โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๑

เมื่อเราประกาศจุดยืน และยืนยันว่าเราเป็นใครสักคน เช่น เราเป็นคนเก่ง เป็นคนกล้าแสดงออก เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนชอบช่วยเหลือผู้คน เป็นคนช่างเอาใจ เหล่านี้เป็นต้น เราก็กำลังบอกใครต่อใคร รวมทั้งตัวเราเองว่าเราเป็นใคร เรามีเครื่องมืออะไรบ้างในกล่องเครื่องมือประจำตัวของเราที่ใช้ปรับตัวเข้ากับโลก เราใช้เครื่องมืออะไรบ้างจัดการดูแลปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในชีวิตจนเกิดผลดีกับตัวเราเอง ตัวตนที่เราประกาศว่าเราเป็นใครต่อใคร คือตัวเอก (primary self) เปรียบได้กับตัวละครที่เราใช้สวมบทบาทเป็นพระเอกหรือนางเอกผู้นำพาและช่วยชีวิตเราให้อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้

และในแต่ละตัวเอกของเรา ในแต่ละจุดยืนของเรา เราก็ยังมีตัวตนที่ถูกทิ้ง (disowned self) หรือเงาของเรา ดำรงอยู่เกาะเกี่ยวกับตัวเราไปพร้อมๆ กันเสมอ หากตัวเอกคือตัวละครที่เราแสดงอยู่บนเวทีพร้อมที่จะรับเสียงปรบมือจากผู้ชม ตัวตนที่ถูกทิ้งซึ่งจุดยืนตรงกันข้ามกับตัวเอกของเราก็ซ่อนเร้น ถูกละทิ้งและหลงลืมอยู่เบื้องหลังฉาก เปรียบเสมือนเงาของนักแสดงที่ทอดไปบนม่านบนฉากหลัง

บ่อยครั้งที่เรานำพาตัวเอกของเรามาแสดงมาหยิบยื่นให้ใครต่อใครเห็น ให้เขาเหล่านั้นยอมรับ จะเป็นคนเก่งกล้า รับผิดชอบ มุ่งมั่น เสียสละ หรืออะไรก็ตามที่เราเคยแสดงได้ดี คนดูชอบ แต่สายตาของผู้คนกลับยังสามารถมองเห็นเงาของตัวเราที่ทอดไปเบื้องหลัง เงาที่ตัวเราเอง ตัวเอกของเราที่กำลังแสดงอยู่ไม่ได้มีโอกาสเห็นเลย

เงาเหล่านั้นอาจจะเป็นตัวตนที่ไม่เอาไหน ไร้สาระ ปล่อยตัวตามใจตามสบาย ตัวตนที่ขบถกับกฎเกณฑ์ หรือตัวตนที่รู้จักทักท้วงทวงสิทธิของตัวเอง ตัวตนเหล่านี้ไม่ค่อยมีโอกาสโผล่หน้าออกมาเยี่ยมเยียนเรานัก เราไม่ค่อยจะได้ยินเสียงของพวกเขาเหล่านี้ หรือไม่ชอบที่จะได้ยินนัก และที่สำคัญเป็นเสียงที่เราอาจจะโกรธขึ้งไม่พึงประสงค์ไม่สบอารมณ์เอาเสียเลย เพราะลึกๆ เรากลัว กลัวว่าผู้คนคนดูทั้งหลายจะไม่ชอบ จะโห่ฮาปาข้าวของใส่เราผู้อยู่บนเวที

แต่ไม่ว่าเราชอบหรือไม่ก็ตาม เราจะซุกซ่อนเก็บงำตัวตนที่ถูกทิ้งหรือสลัดเงาที่ว่าของเราอย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ดำรงอยู่ในตัวเรา และอยู่คู่กับตัวเอก ตัวโปรดของเราที่เราใช้แสดงเพื่อให้ผู้ชมชื่นชม แต่ทั้งเงาทั้งตัวเอกของเรานั้นแตกต่างกันเหมือนคนละขั้ว

เมื่อตัวเอกของเราชื่อ คุณ “กล้า” นามสกุล “หาญเผชิญ” เงาของเราอาจจะชื่อ น้อง “หวาด” นามสกุล “ตื่นระแวง” หากตัวเอกของเราคือ คุณ “เก่ง” คุณ “สมบูรณ์ (แบบ)” เงาของเราอาจจะชื่อ อะไรก็ได้ แต่ แซ่ “ห่วย” หากตัวเอกของเราคือ คุณ “เอื้อ” นามสกุล “อาทรเป็นอาจิณ” ตัวตนด้านในที่เราอยากลืมให้สนิทคือ คุณ “ตัวกู” นามสกุล “ของของกู”

