรู้สึกด้อยขึ้นมาทันที รัศมีของเราถูกบดบังครอบงำจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา ในขณะเดียวกันคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรเหนือกว่าคนอื่นก็มักจะพูดหรือแสดงอะไรออกมาข่มให้คนอื่นรู้สึกเกรงกลัวหรือด้อยโดยแสดงออกอย่างไม่รู้สึกตัว เป็นต้น
ประเด็นสุดท้ายในที่นี้ก็คือ ระบบการยกย่องเชิดชูบางศาสตร์บางคณะให้รู้สึกเหนือกว่าศาสตร์หรือคณะอื่น ยกย่องเชิดชูสถาบันตัวเองให้เด่นเหนือกว่าสถาบันอื่น รวมถึงยกย่องเชิดชูคนจบดีกรีสูงให้รู้สึกเหนือกว่าคนจบดีกรีต่ำ การเน้นยกย่องเชิดชูไปที่เปลือกกระพี้ของสิ่งเหล่านี้ด้วยการสร้างคุณค่าความหมาย(วาทกรรม)ให้คนในสังคมติดยึดเปลือกนอกอันผิวเผินมากกว่าแก่นแท้ของการเรียนรู้ มักจะทำให้เราหลงละเมอไปกับคุณค่าของเปลือกนอกซึ่งเป็นของเทียมจนทำให้เราหยุดการเรียนรู้ที่แท้จริง และไม่สามารถร่วมมือช่วยเหลือกันและกันทางสติปัญญาได้ตามที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้จะดีกว่าไหมหากเราช่วยกันปรับเปลี่ยนระบบและบรรยากาศการเรียนจากภายใต้เงาของความขลาดกลัวมาอยู่ในมือของความรักแทน ด้วยการสร้างสรรค์ระบบและบรรยากาศการเรียนที่ดึงเอาเมล็ดพันธุ์ด้านดีของมนุษย์มาเป็นแรงจูงใจ ให้ทุกคนใฝ่เรียนรู้และมีสำนึกของการแสวงหาความเป็นเลิศ ดังเช่น ใช้ความรัก ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เปิดพื้นที่ให้โอกาสตลอดจนให้กำลังใจและสนับสนุนช่วยเหลือกัน แทนที่จะใช้ปัจจัยด้านลบต่างๆ ที่กล่าวมา การส่งเสริมปัจจัยทางบวกเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้เราข้ามพ้นพรมแดนเส้นแบ่งที่แบ่งแยกพวกเราออกเป็นฝักเป็นฝ่ายที่มีความเหลื่อมล้ำแปลกแยกต่อกัน
Labels: ปรีดา เรืองวิชาธร