เมื่อเราลืมเงาของเรา ลืมตัวตนที่ถูกทิ้งของเราไปเสียสนิท คิดว่าเรามีชีวิตอยู่ด้านเดียว ฉันต้อง “เก่ง” ต้อง “สมบูรณ์แบบ” แล้วเมื่อวันที่เราล้มเหลว แม้นในเรื่องเล็กน้อย เมื่อเราต้องพลาดไป ไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่เราปักใจว่าเราต้องเป็นเช่นนั้น วันนั้นเราเป็นทุกข์ กระอักกระอ่วนป่วนใจ ไม่เป็นสุข เราจะได้ยินเสียงด้านในของคุณ “วิจารณ์” ที่คอยย้ำคอยบอกเราว่า “เห็นไหม ทำอะไรไม่เอาไหนอีกแล้ว” แม้นงานที่เราทำสำหรับใครต่อใครจะเห็นว่าเยี่ยมยอด แต่คุณ “เก่ง” ก็โดน “วิจารณ์” ซะย่ำแย่อยู่ดี ทำให้คุณเก่งแม้นเก่งแค่ไหน ก็ยังรู้สึกตัวเองอยู่ในพวกแซ่ “ห่วย” และเมื่อเราเห็นใครที่เขาไม่เก่งเท่าไหร่ ไม่รู้ดีอย่างสมบูรณ์เท่าไหร่ เราก็สาดซัดคำ “วิจารณ์” ที่เราได้ยินในใจเราออกไปที่เขาเหล่านั้น โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างก็ตาม ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นเขาก็เป็น “คนละคู่เดียวกัน” กับเรานั้นเอง

คุณ “เก่ง” ยิ่งมีนามสกุล “สมบูรณ์ (แบบ)” มากเท่าไหร่ เข้มข้นเท่าไหร่ ยิ่งจำต้องทำงาน มีชีวิตโลดแล่น ไม่ใช่เพื่อผลงาน หรือเพื่อความเพลิดเพลินในการทำงาน แต่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง กับใครต่อใครว่า “ฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันเยี่ยม ฉันครบเครื่อง” ไม่ว่าเขาจะเก่งเรื่องพื้นๆ ที่ใครต่อใครเขาทำกันในกระบวนทัศนคติแบบเก่าๆ หรือจะเก่งเรื่องก้าวหน้าทางจิตวิญญาณในกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ก็ตาม คุณ “เก่ง” ยิ่งมีนามสกุลยาวขึ้นเป็น “สมบูรณ์ (แบบ) นิรันดร์” ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณ “เก่ง” ไม่มีวันยอมอ่อนข้อ ให้กับข้อด้อย หรือจะห้อยแขวนอาการของคน แซ่ “ห่วย” ได้เลย

แต่ “ห่วย” กับ “เก่ง” เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน เป็นคนละคู่เดียวกัน มาด้วยกัน เกิดขึ้นพร้อมกันราวฝาแฝด หากคุณ “เก่ง” รับอาการห่วยไม่ได้เลย คุณ “เก่ง” ก็ต้องใช้พลังของตนปิดกั้นเงาหรือตัวตน “ห่วย” ของตนไว้ และอาจจะไม่มีวันเข้าใจ หรือพูดจากับคนที่เขาคิดว่า “ห่วย” ได้เลย เขาจะออกอาการรำคาญ หงุดหงิด แม้นจะเก็บอาการอย่างมิดชิดไว้ภายใต้ใบหน้าท่าทางที่สงบและเยือกเย็นก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้เขาจะพยายามรายล้อมตัวเขาด้วยคนที่ “เก่ง” เสมอเขา เขาก็ยังจับผิดความห่วยของใครต่อใครได้ เหมือนที่ตัวตนด้านในชื่อคุณ “วิจารณ์” คอยจับผิดเขา และในภาวะเช่นนี้ คุณ “เก่ง” อาจจะต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็น “เคร่งเครียดเฉียดตาย” เลยทีเดียว

หากเพียงแต่คุณ “เก่ง” ยอมรับว่าคนเราพลาดได้ ห่วยได้ ไม่ต้องเก่งไปทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่ยอมรับเพียงในระดับของตรรกะ เหตุและผล หรือคิดนึกเอาเอง แต่ยอมรับในระดับพลังงานในตัว ยอมรับที่จะรู้สึกลึกๆ ในอารมณ์ การยอมรับนี้เป็นเพียงแค่ชิมอาการห่วย ไม่ต้องกลับใจกลายเป็นคนห่วยทั้งเนื้อทั้งตัวหรอก หากจะเปรียบเป็นของเหลวก็แค่ “หยด” เล็กๆ ก็พอกระตุ้นให้รู้จักว่าอาการพลาดให้ห่วยได้นั้นเป็นอย่างไร แล้วเราอาจพบว่าอาการคาดหวังกดดันรวมทั้งความดันโลหิตในเส้นเลือดเราลดลง จังหวะเต้นของหัวใจ สงบลง และอาการเคร่งเครียดในใจลึกๆ ก็อาจจะทุเลาลง

เมื่อเราพอจะอ่อนโยนให้กับอาการห่วยๆ ของเราได้ ให้อภัยตัวเองที่จะผิดพลาดได้ ไม่ต้องวางมาดเป็นผู้วิเศษผู้เก่งกาจอย่างไม่มีใครอาจเทียบทัน เมื่อนั้นอาการพิพากษา คอยจับผิด คอยติว่าคนอื่นที่ “เก่ง” สู้ไม่ได้ ก็จะเบาบางลง ชีวิตคุณ “เก่ง” คงรื่นรมย์ขึ้นบ้าง เมื่อเราได้รู้จักตัวตนที่ทิ้งไปและหรือเงาของตัวเองที่ทอดตัวอยู่เบื้องหลัง รอเวลาที่ให้เขามาเอากู้คืนกลับไป เพราะเบื้องหลังอาการห่วยนั้นก็คือ ศักยภาพที่จะรู้จักพลาดจากความคาดหวังของตัวเอง พาตัวเองออกไปจากความเคยชินเดิมๆ เป็นศักยภาพที่จะเรียนรู้ใหม่ ที่จะรู้จักเริ่มต้นใหม่อีกครั้งแล้วครั้งเล่า

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home